สืบชะตาลำน้ำเซบาย ครั้งที่ 4 ชาวบ้านย้ำให้ยกเลิกนโยบายโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลภาคอีสาน

สืบชะตาลำน้ำเซบาย ครั้งที่ 4 ชาวบ้านย้ำให้ยกเลิกนโยบายโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลภาคอีสาน

22 เมษายน 2564 ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายตำบลเชียงเพ็ง จัดกิจกรรมสืบชะตาลำน้ำเซบาย ครั้งที่ 4 บริเวณริมลำน้ำเซบาย ท่าเรือโบราณ บ้านเชียงเพ็ง ต.เชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร ในกิจกรรมมีพิธีกรรมตามความเชื่อ เพื่อขอขมาลำน้ำเซบายที่ชาวบ้านเปรียบเสมือนเส้นเลือดหลักของชุมชนที่ได้อาศัยพึ่งพิงใช้ประโยชน์มาหลายชั่วอายุคน

นางมะลิจิตร เอกตาแสง อายุ 60 ปี กรรมการกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายเชียงเพ็ง อ่านคำประกาศโดยกล่าวถึงความสำคัญและเจตนารมณ์ของพิธีสืบชะตาลำน้ำเซบาย และขอให้ยกเลิกนโยบายโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลภาคอีสาน”  โดยชาวบ้านย้ำว่า เป็นเวลา 4 ปีแล้วที่กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายตำบลเชียงเพ็ง ได้ยืนหยัดคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่ตั้งในพื้นที่ ต.น้ำปลีก อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ ในขณะที่โรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีมวลได้ดำเนินการ เข้าสู่ปีที่ 2 แล้ว ซึ่งชาวบ้านรับรู้ได้ถึงมลภาวะที่เกิดจากเสียงดังรบกวนวิถีชีวิตปกติสุขของชุมชน การจราจร และกลิ่น

โดยที่ผ่านมา กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายมีความเคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ชัดเจนในการปกป้องวิถีชีวิตบ้านเกิด ปกป้องทรัพยากร ปกป้องลำเซบาย แต่ไม่ถูกรับฟังซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพพื้นที่และสภาพแวดล้อมอย่างกว้างขวาง

นอกจากนี้ ในคำประกาศยังกล่าวถึงผลกระทบจต่อชุมชนที่ชาวบ้านมองว่ามีความเปราะบาง ทั้ง ชุมชน วัด โรงเรียน ซึ่งจะนำไปสู่การแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด โดยชาวบ้านมองว่า พื้นที่เหล่านี้ควรค่าแก่การอนุรักษ์ฐานทรัพยากร  สร้างความมั่นคงทางอาหาร สร้างฐานเศรษฐกิจชุมชน สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ ที่กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายตำบลเชียงเพ็งพร้อมยืนหยัดปกป้องลำน้ำเซบายเพื่อคนเซบาย

ด้าน นายสิริศักดิ์ สะดวก ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายตำบลเชียงเพ็ง กล่าวว่า วันนี้ทางกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายเชียงเพ็ง ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมสืบชะตาลำน้ำเซบายครั้งที่ 4 ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ระลอกที่สามในการจัดกิจกรรมครั้งนี้เป็นการจัดเฉพาะคนในชุมชน และทางกลุ่มได้ดำเนินการตามการแผนควบคุมโรค ทำให้ทางกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายเชียงเพ็งได้ตระหนักถึงสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้น ในขณะที่ฐานทรัพยากรโดยเฉพาะลำน้ำเซบาย ซึ่งเป็นทั้งแหล่งหาอาหารหลักของชุมชน สามารถสร้างเศรษฐกิจให้แก่คนในชุมชน ก่อให้เกิดรายได้ ทั้งในด้านการเกษตรโดยชุมชนอาศัยน้ำจากลำเซบายในการทำนาปี นาปรัง ปลูกถั่วลิสง ปลูกพืชผัก ใช้เป็นน้ำประปาของหมู่บ้าน และการประมงของชุมชนทั้งสองฝั่งลำเซบาย ในสถานการณ์แบบนี้ชุมชนคำนึงถึงการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรแต่รัฐจะต้องฟังข้อเสนอของชุมชนด้วย

ซึ่งในการจัดกิจกรรมสืบชะตาลำน้ำเซบายมีวัตถุประสงค์คือ  1.เพื่อต่ออายุและความเป็นสิริมงคลจะได้เกิดขึ้นกับลำน้ำรวมทั้งผู้คนในชุมชนไปด้วย การสืบชะตาให้แก่ลำน้ำจึงเป็นการแสดงความศรัทธา ความเคารพและเหนือสิ่งอื่นใดคือการร่วมกันแสดงออกถึงความห่วงใยต่อลำน้ำ  2.เพื่อเป็นการต่อชีวิตให้แก่ลำน้ำ และเป็นการขอขมาต่อลำน้ำสายน้ำที่มีความสำคัญต่อสรรพสิ่งทั้งมวล รวมถึงผู้คนทั้งสองฝั่งลำน้ำและเป็นการกระตุ้นเตือนให้คนที่อาศัยอยู่บริเวณลำน้ำมีจิตสำนึกช่วยกันรักษาสายน้ำแห่งนี้ให้ยืนยาวอย่างยั่งยืน  3.เพื่อสร้างความตระหนักของชุมชน ความหวงแหน ความเห็นคุณค่าจากการใช้ประโยชน์จากลำน้ำเซบาย 

กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายเชียงเพ็ง จึงเรียกร้องไปยังรัฐบาลให้ยุติดำเนินนโยบายโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลในภาคอีสาน และให้ประเมินยุทธศาสตร์ทางด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ชาวบ้านในพื้นที่เข้าไปมีส่วนร่วม และควรหันหน้ามาร่วมกันสร้างความมั่นคงทางอาหารผ่านการปกป้อง ดูแลฐานทรัพยากรอย่างจริงจัง

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ