21 เม.ย. 2559 ที่ศูนย์การศึกษา มหาวิทยาลัยรังสิต คณะปูชนียบุคคลไทย นำโดย ระพี สาคริก ในฐานะประธานที่ปรึกษาเครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำ จ.พิจิตร และรตยา จันทรเทียร อดีตประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ อดีตสมาชิกวุฒิสภา นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา และสุนี ไชยรส อดีตคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) แถลงเจตนารมณ์ขอให้รัฐบาลหยุดการต่อใบอนุญาตเหมืองทองคำ
ที่มาภาพ: เพจเฟซบุ๊ก หนุ่ย อภิสิทธิ์
การแถลงดังกล่าวมีรายละเอียด ดังนี้
คำแถลงเจตนารมณ์ หยุดเหมืองทองคำ โดย คณะปูชนียบุคคลไทย ถึง นายกรัฐมนตรี ฯพณฯ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นับจากวันที่ศาสตราจารย์ระพี สาคริก ในฐานะประธานที่ปรึกษาเครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำจังหวัดพิจิตร ได้ยื่นหนังสือถึงหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เมื่อวันที่ 27 กรกฏาคม 2557 ซึ่งสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งลับไปยังจังหวัดพิจิตร ทำให้เกิดการตั้งคณะทำงาน 5 ฝ่ายเพื่อตรวจสอบและแก้ไขปัญหาจากการทำเหมืองแร่ทองคำขึ้น ผลการตรวจในคราวแรกพบว่าทั้งดิน น้ำ พืช และในกระแสเลือดของประชาชนบริเวณรอบเหมืองทองคำมีสารโลหะหนักปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐาน ในทางกายภาพพบว่ามีผู้เจ็บป่วยและเสียชีวิตอย่างมีนัยสำคัญ ทางราชการต้องแจกจ่ายน้ำและผักที่ปลูกจากนอกพื้นที่ให้แก่ประชาชนเพื่อหลีกเลี่ยงอาหารที่อาจปนเปื้อนสารพิษในสิ่งแวดล้อมรอบเหมือง ซึ่งเท่ากับเป็นการยอมรับแล้วว่าการดำรงชีพของประชาชนรอบเหมืองทองคำตกอยู่ในสภาวะที่ไม่ปลอดภัย แต่กระนั้นก็ยังไม่เกิดการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุอย่างแท้จริง ทำให้ต้องตรวจเลือดซ้ำอีกในปี 2558 ซึ่งปรากฏว่าสภาพปัญหาเลวร้ายลงไปกว่าเดิม โดยพบเด็กและเยาวชนกว่าร้อยละ 60 มีสารโลหะหนักในร่างกายเกินค่ามาตรฐานอันจะส่งผลต่อการเจริญวัยอย่างน่าวิตก แต่ก็ยังไม่ก่อให้เกิดมาตรการหยุดต้นเหตุของปัญหายังคงแก้กันที่ปลายเหตุอยู่นั่นเอง ด้วยเดชะบุญที่ใบอนุญาตประกอบโลหกรรมเหมืองแร่ทองคำจะสิ้นอายุลงในวันที่ 13 พฤษภาคม 2559 จึงเป็นโอกาสดีที่รัฐบาลจะใช้เป็นเงื่อนไขโดยชอบเพื่อยุติต้นเหตุของปัญหาที่สร้างความเดือดร้อนมายาวนานลงเสียในบัดนี้ด้วยการหยุดต่ออายุใบอนุญาตดังกล่าว อนึ่ง ในด้านเศรษฐกิจพบว่ารัฐได้ผลประโยชน์จากแร่ทองคำเพียงร้อยละ 6.6 ผลประโยชน์ส่วนใหญ่กลับตกเป็นของต่างชาติ ซึ่งถือเป็นความน่าอับอายของคนไทยทั้งชาติที่ประหนึ่งไม่รู้คุณค่ามรดกที่บรรพชนมอบไว้ให้ อีกทั้งในด้านสังคมนั่นเล่าก็เกิดความแตกแยกในชุมชนอย่างน่าสลดใจ วัด โรงเรียนถูกทิ้งร้าง สิ่งแวดล้อมและสุขภาพเลวร้ายลง แผ่นดินเกษตรและป่าเขาที่เคยอุดมสมบูรณ์ต้องสูญเสียไปอย่างถาวร แปลงนาที่เคยเขียวขจีถูกถมทับแทนที่ด้วยสารพิษอันยากจะฟื้นคืนได้ ความอัปยศเหล่านี้ไม่สมควรเกิดขึ้นในยุคสมัยของพวกเรา การทำเหมืองแร่นี้ย่อมทำลายวิถีเศรษฐกิจพอเพียงลงอย่างย่อยยับ พวกข้าพเจ้าพร้อมด้วยผู้ร่วมลงนามตามรายชื่อแนบท้ายหนังสือแสดงเจตนารมณ์ฉบับนี้ จึงใคร่ขอวิงวอนให้ท่านนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โปรดทบทวนและใช้ความกล้าหาญตัดสินใจปกป้องคุ้มครองชีวิตของอาณาประชาราษฏร์จากภัยคุกคามของเหมืองทองคำลงเสียในทันที ขอให้ท่านทำหน้าที่ผู้นำแห่งรัฐที่ชาญฉลาดในการรักษาทองคำของแผ่นดินให้ทรงคุณค่าอยู่คู่ชาติไทยเราตลอดไป ข้อเสนอ 1. ขอให้หยุดต่อใบอนุญาตประกอบโลหกรรมเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัครารีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) 2. ขอให้เร่งรัดการตรวจพิสูจน์สิ่งแวดล้อมเพื่อเร่งฟื้นฟูเยียวยาประชาชนและพื้นที่เกษตรกรรมอย่างยั่งยืน 3. โปรดกำชับให้ข้าราชการรักษาหน้าที่ต่อชาติประชาชนเหนือกว่าการปกป้องผลประโยชน์ของเอกชน 4. โปรดสั่งการให้ผู้เกี่ยวข้องดำเนินมาตรการคุ้มครองผลประโยชน์ของคนงานเหมืองทองคำให้ได้รับการชดเชยอย่างสูงสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งขอให้มีมาตรการประกันความเจ็บป่วยในอนาคตของคนงานและชาวบ้านอันเนื่องจากสารพิษที่อาจสะสมในขณะปฏิบัติหน้าที่และดำเนินชีวิตให้ได้รับความเป็นธรรมตลอดไปถึงอนาคตด้วย 5. ขอให้ยุตินโยบายทำเหมืองแร่ทองคำทุกพื้นที่ของประเทศ ด้วยความนับถือ ศาสตราจารย์ ระพี สาคริก ณ ศูนย์ศึกษาวิภาวดี มหาวิทยาลัยรังสิต วันที่ 21 เมษายน 2559 |