C-Site report: แรงสั่นสะเทือนของใจในวันบังคับใช้ พ.ร.บ.ป่าชุมชน

C-Site report: แรงสั่นสะเทือนของใจในวันบังคับใช้ พ.ร.บ.ป่าชุมชน

“สิทธิของคนอยู่กับป่า” เส้นทางเดินนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และเมื่อมีกฎหมายก็ยังคงมีคำถามตามมา ว่าจะบังคับใช้ให้ตรงตามเจตนารมณ์ของประชาชนที่เริ่มต้นมาได้หรือไม่

C – SITE REPORT บังคับใช้ พ.ร.บ.ป่าชุมชนและความกังวลใจของชุมชน 25 พ.ย. 2562

C-Site report เป็นเรื่องราวของคนอยู่กับป่า เพราะวันนี้ 25 พ.ย. 62 เป็นวันสุดท้ายของการขอขึ้นทะเบียนป่าชุมชนโดยกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเป็นวันที่ พ.ร.บ.ป่าชุมชน 2562 มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ ภายใต้กฎหมายนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตั้งเป้า 5 ปี จัดตั้งป่าชุมชนให้ได้ 15,000 ป่า และมีประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม 18,000 หมู่บ้าน และมีพื้นที่ป่าที่อยู่ในความดูแลของคณะกรรมการป่าชุมชนเพิ่มขึ้นเป็น 10 ล้านไร่ .หากเรามองเรื่องของคนอยู่กับป่าแล้ว หลายชุมชนในแทบทุกภูมิภาคของไทย มีการอยู่ร่วมและใช้ประโยชน์จากป่ากันมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะชุมชนในเขตป่าของภาคเหนือ ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ หรือพื้นที่เตรียมผนวกเขตอุทยาน รวมทั้งในเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ซึ่งจะมีข้อจำกัดจากกฏหมาย พ.ร.บ.ป่าชุมชน พวกเขาจึงขอใช้สิทธิของตัวเองตามรัฐธรรมนูญ โดยผลักดันการประกาศเขตวัฒนธรรมพิเศษกะเหรี่ยงเพิ่มอีก 10 แห่ง เพื่อยืนยันว่า คนกะเหรี่ยงสามารถจัดการดูแลป่าและทรัพยากรได้.ส่วนภาคตะวันออก ในผืนป่ารอยต่อ 5 จังหวัด คือ สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และจันทบุรี ซึ่งครอบคลุมพื้นที่กว่า 1 ล้าน 4 แสนไร่ รวมพื้นที่ป่า 5 แห่ง ทั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อุทยานแห่งชาติ พื้นที่เตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติและพื้นที่ป่าสงวนอื่น ๆ ไว้ด้วยกัน คุณรุ่งโรจน์ เปรมจิราพงศ์ และเครือข่ายป่าชุมชนรอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก ปักหมุดรายงานความคิดเห็นต่อเรื่องการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป่าชุมชนฯ ที่อาจผลกระทบต่อพวกเขา.กว่าจะถึงวันนี้ ที่ พ.ร.บ.ป่าชุมชน มีการบังคับใช้ นับเป็นเวลาถึง 30 ปี สำหรับเส้นทางผลักดันกฏหมายของประชาชนนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และเมื่อมีกฎหมายขึ้นมาแล้วก็ยังคงมีคำถามถึงการบังคับใช้ให้ตรงตามเจตนารมณ์ของประชาชนได้หรือไม่ คุณจี๋ไจ๋ ฐานิสา ปักหมุดรายงานถึงการจัดเวทีเปิดตัวรายงานการศึกษา “30 ปี ขบวนป่าชุมชน” บทเรียนและทิศทางการขับเคลื่อนสู่ทศวรรษที่ 4 โดยศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า เพื่อพูดคุยถึงความท้าทายและข้อเสนอแนะหลังจากนี้

นักข่าวพลเมือง (ThaiPBS)さんの投稿 2019年11月24日日曜日

 

วันนี้ 25 พ.ย. 62 เป็นวันสุดท้ายของการขอขึ้นทะเบียนป่าชุมชนต่อกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเป็นวันที่ พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ. 2562 มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ

ภายใต้กฎหมายนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตั้งเป้า 5 ปี จัดตั้งป่าชุมชนให้ได้ 15,000 ป่า และมีประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม 18,000 หมู่บ้าน และมีพื้นที่ป่าที่อยู่ในความดูแลของคณะกรรมการป่าชุมชนเพิ่มขึ้นเป็น 10 ล้านไร่

แต่หากเรามองเรื่องของคนอยู่กับป่าแล้ว หลายชุมชนในแทบทุกภูมิภาคของไทยมีการอยู่ร่วมและใช้ประโยชน์จากป่ากันมาอย่างยาวนานแล้ว

ป่าชุมชนประกอบด้วยส่วนสำคัญ 2 ส่วน คือ ป่า และคนที่อยู่ร่วมกันเป็นชุมชน ซึ่งที่ผ่านมาชุมชนเหล่านี้ก็พยายามดูแลป่ามาโดยตลอด ทำให้ป่าชุมชนที่เปรียบเสมือนเป็นป่าแนวกันชน หรือเป็นบัพเฟอร์โซนของป่าผืนหลักค่ะ ซึ่งหากพวกเขามีสิทธิในการจัดการดูแลป่าได้ก็จะเป็นอีกแรงสำคัญในการช่วยกันอนุรักษ์ป่า และเพิ่มฐานทรัพยากรให้กับพวกเราที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลออกมา

ชุมชนในพื้นที่แบบไหนที่สามารถขึ้นทะเบียนป่าชุมชนได้บ้าง?

พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ. 2562 ให้ “ชุมชนนอกเขตป่าอนุรักษ์” ที่มีการจัดการและใช้ประโยชน์ป่า สามารถยื่นขอขึ้นทะเบียนป่าชุมชน ได้ เช่น ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าชุมชนตามมติคณะรัฐมนตรี พื้นที่สาธารณะที่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานรับผิดชอบตามกฎหมาย เช่นที่ดินที่มีหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (นสล.) ที่ดินเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ที่กำหนดให้เป็นป่าชุมชน ที่ดินเขตนิคมสร้างตนเอง หรือนิคมสหกรณ์ และที่ราชพัสดุ เป็นต้น

ส่วน “ชุมชนในเขตป่าอนุรักษ์” ไม่เข้าเงื่อนไขขึ้นทะเบียนป่าชุมชน เช่น ในพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่า พื้นที่อุทยานแห่งชาติ ลุ่มน้ำชั้น 1A ชั้น 2A และอุทยานแห่งชาติทางทะเล พื้นที่เตรียมผนวกเขตอุทยาน หรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่า กลุ่มนี้จะไม่สามารถขึ้นทะเบียนป่าชุมชนได้ หรือบางกลุ่มมีความเกี่ยวเนื่องกับกฎหมายอื่นๆ เช่น ป่าชายเลนเขตอนุรักษ์ และพื้นที่ชุมน้ำ

ภายใต้ พ.ร.บ.ป่าชุมชนฉบับใหม่ที่จะมีผลในวันนี้ ชุมชนแต่ละชุมชนจะมีป่าชุมชนได้ ต้องมี “แผนการจัดการป่าชุมชน” ของตัวเอง เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการป่าชุมชนระดับจังหวัด อีกทั้งข้อมูลเกี่ยวกับขอบเขตป่าชุมชน ที่ตั้ง (แผนที่) ข้อมูลสภาพป่า การแบ่งโซนป่า การใช้ประโยชน์ และผู้มีส่วนได้เสียด้วย

ซึ่งก็ดูเหมือนจะมีทั้งเป็นผลดีที่เอื้อต่อชุมชนในบางพื้นที่ให้มีกฎหมายรับรองในการดูแลป่า แต่ก็อาจกลายเป็นข้อจำกัดสำหรับบางชุมชนด้วยเช่นกัน

 

คนอยู่กับป่าภาคเหนือ ใช้ช่องขอเพิ่ม 10 พื้นที่ฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ร่วมดูแลป่า

ชุมชนในเขตป่าของภาคเหนือที่เห็นเป็นผืนป่าสีเขียวนี้ ส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ ทั้งป่าเขตห้ามล่าสัตว์ป่า พื้นที่อุทยานแห่งชาติ ลุ่มน้ำชั้น 1A ชั้น 2 A หรือพื้นที่เตรียมผนวกเขตอุทยาน รวมทั้งในเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ซึ่งจะมีข้อจำกัดจากกฏหมาย พ.ร.บ.ป่าชุมชนฉบับใหม่

อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ผู้คนบนพื้นที่สูงส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ พวกเขาจึงขอใช้สิทธิของตัวเองตามรัฐธรรมนูญ ในเรื่องของการฟื้นฟูวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยง

หมุดนี้ TheNorth องศาเหนือปักมาจาก จ.เชียงใหม่ บอกว่า เครือข่ายกะเหรี่ยงใน 15 จังหวัด ซึ่งมีกลไกทางวัฒนธรรม ประเพณีในการดูแล จัดการป่ามายาวนาน ขอใช้วาระครบรอบ 10 ปี มติ ครม. ฟื้นฟูวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยง 3 สิงหาคม 2553 ในการที่จะประกาศเขตวัฒนธรรมพิเศษกะเหรี่ยงเพิ่มอีก 10 แห่ง เพื่อยืนยันว่า คนกะเหรี่ยงสามารถจัดการดูแลป่าและทรัพยากร มีการผลิตในระบบเกษตรที่ยั่งยืน ไม่ใช้สารเคมี มีเขตเขตการใช้พื้นที่ชัดเจน ไม่ขยายพื้นที่เพิ่ม มีกฎระเบียบในการดูแลรักษาทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า ตามวิถีวัฒนธรรมและยังส่งต่อให้คนรุ่นใหม่ได้

สำหรับ 10 พื้นที่ที่จะประกาศเขตวัฒนธรรมกะเหรี่ยงเพิ่มนั้น เช่น ในพื้นที่ต.บ่อแก้ว อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่, บ้านสบลาน อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่, บ้านป่าแป๋ ต.ป่าพลู อ.บ้านโอ่ง จ.ลำพูน, บ้านแม่ส้าน ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง และบ้านขวัญคีรีและบ้านแม่ลึง อ.งาว จ.ลำปาง ซึ่งได้ทยอยประกาศตัวเป็นเขตวัฒนธรรมพิเศษเพื่อยืนยันสิทธิชุมชนในการจัดการป่า และขอเป็นป่ากันชนในการดูแลป่าผืนใหญ่ของประเทศ

อีกทั้งในวันนี้นายวราวุธ ศิลปะอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะลงพื้นที่ ต.แม่ทา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ เพื่อดำเนินการในการจัดการที่ดินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (ค.ท.ช.) และการจัดการป่าอย่างยั่งยืน เพื่อมอบหนังสือโครงการป่าชุมชนให้กับทั้ง 10 หมู่บ้าน

อย่างไรก็ตามยังมีชุมชนในภาคเหนือและอีกหลายพื้นที่ในประเทศไทยที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ในเรื่องการเป็นป่าชุมชน ซึ่งจำเป็นจะต้องหาทางออกร่วมกันเพื่อให้คนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน

 

ความกังวลใจของป่าชุมชน ในป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก

ในผืนป่ารอยต่อ 5 จังหวัด คือ สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และ จันทบุรี ซึ่งครอบคลุมพื้นที่กว่า 1.4 ล้านไร่ รวมพื้นที่ป่า 5 แห่งไว้ด้วยกัน คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน, เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว, อุทยานแห่งชาติเขาชะเมา – เขาวง, อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฎ, พื้นที่เตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้นและพื้นที่ป่าสงวนอื่น ๆ ที่ยังคงสภาพอยู่โดยรอบ

คุณรุ่งโรจน์ เปรมจิราพงศ์ และเครือข่ายป่าชุมชนรอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก ปักหมุดรายงานความคิดเห็นต่อเรื่องการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป่าชุมชนฯ โดยป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก เป็นอีกพื้นที่และกลุ่มเครือข่ายที่มีความเคลื่อนไหวร่วมติดตามและร่วมเสนอแนะต่อ พ.ร.บ.ป่าชุมชนปี 2562 อย่างอย่างต่อเนื่อง เพราะชาวบ้านที่นี่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอีกกลุ่มหากมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว

ชาวบ้านบอกว่าในอดีตชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่ก็มักมีปัญหากัน แต่ต่อมาก็ได้หารือและกำหนดแนวทางในการทำงานและใช้ประโยชน์ร่วมกันเพื่อสร้างความเข้าใจมากขึ้น เพื่อให้คนกับป่าได้ดูแลและใช้ประโยชน์ระหว่างกัน แต่ก็ยังมีความกังวลใจเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย จึงมีข้อเสนอว่าจำเป็นต้องคำนึงถึงบริบทชุมชนในแต่ละพื้นที่ แต่ละภูมิภาค ซึ่งมีความแตกต่างกัน เพื่อป้องกันความขัดแย้ง ลดผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่ และใช้ประโยชน์จากป่าชุมชนได้ตามแนวทางของกฎหมายที่เหมาะสมด้วยความเข้าใจ

สรุปบทเรียนความท้าทาย “30 ปี ขบวนป่าชุมชน”

ท่ามกลางวิกฤติปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ถ้าเราคิดถึงเรื่องการลดภาวะโลกร้อน รูปธรรมที่ดีที่สุดคงไม่พ้น “การเพิ่มพื้นที่ป่า” แต่ถ้าถามว่าวิธีเพิ่มพื้นที่ป่าวิธีที่ดีที่สุดคืออะไร ถึงวันนี้มีข้อพิสูจน์แล้วว่า การจัดการโดยหน่วยงานรัฐฝ่ายเดียว หรือการจัดการแบบเอกชนอาจไม่ใช่คำตอบ แต่การมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย โดยเฉพาะจากคนที่อยู่ร่วมกับป่านั้นน่าจะเป็นทางออกได้

แต่กว่าจะถึงวันนี้ที่มีการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป่าชุมชน นับเป็นเวลาถึง 30 ปี สำหรับเส้นทางเดินของการผลักดันกฏหมายป่าชุมชน นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และเมื่อมีกฎหมายขึ้นมาแล้วก็ยังคงมีคำถามถึงการบังคับใช้ให้ตรงตามเจตนารมณ์ของประชาชนได้หรือไม่

เมื่อวันศุกร์ที่ 22 พ.ย. 2562 ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า จัดเวทีเปิดตัวรายงานการศึกษา “30 ปี ขบวนป่าชุมชน” บทเรียนและทิศทางการขับเคลื่อนสู่ทศวรรษที่ 4 และมีการเสวนาของนักวิชาการและประชาชนในพื้นที่ที่บริหารจัดการป่าชุมชนถึงความท้าทายและข้อเสนอแนะต่อ พ.ร.บ.ป่าชุมชน เมื่อบังคับใช้กฎหมายแล้ว

ทั้งนี้ ข้อท้าทายหลักสำหรับตัวกฎหมายที่มีการพูดคุยกัน นอกจากเรื่องของชุมชนที่ดูแลป่าจำนวนมากซึ่งอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ไม่สามารถได้รับสิทธิในการจัดการป่าชุมชนตาม พ.ร.บ.ป่าชุมชน ยังมีเรื่องของกฎหมายลูกอีกหลายฉบับที่จะมีตามมา โดยเฉพาะเพื่อกำหนดลักษณะ “พื้นที่ที่จะจัดตั้งเป็นป่าชุมชนได้” ซึ่งอาจส่งผลให้ป่าชุมชนในเขตพื้นที่ชุ่มน้ำและป่าชุมชนกว่า 300 แห่งที่ดำเนินการมายาวนาน แต่ต่อมากลายเป็นพื้นที่เตรียมประกาศพื้นที่อนุรักษ์ ไม่สามารถขึ้นทะเบียนเป็นป่าชุมชนได้

อีกทั้งตัว พ.ร.บ.เองเน้นกระบวนการออกแบบ ควบคุม กำกับอย่างเข้มงวด มากกว่าการส่งเสริม ทำให้ถูกวิจารณ์ว่า ยังไม่ยอมรับสิทธิของชุมชนอย่างแท้จริง

“บทเรียน 30 ปี ป่าชุมชนชี้ให้เห็นว่า การคิดนโยบายสาธารณะถึงแม้จะมาจากข้างล่าง มาจากฐานงานวิจัย แต่เราต้องคิดถึงหน้าตาของนโยบายสาธารณะแบบใหม่ ก็คือถ้าเราอยู่ภายใต้โครงสร้างเชิงเดี่ยวแบบนี้ ไปไม่รอด ต่อให้เป็นกฏหมายที่ดีมาจากข้างล่าง ต้องคิดถึงเรื่องการปรับโครงสร้าง เช่นการกระจายอำนาย การปรับรื้อระบบการจัดการทรัพยากรของประเทศใหม่ กระจายสู่ท้องถิ่น กระจายสู่ภาคีที่หลากหลาย และมีการบริหารจัดการร่วมกันถึงจะสามารถทำให้เราเรื่องที่เราอยากจะไปถึง อย่างการจัดการทรัพยากรที่ดีตอบโจทย์ในทุกด้านของชุมชนและสาธารณะด้วย ให้เป็นสิ่งที่สามารถเป็นไปได้มากขึ้น” กฤษฎา บุญชัย สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา

กฏหมายป่าชุมชน เป็นตัวอย่างการผลักดันกฎหมายของประชาชนฉบับแรกๆ ของไทย แต่แม้คนในสังคมจะรู้จักป่าชุมชนบ้าง แต่กลับไม่รู้สึกถึงความเชื่อมโยง และถูกมองว่าเป็นเพียงเรื่องของคนบางกลุ่ม ดังนั้นความท้าทายต่อไป นอกจากการผลักดันกฎหมายหรือนโยบาย การสร้างความเข้าใจของคนในสังคมก็เป็นสิ่งสำคัญ

ในวงเสวนาเองก็ได้พูดถึงข้อเสนอให้ชุมชนที่จัดการป่าทำชุดของข้อมูลที่เป็นความรู้เชิงประจักษ์ โดยมีเกณฑ์และตัวชี้วัดในการจัดการป่าอย่างยั่งยืน เพื่อตอบว่าเมื่อชุมชนจัดการป่าไปแล้วสิ่งแวดล้อม ชุมชน และสังคมมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ซึ่งชุดความรู้เรื่องการจัดการป่าชุมชนน่าจะเป็นจุดเชื่อมระหว่างคนอยู่กับป่ากับคนในสังคมได้

“เกณฑ์และก็ตัวชี้วัดเนี่ยมันอาจจะถ้าเราออกแบบดี ๆ เนี่ย มันอาจจะช่วยตอบเลยว่าชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านเมื่อมีการจัดการป่าไปแล้วเนี่ยเป็นยังไงบ้างซึ่งคำถามเหล่านี้ในสังคมไทยเอง ผมคิดว่าเขาจำเป็นที่จะต้องมีข้อมูลเชิงประจักษ์เพื่อจะสร้างการเรียนรู้ร่วมกันของคนในสังคม ข้อมูลเชิงประจักษ์เนี่ยข้อมูลที่มาจากแต่ละพื้นที่เนี่ยต้องมีความหลากหลาย ในส่วนตัวคิดว่าถ้าเราได้ชุดข้อมูลตรงนี้มาจะทำให้เราเห็นถึงพลวัตของการจัดการป่าของชุมชนใน ขณะเดียวกันชุมชนคนในสังคมกว้างเนี่ยเข้าใจวิธีการในการจัดการป่าชุมชนมากขึ้นด้วย” ดร.สุรินทร์ อ้นพรม คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ความเข้าใจของคนสังคมคือส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิด “ป่าชุมชน” ได้อย่างแท้จริง และเมื่อเราต่างตระหนักร่วมกันว่าทรัพยากรป่าไม้เป็นสมบัติร่วมของเราทุกคน อีกโจทย์หนึ่งที่สำคัญคือ การสร้างพื้นที่หรือช่องทางในการเชื่อมโยงและสนับสนุนซึ่งกันและกันระหว่างคนในท้องถิ่นที่ดูแลป่ากับคนในสังคมวงกว้าง เพื่อการดูแลป่าของเราร่วมกัน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ