“ต้นไม้ของเรา” รีคอฟ เปิดพื้นที่หาโมเดลลดความเหลื่อมล้ำ

“ต้นไม้ของเรา” รีคอฟ เปิดพื้นที่หาโมเดลลดความเหลื่อมล้ำ

เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (รีคอฟ) และองค์กรภาคีเครือข่าย ร่วมกันจัดเวทีนำเสนอโครงการต้นไม้ของเรา หรือ Tree for All (T4A) ภายใต้แนวคิดว่าต้นไม้และป่าจะฟื้นฟูและเติบโตขึ้น ด้วยการที่ทำให้คนในท้องถิ่นอยู่รอดได้ พร้อมกับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการสร้างให้เกิดการช่วยเหลือแบ่งเบาภาระและร่วมรับผิดชอบ โดยภายในงานมีวงเสวนาหัวข้อ “ต้นไม้ของเรา” เพื่อพูดคุยถึง 3 ประเด็นหลัก ๆ เรื่องพื้นที่ของชุมชนต้นน้ำ ความหมายของพื้นที่ป่า และชีวิตผู้คนจะอยู่กับป่าที่สัมพันธ์กับเศรษฐกิจปากท้อง ทั้งหมดนี้ อาจารย์ยุทธภูมิ สุปะการ ผู้ช่วยผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนน่าน ทำหน้าที่ผู้ดำเนินรายการ

Q :  เชื่อว่าทุกคนคงมีประสบการณ์ปลูกป่ากัน

บอล รายการหนังพาไป บอกว่า เรื่องการปลูกป่า ปลูกต้นไม้ตั้งแต่เด็ก ๆ แล้วโรงเรียนเขามักจะพาไปปลูกต้นไม้ปลูกป่า แต่ว่าเราก็ได้แค่ปลูก ปัญหาคือเราไม่รู้ว่าหลังจากเราปลูกเสร็จสภาพป่าหลังจากนั้นจะเป็นอย่างไร  

ยอด รายการหนังพาไป กล่าวเพิ่มเติมว่า ตัวเองเป็นคนต่างจังหวัดมาก่อน ย้อนกลับไป 30-40 ปีที่แล้ว สมัยเด็ก ๆ เคยปลูกป่าตามโครงการของโรงเรียนเหมือนกัน โรงเรียนมีโครงการจากภาครัฐมาแล้วให้เราไปปลูก ตอนนั้นเรายังไม่ได้เห็นความสำคัญอะไร รู้สึกว่าเป็นแค่โครงการของผู้ใหญ่

Q : หากให้เล่าสถานการณ์ของเมืองน่านโดยเฉพาะอ.สันติสุข การถูกมองว่าคนในท้องถิ่นคือคนทำลายป่า ตลอดจนถึงการขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมในครั้งนี้คืออะไรบ้าง 

อธิวัฒน์สุธรรม ผู้จัดการสถาบันการเงินชุมชนรักษ์สันติสุข บอกว่า ถ้ามองจากสถานการณ์เรื่องของป่า สถานการณ์ของที่ทำกินใช้คำว่าที่ทำกินของเมืองน่าน ที่สันติสุขถ้ามองย้อนไปประมาณ 20-30 ปีก่อน พอเข้ามาในสันติสุขคนจะตกใจ เพราะว่าปฏิเสธไม่ได้ว่ามันเป็นเรื่องของปากท้องที่ชุมชนที่นี่จะต้องปลูกเพื่อสร้างรายได้ให้กับครอบครัวและพืชชนิดนั้นก็คือข้าวโพด

“พูดตรง ๆ นะครับ ข้าวโพดไม่ว่าใครจะมาส่งเสริมจะเป็นรัฐเป็นเอกชนก็ไม่รู้ล่ะ แต่ว่าชาวบ้านที่นี่ ถางป่าปลูกข้าวโพดเพื่อขายเอาเงินมาเลี้ยงครอบครัวเป็นระยะเวลา 30 ปีแล้ว และทำไมไม่ปลูกไม้ยืนต้น มันมีความเชื่อว่าถ้าปลูกไม้ยืนต้นมันเป็นหลักฐานจะโดนเขาจับ”

เพราะฉะนั้นมันถึงเต็มไปด้วยข้าวโพด แล้วอีกอย่างนึงข้าวโพดเป็นพืชมหัศจรรย์เดินได้ตั้งแต่ตีนห้วยจนถึงยอดดอย เติบโตได้ดี แล้วก็มีแหล่งทุนที่ชัดไม่ว่า สหกรณ์ ธกส. หรือพ่อค้าคนกลาง เรื่องราวทั้งหมดคนตำบลพงษ์ คนอำเภอสันติสุข กลายเป็นจำเลย เอาป่าออก เอาป่าข้าวโพดไปใส่แทน จริง ๆ แล้วมันเป็นเรื่องของปากท้อง แต่ในเมื่อเวลามันผ่านไปเรื่องราวพวกนี้ถามว่าคนในพื้นที่ คนในสันติสุขมีความทุกข์กับเรื่องพวกนี้ไหม เป็นทุกข์ครับ

ทุกข์จากการที่พอป่าหายไปฝนตกน้อยลง พืชอาหารลดลง ค่าครองชีพและค่าใช้จ่ายครัวเรือนสูงขึ้น และพืชเศรษฐกิจอย่างข้าวโพดได้ปีละครั้งเพราะต้องอาศัยธรรมชาติอาศัยน้ำฝน ไม่มีชลประทานเพราะอยู่บนดอยจะเอาน้ำไหนไปใส่ต้องอาศัยน้ำฝนอยู่ดี เพราะงั้นเรื่องราวของการทำพืชเศรษฐกิจปลูกข้าวโพดอีกมุมนึงมันเป็นเรื่องปากเรื่องท้อง ฉะนั้นคนตำบลพงษ์ คนอำเภอสันติสุข ก็เลยหันกลับมามองว่าจะทำอย่างไรที่จะให้เราพออยู่พอมีกินไม่ถึงกับร่ำรวยและได้ธรรมชาติกลับฟื้นคืนมา

Q : รวมถึงตอนนี้คนน่านรุ่นใหม่ในพื้นที่มีโครงการมากมาย มีโจทย์มีธุรกิจน่าสนใจ มีอาชีพในมุมมองของการอนุรักษ์ดูแลรักษาต้นไม้ด้วย

ณัชพล พรมคำ ผู้ประกอบการชุมชนอำเภอสันติสุข เล่าว่า เมื่อก่อนตอนที่ผมทำงานก็มีความคิดอยากจะกลับมาอยู่บ้านแต่เราก็ไม่รู้จะทำอะไร เรากลับมาที่บ้านแรก ๆ เรามองตัวเองว่าเราเป็นนักพัฒนาชุมชนที่ไม่ได้อยู่ในตำแหน่ง เราหาโครงการต่าง ๆ เข้ามาช่วยชุมชน เพราะมันมีปัญหาเรื่องของข้าวโพด ข้าวโพดเป็นพืชที่มหัศจรรย์ปลูกแล้วมันขึ้นได้ทุกที่อีกอย่างคือมันขายแล้วได้เงิน

พอเราทำงานเป็นนักพัฒนาชุมชนอิสระอยู่ประมาณช่วงนึง เราก็เริ่มหาโครงการมาลง และเริ่มหาลูกค้าให้กับชาวบ้าน กลายเป็นนักจัดการชุมชน ก็คือในเมืองต้องการอะไร เราก็สามารถต่อคนนี้ไปขายให้กับคนนี้ได้ เช่น ร้านนี้เขาต้องการผัก ร้านนี้ต้องการหมู เราเข้ามาที่ชุมชนแล้วให้เขามาเจอและขายกันเอง พอเวลาเปลี่ยนผ่านไปช่วงนึงมันไม่ต่อเนื่อง เราเลยต้องโดดเข้ามาเป็นผู้ประกอบการชุมชน เช่น เราให้นาย A เก่งในเรื่องของการผลิตไม้ เก่งในเรื่องของการปลูกผัก ส่วนเราเข้ามาเป็นผู้ประกอบการชุมชนในการจัดทำการซื้อ การขาย การหาลูกค้าทุกอย่าง ความต่างมันจะอยู่ตรงนี้ ซึ่งหลาย ๆ ที่ยังไม่สามารถจะขยับเข้ามาเป็นผู้ประกอบการชุมชนได้ เพราะปัญหาเรื่องของการไม่มีอาชีพรองรับให้กับชาวบ้าน เลยต้องการให้ผมต้องเข้ามาอยู่ในชุมชนและต้องลงมาทำเอง หลาย ๆ คนอยากกลับบ้านมาทำกับผม ซึ่งกลายเป็นโมเดลให้คนรุ่นใหม่ทดลองเรียนรู้สามารถที่จะไปทำข้างนอกเองได้

Q : คนนอกพื้นที่มองเรื่องเหล่านี้อย่างไร หากเปรียบเทียบจากต่างประเทศเชื่อมโยงให้เห็นบทเรียนเหล่านั้นแล้วก็มองโอกาสและปัญหาพื้นที่ในจังหวัดน่านอย่างไรบ้าง

ยอด รายการหนังพาไป บอกว่า ปัญหาในจังหวัดน่าน เหมือนคนเมืองจะโทษคนน่านว่าตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งคำนี้เคยได้ยินมาตั้งแต่เด็ก ต้องบอกก่อนว่า ตัวผมเป็นทั้งคนต่างจังหวัดและก็เป็นผู้อพยพสู่ในเมืองไปใช้ชีวิตและก็ประกอบอาชีพ คำ ๆ นี้มันเลยเหมือนเป็นมายาคติเมื่อตอนเด็ก แต่พอเราโตขึ้นมันมีกระบวนการเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว เหมือนเราไม่สามารถเหมารวมได้ว่าคนเมืองทุกคนคิดอย่างนั้น และเราก็ไม่สามารถเหมารวมได้ว่า คนต่างจังหวัดเป็นแบบนั้นแบบนี้

“เอาจริง ๆ ผมรู้สึกว่าคนเมืองก็ดิ้นรนในแบบที่แทบจะไม่สามารถขยับตัวได้ คนเมืองถูกเหมารวมว่าเป็นคนรวยคนมีตังค์ ซึ่งมันไม่จริง ภาพพวกนี้มันต้องถูกทำลายไป เหมือนกับที่เราต้องทำลายภาพว่า คนน่านเป็นคนตัดไม้ทำลายป่า”

คือกระบวนการการศึกษา หรือการให้ความรู้มันต้องถูก เพราะผมเชื่อว่าตอนนี้มันได้ผลสำหรับผม เพราะผมผ่านการเรียนรู้มาก็เห็นแล้วว่ามันไม่จริง มันไม่ใช่แค่คน ๆ เดียวหรือคนกลุ่มเดียวจะทำร้ายได้ แต่มันขยายไปเป็นวงจรของทั้งระบบ เหมือนที่เราเคยเห็นในต่างประเทศ   

เรามีโอกาสได้ไปประเทศสาธารณรัฐคาซัคสถาน เป็นรัฐอิสระในอุซเบกิสถาน ซึ่งแต่ก่อนรัฐนี้ประเทศแถบนี้เคยตกอยู่ภายใต้การปกครองของสหภาพโซเวียตแล้วพอแยกตัวออกมา ประเทศสาธารณรัฐคาซัคสถาน ซึ่งสามารถแยกตัวออกไปได้แต่เขาไม่แยก เขาจำเป็นต้องขอรวมกับอุซเบกิสถานอยู่ ซึ่งเราก็สงสัยว่าทำไมไม่แยกมันมีปัญหาเรื่องความยากจนภูมิภาคนี้เป็นภูมิภาคที่มีความยากจนติดอันดับต้น ๆ ของโลก เราก็เลยสงสัยว่าแล้วทำไมพวกคุณไม่อพยพ

เราก็เดินทางไปหาคำตอบประเทศนี้ก็พบว่า ประเทศนี้เคยอุดมสมบูรณ์ เคยมีแหล่งน้ำจืดที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก แต่ทุกวันนี้มันหายไป มันหายไปเพราะการที่เมื่อก่อนสหภาพโซเวียต ส่งเสริมการปลูกฝ้าย ให้ประชาชนแถวนี้เลิกทำการประมง เลิกปลูกอย่างอื่น เลิกปลูกพืชหมุนเวียนอื่น ๆ จะส่งเสริมให้ปลูกฝ้ายอย่างเดียว และด้วยอำนาจการเมืองการปกครอง ประกอบกับตอนนั้นนักวิทยาศาสตร์มีการถกเถียงแล้วว่า หายนะมันกำลังจะเกิดขึ้นถ้าหากทำอย่างนี้ต่อไป เพราะ ฝ้าย เป็นพืชที่ใช้น้ำมาก แล้วมันจะทำให้ภูมิภาคนี้แห้งแล้งแล้วทะเลจะเป็นพิษแต่ไม่มีใครเชื่อเพราะว่า นักการเมืองการปกครองมันทำอะไรได้ เพราะเป็นสหภาพโซเวียต ฉะนั้นจุดจบของมันก็เป็นไปตามนั้น คือตอนนี้ทะเลได้หายไปเกือบหมดแล้ว กลายเป็นภูมิภาคที่แร้นแค้น จากที่เคยทำการประมง มีแต่ทะเลทราย เราไปเห็นซากเรือที่มันอยู่กลางทะเลทราย ไม่น่าเชื่อเลยว่าที่นี่เคยเป็นทะเล หรือเคยมีความอุดมสมบูรณ์

“ผมก็เลยเอาไปเปรียบเทียบ ง่าย ๆ เลย ถ้าเรายังปลูกข้าวโพด โดยที่ต่อไปมันก็เป็นอย่างนั้น ความผิดมันไม่ใช่แค่คนปลูกข้าวโพด ไม่ใช่ความผิดของคนปลูกฝ้าย มันเป็นความผิดของคนทั้งโลก”

เราต้องร่วมกันรับผิดชอบ พวกฝ้าย มันถูกส่งออกไปทั่วโลก และมันเป็นปัญหาที่เรารู้สึกว่ามันงูกินหางมากเลยก็จะให้ทำอย่างไรได้ ชาวบ้านเขาปลูกเขาก็ได้เงินจะมาบอกว่าอย่าปลูกแล้วจะให้เขาทำอะไรกิน

Q : ตรงนี้ถ้ามองแค่ลำพังชุมชนอย่างเดียวก็ยากที่ชุมชนจะสามารถพาให้อยู่รอดได้ เพราะว่ากลไกของการตลาดทุกอย่างมันเชื่อมโยงกับตลาดใหญ่ที่เราไม่สามารถสลัดพ้นได้

สุนิตย์ เชรษฐา กรรมการผู้จัดการ ChangeFusion ในฐานะที่เป็นนักจัดการ นักเชื่อมโยงที่สามารถแหล่งทุนโครงการต่างๆ ในการรักษาระบบนิเวศสิ่งแวดล้อมบ้านของเรา มองว่า ผมอาจจะไม่ถึงขนาดเรียกว่าเป็นนักจัดการในเชิงขนาดว่าจะระดมทุนมากมายมหาศาล แค่มีโอกาสที่ได้ทำงานในกองทุนพวกนี้อยู่บ้าง น่านก็เป็นตัวอย่างที่มีมาตลอดไม่ใช่เป็นแค่กองทุนที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะในเรื่องป่าไม้หรือการอนุรักษ์ด้วยซ้ำ แต่ว่าสามารถระดมความสนใจจากประชาชนที่อยากเข้ามาร่วมได้

เห็นด้วยกับทุกท่านที่พูดว่า การไปโทษว่าเป็นความผิดของชุมชนมันน่าจะเป็นความเข้าใจผิดหรือไม่รู้ แต่แน่นอนก็น่าจะเรียกว่าเป็นความผิดร่วมกันหมด เพราะคนก็บริโภคเนื้อสัตว์หมู ไก่ ซึ่งข้าวโพดเป็นอาหารเลี้ยงสัตว์พวกนี้

เมื่อกี้ที่พูดกันว่า ปลูกไม้ยืนต้นไม่ได้ เดี๋ยวโดนจับมันก็กลับไปเรื่องกฎหมายที่ไม่เอื้อไม่ได้รักษาสิทธิของชุมชนที่อยู่มาแต่เดิมก่อนประกาศพื้นที่ด้วยซ้ำ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ก็พูดชัดเจน มีคำพูดของท่านว่าตกลงมันกฎหมายรุกคน หรือคนไปรุกป่า ซึ่งท่านก็พยายามเน้นว่าต้องไปช่วยก็เลยกลายเป็นเรื่องโครงการหลวง โครงการดอยดุงเหมือนที่เราเห็นมา

ซึ่งตอนนี้โจทย์ก็คือว่าชุมชนจะเรียนรู้และจัดการเองได้ไหมอย่างไร ซึ่งเรื่องพวกนี้มันเกี่ยวข้องกับเรื่องคนหรือการระดมการสนับสนุน เพราะว่าคนก็จะกังวลเหมือนกัน ถ้าเป็นเอกชนทั่ว ๆ ไป ช่วยเรื่องการอนุรักษ์ป่า แต่กลายเป็นว่ามีคนไปเตือนว่าที่ช่วยถูกต้องตามกฎหมายไหมตัวเองจะโดนอะไรหรือเปล่า

ผมว่าน่านมีความพิเศษมากเมื่อเทียบกับพื้นที่อื่นในประเทศไทย ตรงที่ว่ามีกลไกตั้งแต่มีน่าน Sand box ที่ทำให้คนในทั้งจังหวัดมีความอะลุ่มอล่วยมีการทดลองได้ หน่วยงานราชการ เอกชนก็มีกลไกการทำงาน หรือหลาย ๆ เรื่องที่ผลักดันขับเคลื่อนกันมาอยู่แล้วมันก็มีตัวอย่างความสำเร็จที่มาต่อยอดได้

ดังนั้นเราก็คิดว่าเรื่องนี้เรื่อง พ.ร.บ.ป่าชุมชนที่เพิ่งออกมาจะขึ้นทะเบียนอย่างไร หรือในมุมของการระดมการสนับสนุนเรื่องพื้นฐานพวกนี้ก็สำคัญเหมือนกัน

Q : เราจะการรักษาระบบนิเวศและป่าต้นน้ำของเราอย่างไร

อธิวัฒน์ สุธรรม ผู้จัดการสถาบันการเงินชุมชนรักษ์สันติสุข กลุ่มรักษ์สันติสุข ให้ความเห็นว่า จากโจทย์ที่เราเห็นปัญหา คนในชุมชนมานั่งคิดกันว่าเราจะฝ่าปัญหาเหล่านี้ไปได้อย่างไร ก็มีกลุ่มรักษ์สันติสุขเป็นการรวมตัวกันของคนในชุมชนเป็นเครือข่ายคนฮักเมืองน่านด้วยกันก็มาทำเรื่องป่าและสิ่งแวดล้อมชุมชน

อีกอันที่เราทำคือ เราทำสถาบันการเงินชุมชน คนในชุมชนระดมทุนกันและก็ดูแลกันเองในเรื่องของสิ่งแวดล้อมระดับท้องถิ่น พอระยะหลังเรื่องของกฎหมายเคยเป็นข้อจำกัดและมีกฎหมายที่ค่อยข้างจะเปิดช่อง เช่น เรื่องการปลดล็อคต้นไม้ในพื้นที่เอกสารสิทธิ์ เช่น น.ส.3 หรือ ส.ป.ก. และมีประกาศให้ต้นไม้เป็นหลักประกันได้ เราฐานะที่เป็นสถาบันการเงินชุมชน เอาเรื่องนี้มาคิดก็เลยมีโครงการในระดับชุมชนใช้ต้นไม้เป็นหลักประกัน เนื่องจากที่ดินส่วนใหญ่อย่างสันติสุข ถ้าเป็นโฉนด น.ส.3 เป็นที่อยู่อาศัยกับเป็นที่นา ขยับขึ้นมาที่ดอนจะเป็น ส.ป.ก. จะเป็นสวนผักสวนต้นไม้ ที่เหลือต่อไปก็จะเป็นพื้นที่ป่าสงวนกับอุทยาน

 “โชคดีที่หน่วยงานรีคอฟมาเป็นพันธมิตรสอนเรื่องของการทำข้อมูลต้นไม้ มูลค่าต้นไม้และเอาต้นไม้ต้นนี้มาทำข้อมูลแล้วก็ขายเป็นหลักประกันใช้เป็นหลักเงินกู้ประกัน สถาบันการเงินชุมชนของเราทำตอนนี้เรานำร่องไปรายสองรายแล้ว”

พอต้นไม้ไม่ได้มีมูลค่าจากการตัดอย่างเดียว มีมูลค่าจากการเอามาค้ำประกันตรงนี้ได้ด้วย ชาวบ้านก็เริ่มตื่นตัว ว่าจริง ๆ มันก็สามารถสร้างมูลค่าได้หลากหลายมากกว่าการตัดขายเป็นเนื้อไม้ และศึกษาว่าจริง ๆ ต้นไม้มันเป็นอสังหาริมทรัพย์ จริงมันก็ไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์ก็เลยใช้วิธีจำนำ หมายความว่าปกติทรัพย์สินคือจำนอง แต่ต้นไม้มันจำนองไม่ได้เป็นอสังหาริมทรัยพ์เลยใช้วิธีจำนำ เราก็ศึกษาตรงนี้เป็นโครงการหนึ่งของชุมชนรักษ์สันติสุข ซึ่งผมทำหน้าที่เป็นผู้จัดการตรงนั้น

ส่วนเรื่องของต้นไม้ของเราเกิดมาจากตรงไหน เกิดมาจากวงคุยของชาวบ้านนี้ว่าจริง ๆ แล้วพื้นที่ป่า ป่าอนุรักษ์ ป่าอุทยาน ก็จะเป็นป่าของอุทยานไป ป่าที่อุดมสมบูรณ์อยู่ภายใต้กฎหมายป่าสงวนมันมีลักษณะจำเพาะกว่า และป่าชุมชนซึ่งชาวบ้านดูแล มีลักษณะเป็นป่าซึ่งไม่สามารถจะไปปลูกเพิ่มเติมได้ เพราะมันมีลักษณะเฉพาะและก็สมบูรณ์อยู่แล้ว

เพราะฉะนั้นการจะเพิ่มพื้นที่ป่า หรือเพิ่มพื้นที่ต้นไม้ มันจะต้องใช้พื้นที่ทำกินของชาวบ้านเท่านั้น อันนี้คือโจทย์ใหญ่ว่าจะทำอย่างไรโน้มน้าวเขาให้เอาต้นไม้ไปใส่ในแปลงเขาให้ได้ ใส่ไปแล้วจะมีวิธีการตรวจสอบอย่างไรให้ต้นไม้โต 100% ก็ต้องอาศัยวิชาการใหม่ ๆ หนึ่งเพื่อเป็นการกระตุ้นให้ชุมชน ถ้าคุณได้เอาต้นไม้ลงไปแล้ว คุณต้องรับผิดชอบชีวิตเขาด้วยนะ สอง พื้นที่อื่นมันไม่มีแล้ว ถ้ามันจะเพิ่มต้นไม้ เพิ่มพื้นที่ป่าต้องไปเพิ่มพื้นที่แปลงของเกษตรกร โดยที่เกษตรกรมีส่วนในการรับประโยชน์ด้วย

ตอนนี้แปลงเกษตรกรส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ป่าสงวนตามกฎหมาย คทช. โดยทำความเข้าใจกับชาวบ้านว่าตรงไหนจะใส่ไม้อะไรต่าง ๆ ได้ หรือพื้นที่ทำกินที่มันเหมาะสมที่จะทำพืชเศรษฐกิจ พืชเลี้ยงครอบครัวเราก็กันไว้ส่วนนึง พื้นที่ตรงไหนที่เป็นพื้นที่ล่อแหลม เช่น พื้นที่ลาดชันสูง พื้นที่ร่องห้วยที่น่าจะเป็นพืชอาหาร พื้นที่ขุนห้วยขุนน้ำ ที่น่าจะเป็นที่อยู่ของต้นไม้ของป่าตรงนั้นควรจะดันออกมา เราเอาเรื่องต้นไม้ของเราใส่เข้าไปเดิมเราใช้ว่าโครงการผู้อุปถัมภ์ต้นไม้ แต่มีหลายคนท้วงติง คำว่า ผู้อุปถัมภ์ มีให้อุปถัมภ์กับผู้รับอุปถัมภ์ ก็เลยว่ามันน่าจะใช้ต้นไม้ของเรามากกว่าเพราะเราไปด้วยกัน

ฉะนั้นคนสองคน คนหนึ่งอาจจะมีเงินทุนบ้างแต่ไม่มีเวลาไม่มีพื้นที่ กับคนอีกกลุ่มหนึ่งมีเวลา มีพื้นที่ และเขายังขาดเรื่องของปากท้อง เอาคนสองกลุ่มนี้เจอกันได้ไหม ถ้าเราไปด้วยกันผมคิดว่า ถ้าต้นไม้ถูกใส่ลงไปในดินแล้วมีการดูแล แล้วมีการให้คำมั่นสัญญาระหว่างคนสองกลุ่มเราจะทำต้นไม้ตรงนั้นให้ 100% ผมคิดว่ามันตอบโจทย์ได้ ฉะนั้น นโยบายของรัฐบาลที่บอกว่าจะมีป่า 40% ตอนนี้ต้องไปกระตุ้นให้ชุมชนเอาต้นไม้มาลง

ด้านณัชพล พรมคำ ผู้ประกอบการชุมชนอำเภอสันติสุข กล่าวเพิ่มเติมว่า เหมือนที่คุณอธิวัฒน์บอก น่านเป็นจำเลยมาตลอด จำเลยของทางภาคกลางไม่ว่าจะเรื่องของน้ำท่วม หมอกควัน โทษว่าเราปลูกข้าวโพด ที่จริงข้าวโพดไม่ได้เลวร้าย คนปลูกไม่ใช่คนเลว เพียงแต่ว่ามันอยู่ไม่ถูกพื้นที่ มันควรจะอยู่ในพื้นที่ที่มันควรจะอยู่ พื้นที่บนดอยมันควรจะเป็นต้นไม้ มันควรเป็นป่า และทางเราโดนมาตลอดว่าเราทำร้ายป่า ต้องการให้เราอนุรักษ์ป่า แต่ว่าเราอยู่ไกลของที่เราใช้ทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นน้ำมันเราก็ใช้แพงกว่าคนภาคกลาง เดี๋ยวก็อ้างเรื่องขนส่งไกลแล้วให้เราดูแลป่าให้

“ลดราคาสินค้าพวกนี้ให้เราไหมล่ะ สบู่เราก็ซื้อ 10 บาท เท่าที่กรุงเทพฯ แต่ให้เราดูแลป่าให้ท่านด้วยเนี่ยเราต้องรับผิดชอบแทนเขาอีก น้ำมันเราซื้อลิตรนึง 32 บาท กรุงเทพฯ อาจจะ 20 กว่าบาท เราดูแลป่าต้องมาแบกรับภาระพวกนี้ แล้วเราก็ยังโดนด่าอีกเวลาน้ำท่วม หมอกควันเราก็โดนด่าอีก”

มันจะมีใครสักกี่คนที่ตื่นเช้าขึ้นมาแล้วมองหาสินค้าที่เป็นเมืองน่าน อาจจะเป็นตะกร้าใส่ผ้าใบนึง เขียงสักอันนึง หรืออะไรก็ตามที่เขาคิดว่าอยากจะหาสิ่งเหล่านี้ เพื่อที่จะช่วยคนที่กำลังทำเรื่องป่าไม้ คนที่กำลังปลูกป่าให้เขามีรายได้ แล้วให้เขาลดปัญหาลดภาระพวกนี้ โดนที่ฉันมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ตรงนี้

บอล รายการหนังพาไป บอกว่า โครงการนี้มีความน่าสนใจ แล้วก็รู้สึกว่ามีความหวัง จากที่เป็นคนชอบปลูกต้นไม้ เราก็รู้เลยว่าการปลูกมันไม่ยากเท่าการดูแล คุณปลูกแล้วคุณก็ไปมันต้องดูแลต่อเป็นสิบ ๆ ปี แต่ถ้ามีกลไกที่มาช่วยเหลือในการดูแลได้ก็ยินดีสนับสนุนและอยากให้โครงการเติบโตไป ซึ่งมันยังมีอีกหลายโมเดลหลากลาย โดยใช้แรงจูงใจต่าง ๆ นานา เข้ามาช่วยได้อีก เหมือนมันเปิดช่องแล้วมันยังพัฒนาต่อไปได้อีกหลายทางหลายรูปแบบเลย 

ยอด รายการหนังพาไป มองว่า เรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงซีรีส์เรื่องสตาร์อัพ เพราะเห็นโครงการแบบที่รีคอฟทำ ที่คุณอธิวัฒน์ทำมันใช้กลไกทางภาษีกับสินค้าจากเมืองน่านไม่ต้องเสียภาษี สตาร์อัพ นักเศรษฐศาสตร์หลายคนนำมาออกแบบ เรื่องตัวเลขเพื่อเข้ากับการปลูกต้นไม้ได้ เช่น ลดกำแพงภาษีเศรษฐศาสตร์ของประเทศเรา หรือสตาร์อัพรุ่นใหม่ ๆ ที่จะมาช่วยลดกำแพงภาษี เจรจากับทางรัฐว่าเขามีเครดิตต้นไม้ ซึ่งมันสามารถเป็นทุนได้ เชื่อว่ามันจะมีอีกหลายโครงการเกิดขึ้นแน่นอน

สุนิตย์ เชรษฐา กรรมการผู้จัดการ ChangeFusion เสริมว่า ถ้าชุมชนที่เขาดูแลป่าต้นน้ำได้ดี เขาควรจะได้ประโยชน์จากสิ่งนั้นโดยตรง การต่อยอดเป็นสินค้าและบริการอื่น ๆ ก็เป็นทางที่จะสร้างความยั่งยืนได้ขึ้นอีก แต่แค่รู้สึกว่าที่ผ่านมาคนที่ได้ประโยชน์ก็คือคนกลางน้ำ ปลายน้ำ ทั้งเอกชน ทั้งประชาชน ทำอย่างไรให้ประโยชน์เหล่านี้มันสามารถกลับสู่ต้นทางต้นน้ำได้

ซึ่งจริง ๆ ก็เป็นแนวคิดของโครงการนิเวศน์บริการ ในมุมว่าป่าทำให้เกิดน้ำ ทำให้เกิดไฟฟ้า ทำให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร และอื่น ๆ ดังนั้นผมก็เชื่อมั่นว่า ถ้าเราสามารถทำได้ดีสามารถติดตามผลได้เชื่อว่าจะมีคนไม่น้อยสามารถที่จะมาช่วยกันสนับสุนนเรื่องนี้เพราะเขารู้สึกจริง ๆ ว่าเขาได้ประโยชน์ ส่วนเรื่องภาษีก่อนที่มันจะไปอีกขั้น ปัจจุบันอย่างน้อยโครงการที่ระดมทุนผ่านเว็บเทใจทำงานร่วมกับมูลนิธิธรรมิกชน ซึ่งเขาหักภาษีได้อยู่แล้ว นี่ก็เป็นอีกโมเดลนึง ถ้าท่านบริจาคมาทางนั้นมันก็สามารถที่จะหักภาษีได้ตามที่กฎหมายกำหนด

ทั้งนี้ ผู้ดำเนินรายการกล่าวทิ้งท้ายว่า “Tree for all” ต้นไม้เป็นของพวกเราทุก ๆ คนต้องช่วยกันที่จะรักษาระบบนิเวศ ภูมินิเวศที่แปลว่าภูมิทัศน์ทางป่าไม้ในความหมายของรีคอฟ ไม่ใช่จำเพาะแค่ป่าทางกฎหมาย เป็นป่าไม้ที่อยู่ในบ้านก็ได้ ป่าไม้ในชุมชน ป่าไม้ที่อยู่ในพื้นที่สาธารณะ หรือพื้นที่เกษตร และเราต้องรู้จักเรียนรู้ที่จะรักษาระบบนิเวศน์ร่วมกัน เพราะต้นไม้เป็นของเราทุก ๆ คน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ