เลาะพรมแดนหาสมดุลย์ผู้หนีภัยจากพม่า ความพอดีของมนุษยธรรมกับความมั่นคงของชาติ

เลาะพรมแดนหาสมดุลย์ผู้หนีภัยจากพม่า ความพอดีของมนุษยธรรมกับความมั่นคงของชาติ

เสียงปืน การไล่ล่า และคราบน้ำตายังมีอยู่ ณ พรมแดนไทย-พม่า

ที่ริมน้ำสาละวิน ยังมีชีวิตของผู้บริสุทธิ์ที่ต้องหลบหนีจากความขัดแย้งที่เขาไม่ได้ก่อ

“ความพอดีระหว่างความพยายามให้เกิดความมั่นคงของชาติ กับการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม…อยู่ตรงไหน?”

ช่วงบ่ายของวันที่ 25 เม.ย. The Reporters พร้อมด้วยมูลนิธิเสมสิกขาลัย สำนักข่าวชายขอบ ร่วมกับ The North องศาเหนือ นักข่าวพลเมือง (ThaiPBS) จัดเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ “ความมั่นคงของชาติ กับ มนุษยธรรม ณ เส้นพรมแดน : ความพอดีอยู่ตรงไหน? เพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์ในพื้นที่ในรอบเดือนที่ผ่านมา และชวนขบคิดมองไปข้างหน้า ถึงบทบาทของไทยและอาเซียน

ร่วมพูดคุยวิทยากรประกอบด้วย พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม ผศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช รองคณบดีฝ่ายวิชาการ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นางสาวพรสุข เกิดสว่าง มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน นายพงษ์พิพัฒน์ มีเบญจมาศ เครือข่ายภาคประชาชนลุ่มน้ำสาละวิน ดำเนินรายการโดย ฐปณีย์ เอียดศรีไชย The Reporters

ซึ่งหลายฝ่ายร่วมชี้แนะรับมือปัญหาผู้หนีภัยจากพม่า นักวิชการเสนอสร้างสวนสันติภาพสาละวิน-ดึงฝ่ายต่าง ๆ เข้าร่วม “พล.อ.นิพัทธ์”เผยเหตุต้องรีบผลักดันกลับ ภาคประชาชนดันตั้งศูนย์เฉพาะกิจช่วยเหลือ

สถานการณ์จากพื้นที่ ในรอบหนึ่งเดือนที่ผ่านมา

นางสาวพรสุข เกิดสว่าง มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน เล่าว่า ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคมชาวบ้านได้อพยพข้ามฝั่งเข้ามาจำนวนนับพันคน และถูกผลักดันกลับในวันถัดมา ณ วันนี้ทราบว่าไม่มีผู้อพยพอยู่ที่ฝั่งไทย สิ่งที่เจอคือการผลักดันผู้ลี้ภัยกลับทันทีนับตั้งแต่เขาข้ามมา ทั้งที่ฝั่งโน้นยังมีการยิงปืนใหญ่ หรือทิ้งระเบิดอยู่ ยังมีอันตรายอยู่ ซึ่งสิ่งที่เขาทำได้คือการอาศัยอยู่ริมน้ำใกล้ ๆ ฝั่งไทย คำถามที่มีอยู่มาตลอดคือ การตัดสินใจนี้เป็นไปอย่างรวดเร็วและไม่รู้ว่าใช้ข้อมูลจากไหน

ส่วนกรณีการให้ความช่วยเหลือ พบว่า ความช่วยเหลือที่มีการระดมนั้นไม่สามารถส่งไปได้ตามช่องทางตามปกติไม่ว่าจะเป็นทางเรือหรือทางรถยนต์ หน่วยงานภาครัฐในระดับพื้นที่ก็มีความสับสน ไม่รู้ว่าจะจัดการอย่างไร ความช่วยเหลือที่ส่งไปได้จึงมีความซับซ้อน และเสียค่าใช้จ่าย

“เราก็อาจจะกล่าวโทษทหารพรานทั้งหมดที่อยู่ตรงนั้นไม่ได้ทั้งหมด เพราะเขาไม่ได้ถูกฝึกมาด้านนี้ ผู้อพยพมันไม่ใช่เรื่องเล็ก แต่ต้องใช้ประสบการณ์และการจัดระบบในการรับและกระจายสิ่งของความช่วยเหลือ สิ่งที่อยากตั้งคำถามต่อไป คือ จำเป็นที่ต้องผลักดันกลับ และบล็อกเส้นทางการส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมด้วยหรือ?”

สำหรับการส่งความเสบียงและความช่วยเหลือนั้น นายพงษ์พิพัฒน์ มีเบญจมาศ เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำสาละวิน จ.แม่ฮ่องสอน เล่าถึงสถานการณ์ผู้อพยพล่าสุดว่า ในเรื่องการขนส่งความช่วยเหลือก็ยังไม่มีความสะดวก กรณีที่ทหารเมียนมายิงเรือของราษฎร์ ชาวบ้านก็ไม่มั่นใจว่าทหารเมียนมาจะทำตามคำสัญญาที่ให้ไว้หรือไม่ เพราะที่ผ่านมาก็มีข้อตกลงเรื่องการหยุดยิงอยู่แล้ว แต่ก็เป็นการส่งของทางอ้อม แม้ทหารไทยจะบอกว่ามีการเจรจากับทหารเมียนมาแล้ว แต่ความกังวลใจก็ยังมีอยู่

“ตอนนี้ของยังไปไม่ถึงข้างในคือประชาชนที่หลบอยู่ในป่า แม้ทางรัฐไทยจะบอกว่าเจรจาให้เขาได้กลับไป แต่เป็นการกลับไปทั้งน้ำตาและต้องหลบอยู่ในป่าเพราะไม่กล้ากลับเข้าหมู่บ้าน ตอนนี้เข้าหน้าฝนทำให้เด็กและผู้หญิงท้องที่ยังต้องหลบตามห้วยตามป่าอยู่อย่างลำบาก”  

นายพงษ์พิพัฒน์ เสนอแนะว่า หน่วยงานเขาก็มองออกและน่าจะมีการผ่อนปรน และจะมีการวางมาตรการร่วมกันอย่างไร และบริหารจัดการในเรื่องการนำส่งความช่วยเหลือ หากในอนาคตจะมีกลไกหรือมีศูนย์เฉพาะกิจ เอาบทเรียนจากภัยพิบัติและการทำศูนย์ความช่วยเหลือเฉพาะกิจ สร้างกลไกที่จะดูและความปลอดภัย ความเครียด สุขภาพ ฯลฯ โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่ศักยภาพในด้านนั้นและทำงานร่วมกันหลายฝ่าย หาแนวทางในการบริหารจัดการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ซึ่งก็จะไม่ทำให้เกิดคำถามหรือข้อครหาอย่างที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เพราะสถานการณ์ข้างหน้าเรายังไม่รู้ว่าอาจจะเกิดขึ้นอีกหรือไม่

หน่วยงานมั่นคง คิดอะไร ฟังประสบการณ์อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม

พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า หนึ่งเดือนที่ผ่านมาพบว่าสังคมไทยให้ความสนใจสิ่งที่เกิดขึ้นในเมียนมามายิ่งขึ้นจากเดิมที่เคยเรียนเฉพาะมิติของประวัติศาสตร์สงคราม ถ้าเราดูตัวเลขประชากรเมียนมาที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยน่าจึง 6 ล้านคน และเป็นปัจจัยบวกกับสังคมไทยและเศรษฐกิจไทย ส่วนชาวเมียนมาไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไหนที่อยู่ตลอดแนวชายแดน ไม่ใช่คนแปลกหน้า สิ่งที่เกิดบริเวณแม่สาบแลบไม่ได้เป็นสิ่งใหม่ การอพยพ การหนีภัยอันตรายข้ามมาฝั่งไทยเกิดมาประมาณ 30-40 แล้วไม่ได้เป็นสิ่งใหม่ เพียงแต่เปลี่ยนพื้นที่เท่านั้น แต่รูปแบบคล้ายๆกัน  เจ้าหน้าที่ที่อยู่ตามแนวชายแดนต่างคุ้นเคยเรื่องพวกนี้เป็นอย่างดี แต่สิ่งที่ทำให้เกิดความล่าช้าคือการระวังตัวของราชการ

“สิ่งแรกที่เขาจะทำเมื่อเจอการไหลทะลักของผู้คน ตัวหน่วยงานราชการแท้ ๆ ก็จะถามผู้บังคับบัญชาว่าจะทำอย่างไร อันนี้ที่จะขัดกับมุมของประชาชนที่มองผ่านมุมมนุษยธรรม ที่ช้าไม่ติดสินใจ ทำอะไรก็ไม่ได้ พอเมื่อสถานการณ์ผ่านไป ผู้บังคับบัญชามีข้อมูลที่มากพอที่จะตัดสินใจ มีคำสั่งมาคนในพื้นที่จึงดำเนินการ นี่แหละครับระบบราชการ ทุกคนก็จะกลัวไปหมดว่าทำงานล้ำเส้น”

อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม กล่าวอีกว่า การตัดสินใจที่ต้องใช้เวลาในการรายงาน มีการรายงานข่าวจากสื่อมวลชนว่าทหารผลักดันกลับไปเลย และนายกรัฐมนตรีก็กล่าวผ่านสื่อว่าจะปฏิบัติตามหลักมนุษยธรรม แม้เขาเจ้าหน้าที่จะมีความเมตตา แต่เขาก็มีข้อจำกัด สิ่งที่ทำระหว่างความเห็นใจกับภาระที่จะมีต่อไปในระยะยาว มันมีหลักคือ ถ้ายืดเยื้อเรื้อรัง เป็นปัจจัยดูด (pull factor) ให้คนเข้ามากมากขึ้น ก็ต้องผลักดันกลับต้องผลักดันให้เร็วที่สุดหรือภายใน 72 ชั่วโมง ซึ่งมันไม่มีสูตรสำเร็จ แต่เป็นดุลยพินิจที่อยู่กับหน่วยงานระดับพื้นที่

“ทหารต้องคิดผสมผสานกันระหว่างความมั่นคงกับหลักมนุษยธรรม จากประสบการณ์ตั้งแต่ปี 2527 ที่กองทัพพม่าปราบปรามประชาชนและชนกลุ่มน้อยอย่างหนัก ทำให้เกิดผู้ผลัดถิ่น (displace person) 2 แสนกว่าคน ข้ามมาในไทย มีการตั้งแคมป์ถึง 9 แห่ง จนถึงวันนี้พวกเขาก็ยังอยู่ สิ่งที่เราทำมาตั้งแต่ปี 2527 ก็ยังคาราคาซังอยู่”

อนาคตใหม่ตรงเส้นพรมแดน ความมั่นคง มนุยธรรม จัดการอย่างไรให้พอดี

ผศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช รองคณบดีฝ่ายวิชาการ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สิ่งที่ต้องพิจารณาคือการรบจะเบาลงหรือจะปะทุบานปลายขึ้นไปอีก ซึ่งขึ้นอยู่กับหลายฝ่าย ประเทศไทยนั้นเป็นผู้รับผลกระทบโดยตรงจากเหตุการณ์ในเมียนมา ซึ่งจำเป็นต้องวิเคราะห์และทำความเข้าใจโครงสร้างอำนาจและตัวแสดงต่าง ๆ ในพม่าแม้เจ้าหน้าที่ตามแนวชายแดนของไทยจะมีประสบการณ์ แต่ต้องยอมรับว่าในช่วง 10 ปีที่มากระบวนการสันติภาพในเมียนมามันมีพัฒนาการ ขณะที่การทำรัฐประหารของมินอ่องลายกลับทำให้สถานการณ์เปลี่ยนไป ซึ่งสถานการณ์ในเมียนมาอาจเรียกได้ว่าเป็นจลาจลและอาจนำไปสู่สงครามกลางเมือง

ผศ.ดร.ดุลยภาค กล่าวว่า สถานการณ์จะยังคงยืดยื้อต่อไป ขณะนี้นอกจากเกิดรัฐบาลเมียนที่เนปิดอ ยังเกิดรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติเมียนมา (NUG) ที่กลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่มเข้าร่วม รวมถึงชุมชนนาชาติสับสนุนเป็นคู่ขนาน กลายเป็นสองขั้วรัฐที่ต้องแย่งชิงอำนาจกันมีการชิงพื้นที่ ชิงดินแดนกันในระดับต่างๆ ทั่วประเทศ เกิดภาวะจลาจลที่เหลี่อมล้ำอาจกลายเป็นสงความกลางเมือง แล้วเราจะกระตุ้นให้กลุ่มต่างๆหรือกลุ่มอำนาจในเมียนมาแก้ไขความขัดแย้งในประเทศตัวเองอย่างไร ที่จะทำให้งานป้องกัน ป้องปรามตามแนวชายแดนบ้านเราทุเลาเบาบางลงได้ ต้องกลับไปดูกระบวนการสันติภาพที่ผ่านมา เพราะมีกลไก กระบวนการต่าง ๆในการจัดการ ซึ่งทางรัฐกะเหรี่ยง KNU เข้าไปร่วมด้วย

แต่พอ พล.อ.มิน ออง ล่าย ยึดอำนาจเป็นการเมืองเผด็จการและรวมศูนย์อำนาจ แต่ยังประกาศจะเดินหน้ากระบวนการสันติภาพ กลุ่มชาติพันธุเลยไม่เชื่อไม่วางใจ จะเอนเอียงไปในฝ่ายของการตั้งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติเมียนมาจึงเกิดเป็นสองส่วนคือคนเมียนมาที่ต้องการประชาธิปไตยวิวัฒน์กับชาติพันธุ์ที่ต้องการสหรัฐประชาธิปไตยที่ชัดเจน จึงมารวมกันและเป็นแรงพวกเทไปยังฝ่ายรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติเมียนมา แต่ก็ถูกมินอ่องหลายสกัดไว้อยู่โดยบอกว่าจะเดินหน้ากระบวนกรสันติภาพและประชาธิปไตย แต่ก็ไม่มีมีกลุ่มไหนเชื่อถือ

อีกเรื่องเราต้องเข้าใจสถานการณ์การเมืองในรัฐกะเหรี่ยงด้วย ที่สัมพันธ์กับแม่สะเรียง ในเชิงภูมิศาสตร์มีความซับซ้อนอยู่แล้วด้วยขุนเขาและแม่น้ำ มีกะเหรี่ยงหลายกลุ่ม กะยา ฉาน มอญ ทำให้เกิดการขาดเอกภาพ ทำให้เกิดกลุ่มที่เรียกว่ารัฐซ้อนรัฐมากมาย แม้กระทั่งเคเอ็นยูก็มีนักศึกษาที่หนีมาอยู่นายพลโบเมี๊ยะ ที่ค่ายเนินปอ มันมีการรวมกันอยู่แล้วแบบประชาธิปไตยภิวัฒน์และการเมืองในรัฐกะเหรี่ยง และมีกลุ่มอื่นๆอพยพเข้ามา  

ดังนั้นทำให้เคเอ็นยูมีท่าทีที่น่าสนใจคือมีเคเอ็นยูกลุ่มหนึ่งที่ต้องการปกป้องทั้งประชาชนพม่าและประชาชนกะเหรี่ยง และยังมีกะเหรี่ยงอีกจำนวนมากที่มีท่าทีไม่ชัดเจน เพราะโครงสร้างอำนาจที่กระจัดกระจาย แต่มี 2 ค่ายหลักคือ พลเอกมูตู ฐานอำนาจหลักอยู่ด้านกลางและใต้ เช่น กองพล 4,6,7 และอีกกลุ่มหนึ่งคือทางเหนือนำโดย นางซีโพหร่า และพล.อ.บอจ่อแฮ เช่น กองพล 2,3,5 ซึ่งพล.อ.บอจ่อแฮได้รับความนิยมมากในหมู่คนกะเหรี่ยง โดยขั้วอำนาจกลุ่มแรกไปเจรจากับรัฐบาลพม่า แต่กลุ่มหลังไม่เห็นด้วยที่ไปเจรจา ขณะเดียวกันภายในมีเล่ห์เหลี่ยมทางการเมืองเยอะพอสมควร การแก้ไขสถานการณ์ต้องวิเคราะห์ภูมิทัศน์ทางการเมืองในพื้นที่ให้ได้

ผศ.ดร.ดุลยภาคกล่าวว่า เมียนมายังสร้างรัฐไม่เสร็จ รัฐเมียนมาจึงพยายามสร้างค่ายทหารเพื่อควบคุมอธิปไตยริมแม่น้ำสาละวิน อย่างไรก็ตามการพัฒนาบางจุดเคเอ็นยูทำได้ดี ขณะที่บางพื้นที่รัฐบาลเมียนมาก็ไม่ได้จริงใจช่วยเหลือเพราะยังมีขบวนการเคลื่อนไหวเรื่องชาตินิยม ดังนั้นทหารพม่าจึงไม่ยอม และเฝ้ารอให้กองกำลังวางอาวุธและสลายกองกำลัง

ผศ.ดร.ดุลยภาค กล่าวว่าสำหรับข้อเสนออาเซียนนั้น เราต้องมองในเรื่องกระบวนการสันติภาพ คือ ให้การปะทะทางทหารลดลง ส่วนขั้นสองในการจัดประชุมวงการเมือง และวงต่อมาคือการจัดการรากเหง้าของปัญหา เราต้องพูดถึงการเอาสันติภาพกลับมาในรัฐพม่าก่อน คือเอาข้อตกลงที่เคยคุยกันไว้กลับมาก่อน คือข้อตกลงหยุดยิง NCA สำหรับเขตชายแดน คือการทำสวนสันติภาพสาละวินในบางจุดน่าช่วยได้ การตั้งคณะกรรมการสาละวิน มีตัวแทนช่วยเหลือมนุษยธรรม อาจจะเป็นตัวแทนชาวบ้าน ผู้นำพื้นที่ อาจจะมีผู้นำศาสนาต่าง ๆ ช่วยกันเป็นคณะกรรมการ แต่อีกระยะก็ต้องมีตัวแทนทหารไทย มหาดไทย ตัวแทนทหารเมียนมา ทหารกะเหรี่ยง หารือหยุดยิง

นางสาวพรสุข เกิดสว่าง มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมไม่จำเป็นต้องขัดแย้งกับความมั่นคงเสมอไป และการจัดการที่ไม่เหมาะสมจะนำไปสู่ปัญหาในระยะยาวได้ จำเป็นต้องยอมรับว่ามีคนเดือดร้อนเข้ามาและต้องจัดการสารพัด อย่างแรกต้องยอมรับความจริงและรับเข้ามาก่อน ในฐานะที่ทำงานชายแดนมาร่วม 30 ปี กรณีผู้ลี้ภัยที่ยังอยู่ 9 แคมป์ยังไม่ได้กลับบ้านเขามันมีเหตุผลที่ทำให้แม้เขาอยากจะกลับก็กลับไม่ได้ เพราะรัฐบาลเมียนมาก็ไม่ได้ให้ความร่วมมือ อีกทั้งความไม่สงบในบ้านของ หรือมีฐานทหารเมียนมาไปตั้งอยู่ใกล้ ๆ บ้านเดิมของเขา

“ประสบการณ์กว่า 20-30 ปีนี้มันมีคุณค่ากับหน่วยงานความมั่นคง หน่วยงานมหาไทยและองค์กรต่าง ๆ เพราะเราก็ยังไม่รู้ว่าในอนาคตจะเกิดขึ้นหรือไม่ ซึ่งในระยะแรกก็ควรเป็นส่วนที่ฝ่ายความมั่นคงจะเข้าไปจัดการ แต่หลังจากนั้นภายใน 1 สัปดาห์ควรจะถ่ายอำนาจให้กับมหาดไทย หรือหน่วยงานอื่น ๆ จัดการความช่วยเหลือต่อไป”

ภาพจาก นักข่าวพลเมือง

บทบาท/กลไกอาเซียนอยู่ตรงไหนบนพรมแดนความมั่นคง vs มนุษยธรรม

ทั้งนี้ ข้อสรุปจากการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 24 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้แสดงความห่วงใยถึงสถานการณ์ในเมียนมา และมีฉันทามติ 5 ข้อเพื่อหาทางออกจากวิกฤตความรุนแรงในเมียนมา ดังนี้

  1. จะต้องยุติความรุนแรงในเมียนมาโดยทันที และทุกฝ่ายจะต้องใช้ความยับยั้งชั่งใจอย่างเต็มที่
  2. การเจรจาที่สร้างสรรค์ระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะเริ่มต้นขึ้น เพื่อหาทางออกอย่างสันติเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน
  3. ทูตพิเศษของประธานอาเซียนจะอำนวยความสะดวกเป็นสื่อกลางของกระบวนการเจรจาโดยความช่วยเหลือของเลขาธิการอาเซียน
  4. อาเซียนจะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมผ่านทางศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมด้านการจัดการภัยพิบัติ (AHA)
  5. ทูตและคณะผู้แทนพิเศษจะเดินทางไปเยือนเมียนมาเพื่อพบปะกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

นางสาวพรสุข เกิดสว่าง มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน กล่าวว่า ข้อเสนอทั้ง 5 ข้อของอาเซียนก็มีมุมที่น่าสนใจที่เริ่มขยับ แต่เมื่อดูรายละเอียดพบว่าไม่มีการกำหนดกรอบระยะเวลา โดยเฉพาะประเด็นเรื่องความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมมันไม่มีรายละเอียดว่าจะส่งผ่านความช่วยเหลือไปทางไหน ซึ่งมันมีข้อมูลระบุชัดเจนว่าความช่วยเหลือจากนานาชาติที่ส่งผ่านกองทัพพม่าจัดการนั้นไม่มีความโปร่งใส และลงไปไม่ถึงประชาชน หรือว่าอาเซียนจะส่งผ่านทางรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติหรือไม่

“เพื่อนบ้านอย่างไทย เราอยู่ติดกับเมียนมา แต่การวางจุดยืนยังไม่ชัดเจน ปัญหาผู้ลี้ภัยต้นเหตุมาจากต้นทาง เราต้องถามตัวเองด้วยว่าเราไปส่งเสริมให้เกิดความรุนแรงด้วยหรือไม่ เมื่อเราไม่ต้องการรับผู้ลี้ภัย เราก็ไม่ควรให้เป็นปัจจัยหนึ่งในการสนับสนุนให้เกิดเหตุ อยากให้เรารู้สึกว่า การที่มีผู้ลี้ภัย 20-30 ปีไม่ใช่เรื่องของฝันร้ายอย่างเดียว แต่เป็นการเรียนรู้ การจะบอกว่าจะไม่รับอีกแล้วนั้น เป็นไปไม่ได้ เพราะถ้าคนต้องเข้ามา ก็ต้องเข้า แต่อาจเข้าไปช่องอื่น”

“สิ่งสำคัญคือทางการไทยต้องแสดงจุดยืนทางการเมืองที่จะไม่สนับสนุนให้เกิดความรุนแรงซึ่งจะนำมาสู่การเกิดผู้ลี้ภัย ซึ่งเป็นสิ่งที่ทางการไทยไม่ต้องการไม่ใช่หรือ”

นางสาวพรสุข กล่าวอีกว่า การส่งความช่วยเหลือข้ามพรมแดนมีความซับซ้อนอยู่แล้ว แต่การผลักดันผู้ลี้ภัยออกไปในประเทศของเรา มันทำให้เขากลายเป็นผู้ผลัดถิ่นในประเทศของเขาเอง ซึ่งมันทำให้มีความซับซ้อนแบบที่เราได้คุยกัน แน่นอนว่าตอนนี้เราต้องหาทางออกเฉพาะหน้า ไทยอาจไม่จำเป็นต้องผลักดันกลับ เพราะเขาก็อยากไปอยู่แล้ว ถ้าเขากลับไปได้ เช่น ตอนนี้เขาอยากจะไปปลูกข้าวในพื้นที่ทำกินของเขา เพื่อให้มีข้าวสารกินตลอดทั้งปี แต่เขาก็ยังกลับไม่ได้

พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ข้อตกลงทั้ง 5 ของอาเซียนฟังดูเป็นแถลงการณ์ที่ดูสวยหรู แต่นับว่าอาเซียนได้ทำหน้าที่ในการกดดันแล้ว แต่ในโลกของความเป็นจริงอาเซียนได้ผลักภาระออกไปแล้ว และไทยเป็นคนที่จะต้องรับผลทั้งหมดและต้องกระตือรือร้นมากกว่าประเทศอื่น ๆ

“ในงานเฉพาะกิจระหว่างประเทศไทย กลไกที่มีประสิทธิภาพที่สุด คือ TBC: Township Border Committee ซึ่งมีหลายหน่วยงานจากทั้งสองฝั่งมาเข้าร่วม ควรให้ TBC เจรจาเพื่อสร้างความชัดเจนหรือมาตรการที่ชัดเจน เช่น ตารางเวลาการเดินเรือ หรืออาจพิจารณาเอาหลักการเท่าเทียมทั่วถึงกับทุกฝ่ายด้วย” พลเอกนิพัทธ์ กล่าวย้ำ

พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า มันจำเป็นต้องมีกำปั้นเหล็กถึงการเข่นฆ่าประชาชนในประเทศ และทำให้พลเมืองของตนเข้ามาในประเทศ เราจำเป็นต้องมีการตอบโต้ ปกป้องอธิปไตยของเราและเป็นสิ่งที่ต้องมีควบคู่การให้การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และเชื่อว่ามีการเจรจากันอยู่และจะเป็นทางเลือกสุดท้าย

ขณะที่นายพงษ์พิพัฒน์ มีเบญจมาศ เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำสาละวิน กล่าวว่า ที่ผ่านมาองค์กรด้านมนุษยชนพยายามที่จะหาทางออกแต่ก็ยังติด ๆ ขัดในหลาย ๆ ด้าน ผมยังเชื่อว่าฝ่ายนโยบายกระทรวงที่เกี่ยวข้องอาจจะต้องวางแนวนโนยายที่ให้ความชัดเจนกับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ได้ทำงานอย่างสบายใจและพ้นข้อจำกัดที่มีอยู่ในทุกวันนี้ได้ TBC ยังเป็นโครงสร้างแข็ง ๆ ที่เป็นแท่ง ขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอาจทำให้ขาดความเข้าใจกับสถานการณ์ที่มีความซับซ้อนในบางพื้นที่.

ชมเสวนาย้อนหลังได้ที่

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ