อยู่ดีมีแฮง : สายน้ำแห่งชีวิต คน-โขง-เลย กับความหวังท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง

อยู่ดีมีแฮง : สายน้ำแห่งชีวิต คน-โขง-เลย กับความหวังท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง

“เฮามีความหวัง ขอทุกคนมีความหวังที่สิสู้ ให้สู้ต่อ…เพื่อลูกหลานของเฮาไปหน้า เพื่อให้แม่น้ำเลยได้เป็นแหล่งทำมาหากิน และสืบทอดประเพณีวัฒนธรรม อย่างเช่น ประเพณีสงกรานต์ของชาวไทพวน มิให้สูญหายไป” มุด อุ่นทุม หญิงสูงวัยผู้ซึ่งเติบโตและพึ่งพาอาศัยแหล่งทรัพยากรในแม่น้ำเลยมาไม่น้อยกว่า 50 ปี กล่าวสั้น ๆ ประมาณ 2 นาที ด้วยสำเนียงภาษาไทพวนบ้านกลาง ถึงแม้ท่วงทำนองดูจะไม่ดุดันหนักแน่นเหมือนนักเคลื่อนไหว แต่ด้วยถ้อยคำและความหมายอันลึกซึ้งซึ่งถูกกลั่นกรองมาจากก้นบึ้งของหัวใจแล้ว ทำเอาบรรยากาศใต้ร่มไผ่ริมแม่น้ำเลยเงียบงัน แลดูเข้มขลังจนแทบจะลืมหายใจไปชั่วขณะ

เป็นคำตอบของคำถามสุดท้ายก่อนปิดเวทีสนทนา อยู่ดีมีแฮงโสเหล่ “สายน้ำแห่งชีวิต คน-โขง-เลย” ที่ริมแม่น้ำเลย ณ บ้านกลาง ต.ปากตม อ.เชียงคาน จ.เลย เมื่อวันที่ 22 มีนาคม ที่ผ่านมา ซึ่งผู้ดำเนินรายการได้ให้แต่ละคนกล่าวความรู้สึกถึง “ความหวัง” ต่อการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขง และแม่น้ำเลยที่กำลังเกิดวิกฤติ

มิพักต้องกล่าวถึง แม่น้ำโขง เป็นแม่น้ำนานาชาติที่มีความยาวประมาณ  4,900 กิโลเมตร ไหลผ่าน 6 ประเทศ คือ จีน เมียนมา ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ก่อนออกสู่ทะเลจีนใต้ ซึ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพ และมีระบบนิเวศอุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ตลอดจนการก่อกำเนิดประเพณี วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของคนลุ่มน้ำ แม่น้ำโขงจึงเปรียบเสมือนสายน้ำแห่งชีวิต คอยทำหน้าที่หล่อเลี้ยงผู้คนมากกว่า 60 ล้านคน

สำหรับประเทศไทย แม่น้ำโขงไหลผ่าน 8 จังหวัด คือ ภาคเหนือ 1 จังหวัด และ 7 จังหวัดของภาคอีสาน โดยเริ่มจากบริเวณ สบรวก สามเหลี่ยมทองคำ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย และไหลไปทางทิศตะวันออก ผ่าน อ.เชียงของ ก่อนไหลเข้าประเทศลาวที่แก่งผาได อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย แล้วไหลวกกลับเข้ามายังดินแดนไทยอีกครั้งที่ บ้านท่าดีหมี อ.เชียงคาน จ.เลย ก่อนจะไหลไปตาม จ.หนองคาย, บึงกาฬ, นครพนม, มุกดาหาร, อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี รวมระยะทางเป็นพรมแดนกั้นระหว่างไทย-ลาวมีความยาวกว่า 1,000 กิโลเมตร

โขงเปลี่ยน เขื่อนแปร แลอีสาน

ข้อมูลจากสถาบันชุมชนลุ่มน้ำโขง ระบุว่า เมื่อปี 2539 เขื่อนกั้นแม่น้ำโขงตัวแรกชื่อ “ม่านวาน” สร้างเสร็จผลกระทบเริ่มเกิดขึ้นโดยน้ำลดลงผิดปกติ 

ปี 2543 ผลกระทบเกิดชัดเจน น้ำโขงผันผวนขึ้น ๆ ลง ๆ ซึ่งเห็นชัดในช่วงหน้าแล้ง (มกราคม-เมษายน)  

ปี 2545-2546 เกิดผลกระทบรุนแรงอย่างเห็นได้ชัดในช่วงหน้าแล้ง น้ำโขงขึ้นลงทุก 3 วัน เพราะมีการเก็บกักน้ำและปล่อยน้ำเพื่อทำโครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขง  

ปี 2551 เกิดน้ำท่วมรุนแรงซึ่งเห็นได้ชัดว่าเกิดจากเขื่อนจีนเพราะเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม ซึ่งไม่มีฝนตก  

และปี 2553 เกิดน้ำโขงแห้งรุนแรงช่วงเดือนมีนาคม ซึ่งความผิดปกติที่กล่าวมานี้ เกิดขึ้นในแม่น้ำโขงช่วง จ.เชียงราย นอกจากน้ำท่วมในปี 2551 ที่เกิดขึ้นในภาคอีสานด้วย หลังจากนั้นมาแม่น้ำโขงก็มีการผันผวนมาโดยตลอดน้ำขึ้น ๆ ลง ๆ รายวัน จากปกติที่ใช้เวลาในการขึ้นและลง 3-4 เดือน

ไม่เพียงแต่เท่านั้นยังมีแผนที่จะสร้างเขื่อนขนาดใหญ่กั้นแม่น้ำโขงตอนล่างอีก 11 เขื่อน ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนปากแบ่ง เขื่อนหลวงพระบาง เขื่อนปากลาย เขื่อนสานะคาม เขื่อนปากชม เขื่อนบ้านกุ่ม เขื่อนลาดเสือ เขื่อนท้าค้อ เขื่อนดอนสะโฮง เขื่อนสตึงเต็ง และเขื่อนซำบอ

ภาพ : เพียรพร ดีเทศน์

ในแง่มุมที่เกี่ยวกับระบบนิเวศ ปัญหาใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในบริเวณประเทศไทย คือ 1) การปิดกั้นเส้นทางปลา ซึ่งในจำนวนกว่า 1,200 – 1,700 ชนิดพันธุ์ของปลาแม่น้ำโขง 39% ของปลาที่จับได้เป็นปลาที่มีวงจรชีวิตต้องอพยพทางไกล  2) การเปลี่ยนแปลงการไหลของน้ำทั้งปริมาณและช่วงเวลา ปริมาณการไหลและการขึ้นลงอย่างผิดธรรมชาติจะส่งผลถึงการทำลายระบบนิเวศลุ่มน้ำและพันธุ์ปลา การกัดเซาะตลิ่งทำลายพื้นที่เกษตรและที่อยู่อาศัย การใช้น้ำเพื่อการเกษตรและอุปโภคอย่างน้ำประปา การเปลี่ยนร่องน้ำและเส้นพรมแดน  3) การปิดกั้นตะกอน ซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญมากต่อระบบนิเวศพื้นที่ริมฝั่ง และการเกษตรริมฝั่งโขง

เมื่อปี 2562 เขื่อนไซยะบุรี ซึ่งเป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำแห่งแรกที่สร้างกั้นแม่น้ำโขงตอนล่าง ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศลาว บริเวณแขวงไซยะบุรี ห่างจากแขวงหลวงพระบาง ประมาณ 80 กิโลเมตร และตั้งอยู่เหนือน้ำจากชายแดนไทยที่ อ.เชียงคาน จ.เลย ประมาณ 200 กิโลเมตร เดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้า (เริ่มทดลองเดินเครื่องเดือนกรกฎาคม 2562 และเปิดอย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคม 2562)

แม้จะเป็นโครงการเขื่อนในประเทศลาว แต่เกี่ยวข้องโดยตรงกับประเทศไทย เนื่องจากว่าเป็นเขื่อนที่มีวัตถุประสงค์หลักในการผลิตกระแสไฟฟ้าราว 1,285 เมกะวัตต์ เพื่อขายให้กับประเทศไทยมากถึง 95 % และดำเนินการก่อสร้างโดยบริษัทรับเหมาของไทย

ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ให้ความเห็นผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ว่า การผลิตกระแสไฟฟ้า และการควบคุมการขึ้น-ลง ของน้ำในแม่น้ำโขงที่ไม่เป็นไปตามกลไกธรรมชาติของฤดูกาล เป็นสาเหตุให้แม่น้ำโขงแห้ง ซึ่งผลกระทบที่ตามมาก็คือการทำลายวงจรชีวิตของสัตว์น้ำ ถึงตอนนี้มีสัตว์น้ำที่ตายไปแล้วเป็นจำนวนมาก และกำลังจะเป็นผลกระทบที่รุนแรงต่อห่วงโซ่อาหารสัตว์น้ำในแม่น้ำโขง

จากการขึ้น-ลงที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติของแม่น้ำโขงยังทำให้พืชน้ำโดยเฉพาะ ป่าไคร้ หรือ ต้นไคร้ ยืนต้นตาย ดังปรากฏให้เห็นเป็นบริเวณกว้างตั้งแต่ อ.ปากชม จ.เลย ถึง อ.สังคม จ.หนองคาย ซึ่งต้นไคร้มีความสำคัญต่อระบบนิเวศในแม่น้ำโขง คือเป็นที่อยู่อาศัยของปลาและนกนานาชนิด รวมถึงการเป็นแหล่งอนุบาลพันธุ์ปลาและสัตว์น้ำขนาดเล็ก เนื่องจากปกติแล้วป่าเหล่านี้จะมีน้ำท่วมถึง 6 เดือน ทำให้ป่าเหล่านี้ไม่ตาย พอถึงหน้าแล้งก็จะกลับมาเขียวชอุ่มเหมือนเดิม

นอกจากนี้ก็เกิดปรากฏการณ์น้ำในแม่น้ำโขงใส ไร้ตะกอนเป็นบริเวณกว้างตลอดสายแม่น้ำโขงอีสาน ในวิชาการเรียกภาวะแบบนี้ว่า “hungry river” หรือ “ภาวะไร้ตะกอน” น้ำเป็นสีฟ้าคราม และไหลนิ่ง ซึ่งภาวะไร้ตะกอน จะส่งผลเสียต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขง เพราะการขาดธาตุอาหารที่ไหลมากับน้ำ ส่งผลกระทบต่อสาหร่าย พรรณพืชขนาดเล็กๆ ไปจนถึงพรรณพืชขนาดใหญ่ในลุ่มน้ำ

สถานการณ์ล่าสุด ชาญชัย ดาจันทร์  รายงานในเพจ “Mekong Voice เสียงจากลำน้ำโขง” คือปรากฏการณ์ระดับน้ำโขง บริเวณ อ.ปากชม จ.เลย แห้งขอด จนทำให้ไกหรือเทา ซึ่งเป็นชนิดสาหร่ายในแม่น้ำโขงแห้งตายเป็นบริเวณกว้าง สาหร่ายเหล่านี้คือที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ เป็นที่วางไข่และเป็นที่อนุบาลสัตว์น้ำ นี่คือหายนะต่อระบบนิเวศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

ภาพ : ชาญชัย ดาจันทร์ 

เหตุการณ์เหล่านี้เป็นปรากฏการณ์ส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นกับคนลุ่มน้ำโขงอีสาน ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่ออาชีพการทำประมงพื้นบ้าน การปลูกพืชผักริมโขง ตลอดจนวิถีชีวิต ประเพณี และวัฒนธรรมที่พึ่งพิงแม่น้ำโขง อาทิ งานบุญแข่งเรือ ประเพณีไหลเรือไฟ และลอยกระทง ฯลฯ จำต้องผันแปรไปตามสายน้ำที่ผันผวน

สายน้ำแห่งชีวิต

แม่น้ำเลย มีต้นกำเนิดจาก ภูก๊อกซาก ในเทือกดอยภูหลวง ตรงต้นน้ำชาวบ้านเรียกว่า เลยวังไสย์ เพราะน้ำใสสะอาดมาก แม่น้ำเลยลัดเลาะไปตามหุบห้วยของดอยภูหลวง ไหลลงสู่ที่ราบในเขต อ.ภูหลวง อ.วังสะพุง อ.เมืองเลย แล้วไหลไปบรรจบกับแม่น้ำโขงที่บ้านคกมาด อ.เชียงคาน จ.เลย ตรงจุดที่แม่น้ำเลยไหลบรรจบกับแม่น้ำโขง ชาวบ้านเรียกว่า ปากเลย รวมความยาวของแม่น้ำเลยทั้งสิ้น 231 กิโลเมตร มีพื้นที่ลุ่มน้ำ 4,010 ตารางกิโลเมตร มีลำน้ำสาขาคือ ลำน้ำสวย ลำน้ำหมาน และลำน้ำลาย หมู่บ้านที่อยู่ติดกับแม่น้ำเลยที่ได้ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำเลยทั้งสิ้น 75 หมู่บ้าน

ปัจจุบันกำลังมีโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำศรีสองรักอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เลย ที่ปากแม่น้ำเลย ข้อมูลจากกรมชลประทานระบุว่า ลักษณะโครงการ เป็นการขุดคลองช่องลัดเพื่อย่นระยะทางการไหลของน้ำบริเวณโค้งลำน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ รวมทั้งก่อสร้างประตูระบายน้ำศรีสองรัก 2 แห่ง บริเวณคลองช่องลัด และบริเวณลำน้ำเดิม (แม่น้ำเลย) โดยประตูระบายน้ำทั้ง 2 แห่ง จะทำหน้าที่บริหารจัดการน้ำในแม่น้ำเลย บานประตูระบายน้ำสามารถปิดเพื่อยกระดับน้ำให้สูงขึ้นและเก็บกักน้ำไว้ในแม่น้ำเลยได้ 6 ล้านลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้ ยังมีสถานีสูบน้ำพร้อมระบบท่อส่งน้ำความยาวประมาณ 99 กิโลเมตร ทำหน้าที่ส่งน้ำสนับสนุนพื้นที่เกษตรกรรมทั้งสองฝั่งแม่น้ำเลย บริเวณ อ.เชียงคาน ครอบคลุมพื้นที่ 7 ตำบล มีพื้นที่ได้รับประโยชน์ในช่วงฤดูฝน 72,500 ไร่ และฤดูแล้งอีกกว่า 18,100 ไร่

โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการผันน้ำโขง-เลย-ชี-มูล (งบประมาณลงทุนกว่า 2.69 ล้านล้านบาท) ซึ่งพลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา ในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้รื้อฟื้นโครงการที่ศึกษาความเป็นไปได้ที่แล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2535 ขึ้นมาใหม่ โดยมอบหมายกรมชลประทาน ศึกษาความเหมาะสมและสำรวจออกแบบโครงการ เมื่อปี 2560 รัฐบาล คสช.  ได้อนุมัติให้ดำเนินโครงการ ในงบประมาณ 5,000 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 5 ปี ตั้งแต่ปี 2562-2566

บ้านกลาง ห่างจากพื้นที่การก่อสร้างโครงการประตูระบายน้ำศรีสองรักฯ ประมาณ 15 กิโลเมตร มีลักษณะพื้นที่ต่ำ และเป็นแอ่งกระทะ ชาวบ้านจึงมีความห่วงกังวลต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้น หากมีการกักน้ำและเปิดน้ำเลยซึ่งเคยไหลตามปกติ จะทำให้มีความเสี่ยงต่อปัญหาน้ำท่วม ซึ่งชาวบ้านที่นี่เคยเผชิญกับสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่มาแล้วในอดีต เมื่อปี 2521 และ 2545

 ย้อนกลับมาที่วงสนทนาใต้ร่มไผ่ริมแม่น้ำเลย มุด อุ่นทุม ชาวบ้านกลาง กล่าวว่า

เฮาฮักแม่น้ำเลยที่สุด เพราะแม่น้ำเลยเป็นแหล่งทรัพยากร ได้ทำมาหากินหล่อเลี้ยงชีวิตของคนที่นี่มาตั้งแต่บรรพบุรุษ ไม่ว่าจะเป็นการหาหอย หาปู หาปลา และปลูกผักริมน้ำเลย นอกจากนี้ก็มีประเพณี วัฒนธรรมของชาวไทพวน ซึ่งแสดงถึงความเคารพต่อแม่น้ำเลย เฮาจึงมีความผูกพันกับแม่น้ำเลยที่สุด

มุด อุ่นทุม ชาวบ้านกลาง ต.ปากตม อ.เชียงคาน จ.เลย

ขณะที่ ดร.มาลี สิทธิเกรียงไกร ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ข้อมูลว่า บ้านกลางมีลำห้วยสาขา 18 ลำห้วย เป็นหมู่บ้านเดียวที่พึ่งพิงทรัพยากรในแม่น้ำเลย จากการศึกษาวิจัยเมื่อปี 2560-2561 ร่วมกับชาวบ้านที่นี่เก็บข้อมูลเรื่องกุ้ง หอย และปลาบางชนิด ในบางช่วงเวลา ก็ได้พบข้อมูลที่น่าสนใจว่าทรัพยากรในแม่น้ำเลยมีมูลค่ามากถึง 8 ล้านกว่าบาท ส่วนพื้นที่ข้างบนก็มีการปลูกข้าว แม้ว่าจะเป็นการปลูกเพื่อบริโภค แต่ปรากฏว่าสามารถตีเป็นเงินได้มากถึง 13 ล้านบาทในปีเดียว

ชุมชนมีกติการ่วมกันในการดูแลรักษาแม่น้ำเลย ชาวบ้านถามหาสิ่งเดียวคือถามหากระบวนการมีส่วนร่วม ข้อดี-ข้อเสียของการทำประตูระบายน้ำ หน่วยงานที่รับผิดชอบก็ไม่เคยให้ข้อมูลว่าระดับน้ำจะท่วมแค่ไหน

“ตรงนี้ก็ยังไม่มีนักเศรษฐศาสตร์แปรมูลค่าความสัมพันธ์ และวัฒนธรรมของชาวบ้านกับแม่น้ำเลยว่าถ้าสูญเสียไปจากการถูกน้ำท่วมมันจะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งเป็นความสูญเสียที่ไม่ถูกคิดคำนวณไว้ ไม่สามารถชดเชยความเป็นจริงที่เป็นอยู่” ดร.มาลี กล่าว

เมื่อเรามีความหวัง ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง

เมื่อถูกถามถึงความหวัง ไพเราะ สุจินพรัหม เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน ได้กล่าวว่า สิ่งที่พอมองเห็นในความหวังในเรื่องลุ่มน้ำโขงตอนนี้ ถ้าในระดับนโยบายของหน่วยงานก็แทบจะมองไม่เห็น (ความหวัง) แต่ในระดับพื้นที่ก็ยังเห็นความหวังของประชาชนที่ตระหนักในปัญหาแล้วลุกขึ้นมารวมตัวกันเพื่อปกป้องและฟื้นฟูทรัพยากร อีกทั้งการรวมตัวกันจะทำให้เกิดพลังในการต่อรองกับอำนาจที่กดทับลงมา

ความหวังต่อมาก็คือการศึกษาวิจัยชุมชนที่มีส่วนร่วมจากคนหลายกลุ่ม ซึ่งในหลายพื้นที่จะเห็นว่างานวิจัยชุมชนช่วยหนุนเสริมและถ่ายทอดองค์ความรู้ของชุมชน จนเกิดเป็นธรรมนูญชุมชน มีการวางกฎกติกาเพื่อใช้ประโยชน์ในพื้นที่ร่วมกัน ดังเช่นที่ อ.บุ่งคล้า จ.บึงกาฬ ชาวบ้านได้จัดสรรพื้นที่เพื่อทำการเกษตรริมโขง หรือการปรับตัวของชุมชนทำการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ที่ อ.เชียงคาน จ.เลย และ อ.สังคม จ.หนองคาย อย่างนี้เป็นต้น

ดร.มาลี กล่าวว่า ชาวบ้านเขารู้ว่าน้ำโขงได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว แต่ความหวังของเราก็คือ ทำให้ชาวบ้านในลุ่มน้ำโขง หรือลุ่มน้ำสาขามีอำนาจในการต่อรองกับผู้สร้างเขื่อน หรือผู้มีอำนาจในการปิด-เปิดประตูระบายน้ำ หรือประตูเขื่อน ว่าจะทำอย่างไรให้แม่น้ำโขงกลับคืนสู่ธรรมชาติมากที่สุด

ดร.มาลี สิทธิเกรียงไกร ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ที่ผ่านมาชุมชนลุ่มแม่น้ำโขง รวมทั้งภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูระบบนิเวศแม่น้ำโขง ก็มีความหวัง และเรามีความพยายามทำงานร่วมกันอยู่ 3 ระดับ

ระดับแรกคือ พยายามที่จะส่งเสียงปัญหาของผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยเมื่อเดือนธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา เราก็มีการจัดตั้งสภาประชาชนลุ่มน้ำโขงขึ้น ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของประชาชนที่ใช้แม่น้ำโขง องค์กรพัฒนาเอกชน และหน่วยงานวิชาการ ซึ่งสภาอันนี้ก็เป็นการทำให้เกิดความหวังของการฟื้นฟูแม่น้ำโขง หรือเรียกร้องความชอบธรรมให้กับชุมชนที่อยู่ริมแม่น้ำโขง

อันที่สอง คือ ณ ตอนนี้มันมีข้อมูลที่คลาดเคลื่อนกันหรือข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์แบบที่ให้กับชาวบ้าน ดังนั้น ทำอย่างไรจะทำให้คนที่อยู่ริมแม่น้ำโขงหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบได้ข้อมูลอย่างรอบด้าน และทำอย่างไรจะทำให้ผู้ที่กำหนดนโยบายได้เห็นข้อมูลอีกด้านหนึ่งที่เขามองไม่เห็นหรือหลงลืมไป โดยเราใช้กระบวนการงานวิจัย หรือที่เรียกว่างานวิจัยท้องถิ่น ระดับที่สาม คือเรามีความหวังกับเยาวชน เพราะฉะนั้นเราจะต้องถ่ายทอดความรู้ และประสบการณ์ ทักษะการใช้ชีวิต การหาอยู่หากิน กับระบบนิเวศแม่น้ำโขง แม่น้ำเลย ให้กับเยาวชน อันนี้ก็เป็นงานที่เราจะต้องทำร่วมกัน เพื่อทำให้เรามีความหวังร่วมกันฟื้นฟูและเรียกร้องสิทธิ เรียกร้องความชอบธรรมของคนที่อยู่แม่น้ำโขง แม่น้ำเลย

ดร.มาลี สิทธิเกรียงไกร จากศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวทิ้งท้ายเพื่อให้เรามีความหวังต่อการเรียกร้องสิทธิ และความชอบธรรมให้กับแม่น้ำ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ