“ปี๋เก่าก็ล่วงไปแล้ว
ปี๋ใหม่แก้วก็มาฮอดมาเติง
ประเพณีปีใหม่เมืองเฮา
ทั้งหนุ่มเฒ่า เฮาล้วนร่ำเปิง
ต่างก็แห่ฟ้อนรำตามเจิง
สำราญรื่นเริงฮ่วมกันเล่นน้ำ“
เป็นอีกหนึ่งปีที่เพลง ทำนองติดหูนี้ จะไม่เปิดเอิกเกริกเฉกเช่นในหลายปีก่อนการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหญ่ในประเทศไทย บรรดางานบุญงานเทศกาลตามประเพณีปี๋ใหม่เมืองแทบทุกพื้นที่ในภาคเหนือ เช่น ขบวนแห่สงฆ์น้ำพระ ขบวนแห่ไม้ค้ำ งานรดน้ำดำหัวผู้หลักผู้ใหญ่ ต่างต้องยกเลิก ปรับเปลี่ยนรูปแบบเพื่อลดความหนาแน่นของการรวมตัว และงดเว้นการสาดน้ำ ประแป้ง หรือกิจกรรมอื่นใดที่จะมีการสัมผัสใกล้ชิดระหว่างกัน
C-Site แพลต์ฟอร์มแบ่งปันเรื่องสาธารณะ มีพลเมืองในพื้นที่ภาคเหนือ ร่วมปักหมุดสื่อสารบอกเล่าเรื่องราวตามฮีตฮอตภายใต้สถานการณ์ใหม่ ทีมงาน #TheCitizen รวมรวมมาแบ่งปันเจ้า
เลื่อนอ่านได้โดยพลัน หรืออยากแบ่งปันเรื่องราวของชุมชน กิจกรรมตามวิถีวัฒนธรรมในพื้นที่ตัวก็เชิญได้เจ้า ที่ https://www.csitereport.com/dashboard เปิ้นว่าเป็นสวรรค์ของนักปักเจ้า
หมุดจากคุณสรวิชญ์ ชาญจิรกิตติ เล่าถึง การจัดงานสลุงหลวง ที่จังหวัดลำปาง ซึ่งปีนี้ไม่จัดเหมือนเช่นทุกครั้ง เนื่องจากสถานการณ์โควิด19 ทำให้เรางดมา 1 ปี พอมาในปี 2564 สถานการณ์นับตั้งแต่ต้นมีมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ทุกภาคส่วนต่างเล็งเห็นว่าควรจัดให้มีเช่นเดิม เพื่อให้เกิดการผ่อนคลายและดึงดูดการท่องเที่ยวให้กลับมาดีเหมือนเดิม ซึ่งการจัดงานสลุงหลวงครั้งนี้มีอีกปัจจัยนึงคือคนอยากกลับมาบ้าน หลังจากที่ไม่ได้กลับมานาน
แต่การณ์ไม่ได้เป็นไปดังนั้น พอช่วงต้นเมษาทุกอย่างมีการดำเนินการจัดเตรียมต่างๆ ไว้แทบทั้งหมด แต่เมื่อสถานการณ์เริ่มรุนแรงทางจังหวัดและทุกภาคส่วนไม่ได้นิ่งนอนใจจนตัดสินใจยุติการจัดงาน เพื่อรักษาความปลอดภัยให้แก่ประชาชนชาวลำปางทุกคน
อ่านเพิ่มเติม https://www.csitereport.com/newsdetail?id=0000017796
ก่อนหน้านี้มีหมุดของคุณ ชเลฝัน ดิษฐ์ผู้ดี ปักมาเล่ากิจกรรมการเรียนรู้ ภายใต้แนวคิด “สืบฮีตสานฮอย เมืองเจียงใหม่ 725 ปี๋” ณ หมู่บ้านเล็ก ๆ ในต.เหมืองแก้ว อ.แม่ริม ชาวชุมชนดำเนินชีวิตโดยเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมแบบล้านนาอย่างสอดรับกับนโยบายของทางภาครัฐ ลดการออกจากบ้านให้มากที่สุด
อ้ายนุ้ย – ดำรงฤทธิ์ พรหมจารีย์ ศิลปินและครูช่างล้านนา ใช้โอกาสปี๋ใหม่เมืองที่กำลังจะมาถึงและสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 สอนเด็ก ๆในละแวกบ้านในช่วงปิดเทอมทำกิจกรรม “ตัดตุงไส้หมู”
“ตุงไส้หมู” เป็นเอกลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งของชาวล้านนาในวันปี๋ใหม่เมือง “ตุง” ของล้านนา หากเปรียบกับทางภาคกลางคือ “ธง” ซึ่ง “ตุง” มีขนาด รูปร่าง และรายละเอียดแตกต่างกันออกไปตามความเชื่อ และพิธีกรรม ตลอดจนตามความนิยมในแต่ละท้องถิ่น
“ตุงไส้หมู” มีลักษณะเป็นพวง รูปร่างคล้ายแห ทำจากกระดาษสีหรือกระดาษแก้วสีต่างๆ วางซ้อนแล้วพับทแยงมุมหลายๆทบ ใช้กรรไกรตัดสลับเป็นลายฟันปลา เมื่อคลี่ออก และจับหงายขึ้น จะเห็นเป็นพวงกระดาษสวยงาม แล้วนำไปผูกกับไม้ไผ่เหลาเป็นแท่งกลม เพื่อเตรียมที่จะไปปักยังเจดีย์ทรายภายในวัด ในวันพระญาวัน หรือวันเถลิงศก วันที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษโดยสมบูรณ์นั่นเอง
อ่านเพิ่มเติม https://www.csitereport.com/newsdetail?id=0000017787
อีกหมุดหนึ่งจากเชียงใหม่ คุณสามารถ สุวรรณรัตน์ ปักหมุดเล่าถึงงาน ‘ยอสวยไหว้สา พญามังราย’ ตานตุงไชย ฟื้นใจ๋เมืองเชียงใหม่ เฉลิมฉลอง 725 ปี๋เมืองเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 12 เม.ย.
กิจกรรมทางวัฒนธรรม ณ ลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ดำเนินการโดยความร่วมมือของเครือข่ายชุมชน เครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่ ภาคประชาสังคมทั้งในและนอกเมืองเชียงใหม่ พ่อครูแม่ครูภูมิปัญญาล้านนาจากทุกสารทิศ ช่างฟ้อนชุมชน
พร้อมด้วยหน่วยงานภาครัฐนำโดยผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ผู้อำนวยการททท. สำนักงานเชียงใหม่, ตัวแทนอบจ.เชียงใหม่, ตัวแทนกระทรวงวัฒนธรรมฯ , ตัวแทนเทศบาลนครเชียงใหม่, ผู้แทนเจ้านายฝ่ายเหนือ, กลุ่มภาคเอกชน และการท่องเที่ยว, เครือข่ายโฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา, สำนักดาบ ศิลปินดนตรีพื้นเมือง ,เจ้าหน้าที่ตำรวจ, น้องๆ จิตอาสาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ
กิจกรรมยอสวยไหว้สาฯ จัดขึ้น 2 วัน
11 เม.ย. = วันดา ตระเตรียมเครื่องสักการะ พร้อมไปกับงานสาธิตการทำขนมปาด และเครื่องสักการะล้านนา ณ ลานด้านข้างพิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา และการประดับตุงไชย ตุงล้านนาจากหลากหลายพื้นที่ ตุงจากกลุ่มชาติพันธุ์ และพ่อครูแม่ครูภูมิปัญญาล้านนา พร้อมกับการประดับตุงไชย ที่ได้จากการ ‘ฮอม’ จากประชาชนทั่วไป จำนวน 126 ผืน
12 เม.ย. = งานยอสวยไหว้สา พญามังราย
มีกิจกรรมแห่เครื่องสักการะ การถวายเครื่องสักการะ นำโดยผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ตัวแทนหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และตัวแทนชุมชน
ทั้งนี้ การจัดงานไหว้สาฯ ปีนี้จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 9 แม้จะมีอุปสรรคมากมาย ทั้งข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ และการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้รูปแบบงานที่วางแผนเอาไว้ไม่สามารถดำเนินงานได้โดยเฉพาะกิจกรรม ‘ฟ้อนเล็บ’ ของจ้างฟ้อนชุมชน ซึ่งทุกปีจะร่วมกันฟ้อน 700-800 คนเป็นประจำ
อย่างไรก็ดีในวันนี้งาน ‘ยอสวยไหว้สาฯ’ ประจำปี 2564 ก็สำเร็จเสร็จสิ้น อย่างงดงาม ด้วยความรัก สามัคคี ร่วมมือร่วมใจ ร่วมรักษาวิถีวัฒนธรรม และการ ‘ฮอม’ เพื่อเมืองและจังหวัดเชียงใหม่อันเป็นที่รัก
อ่านเพิ่มเติม https://www.csitereport.com/newsdetail?id=0000017790
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมและมาตรการป้องกันโควิด-19 ต่าง ๆ ที่น่าสนใจ อาทิ
ตรวจโควิดเข้มก่อนเข้าวัดเจ็ดยอด พระอารามหลวง รวมถึงกิจกรรมในภูมิภาคอื่น ๆ ในประเทศไทย ซึ่งทีมงาน #TheCitizen จะรวบรวมมานำเสนอต่อไป และชวนผู้อ่านร่วมแบ่งกันเรื่องราวท่ีน่าสนใจผ่านทาง C-Site เผื่อเพื่อน ๆ ที่อาจจำเป็นต้องกักตัวหรือไม่ได้เดินทางกลับถิ่นฐานบ้านเกิดจะได้คลายความระลึกบรรยากาศของวันสงกรานต์ งานปี๋ใหม่เมือง ที่เราทุกคนถวิลหา