ฮีตฮอยโบราณ ปี๋ใหม่เมืองล้านนา 64 สรุปวันไหน ทำอะไรให้ปังรับวันสังขานต์ล่อง

ฮีตฮอยโบราณ ปี๋ใหม่เมืองล้านนา 64 สรุปวันไหน ทำอะไรให้ปังรับวันสังขานต์ล่อง

ถ้าปฏิทินมีไว้บอกวันและเวลาหยุดทำงาน ปักกะตืนปีใหม่เมืองล้านนาจะเอาไว้บอกอะไร?

ภาพโดยสุขธรรม โนบาง

ส่วนหนึ่งมีไว้บ่งชี้ ตามคติการข้าม ผ่านปีจากโลกทัศน์ที่ต่างกัน สงกรานต์อาจหมายถึงวันปีใหม่ไทย ซึ่งกำหนดไว้เป็นวันที่ 13 ขณะที่สงกรานต์ของชาวเหนือล้านนา ไม่เหมือนกัน ชวนทำความเข้าใจผ่านการ “อ่าน” หนังสือปีใหม่เมือง ประกาศสงกรานต์ของชาวล้านนา ที่กำกับกิจกรรมของหมู่เฮาจาวเหนือในช่วงสำคัญของการเริ่มต้น การเปลี่ยนผ่านของทุกปี โดยเฉพาะปีนี้ ปีร้วงเป้า ปีของการเถลิงศกในช่วงของการระบาดครั้งใหม่ของโควิด-19

เปิดผ่อปักกะตืนล้านนา เปิ้นว่า ปี๋นี้ วันสังขานล่อง คือ วันพุธที่ 14 เมษายน วันพญาวัน คือ วันศุกร์ที่ 16 เมษายน

เปิดดูหนังสือปีใหม่เมืองล้านนา ระบุว่า ปี 2564 นี้วันมหาสงกรานต์ คือวันที่พุธที่ 14 เมษายน ส่วนวันเถลิงศก คือ วันศุกร์ที่ 16 เมษายน

“หนังสือปีใหม่เมืองล้านนา ประจำปีพุทธศักราช 2564 จุลศักราช 1383 ตัว ปีร้วงเป้า ไทยว่าปีฉลู ตรีศก ปีนี้สังขนาต์ล่องเดือน 8 เหนือ ออก 3 ค่ำ พร่ำว่าได้วันที่พุธที่ 14 เมษายน วันไท เป็นวันเต่าสี วันพญาวันหากได้วันศุกร์ที่ 16 เมษายน วันไท เป็นวันกาบสะง้า ในวันสังขานต์ล่องนั้นหื้อไปสู่สระน้ำใหญ่ จอมปลวกใหญ่ หนทางไตว่สี่เส้น หรือต้นไม้ใหญ่ กระทำการสระเกล้าดำหัวหื้อเป็นสิริมังคละ ด้วยน้ำขมิ้นส้มป่อย สระเกล้าดำหัว หื้อเบ่นหน้าไปหนใต้ แล้วหื้อนุ่งผ้าใหม่ เหน็บดอกบุนนาคอันเป็นพญาดอกประจำปี”

หนังสือปีใหม่เมือง ปฏิทินปีใหม่พื้นเมืองที่พิมพ์จำหน่าย สามารถพบเห็นได้ตามตลาดท้องถิ่นในช่วงนี้

เข้าใจความนัย หนังสือปี๋ใหม่เมือง

หนังสือปีใหม่ (อ่านว่า หนังสือปี๋ใหม่) เป็นเอกสารที่ทำขึ้นเพื่อบอกกล่าวให้คนทั่วไปรู้เกี่ยวกับปีใหม่ที่จะมาถึง โดยจะบอกเวลาที่ สังกรานต์ (อ่านว่า สังขาน) จะล่อง คือ การที่ดวงอาทิตย์จะ “สงฺกฺรานฺติ” ย้ายจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษในวันใดเวลาใด พร้อมนั้นก็จะให้ข้อมูลด้วยว่าในช่วงเวลาที่สังกราน์ล่อง คือ พระอาทิตย์ย้ายราศีนั้น ผู้คนควรจะ ดำหัว คือ สระผมแล้วผินหน้าไปทางทิศใด มีดอกไม้ใดที่พึงประดับเกล้ามวยผม และควรกระทำเยี่ยงใดจึงจะเป็นมงคล บอกด้วยว่าวันเนา คือ ช่วงที่พระอาทิตย์ย้ายจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษแล้ว แต่ยังสถิตได้ไม่เต็มที่จึงต้อง “เนา” ไว้ก่อน (แต่คนทั่วไปมักจะเข้าใจกันว่าเป็นวันเน่า) ก่อนที่จะเข้าสู่วันพระญาวัน คือ วันเถลิงศกขึ้นปีใหม่อย่างเต็มที่

หนังสือสารานุกรมล้านนา ของ หนังสือปีใหม่ หรือ ประกาศสงกรานต์ แบบล้านนา แตกต่างจากแบบภาคกลาง ดังเห็นได้จากล้านนาไม่มีตำนานเรื่องท้าวกบิลพรหมกับธรรมบาลกุมาร แต่เป็นเรื่องที่กล่าวถึง “ขุนสังกรานต์” ซึ่งหมายถึงพระอาทิตย์และวิถีการเดินทางของพระอาทิตย์

จากรายงานการวิจัยการชำระปฏิทินและหนังสือปีใหม่เมืองล้านนา ซึ่งคณะวิจัยของ ศ. ดร. อุดม รุ่งเรืองศรี และคณะ ได้ค้นคว้าจากพับสา (สมุดข่อยแบบล้านนา) จากแหล่งต่าง ๆ พบว่า ต้นฉบับที่พบนั้นมีข้อมูลที่คลาดเคลื่อนกันไปเล็ก ๆ น้อย ๆ โดยคณะวิจัยใช้วิธี “สืบสร้างข้อนิพนธ์สถาปนา” archetype เพื่อสร้างฉบับใหม่ที่น่าจะใกล้เคียงกับฉบับดั้งเดิม แล้วใช้ต้นฉบับอื่นทุกฉบับเป็นฉบับสอบเทียบ หากข้อมูลไม่ลงรอยกันก็จะพิจารณาปรึกษาผู้รู้

หรคุณ หรือ อหังคณอัตตา หมายถึงจำนวนวันตั้งแต่จุลศักราชเป็นต้นมาจนถึงวันที่ต้องการทราบหรือวันทำพิธี แต่ในทางปฏิบัติมักจะคำนวนถึงวันพระญาวัน แล้วบวกจำนวนวันเพิ่มไปตามต้องการ

สูตรการคำนวณหาหรคุณของวันพระญาวันมีอยู่หลายแนว อ.ทวี สว่างปัญญากูร ได้รวบรวมไว้ เช่น สูตรในคัมภีร์สุริยยาตร และพบในเอกสารโบราณล้านนามากที่สุดมีอยู่ว่า “นำเลขจุลศักราชตั้งคูณด้วย 292207 บวกด้วย 373 แล้วหารด้วย 800 บวกด้วย 1 ผลลัพธ์ที่ได้เป็นเลขหรคุณวันพระญาวัน ส่วนสูตรที่ปรับปรุงขึ้นในภายหลังที่นิยมกันมากคือ เอาเลขจุลศักราชตั้ง คูณด้วย 365.25875 บวกด้วย 1.46625 ผลลัพธ์ที่ปัดเศษทิ้งแล้วคือเลขหรคุณวันพระญาวัน

ส่วนวันต่าง ๆ ของปี๋ใหม่เมือง มีอะไรบ้าง ชวนมาทำความเข้าใจกันต่อ  

วันสังกรานต์ล่อง (อ่าน สังขานล่อง)
หมายถึง วันมหาสงกรานต์ คือ วันสุดท้ายของปีที่ “ขุนสังกรานต์” หรือ พระอาทิตย์จะ “สงฺกฺรานฺติ” คือ ย้ายจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษเพื่อเริ่มศักราชใหม่ ในวันนี้ตำราล้านนาจะให้ลายระเอียดว่า “ขุนสังกรานต์” ที่เคลื่อนไปในวันที่ต่างกันจะมีสีเสื้อผ้า สิ่งที่ถือ อิริยาบถ ยานพาหนะ ทิศทางที่จะไป ชื่อนางเทวดาที่จะรับขุนสังกรานต์ อาการที่รับ ผู้ที่จะได้รับความเดือดร้อนในปีนั้น เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในปีนั้น ของที่จะแพง เหตุที่จะเกิดกับประชาชน และจะบอกปริมาณน้ำฝนที่จะมีในปีซึ่งจะมาถึงในปีนั้นด้วย  

วันเนา
วันเนา คือ วันที่อยู่ระหว่างวันสังกรานล่อง (อ่าน สังขานล่อง) กับวันพระญาวัน (วันเถลิงศก) เป็นช่วงเวลาที่พระอาทิตย์ย้ายจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษนั้นยังไม่เข้าเต็มที่ ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ต้อง เนา หรือตรึงไว้ชั่วคราวก่อนอย่างการเนาผ้า (แต่มีความเชื่อว่าเป็นวันเน่า และในกลุ่มไทลื้อก็มีนิทานประกอบ “วันเน่า” อีกด้วย  

วันพระญาวัน วันพระญาวันหรือวันเถลิงศก ซึ่งเป็นประธาณ หรือวันแรกของปีใหม่นั้น   ถัดจากวันพระญาวันไปแล้ว วันแรกก็ คือ วันปากปี (อ่าน “ปากปี๋) วันที่สอง คือ วันปากเดือน วันที่สาม คือ วันปากวัน และวันที่สี่ คือ วันปากยาม  

หนังสือปีใหม่ก็จะให้ข้อมูลของจำนวนนาคให้น้ำ แต่ละปีจะมีจำนวนนาคที่ให้น้ำต่างกัน มักถือว่าหากจำนวนนาคมีมาก จำนวนน้ำก็จะน้อย จำนวนห่าฝน จะบอกจำนวนห่าฝนที่ตกในป่าหิมพานต์ในมหาสมุทร ในเมืองมนุษย์และจักรวาล ที่สำคัญคือการบอกทิศอว่ายหน้า คือ หันหน้าไปสู่ทิศที่กำหนดไว้ในหนังสือปีใหม่ เพื่อความเป็นศิริมงคล

ดอกบุนนาค ที่มา : องค์การสวนพฤกษ์ศาสตร์ http://www.qsbg.org/database/botanic_book%20full%20option/search_detail.asp?botanic_id=817

สรุปปี๋ใหม่เมืองล้านนา-โควิด 2564

  • 14 เมษายน 64 วันสังขานต์ล่อง ตามฮีตฮอยโบราณให้เก็บกวาดบ้านเรือนให้สะอาดน่าอยู่น่าอาศัย นุ่งผ้าใหม่ สระผมหันหน้าไปทางทิศใต้ ทัดดอกหรือประดับด้วยบุนนาค
  • 15 เมษายน 64 วันเนา พึงละเว้นสิ่งไม่ดี หากมีโอกาสให้ขนทรายเข้าวัดใช้หนี้ธรณีสงฆ์ ถวายตุงเป็นพุทธบูชา
  • 16 เมษายน 64 วันพญาวัน วันปี๋ใหม่เมือง นิยมตักบารตทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ล่วงลับ
  • รวิสังขานต์แต่งองค์ทรงเครื่องสีดำ

2564 เป็นอีกปีที่ ปี๋ใหม่ไม่เหมือนเคย หลายกิจกรรมทางประเพณีตามวิถีวัฒนธรรมจำต้องถูกยกเว้น ปรับเปลี่ยนรูปแบบเพื่อลดความเสี่ยง การรับ-แพร่โรคระบาด ที่สุดคือการอยู่ด้วยกันอย่างเข้าใจ ตามคำกล่าว “ใหม่ก็เอา เก่าก็บ่ละ” เพื่อน ๆ จาวเหนือได้ไปทำบุญเนื่องในวันสงกรานต์กันที่ไหน ก็ร่วมบอกเล่าเรื่องราว บันทึกการเปลี่ยนผ่านของชุมชนและสังคมของเราได้ทางแอปพลิเคชัน C-Site

อ้างอิง

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ