ไม่เห็นต้องเรียนครูก็เป็นครูได้ ?
“ครูที่ดี” จะเป็นใครก็ได้ แต่ไม่ใช่ “ใครก็ได้” จะสามารถเป็นครูที่ดี :
นี่เป็นคำจำกัดความสั้นๆที่คิดว่าน่าจะครอบคลุมหลักคิดที่ผมมีอยู่ตอนนี้ ….จากดราม่าเรื่องคนเป็นครูต้องเรียนครูวนเวียนอยู่ในหัวผมมานานมากเพราะหลายประเด็นหลายเหตุผลยังดูเหมือนขัดแข้งไม่ลงตัวจนบางที่ดูแล้วเหมือนคนที่กำลังเถียงกับตัวเอง
ผมว่าก่อนอื่นเรามาตั้งหลักคิดกันก่อนครับ ผมเชื่อว่า “อะไรอะไรก็ครู” เป็นอย่างนั้นจริงๆ และเราคงไม่เถียงว่าที่ผ่านมาเราคงเจอหลายคนที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ทั้งชี้ทางสั่งสอนตั้งแต่เรื่องการบ้านแบบฝึกหัดวิชาต่างๆไปจนถึงปัญหาชีวิต และหนึ่งในนั้นก็คงเป็นพ่อแม่ของเราเองหละครับและทั้งๆที่หลายคนก็ไม่ได้เรียนครู เผลอๆอาจจะสอนเราได้ดีกว่าครูในโรงเรียนเสียอีก
มาถึงตอนนี้หลายคนอาจเกลียดผมในใจและคิดไปแล้วว่ามึงเชียร์รัฐบาลชัวร์ ไม่เรียนครูไม่รู้หรอก…ผมเรียนครูครับ และถึงไม่อยู่โรงเรียนแต่เกือบทั้งชีวิตอยู่กับเด็กอยู่กับครูมาตลอด ผมแค่อยากบอกว่าที่เราเถียงกันจนคอเป็นเอ็นนี่
….เรากำลังคุยกันคนละเรื่อง….
เราต้องถามก่อนว่านโยบายที่เถียงกันอยู่นี้อะไรคือปัญหา ถ้าจากเหตุผลของภาคนโยบายเพราะเรื่องการขาดแคลนครูผมขอตอบเลยว่าการให้ “ใครก็ได้มาเป็นครูไม่ใช่คำตอบ”
เพราะเรามีครูค่าตัวแพงที่ไม่ได้ทำหน้าที่สอนอยู่ตามโต๊ะกระทรวงหรือชงกาแฟอยู่ตามห้องประชุมเขตอยู่จำนวนไม่น้อยและทรัพยากรที่แทบเสียเปล่าในการดูแลและว่าจ้างครูครึ่งใบกลุ่มนี้เป็นสัดส่วนไม่น้อยเลยในงบประมาณการศึกษาบ้านเรา
หรือถ้าเรื่องที่เราเถียงกันอยู่นี้คือนโยบายสำหรับการพัฒนาศักยภาพเด็กไทยแบบเฉพาะด้านก็ถือว่าเป็นกระบวนการที่ไม่เลว เช่นอยากผลิตวิศวะก็เปิดรับวิศวกรเชี่ยวชาญมาเป็นครู อยากผลิตนักวิทยาศาสตร์ก็เชิญนักวิจัยมือฉมังเข้ามาสอนอยู่ในโรงเรียนซะเพราะนอกจากจะได้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมีประสบการณ์ตามสายงานนั้นมาให้ความรู้แล้วยังเป็นการเปิดโลกสร้างแรงบันดาลใจที่ตรงจุดให้กับนักเรียนและคงทำได้ดีกว่าคนเรียนแค่content +วิชาครูเป็นไหนๆ แต่ทั้งนี้เราก็ลืมเสียไม่ได้ว่าทุกกระบวนการเรียนรู้จำเป็นต้องมีการออกแบบด้วยครูผู้มีประสบการณ์ในการสอนด้วยเสมอ
ไม่ว่าคำตอบหรือแรงเชียร์จะอยู่ฝั่งว่าคนเป็นครูจำเป็นต้องเรียนครูหรือไม่ก็ตาม สิ่งที่ผู้กำหนดนโยบายต้องคิดให้แตก คือเรื่องของการจัดการและจัดสรรทรัพยากรคน เมื่อเรากำหนดให้การเรียนครูต้องมีหลักสูตรมีกระบวนการเฉพาะ หนำซ้ำตอนนี้การเป็นครูจำเป็นต้องเรียนถึง 5 ปีในขณะที่คณะอื่นเรียน 4 ปีก็ทำมาหากินได้แล้ว มันสะท้อนถึงการจัดการการเตรียมคน เตรียมทรัพยกรของรัฐที่ย่ำแย่อยู่ในที
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ไม่เพียงแต่สะท้อนมุมมองต่อวิธีคิดนโยบายอันผุพังของรัฐ แต่ยังอยากสะท้อนไปถึงสถาบันผลิตครูเช่นกันที่ยังหากเกาะแน่นอยู่กับเกียรติของความเป็นครูที่ล้าหลังแต่ไม่เคยพัฒนากระบวนการสร้างคนให้เป็นครูที่พร้อมรับกับโจทย์ใหม่ๆของการศึกษาที่จะเกิดขึ้น หรือพร้อมที่จะแก้ปัญหาที่ยังไม่ได้เกิดได้ดีพอ
คำถามจากสังคมที่ว่า “คนเป็นครูต้องเรียนครูหรือไม่” จะยังถูกถามซ้ำขึ้นมาอีกหลายต่อหลายครั้ง
และถึงวันนั้นคำว่าครุศาสตร์หรือศึกษาศาสตร์ก็คงจะหมดความศักดิ์สิทธิ์ไปโดยปริยาย…
จากที่เพจ อะไรอะไรก็ครู ชวนกันถกประเด็นผมก็ใช้เวลาอยู่นานในการทำความเข้าใจและลองแยกประเด็นที่เกิดขึ้น นี่คงไม่ใช่การชี้นำ พร่ำบ่นหรือก่นด่า แต่เชื่อโดยบริสุทธิใจว่าคงจะเป็นอีกคำถามที่เราจะได้ช่วยกันถกเถียงให้เกิดการเคลื่อนตัวไปสู่การแก้ปัญหา การตั้งทิศนโยบายการศึกษาที่ดีในอนาคตได้บ้าง
ขอบคุณครับ
ครู นอกเครื่องแบบ