คนรุ่นใหม่กลับบ้าน ลูกอีสานคืนถิ่น

คนรุ่นใหม่กลับบ้าน ลูกอีสานคืนถิ่น

เกิดเป็นคนอีสานแล้ว บ่ว่าสิไปอยู่ไส กะเป็นคนอีสาน อยู่ดีมีแฮงชวนติดตามเรื่องราวการกลับบ้าน “สืบฮอยตา วาฮอยปู่” นำเอาความรู้ ประสบการณ์ มารวมกับภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างงาน สร้างรายได้ในอีสานบ้านเฮา กับเรื่องราวของคนรุ่นใหม่ลูกอีสาน 10 เรื่อง 10 มุมมอง ที่กลับคืนถิ่นฐานบ้านเกิด ต่อยอด พัฒนา และอนุรักษ์ความเป็นอีสานผสมผสานกับวิถีของคนรุ่นใหม่ และแสดงให้เห็นว่า อีสานบ้านเฮา บ่อึดอยู่ บ่อึดกิน

อร : รุ่นใหม่ไทบ้านต้านเหมือง ผู้ที่กลับบ้านเบิ่งแยงบ้านเกิดใน จ.หนองบัวลำภู
“หลาย ๆ อย่างมันหายไป ซึ่งมันคือความงดงามในความทรงจำของเฮา”
อร มณีนุด อุทัยเรือง กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได คนรุ่นใหม่ในพื้นที่ ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู ที่กลับบ้านและร่วมสู้กับคนรุ่นพ่อแม่ เพื่อยืนยันถึงสิทธิชุมชนพร้อมร่วมปกป้อง “ผาฮวก” และผืนป่าดงมะไฟแหล่งทรัพยากรของชุมชน

วัฒ : โคบาลบ้านดินจี่ เก็บเงินทำงานในเมือง 10 ปี และมื้อนี้กลับบ้านอยู่บ้าน จ.กาฬสินธุ์
“ส่วนใหญ่…คนสิมองเรื่องรายได้เป็นหลัก แต่เฮาสิมองความสุขใจของเฮา”
วัฒน์ วัฒนชัย หาริโร คนเลี้ยงวัวแห่งบ้านดินจี่ อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ จากพนักงานในเมืองกรุง กับการวางแผนหวนกลับบ้านกว่า 10 ปี จนวันนี้เขาเป็น “โคบาลแห่งบ้านดินจี่” หรือคนเลี้ยงวัวแบบเต็มภาคภูมิกับฝูงวัว กว่า 60 ตัว ของเขา มีสร้างรายได้หมุนเวียนทั้งปี และสร้างความสุขโดยที่บ่ต้องห่างบ้านเกิด

กล้า : คนกล้ากลับบ้าน โควิด-19 ส่งผลให้ต้องทิ้งงานจากเมืองหลวงมาเป็นเกษตรมือใหม่ จ.กาฬสินธุ์
“ก่อนหน้านั้นกล้า ไม่ชอบเกษตรเลย แทบจะต่อต้านด้วยซ้ำ เพราะรู้สึกว่ามันลำบาก”
เรื่องราวการกลับบ้าน ของ กล้า ปาฏิหารย์ มาตสะอาด จาก วิทยากรในเมืองกรุง ต้องหวนคืนบ้านเพราะผลกระทบจากโควิด-19 เข้ามาสู่การเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่แห่งเมืองน้ำดำ จ.กาฬสินธุ์ นำความรู้และประสบการณ์จากงานเดิม มาเสริมและต่อยอดกับการทำเกษตรของพ่อแม่ จนเกิดเป็น “เฮือนสวนเฮา Organic Farm” ฟาร์มสเตย์ของคนกล้าฝัน ปาฏิหารย์ มาตสะอาด

จูน : เกษตรประกอบการไร่ธารธรรม ผู้กลับมาต่อยอดผืนดินพ่อแม่ที่ จ.เลย
“ถ้าเราเป็นเกษตรกร เราก็เลี้ยงแค่ตัวเอง แต่ถ้าเรามาเป็นผู้ประกอบการด้านเกษตร คนในชุมชนเขาก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย”
จูน ธนกัญพัชร ทิ้งโคตร ผู้ประกอบการเกษตร แห่งไร่ธารธรรม อ.เมือง จ.เลย กับเรื่องราวการกลับบ้าน เพื่อเปลี่ยนผืนดินสวนลำใยของพ่อ ให้เป็นผืนดินแห่งชีวิต ด้วยเกษตรผสมผสาน และรูปแบบการทำเกษตรแบบผู้ประกอบการ โดยการเชื่อมผู้คนในชุมชน ให้เติบโตไปพร้อมกัน

เบิร์ด : เกษตรปลอดสารตั้งต้น สร้างเกษตรปลอดภัย ณ จ.เลย
“ถ้าเฮาเฮ็ดหลาย ๆ มันกะสิฝืนตัวเอง แต่ถ้าเฮาเฮ็ดน้อย ๆ ตามกำลัง ผมว่าจังใด๋กะไปรอด”
เบิร์ด ธงชัย บุญธรรม คนรุ่นใหม่ อ.ด่านซ้าย จ.เลย จากพนักงานเทศบาล หันมาเป็นเกษตรกร ด้วยการเช่าที่ดิน 4 ไร่ทำเกษตรแบบใช้สารเคมี จนขาดทุ่นกว่า 1 แสนบาท ทำให้ตัดสนใจ “ตั้งต้นใหม่” ทำเกษตรแบบปลอดสาร ปลูกผักขาย และสร้างเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ สร้างรายได้หมุนเวียนตลอดทั้งปี

แยม : ทายาทผ้าขาวม้า ต่อลมหายใจผ้าฝ้ายหมักโคลนน้ำโขง จ.บึงกาฬ
“เสียดายถ้าผ้าขาวม้าที่มี จะกลายเป็น “กี่” สุดท้าย”
สุพัตรา แสงกองมี คนรุ่นใหม่ผู้ทำหน้าที่ทายาทผ้าขาวม้า แห่งบ้านสะง้อ จ.บึงกาฬ เรียนจบกลับมาทำงานที่บ้านเพื่อสานต่อพลังของคนรุ่นก่อน เพื่อบ่ให้ “กี่” ทำหน้าที่ทอผ้าหยุดหรือสิ้นสุดลง ด้วยการชุบชีวิตผ้าขาวม้าหมักโคลนแม่น้ำโขง ที่ชื่อว่า “ผ้าขาวม้าดารานาคี”

เต๋า : หนุ่ม สาว ไหม นักศึกษามหาวิทยาลัย ลูกหลานพี่น้อง จ.สุรินทร์
“อาจเป็นเรื่องแปลก น่าตื่นเต้น เพราะบางคนกะบ่ฮู้ ผู้ชายกะเลี้ยงหม่อนเลี้ยงไหม ได้”
เต๋า อรุณศักดิ์ กำจร ชาวจังหวัดสุรินทร์ นักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ผู้ที่หารายได้ระหว่างเรียน ด้วยการ “เลี้ยงไหม” เป็นค่าเล่าเรียนเพราะเขาเติบโตมากับครอบครัว “คนเลี้ยงไหม”

เซ้นต์ : คนทำเงิน ช่างฝีมือเครื่องเงินทำมือ จ.สุรินทร์
“พอเราไปทำงานต่างจังหวัดเราก็รู้สึกว่า … มันไม่ใช่ตัวตน จึงกลับมาอยู่บ้านและเรียนรู้การทำเครื่องเงิน”
“ประเกือม” หรือ เครื่องเงินโบราณที่ทำด้วยมือ แห่งบ้านเขวาสินรินทร์ จ.สุรินทร์ ปัจจุบันหาคนทำได้ยากเพราะงานละเอียดอ่อน แต่ที่นี่ยังมี ปรีชาพล ดีเหลือ หรือ เซ้นต์ ช่างเงินรุ่นใหม่ที่เคยตามฝันไปทำงานในเมือง และสุดท้ายก็ตัดสินใจกลับบ้านมาสร้างงาน สร้าง(เครื่อง)เงินในชุมชน

ออย : ถักฝ้ายทอฝัน ผู้กลับมาบ้าน ณ จ.อุบลราชธานี
“สิ่งหนึ่งที่มันจะเฮ็ดให้บ้านเฮาเติบโตได้ คือความคิดของคนรุ่นใหม่”
จีระวรรณ วงศ์ปัดสา หรือ ออย จากวิศวกรคุมงานก่อสร้าง กับการกลับบ้านมาเป็นคนทอผ้าแห่งอำเภอเขมราฐ จ.อุบลราชธานี และต่อยอดสร้างสรรค์ผ้าพื้นเมืองจากรุ่นพ่อแม่ ให้เป็นสินค้าที่มีความทันสมัย เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนตัวเอง

ตั้ม : กระเป๋าเสื่อกก คุณค่างานฝีมือชุมชน จ.มหาสารคาม
“กระเป๋าใบละ 9,000 บาท เพิ่นกะบ่ค่อยเชื่อ ว่ามันสิขายได้อีหลีติ ไผสิมาซื้อราคาเท่างัวน้อย”
ตั้ม จิรวัฒน์ มหาสาร ลูกอีสานขนานแท้ จาก อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม เล่าถึงการพัฒนาภูมิปัญญาในท้องถิ่นของตัวเองอย่าง “เสื่อกก” หรือ “สาด” เครื่องใช้ในครัวเรือนของคนอีสานที่ใช้สำหรับปูรองนั่ง แต่ตั้ม จิรวัฒน์ ได้นำมาพัฒนาดัดแปลงให้เป็นกระเป๋าแฟชั่น ที่มีเอกลักษณ์ และสวยงาม ส่งขายทั้งในและต่างประเทศ และสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนของเขา

มาเติมแฮง มารับแรงบันดาลใจ และส่งพลังคนรุ่นใหม่อีสานบ้านเฮา ผู้เพิ่นหาทางรับมือวิกฤติปากท้องและช่องทาง สร้างงาน สร้างเงิน ในถิ่นฐานบ้านเกิดนำกัน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ