อยู่ดีมีแฮงโสเหล่ : คืนสู่อ้อมกอดอีสาน เมือบ้านตั้งหลักสู้

อยู่ดีมีแฮงโสเหล่ : คืนสู่อ้อมกอดอีสาน เมือบ้านตั้งหลักสู้

การระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปลายปี 2562 จนนาทีนี้ ณ มิถุนายน 2564 ซึ่งก้าวเข้าสู่ปีที่ 2  ได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตคนในทุกมุมของสังคม รวมถึงคนรุ่นใหม่วัยทำงานของพี่น้องชาวอีสานที่หลายคน ทั้งผู้ที่อยู่บ้านเกิดบนแผ่นดินอีสานและคนที่ไปทำงานในเมืองใหญ่ ๆ ไกลบ้าน ต่างซวนเซจากฤทธิ์ของโควิด-19 แทบจะหาหลักยึดต้านทานกระแสผลกระทบนี้ยากเหลือเกิน เพราะตอนนี้หลายคนไม่มีงาน ไม่มีรายได้

เมือบ้านเฮา

โควิด-19 เป็นเหมือนปฏิกิริยาเร่งให้คนหนุ่มสาววัยแรงงานหลายคน เลือกที่จะหันหลังให้เมืองใหญ่ กลับคืนสู่ถิ่นฐานบ้านเกิด เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตด้วยต้นทุนที่มี ณ บ้านของพวกเขา

อยู่ดีมีแฮงชวนคุยเรื่องราวการกลับบ้านของผู้ร่วมวงโสเหล่ออนไลน์ “พลังชุมชนกู้วิกฤตโควิด-19 คนอีสานบ่ถิ่มกัน EP2. เมือบ้านตั้งหลักสู้” แลกเปลี่ยนมุมมอง แนวคิด วิธีการรับมือกับปัญหาในการที่จะกลับมาตั้งสู้อยู่บ้านเกิดร่วมกับคนอีสานที่มีแนวคิดร่วมสมัย ซึ่งเขาและเธอเป็นส่วนหนึ่งที่จะยืนยันถึงรูปธรรมการกลับบ้านที่ไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยากจนเกินไป

นิรันดร์ สมพงษ์ ประธานสหกรณ์การเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดินปากช่อง (คทช.) จำกัด หนึ่งในคนที่กลับมาตั้งหลักที่บ้านเกิด บอกว่า การกลับบ้านอาจจะไม่ใช่เรื่อง่าย แต่ทุกคนสามารถกลับบ้านได้ เพียงแค่ลดอัตตาของตัวเองลง เรียนรู้ เข้าใจ และ ยอมรับ

“มั่นใจว่ากลุ่มคนที่จะกลับบ้านนี่เก่งมาก เพราะว่าขนาดอยู่ที่อื่นที่ไม่ใช่บ้านตัวเองยังสามารถทำงานสร้างธุรกิจ สร้างตัวได้ เพราะฉะนั้นการกลับบ้านนี่คือเรื่องธรรมดาเลย ด้วยความสามารถที่มีอยู่ในตัว ผมเชื่อว่า ไม่ว่าจะอาชีพใด ๆ ก็ตาม ถ้าเรามีความมุ่งมั่น และตั้งใจที่จะทำมันจริง ๆ เราสามารถสร้างให้มันเกิดความั่นคง เกิดความยั่งยืน และเกิดรายได้ที่มั่นคงได้ เพราะความสุขมีหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลือกรูปแบบไหนในความสุขนั้น เชื่อไหมครับว่า วันที่ออกจากงานมาทำเกษตร ผมเสียใจอยู่อย่างเดียวคือ ออกมาช้าไป เพราะเราไปยึดติดกับ “Comfort Zone” เรามากเกินไป”

อย่างไรก็ตามแม้เราจะมีแนวคิด มีต้นแบบ จากคนที่กลับบ้านและประสบความสำเร็จในการสร้างความมั่นคงให้กับตนเองที่บ้างเกิด แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่า การจะหวนคืนบ้านเกิดของคนวัยหนุ่มสาวนั้น เต็มไปด้วยความท้าทาย แล้วความยาก และมีรูปแบบของปัญหาอุปสรรคที่แตกต่างกันไป บางคนอาจถอดใจ บางคนหาวิถีการใหม่ ๆ เพื่อรับมือกับปัญหานั้น ๆ นิกกี้ นิภารัตน์ อันแสน อาสาคืนถิ่น รุ่น 4 ภายใต้โครงการของมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม คนรุ่นใหม่อีกคนที่ต้องเผชิญข้อท้าย และความกดดันมากมายของการกลับมาบ้านเล่าว่า

“ตอนแรกที่กลับมาบ้านก็มีคนต่อต้าน เพราะคนในชุมชนเขามองเข้ามา เขาก็มองว่า จบตั้งสูง ไปทำงานดี ๆ ทำไมถึงกลับมา นี่คือคำถามหลักที่จะต้องเจอเมื่อกลับบ้าน จึงไม่แปลกใจว่าทำไมคนรุ่นใหม่ที่กลับบ้านเขาถึงถอดใจ เพราะส่วนใหญ่ก็จะเจอแต่คนตั้งคำถามว่าทำไมถึงจะต้องกลับมาอยู่บ้าน ซึ่งมันทำให้เรารู้สึกสะเทือนใจนะว่า “บ้านเราแท้ ๆ ทำไมเราถึงจะกลับมาไม่ได้” และคนที่กลับมาเขาก็ไม่ได้กลับมาแบบพ่ายแพ้”

แม้จะเผชิญปัญหามากมายแต่นิกกี้ก็พิสูจน์ตนเองจนทำให้ครอบครัว และคนในชุมชนเห็นว่าการกลับมาตั้งหลังสู้อยู่บ้านเกิดบนต้นทุนเดิมที่มีนั้น คืออีกทางเลือกที่ยั่งยืนของคนรุ่นใหม่อย่างเขา “ตอนออกจากงานมาก็ไปอยู่ที่นา ไม่มีทั้งไฟฟ้า ไม่มีทั้งน้ำประปา เพราะตอนออกจากงานมาก็ยังไม่พร้อม เพราะแทบจะไม่มีเงินเลย แต่สิ่งที่มีคือความรู้ และประสบการณ์ที่สะสมมา ซึ่งหนูก็เพาะกล้าไม้ขาย จนสร้างบ้านหลักเล็ก ๆ ได้ 1 หลัง และก็ใช้เงินที่ขายกล้าไม้ และรับปลูกต้นมามาติดตั้งระบบไฟฟ้า นี่คือจุดเริ่มต้นจากการหาเงิน และสร้างให้คนที่อยู่ข้างนอกเขาเห็นว่าเราทำอะไรได้ หนูไม่ได้จบแค่เรียนเกษตร และต้องมาทำแค่อะไรที่มันเกี่ยวกับเกษตร แต่หนูรับจัดสวน รับทุกอย่าง พยายามเปิดโอกาสให้ตัวเองได้เรียนรู้  และปรับตัว เพราะทุกอย่างมันเริ่มทีตัวเรา อย่างตอนนี้ถึงแม้จะเจอสถานการณ์ที่เลวร้าย แต่เราก็ยังมีความสุขได้” ซึ่งปัจจุบันนิกกี้มีรายได้จากการปลูกผักไฮโดรโปรนิกส์ และเป็นเจ้าของสวน … และเธอพร้อมที่จะแบ่งปันความรู้ให้กับเพื่อน ๆ ที่สนใจ

นอกจากเรื่องของการกลับบ้านเพื่อมาตั้งหลักชีวิตสู้ใหม่ในบ้านเกิด การพยายามสร้างเยาวชนรุ่นใหม่ที่กำลังจะโตไปเป็นผู้ใหญ่ ให้สามารถสร้างความมั่นคงของชีวิตในบ้านเกิดของตน มีอาชีพให้ทำที่บ้านเพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้ไม่ต้องไปขายแรง ไปหารายได้ไกลบ้าน ชุติมา มรีรัตน์ เป็นหนึ่งคนที่กลับบ้านเพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนให้บ้านเกิดของตัวเองชวนเยาวชนในจังหวัดอำนาจเจริญมารวมกลุ่มกัน เป็นทีมสื่อเยาวชนเมืองธรรมเกษตร ได้ย้ำถึงการสร้างทักษะชีวิตให้กับเยาวชนว่า

“บางทีเราไม่จำเป็นว่ารอคนรุ่นใหม่กลับบ้านแล้วจะต้องมาตั้งหลักทำอะไร แต่ตอนนี้จะเสนอว่า ถ้าเราสร้างเด็กให้มีทักษะตั้งแต่ยังเล็ก ๆ ต่อให้โควิด-19 มาอีก 10 รอบเด็กกลุ่มนี้เขาก็จะอยู่ได้ด้วยการที่เราสร้างภูมิคุ้มกันให้เขาในด้านต่าง ๆ”

จากมุมมองในการกลับบ้านตั้งหลักสู้ของหลาย ๆ คนจะเห็นว่าแตกต่างกันออกไปหลายรูปแบบ หลายมุมมอง ซึ่งนับตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 ทำให้เราเห็นคนหนุ่มสาวคนทำงานในหลายพื้นที่ทยอยกลับบ้าน เพื่อตั้งหลักสู้ในอ้อมกอดของบ้านเขา สุเมธ ปานจำลอง เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน  หนึ่งในคนทำงานขับเคลื่อนเครือข่ายของคนรุ่นใหม่ในภาคอีสาน บอกว่า “บนพื้นฐานการสู้วิกฤตินี้ ผมคิดว่าคำตอบสำคัญมันอยู่กลับบ้านนั่นแหละ เห็นจากหลายคน วลาเจอวิกฤติก็กลับบ้าน เวลามีเงินก็กลับบ้าน เวลาอกหัก หรือผิดหวัง ก็กลับบ้านไปหาพ่อแม่ เพราะบ้านมันก็คือความอบอุ่น” แม้วิกฤติการระบาดของโควิด-19 ในครังนี้ จะทำให้คนเริ่มหันหลังให้เมืองใหญ่ แต่คงไม่มีใครตอบได้ว่าการกลับบ้านเป็นคำตอบที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน ซึ่ง สุเมธ ปานจำลอง ย้ำว่าเมื่อคนรุ่นใหม่ที่หันหน้ากลับบ้าน สิ่งสำคัญคือการโอบอุ้มของครอบครัวและชุมชน  

“คนรุ่นใหม่ เขาต้องการให้ครอบครัวได้โอบอุ้มเขา อย่าผลักไสเขาออกไปอีก เมื่อเขาตั้งใจจะกลับมาอยู่บ้าน อย่าบอกว่ามาแล้วพอโควิด-19 จบให้เขากลับไปใหม่ แต่ครอบครัวและชุมชนต้องใช้โอกาสนี้ในการโอบอุ้มเขา เพราะคนวัยแรงงานที่เขาจะกลับบ้าน เขาจะเป็นคนดูแลชุมชน ดูแลครอบครัวต่อไป”

การกลับบ้านอาจไม่ใช่เรื่องง่าย และเชื่อว่าความฝันของคนอีสานพลัดถิ่นหลายคนคือการได้กลับบ้าน ซึ่งวิกฤตการระบาดของโควิด-19 ในครั้งนี้ อาจจะเป็นเพียงเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนหนุ่มสาวได้เร่งเวลากลับไปตั้งหลักสู้ที่บ้านเร็วขึ้น หรืออาจจะยังไม่กลับในตอนนี้ แต่อย่างไรก็ดี นาทีนี้ขอเพียงเราทุกคนได้ยืนหยัดสู้กับทุกสิ่งที่ถ้าโถมเข้ามา หากเหนื่อยอ่อนก็ขอให้ผ่อนพักบ้าง และไม่ว่าคุณจะสู้ด้วยวิธีการไหน สู้ ณ พิกัดได้ อ้อมกอดของบ้านบนผืนดินอีสานยังรอทุกคนอยู่ขอให้สู้และผ่านพ้นไปด้วยกัน

https://fb.watch/5Ta44GHvUq/

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ