ฅนรักษ์บ้านเกิดยันไม่ทิ้งกัน! หลังเหมืองทองเลยเอาจริง ฟ้องหมิ่นเยาวชนสื่อสารข่าวพลเมือง

ฅนรักษ์บ้านเกิดยันไม่ทิ้งกัน! หลังเหมืองทองเลยเอาจริง ฟ้องหมิ่นเยาวชนสื่อสารข่าวพลเมือง

ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน เดินทางไปให้กำลังใจเยาวชนในพื้นที่ ถูกเหมืองทองเลยเดินหน้าฟ้องคดีหมิ่นประมาท หลังสื่อสารข่าวพลเมืองถึงผลกระทบจากลำน้ำฮวย ด้านคดีฟ้องไทยพีบีเอส ศาลอาญานัดไต่สวนมูลฟ้อง 21 มี.ค.ปีหน้า

20152212193755.jpg

13 ธ.ค. 2558 ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน เดินทางไปให้กำลังใจ  เยาวชนนักข่าวพลเมือง อายุ 15 ปี และครอบครัว หลังจากทราบข่าวว่าเมื่อวานนี้ (12 ธ.ค.2558) ได้รับหนังสือจากสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดเลย ลงวันที่ 8 ธ.ค. 2558 เชิญให้ไปให้ถ้อยคำต่อพนักงานคุมประพฤติในวันที่ 21 ธ.ค. 2558 เวลา 9.00 น. ที่ฝ่ายคดี สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดเลย เพื่อสืบสวนว่าข้อกล่าวหาของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด มีมูลสมควรอนุญาตให้ฟ้องคดีหรือไม่

จากรณีที่ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่ ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ทำหนังสือลงวันที่ 27 พ.ย.2558 ขออนุญาตฟ้องเยาวชน ในคดีอาญาฐานหมิ่นประมาทต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ฐานะที่เป็นเด็กและเยาวชน จากการเผยแพร่ข้อมูลในฐานะนักข่าวพลเมือง

ตัวแทนชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด กล่าวว่า ทางกลุ่มต้องการไปให้กำลังใจเยาวชนนักข่าวพลเมืองและครอบครัว ไม่อยากให้ตื่นตกใจ และได้ยืนยันจุดยืนว่าจะอยู่เคียงข้างกันเพื่อต่อสู้กับคดีความที่อาจเกิดขึ้น โดยจะไม่ทอดทิ้งกัน และในวันที่ 21 ธ.ค.นี้ กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ จะเดินทางไปร่วมให้กำลังใจด้วย

“ใครที่มีคดีก็ช่างเราจะไม่ทิ้งกันถึงแม้จะเป็นคนหมู่บ้านอื่นก็ดี กลุ่มเยาวชนก็ดี หรือแม้แต่กลุ่มอื่นก็ดี เราจะเป็นกำลังใจให้กันและกัน เราจะเดินหน้าไปด้วยกันถึงแม้จะไม่ใช่คดีของกลุ่มก็ตาม ไม่ว่าใกล้หรือไกลจะรับรู้ด้วยกัน เดินหน้าไปพร้อมกัน ถ้าเรากลัวเขาก็ยิ่งจะมาละเมิดสิทธิเรามากขึ้นเรื่อยๆ มาทำร้ายเรามากขึ้นเรื่อยๆ พี่น้องชุมชนของเราจะไม่มีที่อยู่อาศัย เราจะไม่มีแผ่นดินให้ลูกหลานของเราได้ยืนอยู่” ตัวแทนชาวบ้านฯ กล่าวถึงจุดยืนขอกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด

ตัวแทนชาวบ้านฯ กล่าวด้วยว่า จะมีการปรึกษากับทนายความที่เคยให้ความช่วยเหลือชาวบ้านอยู่ เพื่อให้ข้อมูลและแนวทางกับเยาวชนและครอบครัว อีกทั้งจะมีทนายไปร่วมฟังและเป็นที่ปรึกษาในการให้ถ้อยคำต่อพนักงานคุมประพฤติด้วย เพื่อให้ครอบครัวคลายความกังวล 

การฟ้องคดีอาจไม่ส่งผลกับทางกลุ่มฯ เพราะชินแล้วกับคดีความ แต่สำหรับชาวบ้านจะส่งผลกระทบมาก เพราะทำให้พ่อแม่กับเด็กไม่อยากมาร่วมกิจกรรมกับกับทางกลุ่มฅนรักบ้านเกิด เนื่องจากกลัวเด็กเสียประวัติเพราะติดคดี ซึ่งก็ต้องเข้าใจว่าชาวบ้านที่อยู่บ้านนอกไม่มีใครอยากขึ้นศาลเพราะมันไม่ใช่เรื่องปกติ

20152212193908.jpg

ด้านแม่ของเยาวชน กล่าวว่า ทีแรกก็รู้สึกตกใจ เพราะไม่เคยมีจดหมายหรือคดีมาที่บ้าน และก็เป็นกังวลเพราะไม่เคยขึ้นศาล อีกอย่างก็กังวลว่าจะไม่มีเงินจ้างทนาย บางครั้งก็แอบร้องไห้ แต่ก็เตรียมตัวไว้อยู่เหมือนกันเพราะคิดว่าคดีความคงไม่ยอมจบง่ายๆ ส่วนพ่อพูดสั้นๆ ว่าทำใจแล้ว

เมื่อถามว่าหากมีการจัดค่ายจะให้เด็กๆ เข้าร่วมอีกหรือไม่ แม่ตอบว่าก็ไม่อยากให้เข้าร่วม 

ส่วน เยาวชนนักข่าวพลเมือง บอกความรู้สึกว่า แรกๆ ก็ตกใจกลัว ทำอะไรไม่ถูก หลังจากนั้นสักพักก็ตั้งสติได้ก็แชทกับพี่คนที่สนิทกันและก็เริ่มรู้สึกดีขึ้น และเพื่อนก็ให้กำลังใจเยอะก็รู้สึกดีขึ้น 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การฟ้องคดีดังกล่าว สืบเนื่องจากการรายงานข่าวนักข่าวพลเมือง ตอน ค่ายเยาวชนฮักบ้านเจ้าของ ออกอากาศเมื่อวันพุธที่ 1 ก.ย. 2558 ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ซึ่งรายงานข่าวเกี่ยวกับการออกค่ายเยาวชนฮักบ้านเกิดเจ้าของ ตอน นักสืบลำน้ำฮวยแท้ๆ แน๊ว ระหว่างวันที่ 28-30 ส.ค. 2558 ที่วัดโนนสว่าง ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย

บริษัท ทุ่งคำ จำกัด อ้างว่า การรายงานข่าวดังกล่าวเป็นไปในลักษะหมิ่นประมาท ใส่ความบริษัทฯ ว่า “ลำน้ำฮวยได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำ โดยลำน้ำฮวยมีสารปนเปื้อน ทำให้ใช้ดื่มใช้กินไม่ได้” โดยระบุว่าข้อความดังกล่าวเป็นเท็จ เพราะเหมืองแร่ดังกล่าวได้รับการพิสูจน์แล้วว่าไม่มีสารปนเปื้อนและลำน้ำฮวยไม่ได้ไหลผ่านเหมืองแร่ 

ก่อนหน้านี้บริษัทฯ ดำเนินการฟ้องผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นคดีอาญาข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาฯ ต่อศาล เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.3756/2558 และเห็นว่า  เยาวชนนักข่าวพลเมืองมีเจตนากระทำความผิดด้วย จึงต้องการฟ้องคดีต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง

ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 99 วางหลักว่า ห้ามมิให้ผู้เสียหายฟ้องคดีอาญาซึ่งมีข้อหาว่าเด็กและเยาวชนกระทำความผิดต่อศาลเยาวชนและครอบครัว เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากผู้อำนวยการสถานพินิจที่เด็กหรือเยาวชนนั้นอยู่ในเขตอำนาจ

20152212193922.jpg 

สำหรับ คดีหมายเลขดำที่ อ.3756/2558 เป็นคดีฟ้องสื่อมวลชน ซึ่งบริษัท ทุ่งคำ จำกัด โดยนายสมชาย ไกรสุทธิวงศ์ ในฐานะผู้รับมอบอำนาจเป็นโจทก์ ได้ยืนฟ้อง นางสาววิรดา แซ่ลิ่ม และพวกรวม 5 คน ประกอบด้วย องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย นายสมชัย สุวรรณบรรณ นายก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ และนายโยธิน สิทธิบดีกุล ตามลำดับ ในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาด้วยเอกสารและโทรทัศน์ เรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาท

คดีดังกล่าว ศาลอาญานัดไต่สวนมูลฟ้อง 21 มี.ค. 2559 เวลา 09.00 น. 

ต่อมาเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2558 ประชาไทเผยแพร่สัมภาษณ์ สมเกียรติ จันทรสีมา ผู้อำนวยการสำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะต่อกรณีการดำเนินการฟ้องร้องของบริษัททุ่งคำ จำกัด ต่อเยาวชนนักข่าวเมือง จ.เลย

สมเกียรติระบุว่า ทางสำนักข่ายสื่อสาธารณะ และนักข่าวพลเมือง ได้เริ่มปรึกษาพูดคุยกันถึงประเด็นดังกล่าวมาตั้งแต่ช่วงที่มีกระแสข่าวว่า เหมืองแร่ทองคำมีการออกมาพูดว่าจะมีการฟ้องร้องดำเนินคดี โดยมีความเห็นร่วมกันว่า หากมีการดำเนินคดีกับเยวชน จริงๆ ทาง TPBS จะเข้ามาดูแลเรื่องคดีความ ทั้งเรื่องค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น และการให้กำลังใจ 

ทั้งนี้ ในวันที่ 18 ธ.ค. 2558 จะมีการลงพื้นที่เข้าไปให้กำลังใจกับเยาวชนที่ฟ้องร้องถูกดำเนินคดี และประสานทีมทนายความด้วย

ต่อคำถามว่า การที่มีการฟ้องร้องนักข่าวพลเมืองนั้น จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อหลักการที่ต้องการส่งเสริมให้ประชาชน ลุกขึ้นมาพูด หรือนำเสนอประเด็นปัญหาในพื้นที่ของตัวเองหรือไม่ สมเกียรติ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 8 ปี ไม่เคยมีการฟ้องร้องดำเนินคดีแต่อย่างใด จะมีแต่การร้อง ท้วงติง เพราะ TPBS มีช่องที่ให้ผู้ชม หรือผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับเรื่องราวที่นำเสนอไป ได้เสนอแนะท้วงติงได้ การฟ้องร้องเป็นคดีความครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรก

สมเกียรติกล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาได้มีการนำเสนอข้อมูลอย่างสร้างสรรค์ และระมัดระวังมาโดยตลอด สำหรับกรณีนักข่าวพลเมืองนั้น ถือว่าเป็นประชาชนคนธรรมดาที่ลุกขึ้นมาสื่อสาร โดยส่วนมากเป็นชาวบ้าน ซึ่งตัวโครงการนักข่าวพลเมืองเองถือเป็นตัวที่เข้าไปเสริมพลังให้ชาวบ้านได้สื่อสารเรื่องราวปัญหาในพื้นที่ และสื่อสารในเชิงบวก แต่ว่าก็มีจำนวนไม่น้อยที่นักข่าวพลเมืองสื่อสารในประเด็นที่อ่อนไหว หรือประเด็นเปราะบาง

กรณีของเทปที่มีการถูกฟ้องร้อง ได้มีการให้ทีมกฎหมายดูแล้ว ยังเห็นว่าไม่มีความรุนแรงถือขนาดนั้น แต่ก็ถือเป็นสิทธิ์ของบริษัทที่จะฟ้องร้องดำเนินคดีได้ หากเห็นว่าได้รับความเสียหาย หรือเสียประโยชน์ โดยเรื่องนี้ต้องมีการพิจสูจน์ความจริงออกมา โดยรวมถือว่าการเกิดคดีความและการฟ้องร้อง ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อหลักการ หรือจะส่งผลทำให้เรื่องต้องปิดพื้นที่การสื่อสารของประชาชนลงไป

ต่อคำถามว่า คณะกรรมการนโยบายมีท่าที หรือมีความเห็นต่อเรื่องนี้อย่าง สมเกียรติ ระบุว่า เรื่องนี้ยังไม่ได้มีการคุยกับทางคณะกรรมการนโยบาย เพราะโดยขั้นตอนปกติฝ่ายบริหารจะเป็นผู้เข้ามาดูแล
 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ