จากเมล็ดพันธุ์ สู่จานข้าว : เมื่อเมล็ดพันธุ์เป็นของมวลมนุษยชาติ

จากเมล็ดพันธุ์ สู่จานข้าว : เมื่อเมล็ดพันธุ์เป็นของมวลมนุษยชาติ

แม้ว่างานจากเมล็ดพันธุ์สู่จานข้าวที่บึงแก่นนคร จังหวัดขอนแก่นจะจบไปแล้ว แต่เรื่องราวการเดินทางของเมล็ดพันธุ์ยังคงไม่จบตามไป เรายังคงต้องปลูก อนุรักษ์ ส่งต่อเมล็ดพันธุ์ไว้เพื่อเป็นมรดกให้กับลูกหลานเราต่อไป ทราบหรือไม่ว่าประเทศไทยมีพันธุ์ข้าวพื้นบ้านที่ถูกเก็บรวบรวมพันธุ์ข้าวของศูนย์ปฏิบัติการและเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวแห่งชาติตั้งแต่ พ.ศ.2480 เรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบัน ได้รวบรวมไว้จำนวน 23,903 ตัวอย่าง เป็นข้าวพื้นบ้านจากทั่วประเทศ 17,093 ตัวอย่าง โดยสามารถจำแนกชื่อในเบื้องต้นที่ไม่ซ้ำกันได้ทั้งหมด 5,928 ชื่อพันธุ์ ซึ่งยังไม่ได้นับรวมสายพันธุ์ใหม่ๆที่มีการปรับปรุงพันธุ์ขึ้น 

หากมองถึงความต้องการใช้เมล็ดพันธุ์ของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2553  มีมูลค่าประมาณ 25,600 ล้านบาท เป็นความต้องการใช้เมล็ดพันธุ์พืชไร่มูลค่าประมาณ 23,900 ล้านบาท  และเมล็ดพันธุ์ผัก มูลค่าประมาณ 1,700 ล้านบาท (พาโชค พงษ์พานิช, 2553) ซึ่งนับเป็นตลาดที่มีมูลค่าสูงทีเดียว จึงนำมาสู่การแย่งชิงตลาดการค้าเมล็ดพันธุ์กันอย่างเข้มข้น

20162902160619.jpg
ผ้าป่าเพื่อร่วมสร้างศูนย์การเรียนรู้เกษตรกรรมยั่งยืน ขอบคุณภาพจาก : มาลี สุปันตี

เมล็ดพันธุ์เป็นของมวลมนุษยชาติ

ภายใต้แนวคิดที่ว่า เมล็ดพันธุ์เป็นของมวลมนุษยชาติ ชาวนา (คนทำกสิกรรม)สามารถเป็นเจ้าของ ส่งต่อ แลกเปลี่ยนกันได้อย่างเสรีตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ เมล็ดพันธุ์จึงถือเป็นมรดกที่ถูกเก็บรักษาไว้ ให้ลูกหลาน ญาติ และถูกแจกจ่ายไปยังหมู่เพื่อฝูงเพื่อพัฒนาต่อ รวมถึงสร้างหลักประกันในการคงอยู่ของสายพันธุ์ด้วยการแบ่งไปปลูกในพื้นที่อื่นๆ หากพื้นที่ใดประสบปัญหา เช่น น้ำท่วม แล้ง สูญเสียพันธุ์ไปก็จะสามารถตามหาคืนมาได้ เป็นเหมือนเครือข่ายย่อยๆ มาตั้งแต่ครั้งอดีต

เกษตรกรมีการจัดการพันธุ์กรรมข้าว

ร่วมกันคิด ทำกันร่วม เป็นการศึกษาเรียนรู้แบบกลุ่ม โดยเกิดจากเกษตรกรที่มีความสนใจในด้านพันธุกรรมข้าว มาร่วมตกลงวางแผนการเรียนรู้ด้วยกัน เพื่อออกแบบวิธีการในการศึกษาเรื่องพันธุกรรมข้าว โดยให้สมาชิกในกลุ่มมีโอกาสได้เกิดการพูดคุย แลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ สร้างการปฏิบัติการร่วมกันอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ซึ่งกลุ่มจะมีการแบ่งหน้าที่กันในการทำงาน อาศัยการตัดสินใจร่วมกันของสมาชิกในการคัดเลือกสายพันธุ์ข้าว คุณลักษณะที่เหมาะสมกับพื้นที่ ตั้งแต่กระบวนการปลูก เก็บเกี่ยวไปจนถึงการบันทึกและสรุปผลการเรียนรู้ ตัวอย่าง เช่น  กลุ่มอาสาสมัครอนุรักษ์ ปรับปรุงและพัฒนาพันธุกรรมข้าวพื้นบ้าน เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ภูมินิเวศยโสธร เครือข่ายจัดการความรู้และโรงเรียนชาวนา จังหวัดนครสวรรค์ เป็นต้น ซึ่งมีประบวนการในการทำงานของกลุ่ม ดังนี้

– พูดคุยหาคนที่มีความสนใจในเรื่องพันธุกรรมข้าว เพื่อทำการศึกษาเรียนรู้ร่วมกัน และตั้งเป็นกลุ่มอาสาสมัครด้านพันธุกรรม
– สมาชิกร่วมประชุมเพื่อปรึกษาหารือในการแบ่งสรรหน้าที่ในการทำงาน(เลือกประธาน เลขานุการ) ตั้งชื่อกลุ่ม กำหนดแนวทางและเป้าหมายในการทำงานร่วมกันของกลุ่ม
– สร้างแผนการทำงานร่วม ควรให้สมาชิกกลุ่มควรจะมีเวลาพบปะพูดคุยกันอย่างน้อยเดือนละครั้ง
– ทำการปลูกข้าวในแปลงทดลอง สังเกตการเจริญเติบโต บันทึกคุณลักษณะ และร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ในวิถีเกษตรกรรม
– สรุปบทเรียน ขยายผลความรู้สู่ชุมชน

การวางแผนการทำงานที่เป็นการสร้างพื้นที่ร่วมของกลุ่มเกษตรกร ได้มีการพบปะพูดคุยกันของสมาชิกภายในกลุ่ม เช่น การเรียนรู้ผ่านแปลงนารวมของกลุ่มอาสาสมัครอนุรักษ์ ปรับปรุงและพัฒนาพันธุกรรมข้าวพื้นบ้านเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือภูมินิเวศยโสธร โรงเรียนชาวนา ซึ่งล้วนแต่เป็นการแลกเปลี่ยน เปรียบเทียบ ลักษณะประจำพันธุ์ข้าวพื้นบ้าน ภายใต้สภาพแวดล้อมเดียวกัน ซึ่งมีเกณฑ์ในการคัดเลือกพื้นที่เรียนรู้ร่วมกัน ดังนี้

– เจ้าของแปลงต้องมีความเข้าใจ มีความสนใจในเรื่องพันธุ์ข้าวเป็นพิเศษเนื่องจากจะต้องรับผิดชอบดูแลอย่างใกล้ชิด รวมถึงต้องเป็นผู้ที่คอยสังเกตการเจริญเติบโตอย่างสม่ำเสมอ
– อยู่ใกล้ถนนสายหลัก เดินทางสัญจรไปมาได้สะดวก รวมถึงจะต้องไม่ห่างจากบ้านสมาชิกที่มาร่วมเรียนรู้มากเกินไป
– เป็นพื้นที่ซึ่งอยู่ใกล้แหล่งน้ำ สามารถน้ำมาเติมใช้ในนาได้หากเกิดภาวะฝนแล้งหรือระบายน้ำได้อย่างสะดวกในกรณีที่เกิดน้ำท่วม
– การคิดร่วมทำร่วมเป็นการศึกษาเรียนรู้โดยกระบวนการกลุ่ม อาศัยการจัดการร่วมกันของคนในกลุ่ม ภายใต้มติของเสียงส่วนรวม ทำให้ได้คุณลักษณะร่วมที่เหมาะสมของสายพันธุ์ข้าวของชุมชน สามารถสร้างการแลกเปลี่ยนความรู้ของสมาชิกได้เป็นอย่างดี เแต่ก็มีจุดด้อยตรงการตัดสินใจล่าช้า หรือบางครั้งการตัดสินใจเลือกของกลุ่มก็ไม่สามารถตอบสนองลักษณะนิเวศที่จำเพาะของแปลงบางแปลงได้

คิดร่วมกัน แต่แยกกันทำ การคิดร่วม ทำแยกเป็นการอาศัยกระบวนการกลุ่มในการคิดการวางแผนการ เพื่อกำหนดเป้าหมาย ทิศทางในการทำงานร่วมกัน แต่เปิดโอกาสให้สมาชิกสามารถสร้างรูปแบบการปฏิบัติการในแปลงที่เหมาะสมกับครอบครัวตนเอง และได้ทำการศึกษาเรียนรู้พันธุ์ข้าวในแปลงอย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะสามารถตัดสินใจในการเลือกพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับนาแต่ละแปลงและได้ข้าวที่มีรสชาติที่ถูกใจคนในครอบครัวอีกด้วย การคิดร่วมทำแยกจะมีกรารมาพบปะพูดคุย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่เกิดจากการเรียนรู้อยู่เป็นระยะๆ

กระบวนการครอบครัว เกิดที่มีความสนใจเรื่องพันธุกรรมข้าวเป็นพิเศษ อาจมีการปลูก รวบรวมพันธุ์ข้าวนับสิบนับร้อยสายพันธุ์ หรือกระทั่งมีการผสมพันธุ์ข้าวเพื่อค้นหาลักษณะที่เหมาะสมกับครอบครัวของตนเอง เช่น กรณีครอบครัวพ่อถาวร พิลาน้อยและลูกชายแก่นคำกล้า พิลาน้อย ที่ทำการปลูก อนุรักษ์ และรวบรวมสายพันธุ์ข้าวพื้นบ้านกว่า200 สายพันธุ์ หวัน เรืองตื้อ เกษตรกรหัวก้าวหน้านักปรับปรุงพันธุ์ข้าวของจังหวัดน่าน ผู้ซึ่งนำข้าวหอมทุ่งกับสายพันธุ์กข6 เพื่อให้ได้ข้าวที่แข็งแรงไม่ล้ม มีกลิ่นหอม รสชาติดี หรือพ่อบปุบผา สารรัตน์ เกษตรกรนักอนุรักษ์พันธุกรรมข้าวแห่งจังหวัดร้อยเอ็ด 

20162902161019.jpg
ภาพ : แปลงเรียนรู้รวมของเกษตรกร 

จากเมล็ดพันธุ์ สู่จานข้าว คงเป็นเพียงหนึ่งความเคลื่อนไหวของภาคเกษตรกรรม ที่อาจจะเป็นหนึ่งแรงกระเพื่อมที่จะทำให้เกิดคำถามกับอาหารที่กินอยู่ในทุกวันบ้าง ว่าแท้จริงแล้วอาหารมาจากไหน เมล็ดพันธุ์ที่เกษตรกรรายย่อยได้เก็บรักษาไว้ได้ถูกส่งต่อมาสู่จานอาหารของเราได้บ้างหรือไม่ หรือแท้จริงแล้วผลประโยชน์มหาศาลที่เมล็ดพันธุ์เหล่านี้สร้างขึ้นตกอยู่ในมือของใคร ผู้บริโภคจะลุกขึ้นมากำหนดชะตากรรมทางอาหารของตนเอง หรือจะปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรมกันแน่

20162902161202.jpg
 ร่วมพูดคุยถึงอนาคตพันธุกรรมในมือเกษตรกรรายย่อย ขอบคุณภาพจาก : มาลี สุปันตี

ทั้งนี้เครือข่ายภาคเกษตรกรรมและชุมชนได้ร่วมกันกล่าวคำประกาศเจตนารมณ์ร่วมกัน

คำประกาศเจตนารมณ์ : งานมหกรรมพันธุกรรม ปี 2559

ท่ามกลางวิกฤตินานา ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน เกษตรกรรายย่อยคือกลุ่มประชาชนที่กำลังได้รับผลกระทบจากวิกฤตดังกล่าว ตั้งแต่ปัญหาเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก ราคาผลผลิตตกต่ำ การประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อเอื้ออำนวยประโยชน์ให้กับนักลงทุน การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และการเปิดเสรีการค้าระลอกใหม่อาทิ ความตกลงเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค หรือ ทีพีพี ยังไม่นับรวมภาวการณ์เปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลความผันผวนของฤดูกาลที่สร้างความเสี่ยงต่อการผลิตของเกษตรกรอย่างหนัก ยิ่งไปกว่านั้น ความขัดแย้งเผชิญหน้าในปัญหาแย่งชิงทรัพยากรมิได้ลดน้อยถอยลงเลย มีแต่จะรุนแรงมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นจากการทวงคืนผืนป่า การขยายสัมปทานเหมืองแร่ต่าง ๆ การเปิดสัมปทานบ่อปิโตรเลียม การแย่งยึดที่ดินจากการขยายตัวของโครงการขนาดใหญ่ การลงทุนขนาดใหญ่ทั้งการเกษตรและอื่นๆ รวมถึงการเร่งผลักดันการเปิดเสรีพืชดัดแปลงทางพันธุกรรม หรือ จีเอ็มโอ ทั้งหมดนี้จะส่งผลต่อความมั่นคงทางพันธุกรรมของเกษตรกรรายย่อยที่เป็นหัวใจของความมั่นคงทางอาหารอย่างร้ายแรง ดังนี้แล้วผลกระทบต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นก็จะกระทบกับทุกคนในสังคม

สิทธิของเกษตรกร ชาวนาชาวไร่และชุมชนท้องถิ่นมีการสืบทอด จัดการผ่านการใช้ประโยชน์ส่งต่อคนรุ่นแล้วรุ่นเล่ารวมถึงการแลกเปลี่ยนพันธุกรรมโดยเสรีระหว่างเกษตรกร การเก็บรักษาพันธุ์ การเก็บคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ การคิดค้นนวัตกรรมเครื่องมือการเกษตรที่เหมาะสม การเข้าถึงและจัดการตลาดที่สอดคล้องกับเกษตรกรรายย่อย รวมถึงสิทธิชุมชนที่มีต่อแผ่นดิน สายน้ำ ป่าไม้ นับเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มิอาจล่วงละเมิดได้ ที่สำคัญอย่างยิ่งคือ สิทธิเกษตรกรในการมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายสาธารณะที่จะส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่อวิถีชีวิตของเกษตรกรรายย่อย 

พวกเราในนามเครือข่ายเกษตรกร ชุมชนท้องถิ่น ผู้บริโภคและเพื่อนมิตร มีเจตจำนงแน่วแน่ที่จะมาร่วมกันผนึกกำลังอย่างเข้มแข็งผ่านงาน “มหกรรมพันธุกรรม จากเมล็ดพันธุ์สู่จานข้าว” เพื่อรักษาพันธุกรรมพื้นบ้านให้ปลอดพ้นจากการผูกขาดและครอบงำในทุกรูปแบบ เพราะเราเข้าใจเป็นอย่างดีว่าการแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ได้โดยเสรีระหว่างเกษตรกร และการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์เพื่อการเพาะปลูกนั้น คือพื้นฐานแห่งความงอกงามและการรักษาความหลากหลายของทรัพยากรชีวภาพ และเป็นหลักประกันสำหรับอธิปไตยทางด้านอาหารของประชาชนและความอยู่รอดของเกษตรกรรายย่อย พวกเราทั้งหลายที่มารวมกันในวันนี้ได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของพวกเราผ่านการทำงานในไร่นา ผ่านงานวิชาการชาวบ้าน โดยตระหนักในศักดิ์ศรีของชาวนาชาวไร่ หลักสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน และสมานฉันท์ภาคประชาชนเพื่อต่อต้านการผูกขาดระบบเกษตรกรรมและอาหาร และเพื่อสร้างชีวิตที่ดีของประชาชนทั้งมวล  

พวกเราจึงขอประกาศว่า พวกเราจะคงยืนหยัดปฏิบัติการในผืนนา ไร่ สวน ชุมชนของพวกเราอย่างไม่หยุดยั้ง และจะประสานความร่วมมือเป็นเครือข่ายกับกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม ทั้งในท้องถิ่นและระดับชาติ พร้อมทั้งจะร่วมกับประชาชนทั้งหลายในสังคมหยุดยั้งนโยบาย กฎหมาย และมาตรการทั้งหลายที่จะทำให้เกิดการผูกขาดครอบงำระบบเกษตรกรรมและอธิปไตยทางอาหารอย่างเต็มกำลัง 

ด้วยความสมานฉันท์ประชาชนทั้งมวล เกษตรกร ชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ ผู้บริโภค ผู้ประกอบการ นักวิชาการ หน่วยงานราชการ และนักกิจกรรมทางสังคม ประชาสังคมต่าง ๆ ไชโย ไชโย ไชโย

ประกาศ ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2559 ณ บึงแก่นนคร จังหวัดขอนแก่น

20162902162730.jpg
ภาพอ่านคำประกาศเจตนารมณ์ ขอบคุณภาพจาก ประภาส ปิ่นตบแต่ง

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ