รายงานข่าวโดย สำนักข่าวท้องถิ่น / สำนักข่าวWiFi / นักข่าวพลเมือง Thai PBS
นายวัฒนะ กันนะพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่าด้วยในช่วงหน้าแล้งของทุกปี
ระหว่างเดือนมกราคม – เดือนเมษายน พื้นที่เกือบทุกภาคของประเทศไทยมักประสบกับปัญหาไฟป่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนไฟป่ายังเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาวิกฤติมลพิษหมอกควันส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต เศรษฐกิจ สังคมและสุขภาพอนามัยของประชาชน ซึ่งตามยุทธศาสตร์ มาตรการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ปี 2557 ของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กำหนดพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่าและหมอกควัน จำนวน 65 จังหวัด รวมถึงจังหวัดพิษณุโลกด้วย และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการป้องกัน แก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน
เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐบาลและยุทธศาสตร์ มาตรการของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช รวมทั้งการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ผู้ประสบภัย การประสานการปฎิบัติ จังหวัดพิษณุโลกจึงได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันในช่วงฤดูแล้ง ปี 2557 ขึ้น ณ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพิษณุโลก ศาลากลางจังหวัดชั้น 3 อาคารหลังเก่า โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก นายระพี ผ่องบุพกิจ เป็นผู้อำนวยการศูนย์ดังกล่าว และเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายจากไฟป่า และเพื่อให้ราษฎรได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ จังหวัดพิษณุโลกจึงได้ขอความร่วมมือในการป้องกัน ควบคุมไฟป่าและจัดการหมอกควันดังนี้
– ให้หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกหน่วยงานปฏิบัติตัวเป็นตัวอย่างที่ดีในการงดเผาทุกชนิดในพื้นที่รับผิดชอบ
– ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควบคุมการเผาทุกชนิด ทั้งในพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ พื้นที่รกร้างว่างเปล่า พื้นที่สาธารณะ พื้นที่สองข้างทาง รวมทั้งการเผาขยะ กิ่งไม้ตามบ้านเรือนและการควบคุมไฟป่าโดยถือเป็นภารกิจเร่งด่วน และเป็นตัวชี้วัดในการปฏิบัติงาน
– ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่มีการอนุญาตก่อสร้าง ควบคุมฝุ่นละอองจากการก่อสร้าง การขุดดิน ถมดินและขนส่งวัสดุอย่างเคร่งครัด
– ให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลถนน ทางสาธารณะ ทางรถไฟ และคอลงชลประทานควบคุมไม้ให้มีการเผากำจัดวัชพืชโดยเด็ดขาด
– ให้หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกหน่วยงานบำรุงรักษาสภาพรถยนต์ให้อยู่ในสภาพดี และตรวจสอบค่ามลพิษควันดำจากรถยนต์ดีเซลได้ที่สำนักงานขนส่งจังหวัดพิษณุโลก
– ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนงดการเผาทุกชนิด กำจัดขยะจากบ้านเรือนโดยใช้การคัดแยกขยะ หรือทำปุ๋ยหมักแทนการเผา และขอให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาสุขภาพที่เกิดจากมลพิษหมอกควัน โดยเฉพาะเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ รวมทั้งความเสียหายทางเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้น
– เมื่อมีความจำเป็นต้องเผาวัชพืชในที่ดินทำกิน พื้นที่ทางการเกษตรกรรมหรือพื้นที่อื่นใด ให้ราษฎรผู้ครอบครองที่ดินดังกล่าว ต้องขออนุญาตจากกำนันหรือผู้ใหญ่บ้าน ในเขตปกครองท้องที่นั้นๆ ก่อนที่จะดำเนินการทุกครั้ง พร้อมกับต้องจัดทำแนวกันไฟและควบคุมไฟมิให้ลุกลามไปยังพื้นที่อื่นๆ โดยให้ประสานงานกับหน่วยงานควบคุมไฟป่าในท้องที่จังหวัดพิษณุโลก เพื่อจัดเจ้าหน้าที่คอยควบคุมในการดำเนินการดังกล่าวด้วย
– การจุดไฟเผาป่า หรือปล่อยให้ไฟลุกลามเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตป่าสงวนแห่งชาติ มีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ต้องระวางโทษ จำคุกและปรับตั้งแต่ 20,000 บาทถึง150,000 บาทและเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 220 ผูใดกระทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัสดุใดๆ แม้จะเป็นของตนเอง จนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่น ทรัพย์ของผิอื่น ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 14,000 บาท
– การจุดไฟเผาในที่โล่งและพื้นที่เกษตร จะต้องได้รับโทษตามพระราชบัญญัติการสาธารณ พ.ศ.2535 มาตรา 25 ในกรณีที่มีเหตุอันอาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียง ผู้ที่ต้องประสบกับเหตุนั้นดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นเหตุรำคาญ ข้อ ( 4)
การกะทำใดๆ อันเกิดเป็นเหตุให้เกิดแสง รังสี เสียง ความร้อน สิ่งมีพิษ ความสั่นสะเทือน ฝุ่น ละออง เขม่า เถ้า หรือกรณีอื่นใดจนเป็นเหตุให้เกิดหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เมื่อพบว่า บุคคลใดได้ก่อเหตุรำคาญขึ้น เจ้าพนักงานท้องถิ่นสามารถทำคำสั่งให้ปรับปรุงแก้ไข หรือระงับเหตุรำคาญนั้น ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น จะมีความผิด มาตรา 74 โทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
– ขอความร่วมมือราษฎร หากพบเห็นไฟไหม้ป่า โปรดแจ้งศูนย์ส่งเสริมการควบคุมไฟป่าท้องที่ หน่วยส่งเสริมการควบคุมไฟป่าท้องที่ หน่วยป้องกันรักษาป่าท้องที่ สำนักงานจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 4 สาขาพิษณุโลก หรือสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดพิษณุโลก โทรศัพท์หมายเลข 055 – 322630
– นายกเทศมนตรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สารวัตรกำนัน คณะกรรมการหมู่บ้าน คณะกรรมการชุมชน และสมาชิกท้องถิ่น ให้ถือเป็นหน้าที่ในการสอดส่องดูแลให้ประชาชนในท้องที่ปฎิบัติตามประกาศอย่างเคร่งครัด