ในยุคโควิดเชื่อว่าหลายคนคงคิดถึงบ้าน ยุคนี้เป็นยุคที่ทุกคนโหยหาความมั่นคงในชีวิต และความมั่นคงอย่างที่ว่าอาจไม่ใช่แค่เรื่องเงินอีกต่อไป หากแต่มันคือความมั่นคงในทุกด้าน ทั้งเรื่องอาหาร อากาศ และทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ ที่ต้องเสิร์ฟทุกคนให้รู้สึกว่ามีความปลอดภัย
“กลับบ้านอย่างไรให้ไปรอด” หรือชื่อภาษาอังกฤษคือ How to return home คือหนึ่งเรื่องในชื่อตอนของรายการ Localist ชีวิตนอกกรุง ซึ่งเราพยายามตั้งโจทย์ว่า หากมีใครสักคนอยากกลับบ้านเพื่อมาอยู่ในถิ่นที่ตนเองอยากอยู่เพื่อให้รู้สึกปลอดภัยและมีความมั่นคงในชีวิต ให้รู้สึกว่าชีวิตไม่มีความเสี่ยง เพราะในสถานการณ์ปัจจุบันที่เศรษฐกิจแย่ เนื่องจากหลายอย่างหยุดชะงักเพราะยุ่งๆ กับการระบาดของไวรัสโควิด-19 โอกาสที่นายจ้างจะเลิกจ้างและโอกาสที่ห้างร้านหรือธุรกิจอื่น ๆ จะล้มอย่างเทกระจาดนั้นมีสูงมาก ดังนั้น การกลับมาอยู่บ้านหรือการหวนคืนเพื่อดูทุนรอบกายในแต่ละท้องถิ่นจึงเป็นเทรนด์ที่มาแรงโดยเงื่อนไขที่จำเป็น
แต่คำถามใหญ่คือ แล้วถ้ากลับบ้านจริงจะมาทำอะไรล่ะ? นี่เองจึงเป็นคำถามที่เราต้องออกไปหาคำตอบ ซึ่งในที่สุดจากการค้นหาข้อมูลและพูดคุยกับคนโน้นคนนี้ เราก็เลยมีคนมาตอบคำถาม 3 คน ซึ่งก็กลายเป็นตัวละครหลักในรายการตอนนี้คน
พี่แสบ หรือ ปิ่นทอง รักเนตร คือคนแรกที่เราลงพื้นที่ไปเจอ เขาคือชายหนุ่มที่เกิดและเป็นวัยรุ่นอยู่ที่บ้านคันท่าเกวียน ต.นาโพธิ์กลาง อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี และหลังจากเรียนจบ ม.6 เขาก็ตัดสินใจเดินทางจากบ้านเกิดเข้า กทม.ด้วยวัยเพียง 18 ปี กระทั่งรู้ตัวอีกทีก็เป็นเวลา 20 ปีเต็มที่เขาใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ ซึ่งนับเป็นเวลาที่มากกว่าช่วงวัยที่เขาใช้ชีวิตในหมู่บ้าน และพอถึงจังหวะนี้แสบจึงคิดว่าเขาควรกลับบ้านได้แล้ว เพราะเวลาที่ใช้นอกบ้านนั้นมากเกินไปแล้ว และแม่คือเป้าหมายของเขา เขาต้องกลับมาหาแม่ และเริ่มมาสร้างอะไรสักอย่างเพื่อรองรับชีวิตตัวเองในอนาคต
“เข้ากรุงเทพฯ ก็ไปทำงานโรงงานทั้งหมดเกือบ 20 โรงงาน และมีรายได้ค่อนข้างดีจนตั้งหลักได้ แต่ก็อย่างว่าคนเรามันมีเป้าหมายและมีความคิดที่เปลี่ยนไปตลอด ผมจึงตัดสินใจกลับบ้าน กลับมาช่วงแรกก็เริ่มมาปลูกไม้ยืนต้น และเปลี่ยนพื้นที่ของแม่ซึ่งส่วนมากเป็นพื้นที่ปลูกมะม่วงหิมพานต์ โดยที่ไม่มีที่ทำนาเลย ทั้งๆ ที่แม่ก็พอมีที่อยู่ จึงคิดว่าคนเราต้องมีข้าวกิน ก็เลยตัดสินใจปรับเป็นที่นา และค่อยๆปลูกต้นไม้ผลอื่นๆ และซื้อวัวมาเลี้ยง ผมโชคดีที่มีเงินก้อนจากการจ้างออกของบริษัทและมีเงินเก็บซึ่งเป็นสวัสดิการที่บริษัทจัดการให้ก็เลยมีเงินประมาณ 1 ล้านบาท ตอนนี้กลับบ้านมาประมาณ 2 ปี ก็ลงทุนไปเยอะพอสมควรและนำเงินก้อนที่ได้มาลงทุน จึงทำให้อยู่ได้และคาดว่าอนาคตสิ่งที่ลงทุนก็คงจะผลิดอกออกผลให้ผมมีความมั่นคงมากขึ้น”
พี่แสบเล่าให้ฟังถึงการตั้งหลักอยู่บ้าน ซึ่งนับว่าโชคดีที่เขามีเงินก้อนและเงินเก็บจากการทำงาน แต่เขาก็ต้องนำมาลงทุนเพื่อต่อยอดชีวิตให้ได้ ซึ่งแน่นอนว่าถ้าเขาใช้เงินเก็บอย่างเดียวโดยที่ไม่ลงมือทำอะไรเลย เงินที่มีอยู่ก็คงร่อยหรอลงทุกวัน และเป็นจังหวะดีที่การเริ่มต้นของเขามีโครงการจากหน่วยงานรัฐอย่างโครงการโคก หนอง นา โมเดล เข้ามาพอดี และมีน้องนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าจากสำนักงานพัฒนาชุมชนจัดสรรลงพื้นที่มาให้คำปรึกษา จึงทำให้พี่แสบอุ่นใจในการลงมือและลงทุนอย่างรอบคอบและมีระบบมากขึ้น
จากพี่แสบพวกเราลงพื้นที่ไปหาพี่ยาว หรือ สากล พรมวัน ที่ อ.สำโรง จ.อุบลราชธานี อดีตนิสิตคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แต่เป็นที่น่าแปลกว่า หลังเรียนจบพี่ยาวยังไม่เคยลงมือทำเกษตรอย่างเป็นจริงเป็นจังเลย หากแต่พี่ยาวเลือกที่จะเดินทางไปในอาชีพอื่นและมีชีวิตอยู่เมืองใหญ่หลายปีและทำธุรกิจหลายอย่าง ทั้งการขายปุ๋ย เปิดร้านกาแฟ ร้านขายโทรศัพท์ และก็เหมือนกับพี่แสบคือ เมื่อถึงวันหนึ่งเขาก็คิดถึงบ้าน อยากกลับมาอยู่บ้าน เพราะอิ่มกับเมืองใหญ่ กระทั่งเมื่อ 2 ปีก่อน พี่ยาวตัดสินใจกลับบ้านด้วยประสบการณ์ชีวิตที่หลากหลาย แต่มีอย่างเดียวที่ขาดคือประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับการทำเกษตรซึ่งเป็นสิ่งที่เขาต้องทำเมื่อมาอยู่บ้าน
“เรากลับมาอยู่บ้าน เราเข้าใจเลยว่าการลงมือทำเกษตรมันยากมาก ทั้งๆที่เราเรียนมา แต่เรายังไม่เคยใช้ จะจับหยิบอะไรก็ไม่คุ้นมือ ช่วงแรกจะต่อท่อประปายังไม่เป็นเลย” นี่คือคำที่พี่ยาวเล่าให้ฟังถึงช่วงแรกที่กลับมาอยู่บ้าน
อย่างไรก็ตามด้วยทุนเดิมที่มีเกี่ยวกับความรู้ในเรื่องการทำเกษตรซึ่งมีทฤษฎีเป็นฐาน จึงทำให้พี่ยาวรื้อฟื้นความทรงจำไม่ยาก จนวันนี้ในพื้นที่ประมาณ 6 ไร่ของพี่ยาว เริ่มมีดอกผลจากพืชผักที่ลงมือและเริ่มได้ขายแล้ว และก็เช่นเดียวกับพี่แสบคือพี่ยาวได้เข้าร่วมโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งเป็นงานที่สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดรับผิดชอบ ภายใต้การดูแลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งพี่แสบมีตำแหน่งเป็นพนักงานในโครงการ โดยมีวาระการทำงานประมาณ 1 ปี ด้วยค่าตอบแทนเดือนละ 9,000 บาท เงินค่าตอบแทนอาจไม่ใช่คำตอบที่พี่ยาวอยากได้ แต่องค์ความรู้และเครือข่ายคือสิ่งที่พี่ยาวได้รับเต็มๆ เพราะพี่ยาวบอกว่าได้เรียนรู้อะไรมากมายจากพี่ๆ น้องๆ ที่เข้าร่วมโครงการด้วยกัน ด้วยความที่ห่างบ้านไปนาน ดังนั้นการเชื่อมต่อกับคนแม้จะอยู่ในชุมชนเดียวกันก็นับเป็นเรื่องยาก ดังนั้นโครงการนี้จึงเป็นเสมือนฟันเฟืองที่เข้ามากระตุ้นให้เกิดกลุ่มและเชื่อมเครือข่ายหรือผู้รู้ในท้องถิ่นมากมาย นับเป็นการย่นเวลาการตั้งหลักเพื่ออยู่บ้านให้ได้อย่างเข้มแข็งของพี่แสบมากทีเดียว
คนสุดท้ายที่เราไปหาคือ นุช หรือ นุชนาฏ สว่างแก้ว สาวแกร่งจาก อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี นุชไม่เคยไปทำงานต่างจังหวัดและเมืองใหญ่ แต่หลังจากเรียนจบปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เธอก็เลือกที่จะอยู่บ้าน เพราะนุชตั้งใจไว้แต่ต้นแล้วว่า หลังจากเรียนจบเธอจะกลับมาอยู่บ้านทันทีด้วยภารกิจที่หลากหลายซึ่งเธอนับว่าเป็นเสาหลักที่ต้องดูแลแม่ ที่สำคัญเธอต้องอยู่บ้านในฐานะนักปกป้องสิทธิชุมชน เนื่องจากที่ดินทำกินบางส่วนอยู่ในระหว่างการพิพาทกับอุทยาน ดังนั้นเธอจึงมีแรงขับในส่วนนี้พอสมควร
นุชกลับมาที่บ้านและมองหาโอกาสที่จะเริ่มต้นหลังเรียนจบปริญญา เพราะนอกจากทำนาและกรีดยางแล้ว นุชคิดว่าเธอต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อตั้งกลุ่มชุมชนให้เกาะเกี่ยวกันให้ได้ เพื่อการร่วมกันปกป้องสิทธิ์ในที่ดินทำกิน ซึ่งการเป็นนักต่อสู้จำเป็นต้องรวมชาวบ้านเพื่อให้เกิดการทำงานเป็นทีมและมีฐานเศรษฐกิจที่มั่นคง และแล้วนุชก็ลงเอยด้วยการตั้งกลุ่มเพาะเห็ดในหมู่บ้าน ซึ่งอาศัยความรู้จากการแสวงหามาทำอาชีพนี้ เพราะเธอไม่เคยทำมาก่อน แต่ในฐานะหัวหน้าคนก่อตั้งเธอจึงมีความจำเป็นต้องแสดงฝีมือ กระทั่งเวลาผ่านไปปีกว่าๆ กลุ่มเพาะเห็ดเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง มีเห็ดเกิดให้ได้ขายและการตลาดก็เริ่มไปได้ดี กระทั่งเจอกับปัญหาโควิดที่ชาวบ้านอย่างนุชก็ได้รับผลกระทบ เพราะตลาดในละแวกชุมชนปิด ซึ่งเป็นการลดช่องทางของรายได้
ในจังหวะที่ได้รับผลกระทบจากโควิดนี้เอง นุชมีโอกาสได้เข้าร่วมโครงการอาสาคืนถิ่น ซึ่งเป็นโครงการที่รับผิดชอบโดยองค์กรพัฒนาเอกชนอย่างมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) แม้โครงการนี้จะไม่ได้ช่วยเธอในงานด้านการตลาดโดยตรง แต่ก็ถือว่าเป็นโครงการที่เข้ามาถูกจังหวะ เพราะในช่วงที่นุชเคว้งคว้างกับทิศทางและอนาคตของกลุ่มว่าจะเดินทางไปในลู่ไหน การได้เข้าร่วมกระบวนการที่มีการออกแบบกิจกรรมและเจอะเจอเพื่อนๆ ที่หลากหลายอาชีพและพื้นถิ่น ที่มีเครื่องมือให้เธอคิดและจัดระบบความรู้เพื่อนำไปจัดการกลุ่มในหมู่บ้านจึงนับว่าเป็นโอกาสทองที่ทำให้นุชเปิดโลกทัศน์เป็นอย่างมาก
“เมื่อก่อนยอมรับว่าตัวเองเป็นคนมองโลกค่อนข้างลบ ไม่ไว้ใจคนอื่น มีความเป็นตัวตนสูง กระทั่งตอนสมัครเข้าร่วมโครงการนี้ก็ยังลังเลว่า โครงการนี้จะจริงใจต่อเราไหม กระทั่งได้เข้าร่วมกระบวนการจึงได้เข้าใจว่า จริงๆ แล้วในสังคมเรา ยังมีเรื่องราว ความรู้ที่เรายังไม่รู้อีกมากมาย และการได้เจอเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ที่เป็นอาสาคืนถิ่นด้วยกัน ซึ่งทุกคนมีมุมมอง ทักษะ ความรู้และประสบการณ์เฉพาะทางที่หลากหลาย มันจึงทำให้เรารู้ว่า ในสังคมยังมีคนพร้อมที่จะสนับสนุนและร่วมกันถักทอเป็นเครือข่าย ซึ่งทำให้เรารู้สึกเติบโตไปอีกขั้น และสามารถนำประสบการณ์และความรู้มาประยุกต์ใช้ในการทำกิจกรรมในชุมชนได้เยอะมาก” ความในใจที่นุชเล่าให้ฟังได้จากผ่านเข้าร่วมกระบวนการกับโครงการอาสาคืนถิ่น
เรื่องเล่าจากเรื่องราวของคน 3 คน กับคำถามคือ “กลับบ้านอย่างไรให้ไปรอด?” หวังว่าคงมีคำตอบคร่าวๆให้ทุกท่านได้นำไปเป็นบทเรียน อย่างน้อยก็คงจะเพิ่มความมั่นใจให้คนที่ตัดสินใจกลับบ้านไม่โดดเดี่ยว ซึ่งจุดสำคัญที่เราเห็นคือ คือการกลับบ้านของทั้ง 3 คน เป็นการกลับบ้านที่มีแผนงานและขั้นตอน รวมถึงการมีพี่เลี้ยงและเครือข่าย ซึ่งเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้เลย เพราะการกลับมาตั้งลำและการเดินทางสู่อนาคตเราไม่สามารถก้มหน้าก้มตาทำและอยู่คนเดียว หากแต่จำเป็นต้องเงยหน้าหาทักษะ ความรู้และโอกาสจากคนรอบข้าง ซึ่งจะเป็นการเชื่อมโยงให้เกิดการแบ่งปันทุกสิ่งอย่างต่อกันและกัน นี่คือสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง