” ปีใหม่เมืองเฮายังอยู่ แต่เปลี่ยนวิธีไป “

” ปีใหม่เมืองเฮายังอยู่ แต่เปลี่ยนวิธีไป “

ในช่วงสงกรานต์ปี 2563 ที่ผ่านมา เนื่องด้วยวิกฤตการณ์ของไวรัสโควิด-19 ทำให้การจัดงานปีใหม่ไทย ตามขนบเดิมได้ถูกยกเลิกไป เพื่อลดปัญหาการชุมนุมของคนจำนวนมาก ลดความเสี่ยงการแพร่เชื้อตามคำสั่งของภาครัฐบาล

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในปีนี้ ผมเห็นปรากฎการณ์ครับ ปรากฎการณ์การปรับตัว ปรับเปลี่ยน เพื่อพยายามรักษาประเพณีที่ดีงาม อย่างประเพณีสงกรานต์นี้ไว้ ผมเห็นหลายพื้นที่ หลายชุมชน ไม่ปล่อยให้วันดี ๆ วิถีที่เคยปฎิบัติมาตั้งแต่รุ่นสู่รุ่นหายไป พวกเขาปรับเปลี่ยนรูปแบบวิถีปฏิบัติเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อรักษาสงกรานต์ ปี 2563 เอาไว้ บนพื้นฐานการเว้นระยะห่างทางสังคม

ผมเห็นวัดท่าล้อ ต.บ่อแฮ้ว อ.เมือง จ.ลำปาง เขามีการจัดสถานที่ไว้รองรับญาติโยมที่จะมาทำบุญในวันสงกรานต์ครับ ซึ่งทุกปี ประเพณีสงกรานต์ในทางภาคเหนือจะมีการไปตานขันข้าวพระ ทำบุญให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ถึงแม้ทางวัดคาดว่า ปีนี้ ญาติโยมที่มาทำบุญจะไม่มาก แต่วัดก็ยังมีมาตรการต่าง ๆ มาเพื่อป้องกันทุกคนให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อโควิด อย่างเช่น การจัดจุดล้างมือ หรือการจัดเก้าอี้ให้มีความห่างกัน พร้อมรณรงค์และควบคุม ให้ญาติโยม ไม่มาวัดพร้อมกัน มาแล้วต้องรีบกลับ นอกจากนี้การให้พรของพระ ยังปรับเปลี่ยนเป็น การให้พรผ่านเสียงตามสายให้ญาติโยมทุกคนได้รับพรกันถ้วนหน้าที่บ้านของตัวเอง

จัดเก้าอี้ให้ห่างกัน ลดความเสี่ยงการแพร่เชื้อ
ตั้งจุดล้างมือ รองรับญาติโยมที่มาทำบุญ

นอกจากในพื้นที่จังหวัดลำปางแล้ว ขึ้นเหนือกันอีกนิดครับ ไปที่จังหวัดเชียงราย ที่บ้านแม่ห่าง ต.เวียงกาหลง อ.เวียงป่าเป้า ที่นั่นทางวัดแม่ห่าง และผู้นำชุมชน เขาร่วมมือกันปรับเปลี่ยนกิจกรรมทางประเพณี อย่างประเพณี “สืบชะตาส่งเคราะห์”  ที่เป็นประเพณีซึ่งเชื่อกันว่า เป็นการต่ออายุหรือต่อชีวิตของบ้านเมืองหรือของคนให้ยืนยาว ซึ่งปกติในทุก ๆ ปี จะมาทำกิจกรรมกันที่วัด แต่ปีนี้มีการเว้นระยะห่างสังคม ผู้นำชุมชนกับวัดก็เลยเกิดความคิดสร้างสรรค์ ว่าต้องเอาวัดไปที่บ้าน

“ แล้วเอาไว้ที่บ้านอย่างไร ? ”

วัดและผู้นำชุมชน เขาร่วมกันจัดการสืบชะตาทำบุญสะเดาะเคราะห์เป็นแบบดีลิเวอรี่ ฟังไม่ผิดครับ แบบดีลิเวอรี่ วิธีการ คือจะนิมนต์พระสงฆ์ในวัด ขึ้นไปบนรถที่จัดเตรียมไว้พร้อมทั้งรดน้ำพุทธมนต์ ผสมน้ำยาฆ่าเชื้อ ออกเดินสายรดน้ำมนต์ให้ทุกหลังคาเรือน พร้อมกับให้พร สร้างความเป็นสิริมงคลกับทุกคนในชุมชน สืบสานประเพณีปีใหม่เมือง

เดินทางตามสายบิณฑบาตร
ให้พรบ้านทุกหลัง

“ ทำทุกอย่างเหมือนที่วัด แต่ปรับเปลี่ยนไปทำที่หน้าบ้าน ”

พระครูโฆษิตสมณะคุณ เจ้าอาวาสวัดแม่ห่าง จ.เชียงราย เล่าว่า

“เพื่อให้เป็นขวัญและกำลังใจแก่ชาวบ้าน  เพราะว่าหัวใจของปีใหม่เมือง คือการสืบชะตาส่งเคราะห์ เพราะว่าในปีที่ผ่านมา เราอาจจะได้ทำไม่ดีไม่งาม จึงอยากจะส่งเคราะห์ แต่ในเมื่อปีนี้ ภาครัฐไม่ให้ทำ ซึ่งถ้าไม่ทำชาวบ้านจะขำใจ เราก็เลยบอกว่าไม่เป็นไร ถ้าอย่างงั้น เดี๋ยวพระสงฆ์จะไปทำให้หน้าบ้าน ทำพิธีต่าง ๆ เหมือนกับมาวัด แต่ว่าย้ายสถานที่ จากวัดไปสู่บ้าน”

พระครูโฆษิตสมณะคุณ เจ้าอาวาสวัดแม่ห่าง จ.เชียงราย

“ชาวบ้านจะขำใจ” ในที่นี้แปลว่า ถ้าเกิดไม่ได้ทำการส่งเคราะห์ ชาวบ้านจะคาใจครับ รู้สึกขาดอะไรสักอย่าง รู้สึกจะทำอะไรก็ติด ๆ ขัด ๆ ซึ่งการทำแบบนี้ ก็เป็นการปรับเปลี่ยนวิถี แต่ยังคงรักษาประเพณีไว้ ชาวบ้านบอกว่า

 “กิจกรรมนี้ถือว่าเป็นกิจกรรมที่ดี และเป็นการให้กำลังใจให้ประชาชนที่ไม่ได้ไปวัด ได้มีโอกาสทำบุญอยู่ที่บ้าน”

ชาวบ้านชุมชน บ้านแม่ห่าง ต.เวียงกาหลง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย

“ดีใจในปี 2563 นี้ พาลูกพาหลานสร้างเจดีย์ทรายหน้าบ้าน ถวายไว้เป็นบุญในภายภาคไปหน้า”

ชาวบ้านชุมชน บ้านแม่ห่าง ต.เวียงกาหลง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย

การสืบชะตาส่งเคราะห์ ดีลิเวอรี่ พระสงฆ์สามเณร จะออกพรมน้ำพุทธมนต์ทุกหลังคาเรือน ตามสายบิณฑบาตในหมู่บ้าน ตั้งแต่เวลา 08.30 น. จนกว่าจะพรมน้ำมนต์ฆ่าเชื้อครบทุกหลังคาเรือนถึงกลับวัด

เรื่องราวจาก : สามเณรชาแนล

นี่เป็นเพียงแค่ 2 พื้นที่ ที่ผมเห็นว่ามีการสืบสานประเพณีปีใหม่เมือง ของคนเหนือ กับวิถีที่เปลี่ยนไป ซึ่งผมเชื่อเหลือเกินว่า ยังมีอีกหลายพื้นที่ หลายภาค หลายจังหวัด ที่ปรับเปลี่ยนวิธีการทำบุญในช่วงโรคคระบาดโควิดนี้ ซึ่งถึงจะมีหลายวิธีการ หลายการปฏิบัติที่แตกต่างกันออกไป ตามวัฒนธรรมของพื้นที่นั้น ๆ  แต่ปลายทางเหมือนกันครับ ซึ่งเพื่อรักษาประเพณีเก่าแก่ของไทยเราเอาไว้

สวัสดีปีใหม่ไทยครับ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ