จนถึงวันนี้ยังคงมีผู้อพยพหนีภัยการสู้รบในประเทศเมียนมาริมแม่น้ำสาละวิน ตรงข้าม อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน กว่า 1,000 คน จากเมืองมือตรอ รัฐกะเหรี่ยง กว่า 34 หมู่บ้าน ยังคงหลบซ้อนตัวอยู่ในบริเวณแนวป่า และข้างแม่น้ำสาละวิน ฝั่งประเทศเมียนมา ไม่กล้ากลับไปอยู่ในที่ตั้งหมู่บ้านเดิม เพราะไม่มั่นในในความปลอดภัย เนื่องจากยังมีเครื่องบินเข้ามาในเขตเมืองทุกวัน และยังคงมีเสียงระเบิดดังขึ้นเป็นช่วงๆ โดยเฉพาะเมื่อคืนวานนี้ ได้ยินเสียงระเบิดดังมากหลายครั้งในฝั่งตรงกันข้ามบ้านท่าตาฝั่ง ต.แม่ยวม อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน
ที่ผ่านมามีความพยายามระดมความช่วยเหลือของภาคประชาสังคม และหน่วยงานต่างๆ ส่งไปถึงผู้ลี้ภัยสงครามเพื่อให้การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม โดยเฉพาะเรื่องของอาหารและเครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ ที่ขาดแคลน ซึ่งมีคนเริ่มทยอยนำสิ่งของต่างๆมาบริจาค แต่ช่วงต้นยังคงติดค้างอยู่บริเวณด่านชายแดน จนได้มีการพูดคุยหารือระหว่างทีมภาคประชาสังคมและเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่เพื่อกำหนดแนวทางในการจัดการ ทำให้เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2564 เรือลำแรกที่นำข้าว อาหารแห้ง ยา ลงเรือไปส่งก่อนจุดผ่อนปรนบ้านแม่สามแลบ ขนถ่ายลงเรือ เดินทางตามแม่น้ำสาละวินไปยังศูนย์อพยพอิตูท่า ในรัฐกะเหรี่ยงใช้เวลาเดินทาง ประมาณ 2 – 3 ชั่วโมง จากนั้นผู้นำที่ดูแลค่ายอพยพอิตูท่าจึงรับสิ่งของไปกระจายต่อให้ผู้อพยพ โดยจะมีคณะกรรมการดูแลทุกขั้นตอน โดยผู้อพยพชาวกะเหรี่ยงทยอยเดินเท้ากันออกมา เป็นกองทัพมด แบกข้าวสารอาหารแห้งไปเลี้ยงครอบครัว เพราะพวกเขาบอกว่า ความหิว ความเจ็บป่วยรอไม่ได้
“อาหารพื้นบ้าน” ชุดหมาก ปลาแห้ง ปลาทูเค็ม ถั่วเหลือง เกลือ พริกแห้ง หัวหอมและหลายอย่างๆ ถูกจัดเป็นชุด เพราะเป็นสิ่งของที่จำเป็นในการดำรงชีวิต ที่ภาคประชาชนที่ช่วยกันบริจาคเล็งเห็นว่ามีสอดคล้องกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม สภาพพื้นที่ของชายแดน ไปจนถึงยา นมสำหรับเด็ก เสื้อผ้า ผ้าใบ อุปกรณ์กันฝน จะช่วยให้ผ่านความอดอยากและหนาวเย็นจากพายุฝนที่กระหน่ำมาเมื่อต้นเดือน ขณะเดียวกันก็มีเป้สำหรับเด็กเพื่อจะบรรจุสิ่งต่างๆ พร้อมเขียนชื่อ-สกุล เพื่อในยามพลัดหลงในช่วงหนีภัยจะได้สามารถตามหาครอบครัวและผู้ปกครองได้ง่ายขึ้น
นอกจากคนไทยที่มีความเห็นใจผู้เดือดร้อนจากภัยสงครามแล้ว นักศึกษาเมียนมาในประเทศไทย ก็พยายามออกมาระดมทุน เพื่อส่งความช่วยเหลือไปยังผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงริมชายแดนไทยด้วยเช่นกัน อย่างเมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2564 ก็มีการทำอาหารมาขายที่จังหวัดเชียงราย เพื่อส่งต่อไปยังผู้ที่ต้องไร้ที่พักพิงในรัฐกะเหรี่ยงและรัฐคะฉิ่น
แต่จนถึงวันนี้ก็ยังคงมีคำถามในการขนส่งข้าวของต่างๆ ไปช่วยเหลือผู้ลี้ภัยที่ยังคงมีข้อจำกัดอยู่ ยังขาดความชัดเจน ซึ่งมีรายงานจากพื้นที่มาว่ามีทหารชุดใหม่เข้าไปตั้งด่านเพิ่มเติม ตามเส้นทางลำเลียงอาหารของชาวบ้าน และการจัดการที่ให้ทุกคนนำสิ่งของไปบริจาคที่กิ่งกาชาด หรือกาชาดจังหวัดซึ่งอยู่ในเมืองแม่ฮ่องสอน ซึ่งห่างจากจุดที่ผู้ลี้ภัยอยู่ซึ่งคือชายแดนเขตอำเภอแมสะเรียง ซึ่งห่างกันกว่า 200 กิโลเมตร ก็ย่อมต้องมีการจัดการเพิ่ม ขณะเดียวกันกิ่งกาชาดก็รับบริจาคได้เฉพาะของแห้ง รวมถึงการที่ยังไม่ได้กำหนดวิธีการส่งมอบและยังมีเงื่อนไขว่าต้องได้รับอนุญาตจึงจะส่งของไปให้ผู้ลี้ภัยได้ แต่คนส่งต้องมาจัดส่งเองเพราะกาชาดไม่มีคนดำเนินการและไม่มีรถขนส่ง
จึงมีความพยายามและข้อเสนอจากภาคประชาชนที่จะทำให้เกิดแนวทางในการบริหารจัดการร่วมกันเกิดขึ้น ทั้งการวางกระบวนการจัดการผ่านทางกาชาดที่ชัดเจนเพื่อไม่ให้ข้าวของที่บริจาคถึงผู้ที่เดือดร้อนได้เร็วที่สุด ไม่ไปชะงักหรือกระจุกตัวอยู่ที่สภากาชาด โดยอาจจะมีการวางแผนร่วมกับประชาชน และให้บทบาทฝ่ายทหารในการอำนวยความสะดวกขนส่งการช่วยเหลือให้ทั่วถึงทุกกลุ่มรวม รวมถึงชุมชนไทยที่ได้รับผลกระทบด้วย ซึ่งอาจจะต้องกำหนดวันส่ง รายการสิ่งของ และพื้นที่ที่จะนำไปให้ชัดเจน พร้อมทั้งมีการจัดส่งในทุกๆ อาทิตย์ เพื่อไม่ให้เกิดการตกค้าง และคงต้องมีการประชุมหารือเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมนั้นไปถึงมือทุกคนที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างแท้จริง
นับตั้งแต่ 1 ก.พ. 64 กองทัพเมียนมาทำรัฐประหารเข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศ ส่งผลให้มีการออกมาประท้วง ความรุนแรง และการสู้รบเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในเขตปกครองของกองกำลังชาติพันธุ์ที่อยู่ริมชายแดนไทย ซึ่งแม้ว่ากองทัพเมียนมาออกแถลงการณ์หยุดยิงฝ่ายเดียว 1 เดือน มาตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2564 แต่กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ก็ยังคงไม่ไว้วางใจ ยังคงเตรียมการสู้รบ และรับการโจมตีจากกองทัพเมียน มาในขณะที่ฝังบ้านแม่สามแลบ อ.แม่สะเรียง ยังคงได้ยินเสียงระเบิดดังอยู่เป็นระยะ ซึ่งชาวบ้านฝั่งไทยก็ยังคงหวาดกลัว และเตรียมการอพยพหากมีความรุนแรงเกิดขึ้น
รวมถึงคงต้องติดตามต่อว่าการสู้รบจะขยายพื้นที่ออกไปหรือไม่ เพราะกองทัพเมียนมา อาจจะเปิดยุทธการทางทหารกับสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน (RCSS) ที่ออกมาประกาศว่าจะอยู่กับฝ่ายประชาชน อาจนำไปสู่การขยายพื้นที่สู้รบแนวชายแดนไทย- เมียนมา ตรงข้าม จ.แม่ฮ่องสอน ถึง จ.เชียงราย ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็จะมีผู้อพยพหนีภัยสงครามเพิ่มมากขึ้น ทางไทยคงต้องหาแนวทางในการจัดการ ทั้งเรื่องพื้นที่ปลอดภัยตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล หรือการดูแลความปลอดภัยและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับคนไทยริมชายแดน