“ฅือซู่อ๊อต้า”
ประเพณีของคู่แต่งงานใหม่ ชาติพันธุ์กะเหรี่ยงสะกอร์
![](https://thecitizen.plus/wp-content/uploads/2021/04/1-1-1024x768.jpg)
คู่แต่งงานหวังครองเรือนอย่างมีความสุขมั่นคง แสดงผ่านสัญลักษณ์ในพิธีกรรมต่างกันไปตามคติความเชื่อ เช่น ลึกเข้าไปในหุบเขาที่สลับซับซ้อน ของชุมชนกะเหรี่ยงสะกอร์ บ้านสบลาน อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ยังคงมีธรรมเนียมให้เห็นว่า “ข้าวปลาอาหาร เป็นของสำคัญ” และการเตรียมผ้าใหม่ใส่วันแต่งงาน แสดงสถานะของฝ่ายหญิง แม้บางครอบครัวผสมผสานประเพณีแบบไทย แต่ยังคงสัญลักษณ์สำคัญของชีวิตคู่นี้ไว้อยู่
![](https://thecitizen.plus/wp-content/uploads/2021/04/1617275654106.jpg)
หมุดจากภาคพลเมืองที่ปักมา https://www.csitereport.com/newsdetail?id=0000017627 ทำให้เรามองเห็นมุมมิติของ “คนอยู่กับป่า” พึ่งพิงและพึ่งพาอาศัยป่า ผ่านประเพณีอันอบอุ่น และน่ารักของคู่แต่งงานใหม่ ประเพณี “ตือซู่อ๊อต้า” หรือ ประเพณีหาปลาหลังแต่งงานของชาวกะเหรี่ยงสะกอร์ ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ
![](https://thecitizen.plus/wp-content/uploads/2021/04/ob708b9469abc1a6012e1032e553324ef_4620693218533266178_210401_3-1-1024x767.jpg)
“ปลา” เป็นสัญลักษณ์ ความอุดมสมบูรณ์และความมมั่นคงทางอาหารของคนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงสะกอร์ที่นี่ เมื่อนำมาบวกกับความเชื่อ ที่ว่ากันว่า หลังแต่งงานของชาวกะเหรี่ยงสะกอร์ คู่บ่าวสาวจะต้องไปหา ปลา ปลาอะไรก็ได้ที่นำมาทานได้ ยิ่งหาได้มากเท่าไหร่ก็ยิ่งทำให้ครอบครัวนั้นมีความรักที่มั่นคงมากขึ้น เมื่อหลังจากหาได้แล้วนำไปทำเป็นกับข้าวทานกันในป่า กับครอบครัว เป็นเวลา 1 วัน ซึ่งถือเป็นวิถีหนึ่ง ที่สร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวให้แนบแน่น และถือเป็นการเริ่มต้นการใช้ชีวิตคู่ เปรียบเทียบกับผู้คนในเมืองคือการไป ฮันนีมูน ตามความเชื่อดั้งเดิมของคนกะเหรี่ยงสะกอร์
ในอดีตสมัยปู่ ย่า ตา ยาย ในสมัยก่อนต้องอยู่ด้วยกันในป่าถึง 7 วัน แต่เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนผ่านตามยุคสมัยโลกเปลี่ยนหมุนไป ความเชื่อเหล่านี้จึงค่อย ๆ ลดลงตามไปด้วย เพราะด้วยวิถีที่เปลี่ยนไปของคนกะเหรี่ยง ที่หนุ่มสาวต้องออกจากบ้านไปหางานทำข้างนอกบ้าน ในสมัยนี้จึงเหลือแค่เพียง 1 วันในการใช้ชีวิตและเรียนรู้ร่วมกันในป่า แต่ในบางชุมชนส่วนน้อยที่ยังหลงเหลือจารีตและประเพณีแบบนี้ ก็จะใช้เวลาร่วมกัน 7 วันในการเข้าป่า หาปลา ปู หอย หากเปรียบประเพณีนี้ ก็เหมือนเป็นการเริ่มต้นชีวิตใหม่ เป็นการสร้างชีวิตใหม่ร่วมกันอยู่ด้วยกัน หากินด้วยกัน ชีวิตหลังจากนี้ที่จะไม่เป็นสอง แต่เป็น “เรา”
ปัจจุบันประเพณีนี้เริ่มเลือนลางและจางหายไป เนื่องจากคนรุ่นใหม่เริ่มไปทำงานที่อื่น ทำงานไกลบ้าน ประเพณีนี้จึงหาได้ยากและน้อยลง
![](https://thecitizen.plus/wp-content/uploads/2021/04/166404833_281358576763241_6802675766475649777_n-1024x1017.jpg)
ครูวิพาพร ครูบ้านสบลาน เป็นคนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงสะกอร์ บ้านสบลาน อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ แต่งงานเข้าสู่ปีที่ 20 แล้ว จากประสบการณ์หลังจากแต่งงาน พีธีกรรมนี้คนกะเหรี่ยงสะกอร์ มักจะแต่งงาน หลังจากฤดูกาลการเก็บเกี่ยว หลังจากที่ได้ผลผลิต บ้านเราส่วนใหญ่จะทำการเกษตร ทำไร่หมุนเวียนเมื่อหมดฤดูกาลจะปลูกพริก ปลูกพืชผลต่าง ๆ
“เพราะ ในน้ำต้องมีปลา ในนาต้องมีข้าว เราถึงจะแต่งงานกันได้”
ไม่เพียงแต่หาปลา แต่รวมไปถึงการดูแลทรัพยากรพื้นที่ตรงนั้น แน่นอนว่าคนชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงหลายพื้นที่ มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงอย่างแนบแน่นกับทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ ในหลายพื้นที่มีระบบจัดการ การใช้และการอนุรักษ์ในทรัพยากรธรรมชาติของตนเอง ครูวิพาพร บอกว่า การดูแลพื้นที่ของที่นี่ เราดูแลจะมีการแบ่งพื้นที่ เช่น พื้นที่ห้ามจับปลา เขตอนุรักษ์สัตว์น้ำ อนุรักษ์ป่า จะมีการแบ่งพื้นที่ เขตใช้สอย ป่าชุมชน และป่าอนุรักษ์ เรามองว่าประเพณีเป็นเครื่องยืนยันถึงความอุดมสมบูรณ์ กับป่า กับคนที่อยู่กับป่า อยู่กับน้ำได้
ขอบคุณภาพและเรื่องราวจาก คุณครูนักสื่อสาร : มัลลิกา ธาตรีธรรม