14 วัน ประชาชนต้องไปต่อ : โควิด-19 ไร้บ้าน ไม่ไร้เพื่อน ที่ “บ้านพูนสุข”

14 วัน ประชาชนต้องไปต่อ : โควิด-19 ไร้บ้าน ไม่ไร้เพื่อน ที่ “บ้านพูนสุข”

ไม่ใช่แค่คนไร้บ้านที่ไม่มีบ้าน
แต่นาทีนี้ โควิด-19 ทำให้คนมีบ้าน
ต้องเสมือน “ไร้บ้าน” อีกหลายชีวิต

แม่ลูก 3 คน ลูกอายุแค่ 5 ขวบ และ 1 ขวบ ถูกไล่ออกจากห้องเช่าราคาถูก อันนี้เป็นสิ่งที่เราอนาถใจมาก พวกเขาต้องมานอนอยู่ใต้สะพานลอย อีกคนที่มาอยู่บ้านพูนสุข เขาอาศัยนอนในรถ อาบน้ำในปั๊มน้ำมัน เพราะสภาวะความไม่เข้าใจกันในชุมชน คนที่ติดเชื้อโควิด-19 เหมือนเป็นตัวประหลาดในชุมชน ในภาวะสังคมแบบนี้ มันไม่ใช่การเพิกเฉย มันต้องมาช่วยกันดูแล

สมพร หารพรม เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัย

เสียงจากพี่โด่ง หรือ สมพร หารพรม เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัย เล่าถึงผู้ป่วยโควิด-19 ระดับสีเขียวที่ไม่มีอาการซึ่งเข้ามาพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านพูนสุข แบบ Home & Community Isolation ภายใต้การทำงานร่วมกันของเหล่าอาสาสมัคร สะท้อนถึงภาวะสังคมที่กำลังยกระดับสู่วิกฤต เมื่อโควิด-19 ทำให้หลายคนต้องกลายเป็นคนเปราะบาง หลายคนต้องทิ้งบ้านออกมาเผชิญชะตากรรม

จากสถานการณ์ที่พบผู้ติดเชื้อรายวัน โดยเฉพาะเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 1,000 คนต่อวัน เป็นเวลาต่อเนื่องกว่า 2 เดือน โจทย์ใหญ่ตอนนี้ที่บุคลากรทางการแพทย์งานล้นมือ เตียงเข้าถึงยาก “บ้านพูนสุข” หรือ ศูนย์พัฒนาศักยภาพคนไร้บ้านปทุมธานี จึงเป็นแสงสว่างเล็ก ๆ ที่ให้โอกาสให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ระดับสีเขียวได้มีที่พักพิงในยามยาก โดยการดูแลของอาสาสมัครคนไร้บ้าน ที่ได้รับการพัฒนาศักยภาพเรื่องการดูแลผู้ป่วยทำหน้าที่เชื่อมเข้าสู่ระบบการรักษา

บ้านพูนสุข เราคงไม่ได้ดูแลแค่กลุ่มคนไร้บ้านอย่างเดียวแล้ว เพราะโควิด-19 ทำให้คนเปราะบางเพิ่มมากขึ้น ในฐานะที่เราทำเรื่องเป็นที่พักให้กับพี่น้องคนไร้บ้าน เราก็ไม่สามารถที่จะละเลยเรื่องเหล่านี้ได้ เราต้องเอาคนกลุ่มนี้เข้ามาพักอาศัยและหาแนวทางที่จะดูแลเขาในอนาคตด้วย

สมพร หารพรม เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัย

สมพร กล่าวย้ำถึงแนวทางในการดูแลของอาสาสมัคร

บ้านพูนสุข เดิมที่นี่เป็นที่พึ่งพิงของคนไร้บ้าน แต่ตอนนี้ต้องเพิ่มบทบาท จัดสรรพื้นที่ออกเป็น 2 โซน โซนแรกเป็นที่อยู่ของสมาชิกพี่น้องคนไร้บ้าน ส่วนโซนที่ 2 ถูกจัดเป็นบ้านพักคอยของผู้ป่วยโควิด-19 สีเขียว โดยความร่วมมือของอาสาสมัครพี่น้องคนไร้บ้านในบ้านพูนสุข ได้เพิ่มบทบาทให้เป็นอาสาดูแลผู้ป่วย ที่คอยส่งข้าว ส่งน้ำ คอยติดตามอาการ เก็บข้อมูลส่งต่อให้กับอาสาพยาบาล อย่างค่าอุณหภูมิร่างกาย ค่าออกซิเจน เป็นต้น เพื่อใช้ประเมินอาการผู้ป่วยระหว่างรอเข้าสู่ระบบการรักษา

วันหนึ่งพี่ก็จะให้เขาวัดอุณหภูมิ ค่าออกซิเจนปลายนิ้ว แล้วส่งไปทางไลน์ คือตอนนี้เหมือนกับเขาขาดโอกาสที่เขาต้องได้รับการรักษาจากทางโรงพยาบาล อันนี้คือเขาไปไหนไม่ได้ ก็น่าเห็นใจเขาค่ะ เขาเดือดร้อนมา เราก็ต้องช่วย

กรรณิการ์ ปู่จินะ อาสาสมัครบ้านพูนสุข

พี่อ๊อด กรรณิการ์ ปู่จินะ หนึ่งในอาสาดูแลผู้ป่วยโควิด-19 เล่าถึงบางส่วนของภารกิจอาสาในการดูแลผู้ป่วยระดับสีเขียว

นอกจากการติดตามอาการและส่งข้าวส่งน้ำในแต่ละวัน ความเข้าอกเข้าใจ เห็นอกเห็นใจ ในยามวิกฤตโควิด-19 ที่ทำให้หลายคนต้องกลายเป็นคนไร้บ้านชั่วคราว เป็นอีกเหตุผลที่พี่อ๊อด และอาสาสมัคร รวม 5 คน ยังคงทำหน้าที่ในการร่วมดูแลผู้ป่วยและเคียงบ่าเคียงไหล่อาสาสมัครคนอื่น ๆ พร้อมขอมีส่วนร่วมในการดูแลผู้ตกหล่นในภาวะวิกฤตินี้ และหวังให้ทุกคนผ่านพ้นไปด้วยกัน โดยใช้ประสบการณ์การดูแลตัวเองที่เคยติดเชื้อโควิด-19 และรักษาหายแล้วมาแลกเปลี่ยนดูแลผู้ป่วยที่บ้านพูนสุข ทั้งเรื่องทางกาย และการเสริมพลังใจ

พี่นึกถึงเมื่อก่อนเลย ที่มันไม่ได้เกี่ยวกับการป่วยแบบนี้นะ คือตอนที่เราอยู่ข้างนอก อยู่ข้างถนน อยู่บนพื้นที่สาธารณะ คนที่เขาก็มองเหยียดเราอยู่แล้ว แต่พอเรามาอยู่ตรงนี้ได้รับโอกาสแล้ว เราก็เลยอยากจะส่งต่อโอกาสให้กับคนอื่นด้วย อันนี้มันเล็กน้อยมากเลยที่เราต้องทำ

กรรณิการ์ ปู่จินะ อาสาสมัครบ้านพูนสุข

แม้เพียงพลังเล็ก ๆ ก็อาจเปลี่ยนสังคมได้

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ