ไม่มีพรมแดนระหว่างฉันและเธอ ณ อิตุท่า

ไม่มีพรมแดนระหว่างฉันและเธอ ณ อิตุท่า

“ มีหลายคนได้กล่าวว่า เวลาที่เราเดินทางเรามักจะพบเห็นสิ่งที่แปลกหูแปลกตามากมาย ทุกย่างก้าวที่เดินพร้อมไปกับแรงบันดาลใจเล็ก ๆ นั้น เราจะสัมผัสถึงคุณค่าของการเดินทางและประสบการณ์ชีวิตที่บางครั้งยากที่จะอธิบายออกมาเป็นคำพูด ”

 ผมเป็นเด็กชาวเขาคนหนึ่งที่เข้ามาศึกษาต่อในเมืองเพื่อพัฒนาความรู้ของตนเองและทักษะชีวิตของตน พื้นที่สังคมในเมืองและบนดอยนั้นต่างกันมาก ไม่ว่าจะเป็นภาษา วัฒนธรรม ค่านิยม ร่วมถึงการดำเนินชีวิตของผู้คน แต่นั้น คือ จุดเริ่มต้นของการเดินทางในชีวิตของผมเอง และการเดินทางนี้เองก็ คือ จุดเริ่มต้นของ ชีวิตเด็กชาวเขาอย่างผมและผองเพื่อนกับงานชายขอบ

การเดินทางสู่การเป็นครูอาสาในรัฐกะเหรี่ยงประเทศเมียนมาในค่ายผู้พลัดถิ่นอิตุท่านั้น เริ่มต้นในช่วงปลายฤดูหนาวโดยการชักชวนจาก อาจารย์ วินัย บุญลือ ท่านเคยทำงานในเมียนมา มามากว่า 10 ปีและท่านมีความเข้าใจในประวัติความเป็นมาของประเทศนี้เป็นอย่างดี ท่านชวนให้ผมไปทำงานกับกลุ่มคนชายขอบในช่วงปิดภาคเรียนของผม เมื่อผมตอบตกลงต่อจากนั้นไม่กี่วันผมและเพื่อน ๆ ก็เริ่มออกเดินทาง ซึ่งตอนนั้นเองผมพึ่งเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นปีที่ 1 ชีวิตของผมก็เหมือนเด็กมหาลัยทั่วไปถ้าไม่อยู่ห้องสมุดก็ออกไปสังสรรค์กับเพื่อน

การตกลงไปเป็นครูอาสา ณ รัฐกะเหรี่ยงประเทศเมียนมาซึ่งห่างจากบ้าน ห่างจะพ่อแม่ และต้องอยู่กับคนต่างพื้นที่นั้น ผมคิดว่าต้องเริ่มปรับตัวใหม่ทั้งหมด แต่นั้นละคือจุดเริ่มต้นที่ได้เปลี่ยนแปลงชีวิตของผมมากมาย เพราะมันทำให้ผมได้เข้าใจว่ายังมีอีกหลายชีวิตที่อาศัยอยู่ในสังคมโลกอันกว้างใหญ่นี้ถูกสังคมและเพื่อนมนุษย์ด้วยการเองละเลยที่จะไม่เอาใจใส่ ละเลยที่จะให้ความช่วยเหลือ ละเลยที่จะดูแล และสังคมโลกกำลังเพิกเชยต่อพวกเขาในฐานะเพื่อนมนุษย์ร่วมโลกด้วยเช่นกัน

ซึ่งจุดเริ่มต้นของการเดินทางนั้น เริ่มต้น ณ แม่น้ำสาละวินซึ่งไหลผ่านชายแดนไทยและรัฐกะเหรี่ยงประเทศเมียนมา ซึ่งติดฝั่งไทย ณ หมู่บ้านแม่สามแลบ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน เวลาเดินทางข้ามชายแดนจากฝั่งไทยเพื่อเข้าสู่รัฐกะเหรี่ยงนั้นต้องเดินทางโดยใช้เรือเพื่อข้ามไปยังจุดหมาย ตลอดเวลาการเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมงนั้น ผมได้สัมผัสถึงวิถีชีวิตของคนลุ่มแม่น้ำสาละวินที่มีความผูกผันกับแม่น้ำสายนี้และผืนป่าที่ยังเขียวขจีตลอดสองฝากฝั่ง คนในลุ่มแม่น้ำสาละวินนั้นมีอาชีพขับเรือรับจ้างในการหาเลี้ยงชีพ และอีกอาชีพหนึ่ง คือ หาปลาในลุ่มแม่น้ำสาละวิน

ผมและผองเพื่อนใช้ชีวิตการเป็นครูอาสาในค่ายผู้พลัดถิ่นกับเด็กชายขอบในรัฐกะเหรี่ยงเป็นเวลา 2 เดือน นับว่าเป็นช่วงเวลาที่มีค่าและคุ้มค่าสำหรับการเดินทางและการรับหน้าที่เป็นครูอาสา สถานที่ที่ผมสอนนั้น เด็ก ๆ และผู้ปกครองของพวกเขาล้วนเป็นผู้พลัดถิ่นที่ลี้ภัยจากสงครามจากความขัดแย้งการสู้รบระหว่างกองกำลัง KNU หรือ สหภาพรัฐกะเหรี่ยง และกองทัพของรัฐบาลทหารเมียนมาซึ่งการสู้รบของทั้งฝ่าย 2 ฝ่ายนี้ ทำให้ชาวบ้านต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นในรัฐของตัวเองเนื่องจากภัยสงคราม 

การเรียนการสอนในค่ายผู้พลัดถิ่นนั้นเด็ก ๆ ที่นั้นจะได้เรียนทั้งหมด 8 วิชาหลัก ซึ่งประกอบไปด้วย วิชาภาษากะเหรี่ยง วิชาภาษาเมียนมา วิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ สุขาศึกษา สังคมศึกษา ประวัติศาสตร์ และวิชาภาษาอังกฤษ โดยการศึกษาทั้งหมดทั้งในค่ายผู้พลัดถิ่นอิตุท่าและรัฐกะเหรี่ยงทั้งหมด ระบบการศึกษาทั้งหมดจะอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลโดยกระทรวงศึกษารัฐกะเหรี่ยงหรือ KECD ย่อมาจาก Karen Education Culture Department ส่วนพวกผมและผ่องเพื่อนในฐานะรับหน้าที่เป็นครูอาสานั้นพวกเราจะเน้นในส่วนของ ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เพราะว่าภาษาทั้ง  2  ภาษานี้เป็นภาษาที่สำคัญเพราะเด็ก ๆ และชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในค่ายแห่งนี้จำเป็นต้องใช้ภาษาไทยเพราะชาวบ้านต้องเดินทางข้ามฝากมาซื้อ ข้าวสาร และสิ่งอำนวยความสะดวกทางฝั่งชายแดนไทย ส่วนภาษาอังกฤษเด็ก ๆ ต้องใช้ในเวลาเรียนหรือสอบวัดความรู้ทางด้านวิชาการ พวกเราจะสอนเด็กๆในโรงเรียนตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ เริ่มสอนตั้งแต่ 7:30- 15:50 น.

เด็ก ๆ ในค่ายผู้พลัดถิ่นอิตุท่าแห่งนี้ไม่ค่อยได้สัมผัสกับโลกภายนอกเพราะพวกเขาไม่มีสัญชาติรวมถึงชาวบ้านทั้งหมดที่อาศัยอยู่ในค่ายแห่งนี้ด้วย ดังนั้นมุมมองเกี่ยวกับชีวิตและความฝันของเด็กบางครั้งกลายเป็นความรู้สึกที่น้อยเนื้อต่ำใจสำหรับพวกเขาที่ไม่สามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้อย่างสะดวกเหมือนคนทั่วไป ดังนั้นงานอาสาของพวกเราอีกอย่างหนึ่ง คือ การให้กำลังใจแก่พวกเขาผ่านทางประสบการณ์ของพวกเราเอง พวกเราพยายามบอกกล่าวไห้พวกเขาเหล่านั้นว่า

“ ถึงแม้ว่าพวกเธอเกิดมาต้องหนีสงคราม ต้องอยู่แบบหลบๆซ่อนๆ ไม่มีสัญชาติ ความฝันที่เคยฝันและโอกาสอาจจะไม่เท่ากับเด็กๆอีกหลายๆคนในสังคมที่ดีกว่าพวกเธอ แต่พวกเธอสามารถเติบโตในค่ายแห่งนี้ด้วยความสุขได้ พวกเธอสามารถช่วยเหลือคนในค่ายแห่งนี้ได้ ผ่านวิชาความรู้ที่ได้ร่ำเรียน พวกเธอสามารถช่วยเหลือคนได้ ช่วยครอบครัวของเธอได้ เราสามารถหาความสุขจากสิ่งที่เรามี อย่าเอาชีวิตของตนเองไปเปรียบกับชีวิตของคนอื่นเพราะมันจะนำให้เรานั้นไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง”

ตลอดระยะเวลาที่พวกเราสอนอยู่ในค่ายแห่งนี้ ทุก ๆ เย็นหลังจากเราทานข้าวร่วมกับเด็ก ๆ หรือสอนการบ้านให้เด็กเสร็จเรียบร้อย พวกเราจะออกไปเยี่ยมชาวบ้านตามบ้านต่าง ๆในค่ายผู้พลัดถิ่นแห่งนี้ เพื่อเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างครูอาสากับชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในค่ายแห่งนี้ เวลาเราออกไปเยี่ยมชาวบ้าน เราจะถามถึงชีวิตของพวกเขาเหล่านั้น ชีวิตและประสบการณ์จากการหนีสงคราม เวลาที่พวกเขาเล่าเรื่องชีวิตความเป็นมาให้กับพวกเราฟัง มันทำให้พวกเรารับรู้ถึงชีวิตของพวกเขามากขึ้น ทำให้เราได้ย้อนกลับมามองชีวิตของพวกเราแต่ละคนว่า พวกเรานั้นโชดดีมากที่ได้เกิดมาแล้วไม่ต้องหนีสงคราม มีชีวิตที่สงบไม่ต้องกังวลถึงเรื่องอาหาร หรือแม้แต่สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ

แน่นอนว่า การทำงานในค่ายผู้ลี้ภัยแห่งนี้ ผมและผองเพื่อนรวมถึงชาวบ้านและเด็ก ๆ ทุกคน เราต่างยังต้องเฝ้าระหว่างสถานการณ์ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพราะพื้นที่ที่เรารับหน้าที่เป็นครูอาสานั้นยังเป็นพื้นที่การสู้รบและสามารถเกิดการสู้รบได้ตลอดเวลา แต่ท่ามกลางความไม่แน่นอนเหล่านี้ ผมและผ่องเพื่อนได้สัมผัสถึงความจริงใจและใสซึ่งของเด็ก ๆ ที่ผมและเพื่อน ๆได้มีโอกาสสอน 

ความประทับใจในระยะเวลา 2 เดือนนั้นคือการที่ได้เห็นเด็ก ๆ ที่เราสอนนั้นมีความตั้งใจที่จะพยายามเรียนรู้ภาษาใหม่ ถึงแม้ว่าภาษาไทยจะเป็นภาษาที่ยากสำหรับพวกเขา ไม่ว่าเรื่องการฝึกการอ่านเสียง การเขียน หรือแม้แต่การที่พวกเขาเหล่านั้นพยายามจะสื่อสารกับเรา มันก็เป็นสิ่งที่ยากสำหรับพวกเขาแล้ว แต่สิ่งที่ทำให้พวกเราไม่ท้อในการสอน คือ การได้เห็นพวกเขาพยายามเข้ามาหาพวกเราเพื่อที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ จากครูอาสา 

ตลอดระยะเวลาที่พวกเราได้อาศัยอยู่ท่ามกลางเด็ก ๆ และกับชาวบ้านในค่ายผู้พลัดถิ่นอิตุท่าพวกเรายังได้สัมผัสอีกมุมหนึ่งถึงปัญหาของผู้พลัดถิ่นไม่ว่าเรื่องสิทธิมนุษยชนในประเทศเมียนมาที่ยังมีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ สภาวะสงครามและความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์และรัฐบาลทหารเมียนมา

เราได้รับรู้ถึงความเหลื่อมล้ำของสังคมที่เราอาศัยอยู่ พวกเราเองไม่ได้แค่ไปสอน แต่เราร่วมดำเนินชีวิตกับชาวบ้านและเด็ก ๆ ท่ามกลางความไม่แน่นอน พวกเรามีความสุขที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับชีวิตพวกเขาเหล่านั้นถึงแม้ว่าจะเป็นช่วงเวลาที่สั้น ๆ แต่เราก็ได้รับบทเรียนที่ล้ำค่ากับชีวิตในการเป็นครูอาสาในพื้นที่ ที่น้อยคนจะเข้าไป 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ