อยู่ดีมีแฮงโสเหล่ : พ.ศ. 2564 บ้านเฮามี “ลัมปี สกิน”

อยู่ดีมีแฮงโสเหล่ : พ.ศ. 2564 บ้านเฮามี “ลัมปี สกิน”

“โควิด-19 ยังบ่ทันหาย ความเจ็บป่วยของวัวควายกะมาจ่อ” อยู่ดีมีแฮงโสเหล่ ชวนพูดคุยเสวนาออนไลน์ถึงสถานการณ์โรคระบาดลัมปี-สกิน ในโค-กระบือ ภายใต้ชื่อ : พ.ศ.2564 บ้านเฮามี“ลัมปี สกิน” เมื่อวันศุกร์ ที่ 11 มิถุนายน 2564 เวลา 18.00 น.

วันนี้ อยู่ดีมีแฮง จะชวนอ่านในรายละเอียดจากวงสนทนาภาษาบ้าน ๆ กับ น.สพ. ดร.ธนพล หนองบัว อาจารย์คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม อาจารย์อัดชา เหมันต์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ และ วัฒนชัย หาริโร โคบาลบ้านดินจี่ อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งดำเนินวงโสเหล่โดย สันติ ศรีมันตะ และ นาตยา สิมภา

“ลัมปี สกิน” คืออีหยัง

น.พส.ดร. ธนพล หนองบัว หรือ หมอเสือ อาจารย์คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม บอกว่า  “โรคลัมปี สกิน” (Lumpy skin disease)  เป็นโรคพื้นที่ถิ่นมาจากแอฟริกา และมีการระบาดลามมาเรื่อย ๆ แถว ๆ ขอบเขตประเทศเพื่อนบ้าน อย่าง เมียนมา เวียดนาม ในช่วง 1-2 ปีก่อน ถ้าพูดเป็นภาษาบ้าน ๆ เพื่อให้พ่อแม่พี่น้องเกษตรกรที่เลี้ยงโค กระบือ เข้าใจง่าย ๆ อาจเทียบเคียงเหมือนเป็นโรคฝีดาษเมื่อเทียบกับคน โดยโรคนี้เกิดจากไวรัส สิ่งสำคัญที่ทำให้โรคนี้ติดต่อกันคือ แมลงกินเลือดทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น “เหลือบยุง” “แมลงวันคอก” และอีกหลายชนิด หรือแม้แต่เข็มฉีดยาที่ใช้ร่วมกัน ก็มีโอกาสที่จะทำให้เกิดโรคนี้ขึ้นได้

ภาพ : Dr.VET ด๊อกเตอร์วัวควาย

ข้อมูลจากกรมปศุสัตว์ รายงานว่า ปัจจุบันมีรายงานการเกิดโรคแล้ว 41 จังหวัด สัตว์ป่วยจำนวน 22,112 ตัว ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ (ข้อมูล 5 มิ.ย. 64) โดยกำหนดแนวทางพิจารณาแผนการฉีดวัคซีนควบคุมโรคและพื้นที่การฉีดวัคซีนสำหรับวัคซีนรอบที่ 1 (60,000 โดส) ซึ่งกำหนดให้ฉีดวัคซีนในพื้นที่รัศมี 5-50 กิโลเมตรรอบจุดเกิดโรค โดยกรมปศุสัตว์คัดเลือกพื้นที่แบ่งเป็น 2 กลุ่ม รวม 9 จังหวัด กลุ่มที่ 1 คือ จังหวัดที่มีการเกิดโรคใหม่ ซึ่งมีพื้นที่ที่สัตว์ยังไม่มีการติดเชื้อในช่วงระหว่างวันที่ 22-28 พ.ค. 64 ประกอบด้วย 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดพะเยา ส่วนพื้นที่ในกลุ่มที่ 2 คือ จังหวัดที่มีการระบาดของโรคเพิ่มขึ้นอย่างมากในระหว่างวันที่ 22-28 พ.ค. 64 ประกอบด้วย 7 จังหวัด ได้แก่ ศรีสะเกษ หนองคาย พิษณุโลก สกลนคร ขอนแก่น ร้อยเอ็ด และกาฬสินธุ์

“ลัมปี สกิน”เก่าจากที่ไหน มาใหม่ที่นี่

น.พส.ดร. ธนพล หนองบัว หรือหมอเสือ บอกว่า แม้โรคนี้จะเกิดขึ้นมานานแล้วในประเทศอื่น แต่เพิ่งจะเข้ามาในประเทศไทยอย่างเป็นทางการในปีนี้ โรคนี้หลัก ๆ หากมีแมลงกัดโคหรือกระบือที่เป็นโรคแล้วไปกัดโคกระบือตัวอื่นที่ไม่แข็งแรง ก็จะมีบการแสดงอาการมากน้อยแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันด้วย บางตัวก็อาจจะแสดงอาการช้า มักจะอยู่ในช่วงตั้งแต่ 3 วัน ไปจนถึง 1 เดือน แต่โดยค่าเฉลี่ยทั่ว ๆ ไป ก็ประมาณ 2 สัปดาห์ ติดโรคแล้วค่อยแสดงอาการให้เห็น ดังนั้น ถ้าพบว่าโคมีไข้ ขาเริ่มเจ็บ บวม หรือบางตัวมีตุ่มนูน นั่นแสดงว่าอาจจะติดโรคมาแล้วอย่างช้า 15 วัน โรคนี้ติดได้ทั้งในโคและกระบือ แพะ แกะ ก็ติดโรคได้

ภาพ : Dr.VET ด๊อกเตอร์วัวควาย

อาการของโรคนี้ คือ จะทำให้วัวควายเจ็บป่วย มีไข้สูงในบางตัว บางตัวก็มีอาการบวมตามร่างกาย ซึ่งโรคนี้แสดงอาการประมาณ 4 ระยะ ช่วงระยะแรก ถ้าวัวติดโรคมาแล้วจะเริ่มเห็นอาการไข้ ซึม ที่แสดงอาการชัดส่วนใหญ่จะเกิดในลูกวัว อายุต่ำกว่า 6 เดือน ถ้าติดเชื้อแล้วมักจะแสดงอาการเป็นตุ่มนูน อธิบายง่าย ๆ คือ ถ้าร่างกายไม่แข็งแรงมักจะเป็นโรคนี้และแสดงอาการรุนแรง จากตัวเลขที่ดูในพื้นที่ วัวถ้าอ้วนท้วนสมบูรณ์แม้จะติดโรคบางตัวก็ไม่แสดงอาการเลย บางตัวก็มีแค่ตุ่มนูน ผื่นขึ้น แต่ก็ยังกินอาหาร ร่าเริงปกติดี แต่ถ้าวัวที่ผอม ๆ มักจะแสดงอาการรุนแรง หากเป็นหนักมีโอกาสถึงตายได้

เนื่องจากโรคนี้เกิดจากไวรัสการรักษาของโรคนี้ไม่มียากำจัดไวรัสโดยตรง เพราะฉะนั้นจะเป็นการรักษาตามอาการและควบคุมไม่ให้เกิดขึ้น โรคนี้หากติดแล้วหลัก ๆ จะเห็นอยู่บนชั้นผิว ที่เป็นตุ่มนูน จะทำให้เกิดการอักเสบบริเวณนั้น บางตัวพวกก้อนที่เกิดขึ้นจะลงไปที่ปอดและลำไส้ คล้ายกับโควิด-19 ถ้าไม่ลงปอด ส่วนใหญ่จะไม่ตาย เพราะฉะนั้นแล้วถ้าเชื้อมันลงไปที่ปอด หรือทางเดินอาหารมักจะมีโอกาสที่วัวควายจะตายสูง ซึ่งจะพบเจอได้ง่ายในลูกวัว หรือถ้าพบในวันที่ท้องก็จะมีโอกาสแท้ง หรือคลอดก่อนกำหนด

ภาพ : Dr.VET ด๊อกเตอร์วัวควาย

ส่วนปัญหาระยะยาว เนื่องจากว่ามีผลกระทบต่อการอยู่การกิน ทำให้วัวผอมโทรม รังไข่ทำงานน้อยลง บางตัวจะผสมพันธุ์ยากขึ้น หากมีการติดเชื้อแบคทีเรียอื่น ๆ แทรกซ้อนก็อาจจะติดเชื้อเข้ามดลูก ทำให้มดลูกอักเสบ ผสมพันธุ์ยากขึ้น

การรักษาเบื้องต้น

หมอเสือบอกว่า ตอนนี้ยังรักษาตามอาการ คือ ถ้ามีไข้ หรือมีอาการอักเสบ ก็จะให้ยาลดไข้ ลดการอักเสบ ชั้นใต้ผิวหนังหรือปอด มีการให้ยาปฏิชีวนะ ป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน  หรือให้วิตามินบำรุง น้ำเกลือ หรือว่ากลูโคส

การจัดการและการป้องกันเบื้องต้น

หัวใจหลักของโรคนี้คือการป้องกัน  เมื่อโรคนี้มากับแมลง ต้องทำให้มีแมลงน้อยที่สุด ไม่ให้แมลงพาหะกัดวัวควาย และแนะนำข้อปฏิบัติ คือ

  1. อย่าเพิ่งเคลื่อนย้ายวัวควายในช่วงการระบาด ห้ามซื้อวัวใหม่จากแหล่งอื่น ซึ่งเป็นความเสี่ยงสูงมาก
  2. การจัดการที่อยู่อาศัย คอกต้องแห้ง ขยะมูลฝอย ขี้วัว ขี้ควายคือสิ่งดึงดูดแมลงชั้นดีเลย ต้องกำจัด
  3. รักษาตามอาการ ต้องปรึกษาสัตว์แพทย์ การใช้ยาพ่นฆ่าแมลงใช้พอประมาณใช้ตามฉลาก เลือกยาที่มีมาตรฐาน อย. ซึ่งจะมีผลกระทบต่อตัววัวและคนน้อย
  4. กลางมุ้งในฟาร์มที่ยังไม่มีการระบาดเพื่อป้องกันแมลง แต่วิธีนี้ไม่ใช่การทำในระยะยาวเพราะประเทศไทยเป็นเมืองร้อน
  5. วัคซีน คือ สิ่งสำคัญที่สุดในการป้องกันระยะยาว

เมื่อเป็นโรคที่เกิดขึ้นใหม่ในประเทศไทย กรมปศุสัตว์เพิ่งนำเข้าวัคซีนชุดแรกประมาณ 60,000 โดส ในช่วงปลายเดือน พฤษภาคม 2564 ซึ่งกำลังถูกกระจายไปในหลายพื้นที่ แต่จะถูกฉีดและเหมาะที่จะใช้ในพื้นที่ที่ยังไม่มีการระบาด เนื่องจากวัคซีนเป็น “วัคซีนเชื้อเป็น”  ถ้าฉีดวัคซีนในวัวที่เป็น “โรคลัมปี สกิน” แล้ว หรือวัวที่อยู่ในเขตการระบาดเพียงแค่ยังไม่แสดงอาการมากกว่าเดิม

ทุกฝ่ายต่างร่วมกันหาทางบรรเทาความเดือดร้อน มหาวิทยาลัยจึงร่วมกับชุมชน

ความเชี่ยวชาญเฉพาะของทีมอาสาสมัครสัตว์แพทย์ที่กำลังระดมกำลังเพื่อดูแลช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งที่สถาบันวิชาการเข้ามามีบทบาทร่วมกับชุมชนควบคู่กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาจารย์อัดชา เหมันต์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ เล่าว่า ทางมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์มีแนวทางในการส่งบุคคลากรไปให้ความรู้กับเกษตรกรในเรื่องของการป้องกัน ทั้งสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดีย และลงพื้นที่รักษาให้ฟรีโดยตรง แต่ปัญหาที่เจอคือเรื่องยา เวชภัณฑ์ขาดแคลน และมีราคาสูง

“วัว ควาย” ทรัพย์สินมูลค่าสูงของเกษตรกร ธวัชชัย หาริโร คนรุ่นใหม่ที่ยึดอาชีพเลี้ยงวัว ซึ่งทีมงานอยู่ดีมีแฮงเรียกเขาว่า “โคบาลบ้านดินจี่” อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ ได้บอกเล่าถึงความกังวลใจในฐานะคนเลี้ยงวัว ว่า วัวเป็นเหมือนคนในครอบครัวอยู่ด้วยทุกวัน ดูแลกินข้าว กินน้ำ มีความรู้สึกผูกพัน ถ้ามีการสูญเสียก็จะกระทบทั้งด้านทรัพย์สินและด้านจิตใจ เพราะแต่ละตัวมูลค่านับหมื่นบาท

ด้านหมอเสือ จึงให้คำแนะนำในการดูแลเบื้องต้น หากยังไม่มียาให้กับวัวควาย  คือ ต้องเช็คดูอาการของวัวเป็นประจำ ป้องกันแมลง การทำความสะอาดคอกให้แห้ง มีหญ้าสดมาให้กินประจำ และเช็คดูว่าวัวกินน้อยลงไหม มีน้ำมูกน้ำลายไหล มีอาการบวมหรือขาเจ็บ รวมถึงตุ่มนูนที่ผิดปกติ นี่คือสิ่งที่เกษตรกรต้องเฝ้าระวังให้ดี

และหากเจอว่าวัวเป็นโรคแล้ว ควรจะแจ้งปศุสัตว์อำเภอหรือกำนันผู้ใหญ่บ้าน เพื่อเป็นข้อมูลให้พื้นที่ใกล้เคียงได้รีบป้องกัน และช่วยกันเฝ้าระวัง เพราะมันคือการป้องกันหมู่ ในส่วนของการตายของวัวก็ยังไม่ได้เห็นชัด ๆ ที่ได้รับการชดเชยจากภาครัฐ หากมีวัวตายก็ให้แจ้งที่ปศุสัตว์อำเภอ ถ่ายภาพเก็บไว้ เราก็สามารถได้รับค่าชดเชยจากภาครัฐได้ ด้านเอกชนก็มีการขอความร่วมมือในการช่วยสนับสนุนเกษตรกรทำเป็นโครงการ “พี่น้องชาววัวไม่ทิ้งกัน” ก็ช่วยออกบริการรักษาฟรีในเขต อ.เมืองขอนแก่น และ อ.เชียงยืน จ.มหาสารคาม แล้วเราก็มีสัตวแพทย์เครือข่ายที่เป็นจิตอาสาทางเราก็ส่งยา ส่งของไปให้ มีที่ บุรีรัมย์ สกลนคร นครราชสีมา อุบลราชธานี และอุดรธานี แล้วหมออาสาก็จะไปรักษาให้ฟรีในเขตพื้นที่ใกล้บ้าน อันนี้คือสิ่งที่เราสามารถทำได้ในเบื้องต้น นอกจากการให้ความรู้ การรรักษา สิ่งนี้ก็คือช่วยบรรเทาทุกข์ได้บ้าง

ภาพ : Dr.VET ด๊อกเตอร์วัวควาย

ภายใต้สถานการณ์วิกฤตโควิด-19 เกษตรกรหลายคนประสบปัญหาถ้วนหน้า หลายครอบครัวเลี้ยงวัวควายไว้เป็นเงินก้อนในยามฉุกเฉิน ไว้เป็นทุนรอนสำรองการเริ่มต้นใหม่ ๆ  แต่ความทุกข์ร้อนจาก “โรคลัมปี สกิน” กลับซ้ำเติมอย่างไม่ลดละ โรคระบาดใหม่ ไม่มียารักษา การป้องกันตามมีตามเกิดไม่ใช่ทางออก “วัคซีน” สำหรับวัวควายเพื่อป้องกันลัมปีสกินจึงน่าจะเป็นอีกคำตอบ เพื่อให้เกษตรกรมองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ แต่นาทีนี้ยังคงมองไม่เห็น ซึ่งจำเป็นต้องติดตามเพื่อให้เกษตรกรรายย่อยได้เข้าถึงวัคซีนอย่างเหมาะสม ได้พอเบาใจและมีความหวังที่จะลดความเสียหายได้บ้าง

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ