ภาคประชาสังคม-นักวิชาการไทย ร้องรัฐสภาอาเซียนกู้วิกฤตมนุษยธรรมผู้ลี้ภัยชายแดน

ภาคประชาสังคม-นักวิชาการไทย ร้องรัฐสภาอาเซียนกู้วิกฤตมนุษยธรรมผู้ลี้ภัยชายแดน

เครือข่ายภาคประชาสังคมและนักวิชาการยื่นเอกสารต่อ ก.ก.ความมั่นคงแห่งรัฐ และกิจการชายแดนฯ – พิธา ในฐานะสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเสนอ 9 ข้อ แก้ไขวิกฤตมนุษยธรรมผู้ลี้ภัยชายแดนและผู้ลี้ภัยในเขตเมือง

วันนี้ (8 ก.ค.) Friends Against Dictatorship – FAD รายงานว่า เวลาประมาณ 14.30 น. เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมและนักวิชาการในนามคณะทำงานภาคประชาสังคมติดตามการแก้ไขปัญหาผู้ลี้ภัยจากประเทศเมียนมาได้ยื่นเอกสารข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตมนุษยธรรมแก้ผู้หนีภัยการสู้รบหรือผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ และผู้ลี้ภัยในเขตเมืองจากประเทศเมียนมา ณ อาคารรัฐสภา (เกียกกาย) ต่อ พล.ต.ต. สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ และนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในฐานะสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน (APHR)

ศ.สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การมายื่นเอกสารในครั้งนี้เป็นการมาเพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาด้านมนุษยธรรมต่อผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาในเขตชายแดนไทยและผู้ลี้ภัยในเขตเมือง โดยก่อนหน้านี้ทางเครือข่ายฯ เคยยื่นจดหมายลักษณะนี้ไปแล้วหลายครั้งนับตั้วแต่เดือนเมษายนแต่ยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ

วิชัย จันทวาโร เจ้าหน้าที่มูลนิธิเสมสิกขาลัย สรุปสถานการณ์ สภาพปัญหา ไปจนถึงจำนวนผู้พลัดถิ่นภายในประเทศเมียนมาอันเกิดจากจากการสู้รบระหว่างกองทัพเมียนมาและกองกำลังชาติพันธุ์ โดยนับแต่มีการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ว่า ขณะนี้ทั่วประเทศเมียนมามีผู้พลัดถิ่นภายในประเทศเมียนมาแล้วกว่า 226,800 คน โดยผู้พลัดถิ่นส่วนใหญ่ราว 177,500 หรือมากกว่า 1 ใน 3 อยู่ในบริเวณรัฐกะเหรี่ยงและรัฐคะยาหรือรัฐคะเรนนี โดยผู้พลัดถิ่นบางส่วนหลายพันคนได้เข้ามาหลบภัยในเขตประเทศไทย โดยที่พวกเขาต้องประสบกับความยากลำบากในการหนีภัยสงครามในเขตพื้นที่ป่าเขา ทั้งยังขาดแคลนปัจจัยการดำรงชีวิตอย่างมาก ทั้งที่พักพิงที่ปลอดภัย อาหาร น้ำสะอาดสำหรับบริโภค ไปจนถึงการเข้าถึงระบบสาธารณสุขและสุขอนามัย

ยิ่งไปกว่านั้น แม้รัฐไทยจะมีการดำเนินการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม แต่พบว่าเจ้าหน้าที่รัฐไทยมีการดำเนินการผลักดันผู้ลี้ภัยกลับไปยังเขตรัฐกะเหรี่ยงและรัฐคะยอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังคงมีการสู้รบอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นกองทัพเมียนมายังคงปราบปรามผู้พลัดถิ่นและผู้ลี้ภัยยังคงต้องการความช่วยเหลือ

กรกนก วัฒนภูมิ ตัวแทนเครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ ได้นำเสนอข้อเสนอแนะ 9 ข้อ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขวิกฤตมนุษยธรรมในเขตพื้นที่ชายแดนและผู้ลี้ภัยในเขตเมือง (urban refugee) ได้แก่

  1. รัฐไทยจะต้องไม่ผลักดันผู้หนีภัยสงครามและผู้ลี้ภัยกลับไปสู่อันตราย
  2. รัฐไทยต้องไม่ปิดกั้นและควรจ้องอำนวยความสะดวกให้แก่ภาคประชาชนไทยที่ประสงค์จะช่วยเหลือผู้พลัดถิ่นและผู้ลี้ภัยจากประเทศเมียนมา
  3. รัฐไทยต้องรับรองคณะทำงานเฉพาะกิจช่วยเหลือผู้ลี้ภัยจากการสู้รบบริเวณชายแดนไทย – เมียนมา
  4. รัฐไทยต้องไม่ปฏิเสธการขอเข้าลี้ภัยโดยอ้างเหตุแห่งการระเบิดของโรคโควิด – 19 ต้องเปิดให้ผู้ลี้ภัยได้อาศัยในพื้นที่พักพิงชั่วคราวที่รัฐจัดไว้รองรับตามหลักมนุษยธรรมและกฎหมายสิทธิมนุษยชน
  5. รัฐไทยควรอนุญาตให้สิทธิอาศัยชั่วคราวแก่ผู้ลี้ภัยควรอนุญาตให้สิทธิอาศัยชั่วคราวแก่ผู้ลี้ภัย เพื่อที่ผู้ลี้ภัยจะสามารถอาศัยอยู่ในประเทศไทยได้อย่างถูกกฎหมาย
  6. รัฐต้องให้ผู้ลี้ภัยสามารถเข้าถึงทนายความได้หากมีการจับกุมและถูกดำเนินคดี
  7. ผู้ลี้ภัยควรสามารถเข้าถึงกลไกการคัดกรองและมีสิทธิยื่นคำร้องเพื่อให้ได้รับสถานะผู้ได้รับการคุ้มครองตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการคัดกรองคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรและไม่สามารถเดินทางกลับปนะเทศอันเป็นภูมิลำเนาได้
  8. รัฐต้องดำเนินการให้มีมาตรการในการดูแลเพื่อให้เข้าถึงการตรวจคัดกรองโรค การรักษาโรค รวมทั้งการได้รับวัคซีนป้องกันโรค เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19
  9. รัฐไทยควรดำเนินการให้ผู้ลี้ภัยสามารถเดินทางกลับประเทศต้นทางได้ด้วยความสมัครใจ มีความพร้อม และเมื่อมีความปลอดภัยอย่างแท้จริง

ด้านพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะสมาชิกรัฐสภาอาเซียน ได้มารับฟังสถานการณ์และปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมกับมีข้อเสนอแนะ 4 ข้อ ในการแก้ไขปัญหาวิกฤตมนุษยธรรมชายแดนและการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในเขตเมือง ได้แก่

  1. ในแง่การต่างประเทศรัฐบาลไทยต้องให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ที่สำคัญคือต้องยึดหลักการไม่ผลักดันกลับ (Non – refoulement) นั่นคือการยืนยันว่าจะไม่ส่งผู้ลี้ภัยกลับไปพบเจอกับอันตรายหรือสงคราม
  2. นำหลักการระเบียงมนุษยธรรม หรือ humanitarian corridor เพื่อเปิดให้มีการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในรูปของปัจจัย 4 ได้ ของทั้งสองประเทศ
  3. รัฐไทยควรทำการตัดงบประมาณแผ่นดินในส่วนการสนับสนุนและการให้ความช่วยเหลือโครงการโครงสร้างพื้นฐานและเขตเศรษฐกิจพิเศษในประเทศเมียนมาออกไปก่อนเนื่องจากเมียนมายังอยู่ในสถานการณ์ความไม่สงบซึ่งก่อให้เกิดปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน ด้วยสถานการณ์เช่นนี้จะทำให้ไม่มีใครกล้าเข้าไปลงทุนในโครงการต่าง ๆ ในเมียนมา การให้งบประมาณช่วยเหลือต่อเมียนมาในขณะนี้จึงอาจไม่คุ้มค่ากับเงินภาษีของประชาขนที่ถูกจัดสรรในส่วนนี้
  4. ในส่วนของการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยและการรับรองสถานะบุคคลที่เกี่ยวกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการคัดกรองคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรและไม่สามารถเดินทางกลับปนะเทศอันเป็นภูมิลำเนาได้ ทีมกฎหมายของพรรคก้าวไกลกำลังติดตามอยู่ ทางพรรคจะผลักดันให้มีกฎหมายมารองรับอย่างถูกต้องและรวดเร็ว

นอกจากนี้นายพิธา ยังกล่าวด้วยว่าควรมีการนำฉันทามติ 5 ข้อ ที่เกิดจากการประชุมนัดพิเศษผู้นำอาเซียน กรณีเมียนมา มาใช้ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมให้เร็วที่สุด เพราะในขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ เกิดขึ้น และในฐานะส.ส.ไทยและส.ส.อาเซียน จะติดตามการดำเนินงานตามฉันทามติทั้ง 5 ข้ออย่างต่อเนื่อง

สรุป-สถานการณ์และข้อเสนอแนะ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ