ภาพ /เรื่อง : เฉลิมชัย จันทร์ตา
มาร์ค ณัฐพงษ์ ประสานสุข เด็กหนุ่มวัย 29 ปี จากภาคอีสานที่เข้าเมืองกรุงเดินทางตามความฝันเช่นเดียวกับเพื่อน ๆ หลายคนเมื่อจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย การใช้ชีวิตในโรงงานเกือบสองปีสำหรับวัยรุ่นอย่างเขาไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เมื่อต้นทุนชีวิตอยู่ท้องไร่ท้องนา ซึ่งใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายแตกต่างจากโลกการทำงานที่เขาสัมผัสและต้องปรับตัวจนวันที่ความอดทนสิ้นสุดลง พร้อมกับกระเป๋าหนึ่งใบที่เขาสะพายกลับบ้านและปณิธานในหัวใจว่าขอกลับไปเริ่มต้นชีวิตที่บ้านนา
ในยามเช้าบ้านหลังเล็ก ๆ ที่ ต.นาดูน อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี ที่มาร์คอยู่กับพ่อแม่ในวัยใกล้เกษียณ หลังจากผ่านพ้นคืนการเดินทาง ภาพจำที่อยู่โรงงานก็วนเวียนมาให้ทบทวนพร้อมกับคำถามที่ว่าจะทำมาหากินอย่างไรที่บ้านเกิดแห่งนี้ ความสนใจที่มีเป็นทุนเดิมคือการเรื่องการทำบอนไซประดิษฐ์ที่เริ่มเรียนรู้ด้วยตนเองจากสื่อ ใช้เวลาว่างช่วงทำงานที่โรงพิมพ์ศึกษาและทดลองทำ จุดเริ่มต้นของชิ้นงานที่ผลิตจึงเกิดขึ้นที่นี่ โดยเริ่มต้นโพสขายแบบประมูลในกลุ่มผู้สนใจบอนไซ จากงานชิ้นแรกที่ได้รับเสียงตอบรับมีผู้ประมูลไป ความภาคภูมิใจจึงเกิดขึ้นพร้อมกับความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาผลงานงานให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และราคาไม่แพง คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ง่าย โดยใช้สื่อออนไลน์เป็นพื้นที่ทำการตลาด จนนำมาสู่การเปิดเพจ บอนไซบ้านทุ่ง ซึ่งปัจจุบันมีผู้ติดตามกว่าสองหมื่นสี่พันคน
กว่าหนึ่งปีที่มาร์คได้พัฒนาผลงานตนเอง จนเป็นที่รู้จักในโลกของบอนไซประดิษฐ์ เขาได้รับการยอกย่องว่าเป็นครูคนหนึ่งที่สามารถให้คำปรึกษา แนะนำวิธีการทำทำผ่านเพจ และคลิปวีดิโอที่เขาเรียนรู้และฝึกการใช้เผยแพร่การทำบอนไซประดิษฐ์ด้วยวัสดุที่ราคาคาไม่แพง หาซื้อได้ทั่วไปตามร้านขายอุปกรณ์ก่อสร้าง ชิ้นแล้วชิ้นที่เล่าที่ผ่านการบรรจงด้วยมือของเขาดูราวกับมีชีวิต ผู้ซื้อรับมอบด้วยความสุข และพึงพอใจ ซึ่งมาร์คได้บอกเสมอว่าเขาใส่ความสุข และต้นทุนชีวิตที่อยู่กับบรรยากาศท้องไร่ท้องนา ทำให้ผู้ชมชิ้นงานของเขาสามารถเสพงานศิลป์แห่งความสุนทรียะที่อยู่เนื้อในนั้นได้ไม่ยากเกินไป
“การทำบอนไซประดิษฐ์ คือการกล่อมเกลาจิตใจให้อ่อนโยน เย็นลง และเข้าใจธรรมชาติมา เหมือนการปฏิบัติธรรมไปในตัว” ฟังแล้วเหมือนไม่ใช่คำพูดของคนรุ่นใหม่ที่ภาคภูมิใจกับงานที่เขารัก โดยมีพ่อแม่ช่วยให้กำลังอยู่เบื้องหลัง
ในยามเช้าบ้านหลังเล็กๆ ของมาร์คไม่เงียบเหงา มีเยาวชนในหมู่บ้านที่สนใจแวะเวียนมาขอเรียนรู้ และฝึกทำ มีพัสดุมารับของไปส่งตามที่ต่าง ๆ วันละหลายรอบ ซึ่งตอนนี้เขาได้พัฒนาชุดสำเร็จเพื่อไปทดลองทำเองในราคาไม่แพง ซึ่งได้รับความสนใจสำหรับคนรุ่นใหม่ และแม่บ้านที่พอมีเวลาอยากหารายได้เสริม
“ผมได้ช่วยเขาได้มีรายได้เสริม ผมมีความสุขที่ได้แบ่งปันโอกาสนั้น แม้ว่าผมจะได้เรียนจบในระดับสูง ในวันนี้ผมคิดถูกแล้วที่กลับมาเริ่มต้นชีวิตที่บ้านเกิด อยู่กับครอบครัว ทำในสิ่งที่รัก” เขากล่าวด้วยรอยยิ้มก่อนจะหันไปมองผลงานชิ้นล่าสุดที่เขากำลังบรรจงติดใบทีละชิ้นด้วยแววตาที่มีความสุข