กลุ่มแพร่คราฟท์เกิดขึ้นอย่างไร ?
กลุ่มแพร่คราฟท์ก็เป็นกลุ่มของคนที่มีความคิดเป็นของตัวเองในเรื่องของสิ่งที่อยากจะนำเสนอ บางคนคิดว่าเป็นกลุ่มของคนรุ่นใหม่ แต่จริงๆแล้วในกลุ่มมีการรวมกลุ่มของตั้งแต่ รุ่นลุง อา ป้า แม่ใหญ่ รุ่นนิว ( นิวอายุ 38ปี ) แล้วก็มีรุ่นที่อายุน้อยกว่านิวด้วยประมาณ 10 คน ในกลุ่มมีตั้งแต่ทำผ้า ทำไม้ ทำอาหาร พวกจักสานและมีเซรามิคด้วย พวกเราก็เป็นผู้ประกอบการใหม่ก็จะมีความคิดที่บางครั้งอาจจะผิดแปลกไปบ้าง เราก็พูดกันว่าเราลองมาทำอะไรซักอย่างไหม แบบให้สนุกๆ ก็เป็นที่มาของการพูดกันอย่างจริงจังมีการวางแผนว่าอยากทำรูปแบบไหน ตอนนั้นไม่คิดถึงในเรื่องตัวเงินเลย สร้างภาพขึ้นมาก่อนว่าเราอยากทำอย่างนี้นะ ตอนแรกเราก็ไปพูดกับลุงไกร ที่หลายคนเรียกว่าน้าไกรผู้ประกอบการผ้าหม้อห้อมในเมืองแพร่ ครั้งนั้นก็รวมกลุ่มกับน้อง ๆ มาประชุมกันวันนั้นก็มีการโหวตชื่อกัน ก็มาลงตัวที่ชื่อ“แพร่คร้าฟท์” ไม่ได้เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นมาแบบเท่ห์ ๆ เฉย ๆ เพราะเราคิดแล้วจะได้ไม่ต้องมาเปลี่ยนชื่อทีหลังและรู้จักเลยว่าเรามาจากไหน เวลาไปไหนก็เหมือนประกาศตัวเองเลย พอเรามารวมตัวกันแล้ว ก็รู้สึกว่าเราอยากให้พื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ของทุกคนเลย ไม่ใช่เฉพาะคนในกลุ่มเราแล้ว เราอยากให้พื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ของคนแพร่ ที่ได้มาร่วมแสดงออก ในเรื่องของความคิด เรื่องกิจกรรม อะไรก็แล้วแต่ เราอยากให้มีความกว้างมากยิ่งขึ้น ไม่อยากให้คนติดแค่ภาพแค่งานคราฟท์งานฝีมือใช้มือทำอย่างเดียว อยากดึงคนข้างหลังบ้านด้วย อาจจะเป็นคนรู้จักของแต่ละคนที่ชวนกันมา และใช้พื้นที่ตรงนี้ เปิดเพื่อที่จะได้เห็นว่ามีงานประเภทนี้อยู่ในบ้านเราด้วย เป็นเจตนาดีที่อยากเอาของในบ้านตัวเอง ออกมาให้คนข้างนอกเห็นว่า บ้านเรามีอะไรบ้าง มีอาหารอะไรอร่อยบ้าง มีเสื้อผ้าอะไรน่าสวมใส่บ้าง มีของใช้อะไรดีๆบ้าง เราถึงบอกว่าถึงแม้ในแกนจะบอกว่าแพร่คราฟท์ก็ตาม. แต่ในการเชื่อมโยงที่เรานำคนอื่นๆเข้ามาร่วมในกิจกรรมของเรา รู้สึกว่าเป็นการเปิดบ้าน เพราะบางครั้งเรามักจะติดเทรนด์คำว่า “ไปสู่โลก” บางครั้งหลายๆคนก็ไม่สามารถที่จะไปจริงได้หรอก. ทำไมเราไม่เปิดบ้านเราเพื่อจะให้โลกเข้ามาหาเรา
ดำเนินการแบบไหน ?
ลงมือ ลงแรง ลงเงินกันเอง แต่ว่าเราก็มีความโชคดีในโค้งสุดท้ายของปีแรกที่มีทางวิทยาลัยชุมชนก็มาสนับสนุนในเรื่องสถานที่ และงบประมาณบางส่วนด้วย เป็นแรงขับเคลื่อนและก็เป็นกำลังใจด้วย เพราะว่ายังมีผู้ใหญ่ที่เห็นว่าทำเลย ดีแล้ว พอปีต่อมาก็มีทางอื่นๆที่ช่วยมาสนับสนุนมาบ้าง ในเรื่องสมาชิกก็มีจำนวนที่เพิ่มขึ้น ปีละ 1-2 คน และเรื่องจำนวนผู้ร่วมงานที่เป็นกำลังใจที่ทำให้เราคิดว่าเราควรที่จะต้องทำต่อไป เพราะมีคนให้ความสนใจ ทั้งคนที่มาชมงานและคนที่อยากจะเอาผลงานมาแสดงในกิจกรรมของเรา เช่น อยากมาออกบูธด้วย อยากมาใช้พื้นที่ตรงนี้ร่วมกัน ซึ่งเรารู้สึกดีใจที่เขาเห็นว่างานนี้สามารถทำให้เป็นพื้นที่หนึ่งของเขาได้ เพราะว่าบางร้านเราไม่รู้จักกันเลย มีร้านแบบนี้ มีคนแบบนี้อยู่เมืองแพร่ด้วย และรวมการเชื่อมโยงไปถึงงานฝีมือที่อยู่ต่างจังหวัดก็มีเป็นแขกรับเชิญของเรา จำนวนบูธเพิ่มขึ้นทุกปีเลย ปีแรกมีประมาณ 15 บูธ คือของสมาชิกของเรา และก็มีบูธนิทรรศการซึ่งก็จะเป็นงานที่น่าสนใจจากที่อื่น ๆ ที่เราของานมาแสดงและปีล่าสุดปีนี้ ( พ.ศ.2563 ) ทั้งสมาชิกและผู้ที่มาร่วมงาน 65 บูธ ก็ถือว่าการเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนที่ค่อนข้างเยอะ เพราะงานเราเป็นงานที่ชิลจนมีการสั่งหมูกระทะเข้ามารับประทานในงาน เพื่อที่จะดื่มด่ำกับบรรยากาศงาน คือเขามาแล้วรู้สึกอบอุ่น และเป็นงานที่ครอบครัวก็สามารถเอาเด็กๆมาวิ่งเล่นได้โดยที่ไม่ต้องกังวลเรื่องความปลอดภัยและการพลัดหลงเกิดขึ้น
เชื่อมโยงกลุ่มไหนบ้าง ?
เชื่อมด้วยการเชิญกันไปมา อย่างทางสกลเขาจัดงานสกลเฮ็ดเขาก็ชวนเราไปร่วม เราจัดงานแพร่คราฟท์เราก็ชวนเขามา ก็จะมีพื้นที่ในการจัดบูธแล้วแต่การจัดสรรภายในกลุ่มในการแสดงสินค้าหรือจัดจำหน่ายคือเป็นการช่วยกันโปรโมทงานของเครือข่ายที่รู้จักกัน สมมุติเรามองเป็นท่อนไม้สักที่เราตัดออกมา ข้างในก็มีมีวงปีที่ขยายออกไป เราถือว่าแกนกลางก็คือแพร่คราฟท์ของเรา เพราะว่าด้วยการที่เราดำเนินงาน การรวมกลุ่มอะไรต่างๆ ก็คือเป็นกลุ่มแรก แล้ววงปีต่อๆไปที่เราขยายก็คือ เรื่องของการเชื่อมโยงไปถึงคนในชุมชนเพราะว่าเมื่อมีงานก็จะต้องตื่นตัวในหลายๆเรื่องเกิดขึ้น และในเรื่องของเศรษฐกิจ เช่นเรื่องที่พัก การท่องเที่ยวหรือเรื่องการค้าขายอย่างอื่นก็ดีขึ้น เราเคยลองถามคนที่มาร่วมงานเราว่ามีแต่คนเมืองแพร่ไหมก็ไม่ใช่ทั้งหมด มีต่างจังหวัด เช่นกรุงเทพฯ สุโขทัย กำแพงเพชร อุทัยธานี เขาตั้งใจที่จะมางานเราเลยนี่แค่บูธตัวเอง แม้แต่ต่างประเทศก็มา คนเยอรมันได้มีการจองโรงแรมล่วงหน้า 3 เดือนโดยมีการสอบถามเรื่องของวันจัดงาน และพร้อมกับ Email มาด้วยความดีใจบอกว่าจองโรงแรมเรียบร้อยแล้ว ในวันที่มีงานเขาก็มา
กลุ่มแพร่คราฟท์ต่อยอดอย่างไรบ้าง ?
ได้รับเชิญกันไปงานของ ททท. งานTCDC งานChiangmai Design Week งานCraft Bangkok เป็นต้น โดยไปในนามของกลุ่มแพร่คราฟท์สมาชิกในกลุ่มทุกคนก็จะมีโอกาสที่สินค้าของตัวเองอยู่ในนั้น เพื่อที่จะนำไปจัดแสดง แต่เราจะมีการทำงาน ก็คือจะมีการเปลี่ยนจับฉลากไว้ก่อนเลยว่ามีใครไปบ้าง ก็จะเป็นทีมช่วยกันในการดูแลของ ช่วยกันเช็ค ช่วยกันอธิบายงานกลุ่ม พอเราไปออกบูธเราไม่ได้พูดเรื่องกลุ่มเรา เราไม่ได้ขายของแค่ในกลุ่มเรา เรายังพูดถึงเมืองแพร่ด้วย ชวนมาเที่ยวเมืองแพร่ด้วย เราจะบอกเขาเลยว่าแพร่คราฟท์ไม่ใช่เป็นแบรนด์ที่ติดอยู่บนเสื้อผ้านะ แต่เป็นกลุ่ม และในแบรนด์นี้จะมีสินค้าหลากหลายมี QR Code สมมุติลูกค้าสนใจงานของร้านนี้ ถึงแม้เพื่อนจะไม่ได้ไป บางงานเมื่อเราได้รับโอกาสขึ้นไปบนเวที ถึงแม้ว่าบนเวทีจะเป็นแค่การแสดงเสื้อผ้า แต่เราเล่าถึงแพร่คราฟท์ที่ไม่ได้มีแค่เสื้อผ้าเท่านั้น มีทั้งเฟอร์นิเจอร์ อาหาร งานเซรามิค ถ้าไปเมืองแพร่แล้วคุณจะได้พบเจอมากกว่าที่เราเอามานี่อีก เพราะฉะนั้นคุณต้องไปเที่ยวแพร่นะ จะได้ไปพบเจอกับกลุ่มเราเลย นี่เป็นโอกาสอันดีเลย ไม่ใช่แค่พวกเรา เพราะได้บอกแล้วว่าอยากให้ทุกคนมาใช้พื้นที่ตรงนี้ด้วยกัน คำว่าด้วยกันมันใช่แค่ของเท่านั้น “ด้วยกัน” หมายถึงทุกคนถ้าเรามองว่ากลุ่มเราสร้างโอกาสส่วนหนึ่งให้กับเมืองแพร่ไหม ยังไม่แน่ใจในเรื่องการสร้างโอกาสได้เต็มปากเต็มคำมาก แต่แน่ใจในเรื่องที่แพร่คราฟท์ทำให้คนรู้จักแพร่มากขึ้นในอีกมุมมองหนึ่งด้วยการนำเสนองาน
ห้อมไทยไปไกลระดับโลก ?
เราได้รับการปักหมุดไว้บนแผนที่โลกอันนี้อันนี้คุยโม้ได้ค่ะ (ยิ้ม) เมืองแพร่ก็อยู่ในหมุดของ world indigoถึงแม้จะไม่ใช่องค์กรที่ใหญ่โต แต่คิดว่าถ้าคน Search ไปหามันก็อยู่นั่น รู้สึกว่าเราได้เอาตัวเองออกไปสู่โลกภายนอกแล้ว ตัวเองนี่หมายถึงทั้งหมดเมืองแพร่นี่เลย เพราะว่าเวลาเราพูดถึงเรื่องนี้จะพูดกันในเชิงภาพใหญ่ก็คือภาพจังหวัดของเรา ตอนนี้ยังไม่เห็นผลตอบรับในภาพใหญ่ด้วยความที่มีสถานการณ์โควิด แต่ภาพเล็กเราเห็นคือด้วยความที่เราเป็นคนให้ข้อมูล และเป็นคนทำผลิตภัณฑ์พวกนี้ มีผู้ให้ความสนใจมากขึ้น มีผู้ติดตามและมีการเข้ามาสอบถามพูดคุยกับเราหรือขอซื้อผลิตภัณฑ์ห้อมที่เป็นห้อมเปียกที่มาจากต้นห้อมธรรมชาติของเรา มีมากจนน่าตกใจว่ามีผู้สนใจมากขนาดนี้เลย นั่นคือในแวดวงของผู้ที่ให้ความสนใจซึ่งเป็นชาวต่างชาติ ถ้าเกิดไม่มีสถาการณ์โควิด เขามีแผนที่มาแพร่เลย เพราะเขาอยากจะเห็นว่าเราทำกันอย่างไร เราปลูกกันตรงไหน ปลูกแบบไหน มีกระบวนการทำอย่างไร