หลังศาลสืบพยานทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลยเสร็จสิ้น เมื่อ 29-30 มิ.ย. ที่ผ่าน ทนายระบุพฤติการณ์ของคนร้ายเข้าข่ายพยายามฆ่า ระบุพร้อมสู้ทุกศาลหากคดีพลิก เอ็นจีโอเผยผู้แทนสหประชาชาติทำหนังสือถึงรัฐบาลไทยและบริษัทปาล์มน้ำมันถึงมาตรการในการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิฯ ตามหลักการเรื่องธุรกิจและสิทธิมนุษยชน
1 มิ.ย. 2564 – สหพันธ์เกษตรภาคใต้ (สกต.) รายงานความคืบหน้า คดีของนายดำ อ่อนเมือง นักปกป้องสิทธิในที่ดินชุมชนสันติพัฒนา สมาชิกของสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ที่ถูกลอบสังหารแต่สามารถหลบกระสุนปืน เอาชีวิตรอดมาได้ เมื่อปี 2563 ซึ่งก่อนหน้านี้ในวันที่ 8 ก.พ. 2564 ที่ผ่านมาศาลจังหวัดเวียงสระได้นัดพร้อมตรวจพยานหลักฐานในคดีเป็นครั้งแรก และมีการสืบพนายโจทก์และพยานจำเลยเมื่อวันที่ 29-30 มิ.ย. ที่ผ่าน โดยศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 26 ส.ค. 2564 เวลา 09.00 น.
คดีดังกล่าว สืบเนื่องจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2563 เวลา 01.00 น. ขณะที่นายดำ อ่อนเมือง นักปกป้องสิทธิในที่ดินและสมาชิกชุมชนสันติพัฒนาอีกจำนวน 4 คน กำลังทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้กับชุมชนบริเวณทางเข้าชุมชน คนร้ายได้บุกเข้ามาและนำปืนจ่อยิงเข้าไปที่ศีรษะของนายดำ แต่นายดำสามารถหลบคมกระสุนทัน ทำให้รอดชีวิตจากการลอบสังหารที่อุกอาจและซึ่งหน้ามาได้อย่างหวุดหวิด ซึ่งคนร้ายที่ก่อเหตุทราบชื่อต่อมา คือ นายสมพร ฉิมเรือง และเชื่อว่าเป็นคนงานของบริษัทเอกชนที่มีข้อพิพาทกับชุมชนมาก่อน หลังจากก่อเหตุได้ขับรถยนต์หลบหนีไป
นายดำและนักปกป้องสิทธิในที่ดินชุมชนสันติพัฒนาได้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรบางสวรรค์เข้ามาตรวจพื้นที่เกิดเหตุและเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ติดตามที่บ้านของนายสมพร คนร้ายและดำเนินการจับกุมพร้อมกับอาวุธปืนที่เกิดเหตุ และได้ดำเนินการตามกฎหมาย ในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา และมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต พาอาวุธปืน ติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ โดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่มีเหตุสมควร ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน
นางอำพร สังข์ทอง ทนายความของนายดำกล่าวภายหลังการพิจารณาคดีเสร็จสิ้นว่า วันที่ 29-30 มิ.ย.ที่ผ่านมาเป็นการสืบพนายโจทก์และพยานจำเลย ซึ่งในส่วนของพยานโจทก์ตัวผู้เสียหายคือนายดำ อ่อนเมือง ได้ยืนยันถึงเหตุการณ์ความเป็นมาว่ามันเกิดจากสาเหตุอะไร ซึ่งตัวผู้เสียหายเองมีความเชื่อว่าเกิดมาจากสาเหตุความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับบริษัทเอกชนในพื้นที่ที่มีข้อพิพาทกันอยู่ โดยนายดำได้ยืนยันว่ามูลเหตุจูงใจน่าจะเกิดมากจากเรื่องนี้ และในส่วนของพยานแวดล้อม ซึ่งเป็นพยานอีกคนหนึ่งก็ยืนยันในข้อเท็จจริงที่ว่าเห็นเหตุการณ์ร่วมกัน และยืนยันว่าตัวของนายสมพรนั้นเป็นคนร้าย
ทนายความของนายดำกล่าวอีกว่าในส่วนของพนักงานสอบสวนก็ได้รวบรวมพยานหลักฐานและมาเบิกความยืนยันพยานหลักฐานที่เก็บได้จากที่เกิดเหตุ หรือว่าการตรวจดีเอ็นเอทางนิติวิทยาศาสตร์ที่เข้ากันได้กับจำเลย ซึ่งเป็นการยืนยันตัวจำเลย ซึ่งจำเลยเองเขาก็ปฏิเสธโดยอ้างว่าไม่ได้มีเจตนาที่จะฆ่า แต่เราดูพฤติการณ์แล้วน่าจะเข้าข่าย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นแล้วก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล ซึ่งจะชั่งน้ำหนักของพยานหลักฐานทั้งหมดและดูว่าเจตนาของจำเลยนั้นเป็นการพยายามฆ่าตามฟ้องของพนักงานอัยการหรือไม่ เพราะการใช้อาวุธปืนเป็นอาวุธที่ร้ายแรงตามสภาพอยู่แล้วในการเล็งไปที่ใครสักคนหนึ่งเจตนาก็เห็นชัดอยู่ ซึ่งหลังจากศาลได้สืบพยานโจทก์และจำเลยเสร็จสิ้นแล้วได้นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 26 สิงหาคม 2564 เวลา 09.00 น.
“ในส่วนของพยานหลักฐานที่เราสืบมาเราก็ไม่ได้มีความกังวลอะไร แต่ลุงดำซึ่งเป็นผู้เสียหายก็มีความเป็นกังวล หากคดีพลิก หรือไม่เป็นไปตามที่เราคาดหมายก็กังวลในเรื่องของความปลอดภัย อย่างไรก็ตามถ้าเกิดผลของคดียังไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่เราต้องการ เราก็จะสู้กันต่อเพราะยังมีชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาต่อได้” ทนายความของนายดำกล่าว
ด้าน นางสาว ปรานม สมวงศ์ จาก Protection International ที่ทำงานกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกล่าวว่าเราทราบมาว่า ผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติด้านการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิฯ คุณMary Lawlor และผู้รายงานพิเศษกรณีการวิสามัญฆาตกรรมหรือการสังหารโดยพลการคุณAgnes Callamard ได้ส่งหนังสือทวงถามรัฐบาลไทยถึงมาตรการที่ชัดเจนที่มีต่อการดูแลความปลอดภัยของนายดำและชุมชนสันติพัฒนาสมาชิกสกต. หนังสือของผู้แทนของสหประชาชาติทั้งสองท่านได้ไฮไลท์อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองข้อ 6 ที่พูดถึงการคุ้มครองสิทธิในชีวิต
อีกทั้งยังมีข้อมูลว่าหนังสือของสหประชาชาติยังได้ส่งถึงบริษัทปาล์มน้ำมัน เพื่อให้บริษัทให้ข้อมูลเพิ่มถึงมาตรการที่มีเพื่อเยียวยาผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนตามแนวทางหลักการของสหประชาชาติเรื่องธุรกิจและสิทธิมนุษยชน
สำหรับ สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) เกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มเกษตรกรรายย่อยและแรงงานไร้ที่ดินในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 เพื่อตรวจสอบพื้นที่บริษัทเอกชนที่หมดสัญญาเช่า แต่ยังคงใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว โดยร่วมกันเรียกร้อง ผลักดันให้ชาวบ้านได้เข้าไปใช้สิทธิในที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ยังผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิในที่ดิน สิทธิเกษตรกร สิทธิสตรี สิทธิชุมชน สิทธิในการสร้างชุมชนใหม่ และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการบริหารจัดการทรัพยากร เพื่อลดความเลื่อมล้ำในการถือครองที่ดิน สร้างความเป็นธรรมในสังคม และส่งเสริมหลักการสิทธิมนุษยชนและ ประชาธิปไตย
สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ ปัจจุบันประกอบด้วย 5 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนสันติพัฒนา ชุมชนคลองไทรพัฒนา ชุมชนก้าวใหม่ ชุมชนน้ำแดงพัฒนา และชุมชนเพิ่มทรัพย์ โดยที่ผ่านมา สมาชิกของสกต. โดยเฉพาะชุมชนคลองไทรพัฒนา นอกจาก ต้องต่อสู้เรื่องสิทธิการเข้าถึงที่ดินและสิทธิการก่อตั้งชุมชนใหม่แล้ว ยังต้องหาแนวทางในการรับมือและต่อสู้กับกลุ่มอิทธิพลมืดมาโดยตลอด
ที่ผ่านมามีสมาชิกของ สกต. ถูกลอบสังหารตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 – พ.ศ. 2558 จำนวน 4 ราย คือ คือ นายสมพร พัฒภูมิ ถูกสังหารปี 2553, นางปราณี บุญรักษ์ และนางมลฑา ชูแก้ว ถูกสังหารปี 2555, นายใช่ บุญทองเล็ก ถูกสังหารปี 2558 ซึ่งการลอบสังหารทั้ง 4 รายนั้นยังไม่สามารถนำผู้กระทำผิดมาลงโทษได้แต่อย่างใด และเมื่อปี 2559 ถูกลอบยิงบาดเจ็บสาหัสอีก 1 ราย