“เดินเท้าคุย ลุยชวนฉีดวัคซีน …. รอวันถอดหน้ากากพร้อมกัน”

“เดินเท้าคุย ลุยชวนฉีดวัคซีน …. รอวันถอดหน้ากากพร้อมกัน”

ตั้งเป้าหมาย  ใช้จุดแข็ง  มองกลุ่มเป้าหมาย  วางกลยุทธ์”  คือข้อสรุปที่ The Citizen พบว่าคือสิ่งที่ทำให้ ยอดตัวเลขการจองวัคซีนของลำปางในล็อตของผู้สูงวัยและกลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง สูงเกือบ 100 % และยิ่งน่าสนใจ เมื่อเราคุยกับนพ. ประเสริฐ กิจสุวรรณรัตน์. นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลำปาง ว่าหลังจากนี้ ทีมลำปาง จะบริหารจัดการขั้นตอนการยืนยันฉีด ปิดจุดเสี่ยงรวมถึงการกระจายการฉีดให้ได้ตามเป้าหมายอย่างน้อย 5 แสนคนได้อย่างไร ?

และสิ่งสำคัญ  คุณลุง คุณป้า พี่พี่ ด่านหน้า  อสม. ลำปาง และอีกหลายพื้นที่ เช่น  เชียงใหม่ ตาก พะเยา ที่จะต้องตลุยเดินเท้า พูดคุย  สื่อสารทำความเข้าใจเรื่องวัคซีนโควิด 19 ต่อจากนี้   มีเคล็ดลับหรือวิธีการอย่างไร    เพื่อให้ถึงวันที่ได้ถอดหน้ากากพร้อมกัน  ชวนติดตาม

The Citizen : อยากขอคุณหมอแบ่งปันเบื้องหลังถึงการเตรียมการล่วงหน้าเรื่องวัคซีนของลำปางหน่อยครับ 

 นพ. ประเสริฐ :  สิ่งที่เราทำ ขั้นตอนที่ 1 เราตั้งเป้าหรือการวางแผน   คณะกรรมการโรคติดต่อของจังหวัดลำปาง โดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ตั้งคำถามกับฝ่ายสาธารณสุขจังหวัดลำปาง ว่า ลำปางจะปลอดภัยจากโควิด-19 ได้อย่างไร…?

เราก็ได้บอกว่า ถ้าใช้หลักการทางการแพทย์และสาธารณสุข สุดท้ายแล้ว ก็ต้องเชียร์ให้พี่น้องชาวลำปางฉีดวัคซีนให้มากที่สุดและเร็วที่สุดเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่  ซึ่งจากฐานประชากรลำปางมีอยู่  750,000 คน เพราะฉะนั้นถ้าต้องการเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ เราต้องฉีดวัคซีนอย่างน้อย 70% ก็ตกประมาณ 5 แสนคน

นพ. ประเสริฐ กิจสุวรรณรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลำปาง

และถ้าเราเจาะดูฐานประชากรจังหวัดลำปางมีผู้สูงอายุประมาณ 24 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 180,000 คน เรามีผู้ป่วยเบาหวานทุกกลุ่มอายุ ประมาณ  42,000 คน   เรามีคนไข้ความดันโลหิตสูง ประมาณ 110,000 เพราะฉะนั้นคนกลุ่มเปราะบางที่ต้องเร่งรัดให้วัคซีนก่อน ประมาณ  200,000 กว่าคน

ขั้นตอนที่ ใช้จุดแข็งของระบบงานสาธารณสุข  ในเมื่อสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดรัยบนโยบายมาเป็นฝ่ายปฏิบัติ ถามว่าจุดเเข็งของเราคืออะไร ?  จุดแข็งของเราคือ เรามีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขด่านหน้า เรามีอสม. ในลำปางประมาณ 18,000 คน ที่เข้มแข็งและต้องนับถือน้ำใจพวกเขาเลย   เรามีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขระดับตำบล หรือหมออนามัยครอบครัว  ครอบคลุมทุกตำบล ในระดับอำเภอ  อีก 2,000 กว่าชีวิต ที่มีความใกล้ชิดสนิทสนมกับประชาชนในพื้นที่ที่เขาดูแล  คน  2 กลุ่มนี้ จะเป็นกลุ่มที่สำคัญมากที่จะทำให้การฉีดวัคซีนสำเร็จ เพราะเมื่อย้อนเวลากลับไปตอนที่ช่วงโควิด-19 เข้ามาในประเทศไทย เข้ามาที่ลำปาง คน 2 กลุ่มนี้ เป็นทหารด่านหน้าที่ลงไปพูดคุยกับพี่น้องประชาชนเรียกว่าเคาะประตูบ้านเลย ซึ่งสิ่งที่ทำความข้าใจอยู่ 2 ข้อ

ข้อที่ 1 คืออะไรคือ โควิด-19  ?

ข้อที่ 2 คือทางออกของโควิด-19 คือเราจะต้องร่วมกันฉีดวัคซีน covid

นี่คือประเด็นที่เราทำมาก่อนแล้ว พอรัฐบาลมีความชัดเจนเรื่องการจัดสรรวัคซีนให้ประชาชนทั่วไปในช่วงเดือนมิถุนายน เราก็เลยเอาแบบสำรวจไปดำเนินการกับกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญคือผู้สูงอายุกับผู้ที่มีโรคประจำตัวเพราะฉะนั้นตอนนี้ ข้อมูลที่ได้จากพี่น้อง อสม. จากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขยืนยันเลย ว่าเรามีประชากรที่เป็นเป้าหมายที่เราต้องเร่งฉีด สองเเสนกว่าคน

ขั้นตอนที่ 3 กลยุทธ์การลงทะเบียนจองคิวฉีดวัคซีนโดยมองที่กลุ่มเป้าหมาย  ถ้าเป็นเราที่มีความจัดเจนการใช้โทรศัพท์มือถือ การที่จะเป็นเพื่อนใน LINE หรือจะดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “หมอพร้อม” ก็ทำได้  แต่กลุ่มเป้าหมายกลุ่มนี้เป็นผู้สูงอายุกับกลุ่มผู้มีโรคประจำตัว ซึ่งเขาอาจจะไม่สันทัดจัดเจน เราก็เลยออกแนวทาง  ให้พี่น้อง อสม. กับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ช่วยกลุ่มเป้าหมายกลุ่มนี้ ในการลงทะเบียนผ่านโปรแกรมของโรงพยาบาลที่เรียกว่าโปรแกรม MOPHIC  ซึ่งก็คือ Software ที่ต่อยอด จากฐานข้อมูลบริการของทุกโรงพยาบาลของสาธารณสุข เป็นแพลตฟอร์มเดียวกันกับ“หมอพร้อม” ข้อมูลที่ลงจาก หมอพร้อม ผ่านมือถือ กับข้อมูลที่ไปจองคิววัคซีนผ่าน MOPHIC  จะขึ้นไปชนกันตรงกลางเหมือนกัน  เป็นเเพลตฟอร์มเดียวกัน เลยทำให้ยอดจองการฉีดวัคซีนของลำปางพุ่งขึ้นสูง ในระยะเวลาที่จำกัดคือ  2 แสนกว่าคน เมื่อ 2 วันที่แล้ว แต่ตอนนี้วิ่งขึ้นไปประมาณ 2 แสน 4 หมื่นกว่า (ณ เวลา  11:00 น วันที่ 12 พฤษภาคม 2564 ) 

สรุปในขั้นตอนการจองคิวคือว่าเกิดจากการวางแผน การมีฐานข้อมูลเชิง DATABASE เป็นฐานข้อมูลที่สำคัญ และใช้กลยุทธ์ คือให้เจ้าหน้าที่ของเรา และอสม.  เป็นบุคลากรด่านหน้าลงไปสำรวจลงไปพูดคุยทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนในทุกๆ หลังคาเรือน  เพราะฉะนั้นเราก็เลยได้ฐานข้อมูลขึ้นมา  แล้วก็เอาฐานข้อมูลนี้มาลงทะเบียนผ่าน แอปพลิเคชัน หมอพร้อมส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งก็คือผ่านโปรแกรม MOPHIC  ซึ่งเป็นโปรแกรมบริการที่มีอยู่ในทุกโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข  นี่ก็ขั้นตอนที่ว่าทำไมเราขึ้นทะเบียนได้มากและเร็วในช่วงเวลาจำกัด

The Citizen : ยอด 2 แสนกว่าคนนี้ ลำปางวางแผยจะกระจายการฉีดอย่างไร ?

นพ. ประเสริฐ :  กำหนดในเดือนมิถุนายน 2564 คือ อีก 3 สัปดาห์ข้างหน้า เราก็พูดคุยกับทีมงานเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และ อสม. ว่าต้องใช้กลยุทธ์เคาะประตูบ้าน เดินเท้ากันอีกรอบหนึ่ง เอาตารางการฉีดวัคซีน เอาใบนัดการฉีดวัคซีน ไปสื่อสารกับป้ออุ้ย แม่อุ้ย  คนเฒ่าคนแก่ในบ้านเฮา  เพื่อนัดหมายและยืนยันการไปรับบริการฉีดวัคซีน ซึ่งอันนี้จะได้รับความร่วมมือจากอำเภอ และจากทุกๆฝ่ายในพื้นที่ 

ถ้าเราทำแบบนี้เสร็จ เราสามารถมี Capacity หรือมีความสามารถในการฉีดวัคซีน วันละ6,100 คนแบบชิวๆ ย้ำและขีดเส้นใต้ ว่า แบบชิวๆ  เช่น

ในเขตเมือง เราให้โรงพยาบาลลำปางฉีด ที่โรงพยาบาลหลักลำปาง 1 แห่ง ศูนย์สาธารณสุขของลำปางอีก 2 แห่ง มีโรงพยาบาลค่ายอีก 1 แห่งและโรงพยาบาลมะเร็งของกรมการแพทย์ในพื้นที่ 1 แห่ง รวมเรามี 5 แห่งในเขตอำเภอเมือง    และในเขตชนบทเราจะมีทุกโรงพยาบาลอำเภอสามารถบริการฉีดได้ และสแตนบาย ทีม mobile unit   ไปฉีดใน รพ.สต. หรือในเขตตำบลห่างไกลด้วย เพราะฉะนั้น สองแสนกว่าคน เราฉีดวัน 6,100 คน  เราใช้เวลาคาดว่าประมาณ 5 สัปดาห์ หรือ1 เดือนกับอีก 1 สัปดาห์ ก็จะครบ 2 แสนกว่าคน  แบบชิว ๆ ตามที่เราวางแผนไว้

“เพราฉะนั้นภารกิจที่ท้าทายคือในช่วง 3 สัปดาห์นี้ ทั้งอำเภอ ทั้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข อสม. จะต้องลงไปเพื่อที่จะสื่อสารกับพี่น้องประชาชน ว่าท่านเป็นกลุ่มเป้าหมายที่เราลงทะเบียนให้ ทะเบียนนัดออกมาเรียบร้อยแล้ว ให้มาพร้อมกันตามวันนัด ถ้าหากว่าทุกอย่างเป็นไปตามนี้ไม่มีปัญหา …”

“หากว่าท่านใดไม่สะดวก ไม่สมัครใจ ลำบากใจ  สามารถเลื่อนออกไปก่อนได้ หรือจะงดการฉีด เราจะมีประชากรเป้าหมายกลุ่มเป้าหมายอีกกลุ่มหนึ่งที่ยังค้างอยู่ อันนี้เราจะยกบัญชีนี้ขึ้นมาฉีดให้เลยเพราะฉะนั้นตามนโยบายของท่านผู้ว่าการจังหวัดลำปาง เราต้องการให้พี่น้องลำปางเราได้รับการฉีดวัคซีนได้มากที่สุดและเร็วที่สุด ถ้าเราฉีดได้ 5 แสนกว่าคน เราอาจจะถอดหน้ากากร่วมฉลองกันนั่งกินข้าวกันอย่างมีความสุข”

The Citizen : เทียบสัดส่วนจำนวนที่มีอยู่ตอนนี้ จะอีกเท่าไรถึงจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้คนลำปาง ได้

นพ. ประเสริฐ :  ตามที่เราตกลงกันในคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อ เราต้องการฉีดสูงถึง 70 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นกลุ่มเป้าหมายเรายังขาดอีกประมาณ 3 แสนคน เราตั้งเป้าว่าต้องฉีดให้ได้อย่างน้อย 5 แสนคน และแผนที่จะนำไปสู่ตัวเลข 5 แสนคน ตอนนี้เตรียมรายชื่อรอไว้ 3 แสนชื่อ เหมือนกันในระบบออฟไลน์เรียบร้อยแล้ว ถ้ารัฐบาลเปิดให้เราสามารถ register จองคิววัคซีนได้เราจะนำข้อมูลชุดนี้ขึ้นไปให้รัฐบาลอันนี้แสดงว่าเรามีความพร้อม  และอยากจะบอกพี่น้องประชาชนว่าในสถานการณ์ของ โควิด -19 ไม่มีช่องทางอื่นเลยในการที่เราจะเอาชนะโรคนี้ได้นอกจากการฉีดวัคซีนให้เร็วและมากที่สุด

The Citizen :มีความเสี่ยงหรือข้อกังวลต่อแผนนี้ไห

นพ. ประเสริฐ :  ความเสี่ยงของแผนนี้ก็คือ 1  การสื่อสารกับพี่น้องประชาชน อันนี้เป็นความเสี่ยง แต่เชื่อว่ากระบวนการที่เรายังคงเดินเท้าเข้าประตูบ้านโดยพี่น้องกันเองก็คือ อสม.กับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำพื้นที่ ผมเชื่อว่าประสิทธิภาพต้องได้ 80 -90 เปอร์เซ็นต์

ความเสี่ยงที่ 2 คือเรื่องการจัดส่งวัคซีน การจัดหาวัคซีนของรัฐบาล แต่อันนี้ก็ด้วยความเคารพ ท่านนายกย้ำหลายรอบว่า วัคซีนสั่งจองเพิ่มมากขึ้น ซื้อเพิ่มมากขึ้น  เพราะฉะนั้น  ประเด็นนี้ก็ไม่น่ากังวลเท่าไหร่ สิ่งที่กลัวที่สุดตอนนี้ก็คือเรื่องการให้ข้อมูลข่าวสารจนทำให้พี่น้องประชาชนไขว้เขว แล้วก็กังวลนั้น อยากจะยืนยันว่าวัคซีนตอนนี้ สิ่งที่ดีที่สุดคือวัคซีนที่ฉีดเข้าตัวเรา ผมยังยืนยันทั้งคนลำปาง กับพี่น้องชาวไทยว่าวัคซีนที่ประเทศไทยมีทั้งหมดมีความปลอดภัยพอ มีความมีประสิทธิภาพมากพอ ขอให้เราช่วยกันฉีด  ประเด็นการระบาดของ covid เราจะหยุดยั้งมันได้และเบากว่านี้เยอะเลย

ผมตั้งข้อสังเกต ว่าโควิด-19 มันไม่ใช่ปัญหาทางการแพทย์และสาธารณสุขโดยลำพัง มันเป็นปัญหาของสังคมเพราะฉะนั้นเราต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเลย  แม้กระทั่งภาพใหญ่ของรัฐบาลและเอกชนก็เข้ามาช่วยเหลือเยอะ บริษัทเอกชนก็เข้ามาช่วย ในพื้นที่ เราก็ทำงานเป็นทีม ปรากฏการณ์ที่เราเดินเข้าไปเคาะประตูบ้านได้ ก็เพราะคนในท้องถิ่นที่ช่วยเหลือ ความร่วมมือดีมาก ผมเชื่อว่าปัญหาของของโควิด เป็นปัญหาของสังคมมัน ไม่ใช่ปัญหาของของฝ่ายการแพทย์และสาธารณสุขโดยลำพัง เรามีความเชื่อมั่น ว่าตามแผนงานตามแนวทางที่เราได้ดำเนินการน่าจะดำเนินการได้ไปตามแผนได้สำเร็จ   เราคือลำปาง เราคือทีมเดียวกัน …

และหนึ่งในทีมและเป็นกลไกที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ชาวบ้านที่เข้ามเป็นอาสาสมัครสาธารณสุข  ด่านหน้าที่ทำงานเดินเคาะประตูบ้าน   จันทร์ฉาย สุภากาวี ประธานสมาคมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน จังหวัดลำปาง เข้าวงการเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านยาวนานถึง 30 ปี 

จันทร์ฉาย สุภากาวี ประธานสมาคมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน จังหวัดลำปาง

The Citizen : รอบนี้ความเหมือน ความต่าง ความยากความง่าย จุดเเข็งของลำปางคืออะไร?  ก่อนหน้าโควิด 19 จะมา   จันทร์ฉาย : อสม.มีประสบการณ์ทำงานในพื้นที่  พวกเรารับมือกับการระบาดของโรค sars ไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่ มาก่อนเพราะฉะนั้นก็มีประสบการณ์พอสมควรในการรับมือกับ โควิด-19

เมื่อก่อน การไปคุยกับชาวบ้านมีความยากพอสมควรเพราะชาวบ้านไม่ได้เชื่อ อสม.    เพราะเขามองว่าเราไม่ได้เป็นหมอ จะรู้ได้อย่างไร แต่พอเวลาผ่านไป การทำงานต่อเนื่องมามากแล้ว เขาเชื่อว่า อสม.มีความรู้  ลงพื้นที่ทำงานอย่างสม่ำเสมอและไม่ได้รับค่าตอบแทนมากนัก ลงพื้นที่ทำด้วยใจอาสากันทั้งนั้น

จุดเด่นของลำปาง นอกจากกลไก อสม. ยังมีหมอครอบครัวที่ทุกหลังคาเรือนจะต้องมีอย่างน้อยหนึ่งคน ซึ่งจะต้องถ่ายทอดเรียนรู้ได้รับความรู้กับหมอโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลร่วมกับ อสม. เพราะฉะนั้นเรื่องการสื่อสารและการดูแลกันภายในครอบครัวโดยเฉพาะครอบครัวที่มีผู้สูงอายุเรียกได้ว่าใกล้ชิดกันและสื่อสารกันอยู่ตลอด

ปกติ อสม.จะดูแลคนในหมู่บ้านต่อคน 10-15ครัวเรือน หรือประมาณ 30-50คน อันนี้ในชุมชนรอบนอกแต่ชุมชนในเมืองจะมากกว่านี้ เช่น 15-20 ครอบครัว และทำงานยากกว่าในชุมชนรอบนอก แต่ตอนนี้เนื่องจากให้เว้นระยะห่าง  เราจะมีกลุ่ม LINE ที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารกันทั้ง LINEกลุ่มชุมชนที่ อสม.ดูแลอยู่หลายกลุ่ม  ทั้งกลุ่มตำบล LINEกลุ่มอำเภอที่เชื่อมประสานข้อมูลจากสำนักงานสาธารณสุขอย่างใกล้ชิด

การเคาะประตูบ้าน ไปพูดคุยทำความเข้าใจถึงประโยชน์ของการฉีดวัคซีนกับชาวบ้าน  ให้ข้อมูลว่าเพราะอะไร ทำไมถึงฉีดและการลงพื้นที่แต่ละรอบไม่ได้มีเฉพาะ อสม. คนเพียงคนเดียว หากต้องลงพื้นที่ไปจะมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลลงพื้นที่ไปด้วยเพื่อสร้างความเข้าใจกับชาวบ้านได้ทันท่วงที  ครอบครัวไหนที่ลงทะเบียนได้อันนี้ไม่ใช่ปัญหาแต่ปัญหาอยู่ที่ว่าครอบครัวไหนที่เข้าไม่ถึงสมาร์ทโฟนหรือไม่เข้าใจในระบบ หน้าที่เราคือช่วยลงทะเบียน ซึ่งความสำเร็จครั้งนี้คือการทำงานร่วมกันเป็นทีมของคนในพื้นที่

เคล็ดลับและเรื่องเล่าจากประสบการณ์ อสม. ภาคเหนืออีกหลายพื้นที่ ยังถ่ายทอดมาใน วงแชร์ เสวนาออนไลน์ “จวนจาวบ้านอย่างใด หื้อเข้าใจวัคซีนโควิด-19”   แลกเปลี่ยนประสบการณ์การสื่อสารสุขภาพ เพื่อไขความเข้าใจ ทำอย่างไรที่จะสื่อสารกับชาวบ้านในเรื่องใหม่และโจทย์ยาก ๆ ที่ อสม.ต้องเจอ ร่วมจัดโดยศูนย์เรียนรู้สื่อชุมชน Community Media Learning มหาวิทยาลัยพะเยา ลำปางแชนแนล พะเยาทีวี The North องศาเหนือ และนักข่าวพลเมือง ไทยพีบีเอส  ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.ภัทรา บุรารักษ์ ศูนย์เรียนรู้สื่อชุมชน Community Media Learning มหาวิทยาลัยพะเยา

นางจีราภรณ์ อยู่สาตร์ อสม.ต.ฟ้าฮ่าม อ.เมือง จ.เชียงใหม่

นางตวงพร วงศ์หาญ อสม. ต.บ้านหวด อ.งาว จ.ลำปาง

นางสุมล ภูแชมโชติ อสม. ต.บ้านหวด อ.งาว จ.ลำปาง

นายฐาปนพงศ์ มังคลาด ประธานชมรมอสม. จ.พะเยา และ อสม.ต.เชียงบาน อ.เชียงคำ จ.พะเยา    

นางศรีทร ใจแหว้น ประธานอสม.บ้านแม่หละ  อ.ท่าสองยาง จ.ตาก

ผศ.ดร.ภัทรา บุรารักษ์ :มีวิธีสื่อสารอย่างไรเวลาเราลงพื้นที่

จีราภรณ์ อยู่สาตร์ ประธานอสม.ต.ฟ้าฮ่าม อ.เมือง จ.เชียงใหม่

นางจีราภรณ์ อยู่สาตร์ ประธานอสม.ต.ฟ้าฮ่าม อ.เมือง จ.เชียงใหม่ : ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในแต่ละพื้นที่จะกำหนดแนวทางในการทำงาน และการอบรมให้ความรู้กับอสม.ในเบื้องต้น และตัวอสม.จะแบ่งรับความรับผิดชอบกับบ้าน 20 หลัง และเข้าไปคุยกับชาวบ้านผ่านแอปพลิเคชันหมอพร้อม

“ในเรื่องการจะฉีดวัคซีนหรือไม่   ถ้าคนสูงอายุบางคนบอกว่า ไม่อยากฉีด เพราะเปิ้นไม่ได้ไปไหน  ก็พยายามจะบอกว่าวัคซีนนี้จำเป็นต้องฉีดให้ทุกคน และถึงแม้เราจะไม่ได้ออกไปไหน แต่ลูกหลานที่ออกไปกลับบ้านมาก็จะทำให้เกิดความเสี่ยง และคนที่ไม่ฉีดจะมีความเสี่ยงสูง แต่หลายคนที่เข้าไปสอบถามเขาก็จะบอกว่าได้ลงทะเบียนกับหมอพร้อมแล้ว”

เป้าหมายที่รับผิดชอบก็ยังไม่บรรลุ แต่ต้องทำต่อไป เพื่อจะทำให้คนยอมรับว่าสิ่งที่น่ากลัวกว่าวัคซีนคือการไม่ได้ฉีด กลุ่มที่ได้คุยส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ แต่พอเขาก็กลัวเรา เราก็กลัวเขา ส่วนใหญ่จึงใช้วิธีการโทรศัพท์คุยกันผ่านไลน์ แต่ถ้าเป็นญาติจริง ๆ ก็จะเดินไปหาเขา

สุมล ภูแชมโชติ อสม. หมู่ 2 ต.บ้านหวด อ.งาว จ.ลำปาง

นางสุมล ภูแชมโชติ อสม. หมู่ 2 ต.บ้านหวด อ.งาว จ.ลำปาง : ช่วง 1 เม.ย – 11 พ.ค.  มีเป้าหมายเข้าไปทำความเข้าใจใน 75% ของพื้นที่ แต่การทำงานในตอนนี้ทำไปได้โดยใช้วิธีการประชุมทำความเข้าใจถึงข้อดีและข้อเสียของการฉีดวัดซีนจากเจ้าหน้าที่ การจัดทำรายชื่อของประชาชน ตามด้วยการลงไปสำรวจความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งอสม.บ้านหวดจะใช้อธิบายขั้นตอนต่าง ๆ ตั้งแต่การฉีดจนไปถึงการติดตามผลข้างเคียง

“ก่อนอื่นเราจะทักเขา ยายจะฉีดก่อรับก่อเจ้า ส่วนใหญ่ในครั้งแรก ๆ แม่เขา (ยาย) ก็ตอบว่าบ่ฉีด เพราะยายไม่ได้ไปไหน ภาพรวมของลำปางจะเห็นคนในเมืองก็กระตือรือร้นในการลงทะเบียน แต่คนในชุมชนตามรอบนอก เขาก็บอกว่าถ้าอสม.ด่านหน้าฉีดก่อนเข้าก็จะฉีดตาม”

ตวงพร วงศ์หาญ อสม. ต.บ้านหวด อ.งาว จ.ลำปาง

นางตวงพร วงศ์หาญ อสม. ต.บ้านหวด อ.งาว จ.ลำปาง : เจอคำถามที่อึ้งเหมือนกัน เช่น ถ้าฉีดไปแล้วจะแพ้ไหม   ก็ใช้วิธีการตอบไปตรง ๆ ว่าตอบไม่ได้ เพราะภูมิต้านทานของแต่ละคนแตกต่างกัน จากนั้นก็ค่อย ๆ พูดโน้มน้าวเขาเห็นข้อมูลจำนวนคนที่แพ้ซึ่งมีน้อยรายมาก

“เขาก็บอกว่าถ้ามีคนฉีดกันเยอะ ก็อาจจะเปลี่ยนใจในวันหลัง เราก็ตอบว่าเดี๋ยววันหลังอสม.จะมาสำรวจใหม่นะเจ้า… คนในเมืองที่ดูสื่อส่วนใหญ่จะกลัว จากการลงพื้นที่เขาก็เห็นข่าวก็ต้องอธิบายให้เขาเข้าใจ หรือเอาวิดีโอของหมอมาเปิดให้ชาวบ้านฟัง หลายคนก็เปลี่ยนใจที่จะมาฉีด”

ผศ.ดร.ภัทรา บุรารักษ์ ศูนย์เรียนรู้สื่อชุมชน

ผศ.ดร.ภัทรา บุรารักษ์ :   เมื่อต้องเคาะประตูบ้าน สื่อสารกับผู้สูงวัย  มั่นใจไหม ยากง่ายอย่างไร?

นางจีราภรณ์ อยู่สาตร์ ประธานอสม.ต.ฟ้าฮ่าม อ.เมือง จ.เชียงใหม่ : คนสูงอายุจะสื่อสารให้ยอมรับค่อนข้างยาก หลายคนที่มีคำถาม ก็จะแนะนำว่าให้คุยกับหมอ เพราะอสม.ไม่มีใครตอบได้ เมื่อเขาถามมาก็จะบอกเขาตรง ๆ ว่าเราตอบไม่ได้ ได้แต่บอกว่ามันมีความจำเป็นที่ต้องฉีดวัคซีนให้กับทุกคน

“บอกตรง ๆ ว่าไม่มีความมั่นใจว่าชักชวนแล้วจะเป็นอย่างไร เพราะมันเป็นสิทธิส่วนบุคคล เราไม่สามารถบังคับได้ บางทีเขาก็ถามรายละเอียดที่ลึกและซักถามเยอะมาก”

นางตวงพร วงศ์หาญ อสม. ต.บ้านหวด อ.งาว จ.ลำปาง : เราก็ไม่ค่อยมั่นใจ พยายามจะฟังทีวี ฟังข่าวแต่ก็พยายามจะโน้มน้าวให้ชาวบ้านเข้าใจและป้องกันสุขภาพของตัวเองและครอบครัว บางทีลูกหลานก็เอาเชื้อมาแพร่ ก็บอกว่าดีกว่าที่เราจะไม่มีอะไรป้องกันในร่างกายของเราเลย

 นางศรีทร ใจแหว้น ประธานอสม.บ้านแม่หละ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก : ตัวเองก็ฉีดวัดซีนโควิดครบแล้วทั้ง 2 เข็ม แต่ที่ชาวบ้านในพื้นที่บ้านแม่หละจำนวนมากไม่ยอมฉีดเพราะเขาได้ยินข่าวว่ามีคนฉีดแล้วเสียชีวิต แต่ตอนนี้ก็การจัดการกับข่าวลือ ข่าวลวงดีขึ้น อสม.เริ่มสำรวจได้เยอะขึ้น มีชาวบ้าน 50-60 รายที่แจ้งความจำนง ซึ่งก็จะนำชื่อสกุล หมายเลขประชาชน พร้อมเบอร์โทรศัพท์ เข้าไปส่งและกรอกลงในแบบฟอร์มที่รพ.สต.

ฐาปนพงศ์ มังคลาด ประธานชมรมอสม. จ.พะเยา

นายฐาปนพงศ์ มังคลาด ประธานชมรมอสม. จ.พะเยา และ อสม.ต.เชียงบาน อ.เชียงคำ จ.พะเยา : จังหวัดพะเยาในช่วงแรกก็มีปัญหาเรื่องการลงทะเบียนไปก่อนแล้วมาถอนความประสงค์ในภายหลัง ข้อมูลข่าวสารเรื่องวัคซีนที่เผยแพร่ในสื่อมวลชนต่าง ๆ ทำให้เกิดความสับสน แม้กระทั่งตัวอสม. เอง เมื่อมีการสื่อสารชี้แจงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อสม.ก็ลงพื้นที่ออกสำรวจตามเขตรับผิดชอบของตนเอง และพบว่ามีการลงทะเบียนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ผศ.ดร.ภัทรา บุรารักษ์ : อยากให้ลองสาธิตหน่อยค่ะ พูดอย่างไรกับชาวบ้าน

นางจีราภรณ์ อยู่สาตร์ ประธานอสม.ต.ฟ้าฮ่าม อ.เมือง จ. เชียงใหม่ :“ก็เข้าไปถามว่า แม่เป็นไดผ่อง แม่อยากฉีดวัคซีนอยู่ก่ แต่เขาก็จะถามคือว่าฉีดดีก่ห๋า แล้วเราก็จะบอกว่าตอนนี้ทุกคนเริ่มเข้ามาฉีดและหลัง ๆ ก็ไม่ค่อยมีข่าวแล้วเน้อ ถึงแม่ไม่ได้ไปไหน แต่ลูกหลานออกไปทำงานข้างนอกก็อาจเอาความเสี่ยงมาให้ และบางคนก็บอกว่าเดียวถามลูกหลานก่อน”

นางตวงพร วงศ์หาญ อสม. ต.บ้านหวด อ.งาว จ.ลำปาง : “ลงไปหาชาวบ้านจะเข้าไปถามก่อนว่า รพ.สต. มีวัคซีน ยายเป็นไดผ่อง สนใจก่อ ถ้าฉีดครอบคลุมทุกคนอัตราความเสี่ยงโควิดจะน้อยลง ถึงแม้จะป้องกันไม่ได้ทั้งหมดแต่ก็ดีกว่าไม่มีเกาะกำบังอะไรไว้เลย แต่บางคนก็ขอจะไปคุยกับลูกหลานก่อน บางคนที่ไม่มีลูกหลานก็จะขอเวลาไปคิดก่อน  ถ้าเราฉีดก็จะไม่ต้องได้ปิดหมู่บ้าน และคนสูงอายุมีความเสี่ยงมากกว่า แต่เราก็จะลงไปหาซ้ำอีกที”

ศรีทร ใจแหว้น ประธานอสม.บ้านแม่หละ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก

นางศรีทร ใจแหว้น ประธานอสม.บ้านแม่หละ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก : “จะบอกว่าฉีดแล้วจะดีนะ เพราะป้องกันได้ 100% ถ้ามันลงปอดถ้าไม่ฉีดก็จะป้องกันไม่ได้ และข่าวที่บอกว่ามีการฉีดแล้วตาย ไม่ใช่ข่าวจริง แล้วก็มีคนมาสมัครเรื่อย ๆ แต่ตอนนี้ยายังไม่มีนะ ต้องรอก่อน”

แม้จะยาก หรือเหน็ดเหนื่อยต่อการควบคุมและจัดการกับทั้งระบบ และความเข้าใจของคนต่อโควิด 19 อย่างต่อเนื่องยาวนาน  แต่เมื่อถามเหล่าอาสาสมัคร ว่าเหนื่อยและท้อจนอยากจะลาออกจากการเป็น อสม.ไหม ไม่มีใครอยากลาออก มีแต่อยากจะช่วยเหลือแนะนำต่อ  โดยจะยัง “เดินเท้าคุย  ลุยชวนฉีดวัคซีน …. รอวันถอดหน้ากากพร้อมกัน” ต่อไป

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ