14วันประชาชนไปต่อ : Nurses note บันทึก (ไม่ลับ) ที่คลองเตย

14วันประชาชนไปต่อ : Nurses note บันทึก (ไม่ลับ) ที่คลองเตย

กว่า 3 เดือน หลังเกิดการระบาดโควิด-19 ระลอก 3 ในประเทศไทยตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน 2564 ชุมชนคลองเตยกลายเป็นอีกคลัสเตอร์ใหญ่ที่มีการระบาดอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ซึ่งนั่นนำไปสู่วิกฤตความเสี่ยง เพราะหลายหมื่นชีวิตใน 43 ชุมชนแออัดเมืองใจกลางกรุงเทพมหานคร ….หลายคนเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ร่วมขับเคลื่อนเมืองใหญ่แห่งนี้

นอกจากความพยายามเร่งหาทางออก ทั้งด้านสาธารณสุข ตรวจคัดกรอง ส่งตัวรักษา ดูแลปากท้อง จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกรุงเทพมหานครและรัฐบาลกลาง ยังมีความร่วมมือจากอาสาสมัครในชุมชนและอาสาสมัครเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว แทบทุกมิติ กว่า 3 เดือนที่ทีมสื่อพลเมืองติดตามการทำงานและร่วมกันหาทางออกของอาสาสมัครในชุมชนคลองเตยแห่งนี้ เราเห็นคนที่นี่กำลังเร่งกระจายการจัดการไปอีกหลายชุมชนเพิ่มเติม เพื่อหวังหาทางรอดของประเทศไทย พวกเขาทำอย่างไร เมื่อประชาชนต้องไปต่อ…

ข้อมูลบุคคล จุดเริ่มต้นในการดูแล

“ตั้งแต่เมษายน-กรกฎาคม ยอดผู้ติดเชื้อที่เราเก็บข้อมูลได้ราว ๆ 2,800 คน ที่เรามีข้อมูลอยู่ มีชื่อ เบอร์โทร ที่เราสามารถติดต่อได้ คาดว่าเป็นยอดขั้นต่ำสำหรับผู้ติดเชื้อในคลองเตย เพราะว่ามีบางส่วนที่เราไม่รู้ข้อมูลจากประธานชุมชน บางทีก็มีคนที่ติดแล้วประสานโรงพยาบาลไปเองเลย เราก็ไม่รู้ข้อมูล” ณัฐพล สท้านอาจ อาสาสมัครคลองเตยดีจัง และครูอาสากลุ่ม Music Sharing ให้ข้อมูลการทำงานของทีม Case Manager หรือ ทีมคัดกรองข้อมูล ก่อนนำไปส่งต่อความช่วยเหลือ

“21-22 เมษายน 2564 คือช่วงที่เราเริ่มเก็บข้อมูลมา เพราะว่าเราก็จะได้ข่าวจากมูลนิธิดวงประทีปมาก่อนหน้านั้นแล้ว ว่าคลองเตยเริ่มมีผู้ติดเชื้อข้างในชุมชน จนเราก็คิดว่าจะทำอย่างไรดี เลยเกิดเป็นว่า เรามาทำระบบเก็บข้อมูลของผู้ติดเชื้อกันไหม ซึ่งก็เริ่มจากกลุ่มไลน์กรุ๊ปเล็ก ๆ ก่อน และขยายไปกับผู้นำชุมชนต่าง ๆ”

เมื่อได้ข้อมูลจากสมาชิกชุมชนคลองเตยสู่ผู้นำชุมชนแล้ว ทีมอาสาสมัคร จะแบ่งการจัดการข้อมูลออกเป็น 3 กลุ่ม ก่อนนำไปสู่การดูแล ได้แก่

  1. ทีมคัดกรอง (Case Manager) เพื่อแยกข้อมูล “ผู้ป่วย” “กลุ่มเสี่ยง” ในแต่ละครอบครัวแต่ละชุมชน
  2. ทีมโลจิสติกส์ (Logistics) ทำหน้าที่ส่งต่อข้าวของเครื่องใช้จำเป็นให้กับผู้กักตัว ทั้ง ข้าวกล่อง อุปกรณ์วัดออกซิเจนปลายนิ้ว ปรอทวัดไข้ และยา
  3. ทีมครัวกลาง 3 ครัว ซึ่งทำหน้าที่จัดสรรเมนูอาหารเพื่อแบ่งปันในชุมชน โดยมีพิกัดอยู่ที่ สำนักงานคลองเตยดีจัง ชุมชนพัฒนาใหม่ และชุมชนริมคลองวัดสะพาน

“ช่วงแรก ๆ คนยังไม่รู้เยอะข้อมูลมาก ในคลองเตยประมาณ 43 ชุมชน แรก ๆ อาจจะยังมีข้อมูลมาไม่ครบทั้งหมด แต่เขามีเครือข่ายผู้นำชุมชนอยู่แล้ว เขาก็ดึงกรรมการเข้ามาในกลุ่มไลน์เพื่ออัพเดตสถานการณ์ ว่าตอนนี้คลองเตยเป็นอย่างไรบ้าง มีผู้ติดเชื้อเท่าไร โซนนี้มีผู้ติดเชื้อหรือไม่ เพื่อเราจะได้เก็บข้อมูลและส่งไปที่โรงพยาบาลได้ต่อ เพื่อที่จะได้รู้ว่าบ้านนี้มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงอยู่กี่คน จะได้เร่งหาที่ตรวจให้ เพื่อที่จะได้ควบคุมโรคได้ ไม่ให้ระบาดในชุมชน เพราะว่าคลองเตยถ้าติดแล้วมันจะแยกกันได้ยากมาก”

ครอบครัวเขาอยู่กันหลายคนในห้องสี่เหลี่ยมที่ไม่ใหญ่มาก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นอย่างนั้น ถ้าติดแล้วก็ต้องรีบแยกผู้ป่วยออกมาก่อน เลยต้องรีบทำข้อมูลครับ” ณัฐพล สท้านอาจ ขยายภาพการทำงานของทีมคัดกรองข้อมูล

อาสาปฐมพยาบาล การดูแลเบื้องต้นของคนคลองเตย

ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ทีมอาสาสมัครต้องปรับเปลี่ยน และยกระดับการทำงานแทบจะทุกวันทุกเวลา ตั้งแต่ เมษายน – กรกฎาคม คือ สถานการณ์การระบาดที่ขยายเป็นวงกว้าง รวดเร็ว และหนักหน่วง ซึ่งส่งกระทบต่อชีวิตเพิ่มมากขึ้น ไม่เพียงแต่เรื่อง “ปากท้อง” การกินอยู่ เศรษฐกิจครัวเรือนที่คนในชุมชนต้องขาดงาน ขาดเงินมาหลายเดือนแล้ว นาทีนี้หลังมีการล็อกดาวน์พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งครอบคลุมถึงชุมชนคลองเตย คือสถานการณ์ผู้ป่วยระดับสีเหลืองและสีแดง หาเตียงรองรับที่เพียงพอในโรงพยาบาลได้ยากเหลือเกิน จนบางรายถึงขั้นถูกให้รอจนเสียชีวิต อาสาปฐมพยายาลเบื้องต้น จึงเป็นอีกกลุ่มการทำงานที่คนในชุมชนต้องร่วมเรียนรู้ เติมทักษะ เพื่อดูแลกัน

เตรียมพร้อมทีมอาสาปฐมพยาบาล

“สำคัญเลยที่ต้องมี เพราะ 1.เตียงเต็ม 2.บุคลากรที่จะช่วยเหลือตอนนี้งานหนัก คือ ชาวบ้านคนที่ติดโควิด-19 จะรู้สึกกังวล อย่างน้อยถ้าเขามีผู้ที่พอมีความรู้บอกให้เขาว่าต้องปฏิบัติตัวอย่างไร เพราะเตียงมันเต็ม เราจะดูแลตัวเองอย่างไร ให้ดีที่สุด มันดีนะพี่ว่า” 

ชัญญพัชร์ ธนชรัณนรัตน์ สมาชิกชาวคลองเตย ชุมชนแฟลต 81-88 ซึ่งมีบทบาทอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) ร่วมแลกเปลี่ยน หลังมีการประชุมหารือการเตรียมอบรมทักษะให้ทีมอาสาพยาบาล เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 64 ณ มูลนิธิดวงประทีป ร่วมกับชาวชุมชน 70 ไร่ ชุมชนแฟลต 1-10 ชุมชนแฟลต 11-18 และชุมชนแฟลต 19-22 เพื่อหาอาสาสมัครที่มีความสนใจมาเรียนรู้ร่วมกัน

“เราต้องช่วยกัน เพราะว่า ณ ปัจจุบันนี้ทุกคนจะพึ่งแต่หมออย่างเดียว เพราะหมอคือฮีโร่ ฉะนั้นยังไม่มีอาสาสมัครคนไหนเลยที่มีความรู้เกี่ยวกับด้านนี้ หรือเครื่องผลิตออกซิเจน ก่อนที่จะไปพบหมอคนไข้พอรู้ว่าตัวเองเป็นก็รู้สึกตระหนกว่าฉันเป็นหรือเปล่า ก็พอมาฟังแล้วมีความรู้สึกว่า ดีจังเลย อย่างน้อยเราเป็น อสส.เขายังไม่ได้มาสอนวิธีการใช้เครื่องมือ นอกจากเป็นอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่น (CCG) ถึงจะได้เข้าไปเรียน แต่เราแค่เป็นอาสาสมัคร แต่พอเรามาเห็นแบบนี้ ถ้าเรามีโอกาสได้ช่วยก่อนที่เขาจะมีอาการโคมาก็น่าจะดี”

เพื่อให้สามารถยืดเวลา “รอ” ของผู้ป่วยโควิด-19 ที่บ้านและการดูแล “กลุ่มเสี่ยง” ที่กักตัวในชุมชนให้มีความปลอดภัยเป็นไปตามมาตรการสาธารณสุข การทำงานร่วมกันของอาสาสมัครคัดกรอง ที่ทีมสื่อพลเมืองมองว่านี่เป็นปฏิบัติการบนฐานข้อมูลแบบ Nurses note บันทึก (ไม่ลับ) ที่คลองเตย ซึ่งไม่เพียงบันทึกข้อมูลประวัติป่วยข้างกาย แต่ยังนำข้อมูลที่ได้มาร่วมวิเคราะห์ออกแบบอย่างเข้าใจวิถีชาวคลองเตยเพื่อดูแลกัน ยังมีโจทย์เรื่อง Home & Community Isolation ที่เป็นอีกความหวัง เป็นอีกทางรอดที่คนในชุมชนและทีมอาสาสมัคร มองเห็นความจำเป็นที่จะต้องสร้างความเข้าใจให้เกิดความร่วมมือระหว่างการท่าเรือแห่งประเทศไทย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และชาวชุมชนคลองเตย โดยจะร่วมประชุมในจันทร์ที่ 19 กรกฎาคม 64 นี้ เพื่อให้ทุกคนสามารถเคียงบ่าเคียงไหล่ร่วมฝ่าคลื่นลมท่ามกลางพายุโควิด-19 ไปพร้อมกัน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ