เครือข่ายภาคประชาสังคมจัดเวทีติดตามวาระครอบรอบ 1 ปีการใช้แผนปฏิบัติการชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน เผยสถานการณ์การละเมิดสิทธิฯ จากภาคธุรกิจยังคงเพิ่มขึ้น ออกแถลงการณ์เร่งรัฐดำเนินการตามแผน เปิดเผยข้อมูลที่โปร่งใสต่อสาธารณะ และให้ประชาชนมีส่วนร่วม
เมื่อวันที่ 12 – 13 พ.ย. 2563 ณ โรงแรมอมารี ดอนเมือง กรุงเทพฯ มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน และเครือข่ายภาคประชาสังคมได้ร่วมกันจัดประชุมเชิงปฏิบัติหัวข้อ “ประเทศไทย: สถานการณ์ธุรกิจและสิทธิมนุษยชน 1 ปี หลังจากประกาศใช้แผนปฏิบัติการแห่งชาติด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (NAP)” เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภูมิภาคและทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (BHR) เพื่อติดตามและสนับสนุนให้รัฐบาลดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการแห่งชาติด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (National Action Plan on Business and Human Rights – NAP) นั้น
ในเวทีวันที่ 13 พ.ย. 2563 ตัวแทนของชุมชนและภาคประชาสังคมในประเด็นแรงงาน ที่ดิน-สิ่งแวดล้อม นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และการลงทุนข้ามพรมแดนและบรรษัทข้ามชาติ ได้นำเสนอสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในด้านธุรกิจต่อผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปได้ว่า หลังจากรัฐบาลประกาศใช้แผนปฏิบัติการ NAP มาเป็นระยะเวลา 1 ปี สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเด็นธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยมีพัฒนาการเล็กน้อยในกรณีการลงทุนข้ามพรมแดนที่ศาลไทยมีคำสั่งรับฟ้องเป็นคดีแบบกลุ่มสำหรับชาวกัมพูชาที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินกิจการของบริษัทสัญชาติไทย
อย่างไรก็ดี สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวเนื่องกับภาคธุรกิจกลับมีมากขึ้นในหลายกรณี อาทิ การคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกรณีนายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ (Strategic Lawsuit Against Public Participation – SLAPP) หรือ การฟ้องปิดปาก ต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน การกีดกันการจัดตั้งสหภาพแรงงานของแรงงามข้ามชาติ ตลอดจนกรณีการใช้กระบวนการพิเศษในการผลักดันโครงการพัฒนาต่าง ๆ เช่น กรณีอุตสาหกรรมจะนะ เป็นต้น
สำหรับกระบวนการพัฒนาเพื่อให้เป็นไปตามแผน NAP พบว่า รัฐไม่ได้สร้างให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนให้เป็นไปแผนปฏิบัติการ NAP แต่อย่างใด นอกจากนี้เครือข่ายภาคประชาสังคมยังได้ร่วมกันเรียกร้องให้รัฐบาลและภาคธุรกิจยุติโครงการอุตสาหกรรมจะนะ และหยุดคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในทันที
ก่อนจบการประชุมในวันเดียวกัน เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมและชุมชนเพื่อติดตามประเด็นธุรกิจและสิทธิมนุษยชน ยังได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์ เรื่อง แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2562 – 2565) เพื่อสื่อสารไปยังรัฐบาล
รายละเอียดดังนี้
แถลงการณ์
เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมและชุมชนเพื่อติดตามประเด็นธุรกิจและสิทธิมนุษยชน
เรื่อง แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2562 – 2565)
วันที่ 13 พฤศจิกายน 2563 โรงแรมอมารี ดอนเมือง
เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2562 คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ประกาศใช้แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2562 – 2565) แม้ประเทศไทยจะได้รับเสียงชื่นชมจากการเป็นประเทศแรกในเอเชียที่พัฒนาและประกาศใช้แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน นับตั้งแต่มีการประกาศใช้แผนปฏิบัติการระดับชาติฯ ดังกล่าวกลับมีความคืบหน้าน้อยมากด้านการคุ้มครองและเคารพสิทธิมนุษยชนอย่างมีนัยยะสำคัญและการชดเชยเยียวยาการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ระหว่างวันที่ 12 – 13 พฤศจิกายน สมาชิกและพันธมิตรของเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมและชุมชนเพื่อติดตามประเด็นธุรกิจและสิทธิมนุษยชนรวมตัวกันเพื่อทบทวนความคืบหน้าของแผนปฏิบัติการระดับชาติ ในประเด็นเร่งด่วนและแนวทางการดำเนินงานในอนาคตเพื่อประกันให้รัฐบาลและภาคธุรกิจคุ้มครองและเคารพสิทธิมนุษยชน
ปีนี้ เราเผชิญกับกับสถานการณ์โรคระบาดโควิด 19 ซึ่งส่งผลลิดรอนการคุ้มครองและสิทธิของประชากรกลุ่มเปราะบาง ซึ่งรวมถึง แรงงานข้ามชาติและแรงงานนอกระบบ เรายังพบเห็นการใช้สถานการณ์โรคระบาดโควิด 19 เป็นข้ออ้างในการปราบปรามนักปกป้องสิทธิมนุษยชน มากกว่าเพิ่มการปกป้องคุ้มครอง และการลดทอนการปรึกษาหารือร่วมกับสาธารณะ และการตรวจสอบแผนงานและโครงการที่มียังมีข้อโต้แย้งทั้งภายในและภายนอกประเทศไทย
หนึ่งปีผ่านไป แผนปฏิบัติการระดับชาติฯ ยังคงไม่มีความเคลื่อนไหวมากนัก และยังมีข้อจำกัดด้านความโปร่งใสและการตรวจสอบได้เกี่ยวกับการปฏิบัติตามกิจกรรมและค่ำมั่นสัญญาที่ระบุไว้ในแผน ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงมีความคลุมเครือ หน่วยงานภาครัฐจำนวนหนึ่งที่ถูกระบุไว้ในแผนปฏิบัติการระดับชาติฯ ยังคงขาดความตระหนักรู้และยังไม่มีแผนงานที่ชัดเจนเพื่อจะคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ความคาดหวังในแผนปฏิบัติการระดับชาติฯ ที่กำหนดให้ภาคธุรกิจเคารพสิทธิมนุษยชนก็ยังไม่เกิดขึ้นจริง ยังไม่มีการพัฒนาหรือการนำกลไกการชดเชยเยียวยาอย่างมีประสิทธิผลมาปฏิบัติจริง
เรายังไม่มีกรอบการติดตามประเมินผลที่ชัดเจนเพื่อประกันให้มั่นใจว่าความคืบหน้าและความสัมฤทธิ์ผลของแผนปฏิบัติการระดับชาติฯ จะสอดคล้องกับ หลักการของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights) ข้อท้าทายสำคัญของแผนปฏิบัติการระดับชาติฯ คือ โอกาสที่มีอยู่อย่างจำกัดของชุมชนและประชาชนซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุด และเป็นกลุ่มบุคคลที่สิทธิขั้นพื้นฐานของพวกเขาตกอยู่ในความเสี่ยงจากการดำเนินงานของภาคธุรกิจมากที่สุด ยังไม่สามารถมีส่วนร่วมอย่างมีนัยยะสำคัญเพื่อออกแบบการทบทวนและการนำแผนปฏิบัติการระดับชาติฯมาปฏิบัติใช้
เพื่อให้มั่นใจว่ากรอบการคุ้มครอง การเคารพ และการเยียวยา ซึ่งเป็นเสาหลักของแผนปฏิบัติการระดับชาติฯ จะสามารถแปลงมาเป็นการการลงมือทำเพื่อทำให้เกิดการปรับปรุงสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยและข้ามพรมแดนได้อย่างมีนัยยะสำคัญ เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมและชุมชน จึงมีข้อเสนอแนะ ดังนี้
1. กิจกรรมภายใต้แผนปฏิบัติการระดับชาติฯ ในทั้งสี่ประเด็นเร่งด่วน ควรจะต้องได้รับการขยายความให้ชัดเจนและมีรายละเอียดในแต่ละกิจกรรมมากยิ่งขึ้น มีการกำหนดระยะเวลาและตัวชี้วัดให้ชัดเจน กิจกรรมจำนวนมากยังมีความคลุมเครือและเป็นเพียงความคาดหวังโดยไม่มีกรอบเวลามากำหนดเป้าหมาย รัฐจะต้องเน้นกำหนดกรอบเวลาในการดำเนินกิจกรรมให้เป็นรูปธรรมเพื่อให้มีความคืบหน้าด้านการคุ้มครองและการเคารพสิทธิมนุษยชน
2. เพิ่มความโปร่งใสและกระบวนการตรวจสอบของแผนปฏิบัติการระดับชาติ จำเป็นจะต้องมีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะอย่างสม่ำเสมอและมีกลไกการรับข้อเสนอแนะความคิดเห็น โดยอย่างน้อยที่สุดควรจะต้องมีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะอย่างสม่ำเสมอ ผ่านรายงานแสดงความคืบหน้าและกิจกรรมที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ทั้งในกรณีที่มีความล่าช้า และกรณีที่ยังไม่มีความคืบหน้าในกิจกรรมหลัก ๆ
3. ประกันว่าสาธารณชนจะสามารถมีส่วนร่วมในขั้นตอนการพัฒนา การนำไปปฏิบัติ การติดตามผล และการประเมินผล แผนปฏิบัติการระดับชาติฯ ในสี่ประเด็นเร่งด่วนทั้งแผนงานและกิจกรรม แผนปฏิบัติการระดับชาติฯ จะไม่สามารถประสบความสำเร็จในการแปลงกรอบการคุ้มครอง การเคารพ การเยียวยา ให้เป็นการลงมือทำ จนกว่าประชาชนจะสามารถมีส่วนร่วมในอย่างมีนัยยะสำคัญในการออกแบบ การปฏิบัติตาม และการทบทวน
4. ควรให้ความสำคัญการปฏิบัติการให้เกิดกลไกการเยียวยาที่มีประสิทธิผลและเข้าถึงได้ให้สอดคล้องกับหลักการของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน