อยู่ดีมีแฮง : “หลังพิง เชี่ยวชาญ ช่องทาง” 3 คำสำคัญ เมื่อต้อง(การ)กลับบ้าน

อยู่ดีมีแฮง : “หลังพิง เชี่ยวชาญ ช่องทาง” 3 คำสำคัญ เมื่อต้อง(การ)กลับบ้าน

เพราะ “บ้าน” คือฐานที่มั่น คือขุมพลังของหลายคน เมื่อประสบภาวะวิกฤติต่าง ๆ ไม่มีงาน ไม่มีเงิน หรืออ่อนแรง “บ้าน” จึงเป็นจุดหมายปลายทาง แล้วการกลับบ้านในความเป็นจริงนั้นเป็นอย่างไร อยู่ดีมีแฮง และนักข่าวพลเมือง C-Site ชวนติดตามบทสนทนากับแขกรับเชิญในรายการ เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2564 ถึงโจทย์การกลับบ้านของคนรุ่นใหม่ที่ในวันนี้ไม่ใช่เรื่องโรแมนติกโลกสวยอีกต่อไป แต่ยังมีแง่มุมที่ต้องการสนับสนุนและความท้าทายที่ต้องเผชิญอย่างไรบ้าง

ร่วมกับ คุณปาฏิหาริย์ มาตสะอาด ผู้ร่วมก่อตั้ง และ CEO Ready Set Grow สู่เกษตรกรมือใหม่ใน จ.กาฬสินธุ์  คุณนราธิป ใจเด็จ มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคมที่ทำงานร่วมกับกลุ่มคนรุ่นใหม่อาสาคืนถิ่น และ ดร.เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการอิสระ ด้านเศรษฐศาสตร์การเกษตร ชวนพูดคุยโดยคุณวิภาพร วัฒนวิทย์  

วิภาพร : การกลับบ้านต้องใช้ความกล้าอย่างไร วันนี้ผ่านมา 1 ปี ทำอะไรอยู่บ้าง ?

ปาฏิหาริย์ : ปีหนึ่งหลัก ๆ น่าจะเป็นการเรียนรู้ครับ เพราะว่ากล้าก็เหมือนตกงาน ทำบริษัทกับเพื่อน บริษัทเดิมเป็นเทรนนิ่งพอเจอโควิด-19 แล้วไม่สามารถทำอะไรได้เลย ก็เลยกลับมามาช่วยที่บ้าน แม่พ่อทำเกษตรกันก็เลยได้มาทำที่บ้าน เหมือนมาฟื้นฟูอย่างนี้ครับ

แล้ว ณ ตอนนี้ปีหนึ่งเราขยับทำให้มันเกิดรายได้ ตอนนี้ก็เลยขยับมาว่าอยากให้คนมา มันเป็นไอเดียให้คนมาเรียนรู้ มาทำเป็นฟาร์มสเตย์ แต่ด้วยโควิด-19 ก็ไม่สามารถทำได้ แต่โชคดีที่บ้านกล้าติดถนนก็เลยทำเป็นสวน คนผ่านไปผ่านมาก็อยากส่งเสริมเหมือนว่าการทำเกษตรมันสามารถทำได้หลากหลายรูปแบบ มันมีไอเดีย อย่างทั้งหมดคือต้นไม้ที่แม่ปลูกเล่นมาก่อน อันนี้คือไม่ได้ซื้อเลยนะครับ คือแม่ชอบปลูกเล่น เราเอามาเพิ่มมูลค่าเอามาทำอย่างไรให้ดูน่าสนใจ  แล้วก็พึ่งมีทำข้างหน้าบ้าน ประมาณนี้ครับ

วิภาพร : เจอความท้าทายอะไรบ้าง ?

ปาฏิหาริย์ : น่าจะเป็นเรื่องครอบครัวด้วยอีกทีนะ กล้ารู้สึกว่าหนึ่งมันก็เป็นโอกาส แต่อีกความท้าทายคือความคิด สิ่งที่เราทำตอนไปอยู่ในเมือง เพราะว่ากล้าเกิดและโตที่กรุงเทพฯ มาตลอด พอเรามาใช้ชีวิตแบบนี้บางอย่างมันอาจจะเป็นสิ่งใหม่หรือเปล่า มันก็มีทั้งมุมที่บางทีเราก็ไม่รู้ เราก็ผิดพลาด เพราะว่าด้วยบริบทด้วยวัฒนธรรมอย่างนี้ครับเราไม่คุ้นชิน แต่เราเอามาใช้มันก็ไม่โอเค แต่บางอย่างมันเป็นมุมที่สามารถพัฒนาในพื้นที่ได้ แต่ความท้าทายมันก็ขัดแย้งกันเรื่อย ๆ จนถึงทุกวันนี้ ตลอด 1 ปี ก็ขัดแย้งตลอดก็ต้องฝึกเรียนรู้และปล่อยวาง อย่างเช่น กล้าจะมีปัญหากับแม่ก็จะบอกว่า ถ้าอย่างนั้นเอาวิธีแม่ดู จะเป็นอย่างไร แล้วลองวิธีของกล้าดูจะเป็นอย่างไร เพื่อที่จะหาจุดตรงกลางของทั้งคู่

วิภาพร : โอกาสของการกลับบ้านของคุณปาฏิหาริย์ในวัย 25 ปี เห็นโอกาสอะไรบ้าง ?

ปาฏิหาริย์ : สิ่งหนึ่งกล้ารู้สึก คือ การลงมือทำ ด้วยวัยที่แบบว่าเรายังมีแรง มีกำลัง โอกาสในการลงมือทำที่จะพัฒนาและต่อยอดในพื้นที่่ว่ามันง่ายมาก ๆ เรื่องต้นทุนกล้าเชื่อว่าอย่างน้อยถึงไม่มีอะไรเลย  ส่วนใหญ่ถ้ามองต้นทุนเราจะมองเรื่องทรัพยากร เรื่องเงิน แต่กล้ามองอีกมุมหนึ่งทุกคนมีประสบการณ์เป็นต้นทุนเดิม ประสบการณ์ที่ทุกคนอุตส่าห์ใช้ชีวิตแบบฝ่าฝันมารู้สึกว่าเป็นต้นทุนที่มีค่าในการที่จะทำบางสิ่งบางอย่าง ถ้าได้กลับมามองเห็นต้นทุนเหล่านี้รู้สึกว่าทุกคนมีต้นทุนเดิมเยอะมาก กล้ามองอย่างนั้นครับ

วิภาพร : การกลับบ้านอาจไม่ใช่เรื่องสวยงาม ไม่ใช่ทุ่งดอกไม้ ?

นราธิป : อาจจะเท้าความทำไมต้องมองเป็นลาเวนเดอร์ ใช้ชีวิตสโลไลฟ์ แล้วคนรุ่นใหม่กลับไปต้องไปทำแบบนั้นให้มันเกิดขึ้น แต่ความเป็นจริงแล้วมันไม่ใช่เลย มันมีปัจจัยหลายอย่างที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับพวกเขามาก บางคนอยากไปทำแล้วให้มันเกิดความสวยงาม แล้วทีนี้พอไปเจอจริง ๆ มันก็มีทั้งแบบท้อบ้างหรือว่าไม่ทำเลยแล้วก็กลับมาในเมืองอีกเหมือนเดิม ซึ่งเรารู้สึกว่าเราก็เห็นคนหลายกลุ่มที่มีความแตกต่างที่จะกลับบ้านไปเพื่ออะไรบ้าง ซึ่งมันก็จะมีทั้งคนที่มีต้นทุน มีที่ดิน มีเงิน หอบกลับไปทำ สอง คือ คนที่มีต้นทุนที่เป็นแค่บ้าน แต่ไม่มีที่ดินทำกิน ซึ่งมันก็เลยกลายเป็นว่าทำไม มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม ถึงออกแบบเป็นกระบวนการที่พาให้เขามาเจอกันให้ได้ เพราะเรารู้สึกว่าพื้นที่ที่เปิดให้เข้ามาเจอกันมันจะเป็นพื้นที่สร้างกัลยาณมิตรเชิงทักษะ ความรู้ความเข้าใจ

เรารู้สึกว่า คนสองกลุ่มนี้ ถ้ามาเจอกันเมื่อไร มันจะเป็นการมันจะเติมซึ่งกันและกันในพื้นที่ที่เป็นจิ๊กซอว์ที่เขาจะต่อกันได้ ถ้าเข้าไปอยู่ในชุมชนเลยอาจจะมีการหาทิศทางยากลำบากหน่อย ก็เลยอยากจะเปิดทั้งพื้นที่ออฟไลน์ที่เป็นในเชิงกระบวนการที่เราเคยทำมา ในหนึ่งปีเขาจะอยู่กับเรา เรียนรู้ไปตลอดจบกระบวนการมีพื้นที่ทดลอง มีทักษะต่าง ๆ

เราอยากจะทำให้เป็น community ที่เขาพึ่งพากันหรือเกื้อหนุนกันได้อย่างไรบ้าง ซึ่งก็ท้าทายเหมือนกันในเรื่องของกระบวนการ เพราะว่าเราไม่ได้รับคนรุ่นใหม่กลับบ้านที่มาทำเกษตรอย่างเดียว แต่จะมีหลากหลายปัจจัยที่คนกลับบ้านกลับไปแล้ว ก็ไม่ได้ทำการเกษตร ซึ่งมีงานหัตถกรรม งานเด็กเยาวชน งานห้องสมุด

แต่เราต้องหาจุดร่วมให้เจอ แล้วก็ออกแบบกระบวนการให้เขามีส่วนร่วมด้วยกันอย่างไร ทักษะเฉพาะด้านที่เขาต้องไปต่อ แล้วก็พอจบกระบวนการเขาจะไปต่อยอดของเขาได้อย่างไรบ้าง ซึ่งก็ท้าทายมาก ๆ

หลังพิง เชี่ยวชาญ ช่องทาง 3 คำสำคัญในการกลับบ้าน

วิภาพร : อาจารย์คิดว่ายังมีอะไรที่จะต้องหนุนเสริมคนที่ต้องการกลับบ้านไหมคะ ?

ดร.เดชรัตน : ถ้าเราพูดโดยรวม ผมคิดว่ามี 3 เรื่องที่สำคัญ หนึ่ง คือ หลังพิง ต้นทุนที่คุณนราธิปพูดถึง สองคือ เชี่ยวชาญ ที่คุณปาฏิหาริย์ พูดว่าเรามีความรู้ความสามารถอย่างไร แล้วอันที่ สาม คือ ช่องทาง คนรุ่นใหม่ต้องการ 3 ทางนี้ครับ หลังพิง เชี่ยวชาญ แล้วก็ช่องทาง เชี่ยวชาญ บางคนอาจจะเชี่ยวชาญอยู่แล้ว บางคนอาจจะต้องมาปรับให้มันเข้ากับบริบทที่บ้าน แล้วอันสุดท้ายก็คือช่องทาง เพราะอย่างนั้นสิ่งที่รัฐบาลจะสนับสนุนหรือช่วยได้ก็ไล่จาก 3 อย่างนี้ครับ

อย่างแรกคือช่องทางอันนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลจะช่วยได้ ปัจจุบันเขาก็มักจะพูดถึงช่องทางออนไลน์ แต่ช่องทางออนไลน์นี้มันมีโอกาสประสบผลสำเร็จได้ แต่ว่าไม่ใช่ทุกคนนะครับ มันมีโอกาสที่ค่อนข้างจำกัด มันก็เลยจำเป็นที่จะต้องมีช่องทางอื่น ๆ ซึ่งผมคิดว่ารัฐบาลควรจะเปิดช่องทางอื่น ๆ ทั้งในลักษณะของระบบตลาดทั่วไป นั้นก็คือมีพื้นที่ตลาด พื้นที่เรื่องการท่องเที่ยว ในขณะเดียวกันก็อาจจะมีลักษณะที่เป็นการช่องทางของภาครัฐ เช่น จัดหาสินค้าอาหารให้กับโรงเรียน จัดหาให้กับโรงพยาบาลหรือไปทำหน้าที่บางอย่างให้กับหน่วยงานของรัฐ

อย่างเช่น เมื่อครู่ที่คุณนราธิปพูดถึงเรื่องของการทำเรื่องของเด็กและเยาวชน อันนี้ก็คือตัวที่เป็นเพิ่มช่องทางครับ อันที่สองก็คือเพิ่มความเชี่ยวชาญก็คล้าย ๆ กับมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคมทำก็คือเติมความรู้ ผมคิดว่าตอนนี้มีคนช่วยเติมอยู่แล้ว เพียงแต่ว่ารัฐบาลอาจจะให้งบสนับสนุนบางส่วนที่จะทำให้การเติมช่องทางเหล่านี้ทำได้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น ในบรรดาสามตัวนี้ผมคิดว่าเรื่องช่องทางน่าจะทำได้ง่ายสุด

สุดท้ายก็คือหลังพิงครับ จริง ๆ แล้ว ถ้าเรามองดี ๆ หลังพิงมันมี 2 ตัวสำคัญ

หลังพิงตัวแรก คือ ที่ดิน ที่เราจะสามารถใช้ได้ ไม่ว่าจะเป็นที่ดินเกษตร หรือ ถ้าไม่ใช่ที่ดินเกษตรก็ได้ แต่ว่าต้องดีพอ เช่น ทำเลในเชิงการค้าได้ แต่ถ้าไม่มีสองข้อนี้ก็ยาก ในแง่ขของที่ดิน ผมคิดว่ายังมีที่ดินที่เหลืออยู่นะครับทั้งในส่วนที่ดินของรัฐแล้วก็ในส่วนที่ดินของเอกชนที่เสียภาษีที่ดิน รัฐบาลสามารถที่จะไปเจรจาก็ขอที่ดินแปลงนั้น มาลักษณะของการเช่าเพื่อให้คนรุ่นใหม่หรือพี่น้องอื่น ๆ ก็ได้ อาจจะไม่ใช่คนรุ่นใหม่ก็ได้เข้าไปใช้ประโยชน์แล้วก็ลดหย่อนภาษีที่ดินให้ถ้าเป็นแบบนี้ เรื่องการเข้าถึงหลักพิงก็จะได้ง่ายขึ้น

อีกอย่างส่วนหนึ่งที่เป็นหลังพิงข้อที่สอง ก็คือรายได้ หลังพิงที่ดินก็สำคัญแต่ว่าหลังพิงรายได้ก็สำคัญไม่แพ้กัน  ซึ่งหลังพิงรายได้ผมคิดว่ารัฐบาลสามารถทำได้ 2 อย่างคือ หนึ่งคือสวัสดิการพื้นฐานโดยเฉพาะส่วนของคนชรา ส่วนของเด็กถ้าเพิ่มขึ้นคนวัยทำงาน วัยหนุ่มสาววัยทำงานก็จะลดแรงกดดันลงเพราะว่าอย่างน้อยคุณพ่อคุณแม่หรือว่าหลานหรือว่าลูกของเขาก็ยังพอมีที่พึ่งจากรัฐ

ส่วนที่สองคือรายได้ของคนทำงาน ผมคิดว่าการจ้างงานคนหนุ่มสาวที่มาทำงานในพื้นที่ผมว่ามันให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า ถ้าเราลองนึกง่าย ๆ อาจเทียบเคียงกับการเกณฑ์ทหาร 100,000 คน ในแต่ละปี ถ้าเราแบ่งมาสักครึ่งหนึ่ง 50,000 อัตราในแต่ละปี แล้วก็ใช้งบก้อนเดียวกัน เท่ากัน แทนที่จะต้องไปฝึกทหาร ไปทำงานบริการก็เป็นลักษณะของงานในภาคสังคม สร้างความเชี่ยวชาญให้เกิดขึ้นในเรื่องการดูแลเด็ก เยาวชน คนชรา ในเรื่องการพัฒนากลุ่มเกษตรกรต่าง ๆ แบบนี้ครับ คิดว่า 50,000 อัตรา ก็ครอบคลุมทั้งประเทศ อันนี้ก็คือตัวอย่างที่รัฐบาลจะสามารถเติมเต็มได้ทั้งในเรื่องของช่องทาง ความเชี่ยวชาญแล้วก็และก็หลังพิงครับ

นราธิป : ใช่ครับ เรารู้สึกว่า เขา คือ พลังที่เชื่อมระหว่างคนที่อยู่ในวัยเด็กและคนรุ่นก่อน ซึ่งผมว่าเป็นวัยที่อยู่ในช่วงที่มันเป็นกำลังสำคัญ ซึ่งถ้าอย่างที่อาจารย์บอกว่ามันเกิดสวัสดิการ หรือว่าช่องทางต่าง ๆ ที่หน่วยงานภาครัฐอยู่ในท้องถิ่นเกิดการสนับสนุน เกิดมีกองทุนที่หล่อเลี้ยงเขา ทำอย่างไรก็ได้เป็นพื้นที่รองรับเขาให้ได้ก็ต้องทำงานร่วมกับชุมชนไปในตัวด้วย เพราะสมาชิกอื่น ๆ มีความคาดหวังกับเรามาก  คุณเรียนจบมาก็สูง ประสบความสำเร็จมา ทำไมกลับบ้าน แล้วมันยังไง คุณไม่ประสบความสำเร็จหรือ เลยกลายเป็นค่านิยมหรือทัศนคติบางอย่างที่ตอกย้ำเขาอยู่เสมอ แต่คนรุ่นใหม่กลับบ้านที่เราคิด เขาเป็นพลังของชุมชน

วิภาพร : การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นจะมีส่วนสำคัญกับเรื่องนี้อย่างไรบ้างไหม?

ดร.เดชรัตน : คือจริง ๆ มันมีการทำอยู่นะครับ แม้กระทั่งการจ้างงานในส่วนของบัณฑิตที่กลับไปทำงาน ผมคงก็ยังมีอยู่ในโครงการเงินกู้ที่จะมาแก้ไขเยียวยาเรื่องของโควิด-19 ก็มีการทำอยู่ เพียงแต่ว่าไม่ได้ทำภายใต้แนวความคิดที่เชื่อว่าคนรุ่นใหม่จะเข้ามามีบทบาทหรือมาเปลี่ยนแปลง จริง ๆ ประเด็นที่คุณปาฏิหาริย์พูด มันไม่ได้มีแค่โอกาสที่จะได้กลับมาอยู่บ้านแล้วก็เรียนรู้อย่างเดียวหรือลงมือทำอย่างเดียว แต่ว่าโอกาสที่จะได้โอกาสที่เปลี่ยนมุมมองซึ่งกันและกัน ผมคิดว่ามันสำคัญมากที่พูดถึงเมื่อสักครู่

เพราะฉะนั้น รัฐบาลทำอยู่ เพียงแต่ไม่ได้ทำภายใต้มุมมองอย่างที่คุณปาฏิหาริย์หรือคุณนราธิปพูดถึง ก็คือมุมมองที่เห็นถึงศักยภาพมากไปกว่าการจ้างงาน 1 คน แต่มันคือการที่จะเปลี่ยนคนในครอบครัวและก็คนข้าง ๆ บ้านด้วย เพราะอย่างนั้นผมคิดว่าถ้าภาครัฐมองเห็นโอกาสว่ามันคือความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในวงกว้างการดำเนินการก็น่าจะเป็นระบบมากขึ้น

คำว่าเป็นระบบมากขึ้น คือ มีการเชื่อมโยงกันก็มีการเข้าไปเสริมหนุนในการทำให้เกิดการพัฒนาให้ดีขึ้น ผมคิดว่าเวลาเราพูดถึงเรื่องต้นทุนมันอาจจะคล้าย ๆ กับที่คุณปาฏิหาริย์พูด มีประสบการณ์เป็นต้นทุน ผมเลยขอเปลี่ยนคำว่า “ต้นทุน” เป็นคำว่า “หลังพิง” คือ แน่นอนถึงเราจะมีประสบการณ์แต่ถ้าเราไม่มีหลังพิงมันก็คือจะลำบากนิดหนึ่งครับ ถ้าเรามีทั้งประสบการณ์ผมใช้คำว่าเชี่ยวชาญ แล้วเราก็มีทั้งหลังพิงด้วยมันก็จะทำให้เราไปได้ดีขึ้น

ตรงคำว่าหลังพิงมันเป็นอะไรบางอย่างที่รัฐบาลก็ดูจะยังไม่ค่อยเต็มใจที่จะสนับสนุนอย่างเต็มที่หนักคล้าย ๆ มองว่ามันเป็นเรื่องของแต่ละคนไป ซึ่งผมก็คิดว่ามันก็ใช่ส่วนหนึ่ง ขณะเดียวกันถ้าทำให้ทุกคนมีหลังพิงได้ ทุกคนก็จะสามารถดันตัวเองไปยังข้างหน้าได้

รับชมรายการย้อนหลัง นักข่าวพลเมือง #CSite : กลับบ้านเรา เอาอะไรกิน?https://www.facebook.com/330743535084/videos/472982747455322

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ