29 ก.ค. 2557, จังหวัดเลย – ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่าเป็นครั้งแรกนับแต่มีกองกำลังทหารเข้าประจำการในพื้นที่ ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ที่มีการส่งหนังสืออย่างเป็นทางการเรียกให้ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดเข้ารายงานตัว โดยอ้างถึงเหตุที่ผู้ถูกเรียกตัว “ได้จัดทำ/มีส่วนร่วมในการจัดทำ หนังสือไม่ยอมรับการแต่งตั้งและผลการดำเนินงานของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาเหมืองทองคำจังหวัดเลยทั้ง 4 ชุดที่แต่งตั้งโดยผู้แทนทหาร และได้ยื่นหนังสือไปยังหน่วยงานราชการต่างๆ”
เมื่อวันศุกร์ที่ 25 กรกฎาคม 2557 นางสาวภัทราภรณ์ แก่งจำปา และ นางพรทิพย์ หงชัย ซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ ได้รับหนังสือเลขที่ คสช.(รส.)2.1.381/55 และ คสช.(รส.)2.1.381/56 ลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2557 ลงชื่อโดยพันเอก สวราชย์ แสงผล ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจเขาหลวง ให้ไปรายงานตัวเพื่อรับทราบแนวทางปฏิบัติ ภายในวันที่ 24 กรกฎาคม 2557 แต่เนื่องจากหนังสือมาถึงตัวผู้รับช้ากว่าวันนัด จึงมีการออกหนังสือเรียกตัวใหม่ ลงวันที่ 24 กรกฎาคม 2557 เรียกให้ทั้งสองไปรายงานตัว ณ ที่ว่าการอำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ภายในวันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม 2557 โดยหนังสือดังกล่าวลงท้ายว่าให้ผู้ถูกเรียกตัว “ปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด และ หากไม่ไปรายงานตัวตามที่กำหนด จะถือว่าไม่ให้ความร่วมมือกับการปฏิบัติงานของหน่วยเฉพาะกิจเขาหลวง” ทั้งนี้ อ้างถึงหน่วยเฉพาะกิจเขาหลวง ว่าได้รับมอบภารกิจในการรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ตำบลเขาหลวงฯ เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างชุมชน 6 หมู่บ้าน กับเหมืองแร่ทองคำ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2557
นางพรทิพย์ หงชัย หนึ่งในผู้ถูกเรียกตัวซึ่งได้ไปรายงานตัวเมื่อเวลา 9.30 น. ของวันจันทร์ที่ 28กรกฎาคม 2557 ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวถึงการพูดคุยระหว่างการรายงานตัว ซึ่งมีปลัดจังหวัดอาวุโส และเจ้าหน้าที่ตำรวจในจังหวัดเข้าร่วมด้วย โดยที่เจ้าหน้าที่ทหารได้ซักถามถึงรายละเอียดของเนื้อหาในหนังสือที่ออกโดยกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด (อร.0182/2557 ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2557) เรื่อง “ไม่ยอมรับคณะกรรมการและผลการดำเนินงานของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาเหมืองทองคำจังหวัดเลยทั้ง 4 ชุดที่แต่งตั้งโดยทหาร” เช่น ข้อความที่ระบุว่า “ถูกบีบบังคับให้ประชาชนต้องยอมรับแนวทางของทหารที่ร่วมมือกับราชการโดยฝ่ายเดียว” และ “ทหารที่เข้าควบคุมสถานการณ์ในพื้นที่กลับทำเกินหน้าที่” ทั้งนี้ ยังแจ้งผู้เข้ารายงานตัวทั้งสองว่า การทำหนังสือไม่เห็นด้วยกับการตั้งคณะกรรมการดังกล่าว ถือเป็นการไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ เป็นการขัดคำสั่ง ซึ่งสามารถดำเนินคดีตามกฎอัยการศึกได้
ต่อข้อซักถามเหล่านั้น นางพรทิพย์ หงชัย แจ้งว่าได้อธิบายผู้เรียกรายงานตัวถึงเจตนารมย์ของชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ต่อเนื้อหาที่ร่วมกันเขียนขึ้นในหนังสือดังกล่าวด้วยความจริงใจ ว่า “จริงๆ แล้วแรกที่มีทหารเข้ามาช่วยดูแลความปลอดภัยในหมู่บ้าน ชาวบ้านรู้สึกยินดีที่มีคนมาปกป้องจากมือปืน เพราะชาวบ้านไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร การเพิกเฉยของหน่วยงานรัฐต่างๆ ต่อเหตุที่ชาวบ้านโดนกลุ่มไอ้โม่ง 300 คนรุมทำร้ายเพื่อขนแร่เมื่อคืนวันที่ 15 พฤษภาคม ที่ผ่านมาทำให้เรารู้ว่าเราหวังพึ่งหน่วยงานรัฐในจังหวัดไม่ได้ แต่เพียง 2-3 วันหลังจากที่ทหารเข้าประจำการ กลับมาเริ่มต้นคุยเจรจากับชาวบ้านเรื่องการรื้อกำแพงและขนแร่ออกจากเหมืองทอง ชาวบ้านจึงเริ่มรู้สึกว่าทหารทำเกินเลยหน้าที่”
นางพรทิพย์ ให้สัมภาษณ์ว่า การที่กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด มีมติและทำหนังสืออย่างเปิดเผยไปยังหน่วยงานต่างๆ ว่าไม่ยอมรับคณะกรรมการที่ทหารแต่งตั้งขึ้นซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และข้าราชการนั้น ชาวบ้านไม่ได้มีเจตนาไม่ให้ความร่วมมือหรือขัดคำสั่งของทหาร นางพรทิพย์กล่าวว่า “ก็อธิบายกับเขาไปตรงๆ ว่าการต่อสู้ 7-8 ปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ในจังหวัด รวมทั้งปลัดอาวุโสและตำรวจที่นั่งอยู่ในที่นี้ด้วย ก็ทราบดีว่าชาวบ้านต้องเผชิญกับอะไรบ้างในการต่อสู้กับเหมืองทองและมลพิษ ตอนนี้จะให้เราไว้ใจใครง่ายๆ ได้อย่างไร ในส่วนนี้น่าจะเข้าใจเราบ้าง” “ตามที่เขียนในหนังสือว่า ชาวบ้านรู้สึกถูกมัดมือชก ก็เพราะการที่เขาตั้งคณะกรรมการทั้ง 4 ชุดขึ้นมาโดยที่ชาวบ้านไม่ได้มีส่วนร่วม และไม่รู้เห็นในการกำหนดกระบวนการด้วย” ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ทหารได้พยายามปรับทัศนคติของผู้เข้ารายงานตัว ว่าทหารกับชาวบ้านสามารถทำงานร่วมกันหรือคู่ขนานกันไปได้ และการที่ทหารเข้ามาแล้วก็น่าจะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด
นอกจากนี้ นางพรทิพย์ยังตั้งข้อสังเกตต่อทัศนคติและท่าทีของทหารในพื้นที่ซึ่งเป็นไปในทำนองที่เห็นว่ากลุ่มคน องค์กร และนักศึกษาที่เข้ามาติดต่อกับชาวบ้านจะเข้ามาชักจูง โดยมีความเห็นว่าทัศนคติและท่าทีดังกล่าวอาจเกิดจากความไม่เข้าใจปัญหาความเดือดร้อนและกระบวนการทำงานของชาวบ้าน “พยายามอธิบายไปบ้างแล้ว ว่าการต่อสู้หลายปีที่ผ่านมาของเรา เป็นปัญหาที่ได้รับความสนใจระดับประเทศ มีนักวิชาการ นักศึกษา และองค์กรพัฒนา เข้ามาศึกษาดูงานและช่วยเหลือในด้านวิชาการแก่ชาวบ้านมาโดยตลอด มีการลงพื้นที่ของหลายกลุ่มผลัดเปลี่ยนกันมาทุกเดือน บางที่เดือนละหลายกลุ่มตั้งแต่ก่อนมีทหารเข้ามาประจำการ ชาวบ้านไม่ได้โง่และรู้ว่าเราต้องการอะไร แต่ในบางเรื่องเช่นเคมี มลพิษ สุขภาพ กฎหมาย เราก็ไม่ได้รู้ไปทั้งหมด ต้องปรึกษาผู้รู้ มันก็เป็นประโยชน์กับความรู้ของชาวบ้านเอง และการทำงานของชาวบ้านกับกลุ่มเหล่านี้ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมือง” “แต่ที่น่ากังวลคือท่าทีที่เกิดจากความไม่เข้าใจนี้ อาจส่งผลให้ชาวบ้านถูกกีดกันให้ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากภายนอก โดยที่เขาอาจไม่ได้ตั้งใจ” นางพรทิพย์ กล่าว
ต่อประเด็นดังกล่าว ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานว่า เมื่อวันศุกร์ที่ 24 กรกฎาคม 2557 ที่ผ่านมา นักศึกษากลุ่มดาวดิน ซึ่งเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จำนวน 5 คนเดินทางลงพื้นที่บ้านนาหนองบง ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย เพื่อเก็บข้อมูลเหตุการณ์ความรุนแรงในวันที่ 15 พฤษภาคม 2557 และข้อมูลประกอบคดีที่ชาวบ้านโดนบริษัทฟ้องร้อง ซึ่งกลุ่มนักศึกษาดังกล่าวมีกิจกรรมร่วมกับชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดมาต่อเนื่องหลายปีแล้ว อย่างไรก็ตาม การลงพื้นที่ภายหลังจากที่มีทหารเข้ารักษาความสงบในพื้นที่นั้นต้องพบกับขั้นตอนและท่าทีที่กดดันมากขึ้นเรื่อยๆ มีการเรียกให้ไปรายงานตัวทุกครั้งที่นักศึกษามาลงพื้นที่
ล่าสุดการลงพื้นที่ของกลุ่มนักศึกษาในสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาถูกเรียกรายงานตัวหลายครั้งด้วยท่าทีเข้มงวดขึ้นเรื่อยๆ เมื่อนักศึกษาเดินทางไปถึงบ้านนาหนองบงช่วงเย็นของวันที่ 24 กรกฎาคม ได้มีเจ้าหน้าที่มาแจ้งให้ไปรายงานตัวและขอถ่ายสำนาบัตรประชาชน หลังจากนั้นมาสอบถามวัตถุประสงค์ในการลงพื้นที่พร้อมกับบันทึกวีดีโอ พร้อมกับแจ้งว่านักศึกษาหนึ่งคนที่ไม่ได้พกบัตรมาด้วยนั้นจะต้องออกจากพื้นที่โดยทันที และขอเก็บบัตรประชาชนของนักศึกษาไว้จนกว่าจะออกจากพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยมีการปฏิบัติถึงขั้นนี้ โดยทหารที่ปฏิบัติการอ้างว่าเป็นระเบียบใหม่ที่ได้รับคำสั่งมา แต่ชาวบ้านและนักศึกษาไม่ทราบถึงระเบียบเหล่านี้มาก่อน
ทั้งนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เคยมีหนังสือเลขที่ สม.0003/1102 ลงวันที่ 12 มิถุนายน 2557 เรื่องขอชี้แจงข้อมูลและประสานความร่วมมือ ส่งไปยังหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และหน่วยงานทหารและความมั่นคงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกรณีเหมืองแร่เมืองเลย โดยใจความในตอนหนึ่งระบุถึง “ผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ที่ดำเนินต่อเนื่องมานานและปรากฏว่ามีผลกระทบเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงมีหน่วนงานด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของรัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการและนักศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่ง เช่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เข้าไปรวบรวมข้อมูลและให้คำปรึกษาแก่ประชาชนในพื้นที่เพื่อนำไปสู่การผลักดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ซึ่งได้มีการประสานการทำงานร่วมกับคณะอนุกรรมการสิทธิชุมชน ของกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอย่างต่อเนื่อง และมีกระบวนการร่วมกันโดย มีเป้าหมายเพื่อรักษาทรัพยากระรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงสุขภาวะของประชาชนในพื้นที่โดยมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่อย่างใด”