เครือข่ายป่าไม้ฯ ยืนยันสิทธิ “ป่าชุมชน” ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 เอ เตรียมยืน รมว.ทส.ค้านข้อเสนอกฤษฎีกา

เครือข่ายป่าไม้ฯ ยืนยันสิทธิ “ป่าชุมชน” ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 เอ เตรียมยืน รมว.ทส.ค้านข้อเสนอกฤษฎีกา

11 มิ.ย. 2564 ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า ประเทศไทย (RECOFTC) จัดเสวนาออนไลน์  “อนาคตของป่าชุมชนในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 เอ” เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและติดตามความคืบหน้า กรณีการจัดทำ “กฎกระทรวงกำหนดพื้นที่ให้เป็นเขตป่าอนุรักษ์ พ.ศ. …” ประกอบ “พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ.2562” ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอให้พื้นที่คุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1 เอ เป็นพื้นที่อนุรักษ์ภายใต้กฎกระทรวงนี้

กรณีดังกล่าวจะกระทบกับ ป่าชุมชนที่อยู่ในพื้นที่คุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1 เอ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ 9 จังหวัด ที่มีป่าชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 ที่มีสภาพเป็นป่า หรือคุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1 เอ รวม 1.1 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 38 โดยหลายพื้นที่เป็นป่าชุมชนที่ถูกฟื้นฟูจากการสัมปทานป่าไม้ในอดีตจนได้กลับมามีสภาพเป็นป่าต้นน้ำและชุมชนได้ใช้ประโยชน์มาอย่างยาวนาน ทั้งนี้ มีความกังวลว่าชาวบ้านในพื้นที่ดังกล่าวอาจจะสูญเสียสิทธิในการจัดการป่าตามแนวทางของป่าชุมชน ซึ่งจะส่งผลต่อวิถีชีวิตและประสิทธิภาพของการจัดการป่า

หลังการเสวนากว่า 2 ชั่วโมงจบลง นางวิษา ช่างประดิษฐ์นภา เลขานุการกรรมการบริหารสภาป่าไม้ภาคพลเมืองภาคกลางตะวันตก ผู้ประสานงานภาคกลางตะวันตกโครงการ CF-NET อ่านแถลงการณ์ เครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมือง สภาองค์กรชุมชนตำบล และองค์กรภาคี ที่สื่อสารถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในข้อห่วงใยและข้อเสนอแนะ โดยเห็นควรให้พื้นที่คุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ สามารถจัดตั้งป่าชุมชนได้ โดยไม่ให้บรรจุพื้นที่คุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ ในกฎกระทรวงดังกล่าว

นางวิษา กล่าวถึงเหตุผลประกอบ 5 ข้อดังนี้ 1) ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเรื่อง กำหนดโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการ ซึ่งต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 ภายใต้การเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ระบุการดำเนินการในเขตป่าชุมชนตามกฎหมายว่าด้วยป่าชุมชนในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 ไม่ต้องจัดทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ดังนั้นประกาศกระทรวงฯ ฉบับนี้จึงเห็นชอบให้สามารถจัดทำป่าชุมชนในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 ได้

2) เพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ. 2562 ที่ระบุไว้ว่า “เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนได้ร่วมกับรัฐในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติในป่า ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อันจะส่งผลให้ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศมีความสมบูรณ์และยั่งยืน”

3) เพื่อให้โอกาสและความเป็นธรรมทางสังคมกับชุมชนจำนวนมากที่ช่วยปกป้องป่าและจัดการในรูปป่าชุมชนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ชั้นคุณภาพชั้น 1 มาอย่างยาวนาน ทำให้ป่ายังคงอุดมสมบูรณ์ หากไม่สามารถจัดตั้งและดำเนินกิจกรรมจัดการป่าชุมชนได้ก็จะส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนจำนวนมาก และยังเป็นการสร้างเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมทางสังคมต่อชุมชนที่ดูแลป่ามายาวนานด้วย

4) มีระเบียบ คณะกรรมการนโยบายป่าชุมชนว่าด้วยการกำหนดพื้นที่ป่าชุมชนและสัดส่วนการใช้ประโยชน์ป่าชุมชน โดยระเบียบดังกล่าวได้กำหนดสัดส่วนพื้นที่เพื่อเป็นป่าชุมชนอนุรักษ์ร้อยละ 60 ป่าชุมชนใช้สอยร้อยละ 40 ซึ่งต้องแบ่งโซนจัดการในแผนการจัดการป่าชุมชนที่ต้องผ่านการกลั่นกรองอนุมัติจากคณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัด ซึ่งเป็นกลไกที่ช่วยกลั่นกรองความเหมาะสมอยู่แล้ว

5) ชุมชนในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 เอ นั้นมักมุ่งเน้นทำการจัดการป่าชุมชนเพื่อเป็นป่าอนุรักษ์อยู่แล้ว เนื่องจากชุมชนต้องพึ่งพิงน้ำทั้งเพื่อการอุปโภค บริโภคและเพื่อการเกษตร ซึ่งทำให้เกิดการพัฒนาท้องถิ่น โดยมีมาตรการร่วมกับรัฐเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพป่า

นางวิษา กล่าวด้วยว่า การส่งเสริมให้เกิดการจัดการป่าชุมชนได้ในพื้นที่ที่มีความสำคัญเช่นพื้นที่คุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1 เอ จะเป็นการยืนยันเรื่องหลักสิทธิชุมชน ซึ่งมีการระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ รวมถึงสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ และเครือข่ายหวังว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะรับฟังเหตุผลและพิจารณายืนยันสิทธิของชุมชนในการร่วมจัดการป่าในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ ร่วมกับรัฐ

ทั้งนี้ หลังจากนี้เครือข่ายภาคประชาชนจะทำหนังสือเพื่อยื่นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อนำเสนอข้อคิดเห็นและข้อเสนอตามแถลงการณ์ต่อไป

00000

แถลงการณ์ของ

เครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมือง สภาองค์กรชุมชนตำบล และองค์กรภาคี

เรื่อง

เห็นควรให้พื้นที่คุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ สามารถจัดตั้งป่าชุมชนได้ โดยไม่ให้บรรจุพื้นที่คุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ ในกฎกระทรวงกำหนดพื้นที่ให้เป็นเขตป่าอนุรักษ์ พ.ศ. …. ประกอบ พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ.2562

ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดทำร่างกฎกระทรวงกำหนดพื้นที่ให้เป็นเขตป่าอนุรักษ์ พ..ศ…. ประกอบ พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ.2562 โดยในช่วงปี พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมากรมป่าไม้ได้ดำเนินพัฒนาร่างกฎกระทรวงดังกล่าวและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียโดยมีประเด็นข้อคิดเห็นที่สำคัญในช่วงการรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชน และภาคประชาสังคมคือ พื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1 สามารถจัดตั้งป่าชุมชนได้ โดยไม่กำหนดเป็นพื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งได้รับการปรับปรุงจนได้ร่างกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวซึ่งกระทรวงทรัพยฯ ได้นำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2564

ทั้งนี้ในร่างกฎกระทรวงดังกล่าวระบุให้พื้นที่ 4 ลักษณะที่กำหนดเป็นพื้นที่อนุรักษ์ไม่สามารถจัดตั้งป่าชุมชนได้แก่ ได้แก่ 1) วนอุทยาน สวนพฤกษศาสตร์ สวนรุกขชาติ 2) พื้นที่ป่าที่ได้รับการประกาศหรือขึ้นทะเบียนไว้กับองค์การระหว่างประเทศ 3) พื้นที่ป่าที่เป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์ และ 4) พื้นที่ป่าที่เป็นเขตโบราณสถาน

และในที่ประชุม ครม.ดังกล่าวสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ข้อสังเกตว่าให้เพิ่มเติมพื้นที่คุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ เป็นพื้นที่อนุรักษ์ด้วย และที่ประชุมมีมติ ให้นำข้อสังเกตนี้ไปปรับปรุงร่างกฎกระทรวง และต่อมาคณะกรรมการกฤษฎีกาได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับร่างกฎกระทรวงดังกล่าว ไปชี้แจ้งให้ข้อมูลเพิ่มเติม และในขณะนี้กำลังปรับปรุงร่างกฎกระทรวงที่จะเสนอกลับไปให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณาและประกาศใช้หากเห็นชอบตามร่างกฎกระทรวงฉบับที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ

จากมติ ครม.ที่มีมติให้พิจารณาเพิ่มเติมพื้นที่คุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1 เอ ตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาให้ข้อสังเกตนั้น หากมีการบรรจุในกฎกระทรวงจะส่งผลกระทบต่อชุมชนที่จัดการป่าชุมชนจำนวนมาก จากข้อมูลของกรมป่าไม้ป่าชุมชนในพื้นที่คุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1 เอ มีอยู่จำนวน 1.65 ล้านไร่ จากข้อมูลของมูลนิธิเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (ภาคเหนือ) ในปี พ.ศ. 2562 ระบุว่าภาคเหนือ 9 จังหวัด ที่มีการจัดตั้งป่าชุมชนทั้งที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนและที่ขึ้นทะเบียนกับกรมป่าไม้จำนวน 3,482 แห่ง เนื้อที่ป่าชุมชนทั้งหมดรวม 3 ล้านไร่ โดยอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 ที่มีสภาพเป็นป่า หรือคุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ รวม 1.1 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 38 ซึ่งชุมชนมีการปกป้องดูแลป่ามายาวนาน หลายแห่งทำการฟื้นฟูจากป่าที่ผ่านการสัมปทานไม้เมื่อ 30 ปีก่อน ปัจจุบันมีรูปแบบการจัดการป่าชุมชนในพื้นที่ดังกล่าวเป็นป่าต้นน้ำ ไม่ให้มีการเปลี่ยนสภาพป่าเป็นพื้นที่อย่างอื่น ชุมชนใช้ประโยชน์จากป่าเป็นแหล่งน้ำประปาภูเขา ระบบเหมืองฝาย และเก็บหาของป่า เป็นฐานสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน

นอกจากนี้กรมป่าไม้ยังได้ระบุว่าป่าชุมชนที่อยู่ในชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ ได้รับการขึ้นทะเบียนและรับรองเป็นป่าชุมชนตามมาตรา 99 และ 100 ทั้งประเทศมีเนื้อที่ 1.65 ล้านไร่ ที่ดูแลจัดการโดยชุมชน 2,391 ชุมชน หากกฎกระทรวงระบุมิให้นำพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 เอ ย่อมส่งผลกระทบต่อชุมชนจำนวนมากโดยจำแนกกลุ่มหลักได้ดังนี้

กลุ่มที่ 1 ป่าชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 แต่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน หรือต่ออายุไม่ทันก่อนวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ 2562 และไม่ได้รับการรับรองตามมาตรา 99 และ 100 ซึ่งชุมชนเหล่านี้มีจำนวนมากที่มีทุ่มเทดูแลปกป้องป่า จัดการไฟป่า ทำแนวกันไฟ หากไม่มีสิทธิในการจัดตั้งป่าชุมชนจะได้รับส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชนอย่างมาก เนื่องจากชุมชนพึ่งพิงใช้ประโยชน์น้ำในการอุปโภค บริโภค ในรูปแบบประปาภูเขา และระบบเหมืองฝายเพื่อใช้น้ำในการเกษตร

กลุ่มที่ 2 ป่าชุมชนที่ได้รับรองตาม มาตรา 99 และ 100 ที่อยู่พื้นที่ลุ่มน้ำ 1 เอ ข้อมูลจากกรมป่าไม้ระบุว่าป่าชุมชนกลุ่มนี้มีเนื้อที่รวมอย่างน้อย 1.65 ล้านไร่ 2,391 หมู่บ้าน มีความเสี่ยงที่จะเสียสิทธิในการจัดการป่าชุมชน เนื่องจาก พ.ร.บ.ป่าชุมชน 2562 มาตรา 102 ระบุให้ป่าชุมชนที่ได้รับการรับรองตามมาตรา 99 และ 100 ต้องจัดทำแผนการจัดการป่าชุมชนและได้รับการอนุมัติภายใน 2 ปี หลังจากระเบียบคณะกรรมการนโยบายป่าชุมชนว่าด้วยการทำแผนการจัดการได้ประกาศใช้ ซึ่งระเบียบดังกล่าวประกาศใช้เมื่อวันที่ 22 ธันวาคาม พ.ศ. 2563 หากแผนการจัดการป่าชุมชนได้รับการอนุมัติไม่ทันจะถูกเพิกถอนโดยอัตโนมัติ สถานภาพพื้นที่ป่าชุมชนดังกล่าวจะกลับไปเป็นป่าสงวนแห่งชาติและต้องเริ่มกระบวนการขอจัดตั้งใหม่ ซึ่งต้องนำกฎกระทรวงกำหนดพื้นที่ให้เป็นเขตป่าอนุรักษ์ มาประกอบการพิจารณา หากกฎกระทรวงระบุว่ามิให้นำพื้นที่ป่าที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1 เอ มาจัดตั้งเป็นป่าชุมชน ก็จะทำให้ป่าชุมชนเหล่านี้ไม่สามารถจัดตั้งได้เหมือนเดิม ทำให้ชุมชนเสียสิทธิจากกระบวนการดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดที่ล่าช้า

นอกจากจะส่งผลกระทบต่อชุมชนจำนวนมากที่จัดการดูแลป่าชุมชนเดิมอยู่แล้ว ยังจะมีผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการจัดการป่าอย่างน้อย 2 ประการ

ประการที่ 1 ปัญหาในการจัดการเชิงภูมิทัศน์ หรือจัดการป่าผืนป่าเดียวกัน

การจัดการป่าชุมชนต้องจัดการเป็นภูมิทัศน์เชื่อมโยงตั้งแต่สันเขาถึงลำห้วย โดยเฉพาะการจัดการไฟป่าหากป่าชุมชนบางส่วนที่อยู่ในพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1 ที่เคยได้รับการจัดการเป็นผืนเดียวกัน แล้วถูกแบ่งแยกเพราะกฎกระทรวง ทำให้เกิดการแบ่งแยกไม่เป็นภูมิทัศน์ผืนป่าเดียวกันสร้างความยุ่งยากซับซ้อนในการจัดการเพราะพื้นที่ป่าชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1 ก็จะกลับไปอยู่ในความดูแลโดยกรมป่าไม้ ชุมชนไม่มีสิทธิในการเข้าไปดำเนินกิจกรรมต่างๆทั้ง การทำแนวกันไฟ การจัดการไฟป่า ป้องกันการบุกรุก เฝ้าระวัง ทำให้ประสิทธิภาพการจัดการป่าลดลง และมีความเสี่ยงจากการถูกทำลายจากภายคุกคามต่างๆมากขึ้น

ประการที่ 2 กลไกความร่วมมือหนุนเสริมในการจัดการป่าลดลง และเพิ่มภาระให้หน่วยงานรัฐ

หากพื้นที่ป่าที่อยู่ในพื้นที่คุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ เดิมได้รับการจัดการโดยชุมชนโดยการสนับสนุนของกรมป่าไม้ ชุมชนดูแลจัดการป่าชุมชนโดยใช้ทรัพยากรของชุมชนทั้งบุคลากรและงบประมาณ ทั้งจากชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หากไม่สามารถจัดตั้งและจัดการเป็นป่าชุมชนได้เหมือนเดิม พื้นที่ป่าชุมชนกว่า 4 ล้านไร่ ก็จะกลับไปมีสถานภาพเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งกรมป่าไม้ต้องรับผิดชอบดูแลตามกฎหมายป่าสงวนแห่งชาติเป็นหลัก การจัดการที่ขาดการมีส่วนร่วมจากชุมชน และภาคีเครือข่ายอื่นๆ ทำให้ต้องใช้บุคลากร และงบประมาณมากขึ้น ส่งผลทำให้ประสิทธิภาพการจัดการป่าลดลง อีกทั้งยังส่งผลเสียต่อความร่วมมือของกรมป่าไม้กับชุมชนและภาคีเครือข่ายในการทำงาน

เครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมือง และองค์กรภาคีจึงมีข้อเสนอให้ “พื้นที่คุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ สามารถจัดตั้งป่าชุมชนได้ โดยไม่ให้บรรจุเป็นพื้นที่อนุรักษ์ในกฎกระทรวงกำหนดพื้นที่ให้เป็นเขตป่าอนุรักษ์ พ.ศ. …. ที่ใช้ ประกอบ พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ.2562” โดยมีเหตุผลประกอบ 5 ข้อดังนี้

1) ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเรื่อง กำหนดโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการ ซึ่งต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 ภายใต้การเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ระบุการดำเนินการในเขตป่าชุมชนตามกฎหมายว่าด้วยป่าชุมชนในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 ไม่ต้องจัดทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ดังนั้นประกาศกระทรวงฯ ฉบับนี้จึงเห็นชอบให้สามารถจัดทำป่าชุมชนในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 ได้

2) เพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ. 2562 ที่ระบุไว้ว่า “เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนได้ร่วมกับรัฐในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติในป่า ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อันจะส่งผลให้ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศมีความสมบูรณ์และยั่งยืน”

3) เพื่อให้โอกาสและความเป็นธรรมทางสังคมกับชุมชนจำนวนมากที่ช่วยปกป้องป่าและจัดการในรูปป่าชุมชนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ชั้นคุณภาพชั้น 1 มาอย่างยาวนาน ทำให้ป่ายังคงอุดมสมบูรณ์ หากไม่สามารถจัดตั้งและดำเนินกิจกรรมจัดการป่าชุมชนได้ก็จะส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนจำนวนมาก และยังเป็นการสร้างเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมทางสังคมต่อชุมชนที่ดูแลป่ามายาวนานด้วย

4) มีระเบียบ คณะกรรมการนโยบายป่าชุมชนว่าด้วยการกำหนดพื้นที่ป่าชุมชนและสัดส่วนการใช้ประโยชน์ป่าชุมชน โดยระเบียบดังกล่าวได้กำหนดสัดส่วนพื้นที่เพื่อเป็นป่าชุมชนอนุรักษ์ร้อยละ 60 ป่าชุมชนใช้สอยร้อยละ 40 ซึ่งต้องแบ่งโซนจัดการในแผนการจัดการป่าชุมชนที่ต้องผ่านการกลั่นกรองอนุมัติจากคณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัด ซึ่งเป็นกลไกที่ช่วยกลั่นกรองความเหมาะสมอยู่แล้ว

5) ชุมชนในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 เอ นั้นมักมุ่งเน้นทำการจัดการป่าชุมชนเพื่อเป็นป่าอนุรักษ์อยู่แล้ว เนื่องจากชุมชนต้องพึ่งพิงน้ำทั้งเพื่อการอุปโภค บริโภคและเพื่อการเกษตร ซึ่งทำให้เกิดการพัฒนาท้องถิ่น โดยมีมาตรการร่วมกับรัฐเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพป่า

ทั้งนี้การส่งเสริมให้เกิดการจัดการป่าชุมชนได้ในพื้นที่ที่มีความสำคัญเช่นพื้นที่คุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1 เอ จะเป็นการยืนยันเรื่องหลักสิทธิชุมชน ซึ่งมีการระบุไว้ในรัฐธรรมนูญของประเทศ รวมถึงสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหัสวรรษ หรือ SDGs ของสหประชาชาติ อย่างน้อย 4 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายที่ 15 ปกป้อง ฟื้นฟู และส่งเสริมการมีส่วนร่วมการใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบกอย่างยั่งยืน เป้าหมายที่ 6 รับรองการมีน้ำใช้ การจัดการน้ำและสุขาภิบาลที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 3 รับรองการมีสุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคนทุกช่วงอายุ และเป้าหมายที่ 7 ลดความเหลื่อมล้ำภายในและระหว่างประเทศ

สุดท้ายเครือข่ายหวังว่ารัฐมนตรีว่าการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะรับฟังเหตุผลและพิจารณายืนยันสิทธิของชุมชนในการร่วมจัดการป่าในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ ร่วมกับรัฐ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ