จะสืบฮีตสานฮอย วันศีลใหญ่ ให้ได้ทั้งการรักษาประเพณี ธรรมวินัย คู่ไปกับการป้องกันแพร่ระบาดของสถานการณ์โควิด-19 เป็นข้อท้าทายในวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษาปีนี้ ที่วัด เครือข่ายพระและพุทธศาสนิกชนในจังหวัดเชียงใหม่ มีการปรับตัวหลายอย่างเพื่อให้รักษาวิถีประเพณีตามศาสนาปฏิบัติอย่างปลอดภัย
วัดเป็นที่พึ่งทางใจหนึ่งของคนในสังคม ยิ่งได้ไปทำบุญ ตักบาตร ฟังธรรมกันที่วัดในวันสำคัญทางศาสนา ก็จะทำให้จิตใจเบิกบาน มีความสุข เมื่อใจดีก็ส่งผลดีต่อสุขภาพด้วยค่ะ แต่ในสถานการณ์แบบนี้ บางอย่างที่เคยทำได้ไม่ว่าจะเป็นการเวียนเทียนร่วมกัน ปฏิบัติศาสนากิจของพระ ลงอุโบสถสวดมนต์ จึงต้องหาข้อตกลงและเตรียมกันล่วงหน้าในแบบวิถีใหม่
ทีมพระในจังหวัดเชียงใหม่ เครือข่ายพระคิลานุปัฏฐากหรือพระอาสาสมัครส่งเสริมสุขภาพประจำวัด และบุคลากรทางการแพทย์มีการประชุมร่วมกันหลายครั้ง เพื่อหาวิธีการที่สอดคล้องกับพระธรรมวินัย จนนำไปสู่ประกาศแนวทางปฏิบัติศาสนากิจเนื่องในวันอาสาฬหบูชาและเทศกาลเข้าพรรษา โดยความร่วมมือของเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่
วัดไปคุยกับชุมชนแล้วกำหนดโซนทำกิจกรรม จำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมได้ไม่เกิน 50 คน ตามความเหมาะสมของสถานที่วัด พิธีการขั้นตอนใช้เวลาให้น้อยลง งดการมานอนที่วัดเพื่อถือศีลอุโบสถของญาติโยม เพราะส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัย การฟังเทศน์ฟังธรรมก็แบ่งช่วงเวลาเอา และงดจัดทำวัตรสวดมนต์กลางคืนที่วัด อาจจะเปลี่ยนเป็นออนไลน์ เสียงตามสาย และให้ไปปฏิบัติต่อที่บ้าน ส่วนการเวียนเทียนก็ขอให้จัดภายในเฉพาะพระภิกษุสามเณรหรือบางวัดก็เวียนกลางวัน แบ่งเป็นรอบๆ ส่วนสวดปาฏิโมกข์ซึ่งตามธรรมวินัยนั้นเป็นการรวมตัวของพระจำนวนมาก และต้องนั่นห่างกัน 1 ศอก ก็เปลี่ยนเป็นให้จัดเป็นรอบ กระจายสถานที่ และมีการเป็นเว้นระยะห่างค่ะ
คลิกชมภาพบรรยากาศและแนวทางการปรับตัวของศาสนพิธีและกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเนื่องในวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา
นี่เป็นวิถีปฏิบัติใหม่ที่พระและญาติโยมต้องช่วยกันค่ะ นอกเหนือจากบทบาทอื่นที่พระสงฆ์ได้ทำมาก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นการให้วัดเป็นโรงพยาบาลสนาม การเป็นเป็นโรงทาน และสื่อสารธรรมะเพื่อให้กำลังใจญาติโยม
เรื่องที่เกี่ยวข้อง