เศรษฐศาสตร์กับความเหลื่อมล้ำ: นัยยะต่อการเข้าใจความขัดแย้งในสังคมไทย

เศรษฐศาสตร์กับความเหลื่อมล้ำ: นัยยะต่อการเข้าใจความขัดแย้งในสังคมไทย

004_p-01

คอลัมน์: เพราะฉะนั้นแล้ว  เรื่อง: ธร ปีติดล   ภาพ: อมรรัตน์ กุลประยงค์

เมื่อประเทศไทยเข้าสู่วังวนของปัญหาทางการเมือง ทั้งเรื่องความขัดแย้งและความรุนแรง คำถามที่มักเกิดขึ้นตามมาคือ อะไรคือรากฐานของปัญหาเหล่านั้น และเราควรทำเช่นไรเพื่อแก้ไขมัน  

ความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ในสังคมไทยมักถูกหยิบยกขึ้นมาในฐานะรากฐานของปัญหาทางการเมืองที่รุมเร้าประเทศของเราอยู่ คำอธิบายที่มักถูกนำขึ้นมาประกอบก็คือความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยนำไปสู่ความแตกต่างระหว่างคนที่ยากจนและคนที่ฐานะดีกว่า และการแบ่งแยกนี้เองได้กลายมาเป็นฐานของความขัดแย้งในเวลาต่อมา

แม้การมองเช่นนี้จะมีน้ำหนักในตัวมันเองอยู่มาก เช่นเดียวกับการมองเห็นถึงความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยว่าเป็นปัญหา ก็คงยากที่จะมีใครมาปฏิเสธว่าเป็นสิ่งสำคัญ  อย่างไรก็ตาม ในบทความชิ้นนี้ ผู้เขียนต้องการตั้งคำถามถึงการอธิบายความเหลื่อมล้ำให้เป็นรากฐานของปัญหาทางการเมืองในสังคมไทย โดยเฉพาะจากมุมมองทางเศรษฐศาสตร์ ว่ามีแง่มุมสำคัญใดอีกที่อาจถูกละเลยไปจากการมองเช่นนั้น  นอกจากนี้ ผู้เขียนต้องการเสนอแนะให้ลองมองดูปัญหาทางการเมืองของประเทศไทยผ่านการให้ความสำคัญกับแง่มุมอื่นบ้าง ด้วยว่าอาจนำไปสู่ข้อเสนอในการแก้ปัญหาที่มีน้ำหนักมากกว่า

เศรษฐศาสตร์กับปัญหาความเหลื่อมล้ำ

เมื่อปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองได้กลายมาเป็นปัญหาสำคัญแห่งยุคสมัยของสังคมไทยในปัจจุบัน ได้มีนักเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงในสังคมไทยหลายท่าน พยายามอธิบายความเชื่อมโยงระหว่างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจกับปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น[i]
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์
จากทีดีอาร์ไอ ได้รวบรวมงานศึกษาในระดับสากลมาอธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างประชาธิปไตยและความเหลื่อมล้ำว่า ประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงนั้นมักต้องเผชิญความไม่มั่นคงของประชาธิปไตย และยังมักประสบกับปัญหาความขัดแย้งที่เกิดมาจากประเด็นเรื่องการเก็บภาษี เพราะสภาพความเหลื่อมล้ำสูงนำซึ่งแรงผลักดันให้เกิดการเก็บภาษีเพื่อนำมากระจายรายได้ แต่ในขณะเดียวกันคนที่มีรายได้สูงก็มักไม่ต้องการจ่ายภาษี จนสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้น[ii]

ในขณะที่ ดร.สมชัย จิตสุชน จากทีดีอาร์ไอเช่นกัน  อธิบายเพิ่มเติมว่าความเหลื่อมล้ำจะนำไปสู่ความขัดแย้งได้ เมื่อมีปัจจัยสนับสนุนให้ผู้ที่ถูกกดทับไว้ใต้ความเหลื่อมล้ำสามารถลุกขึ้นมารวมตัวกันเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม โดยปัจจัยเหล่านี้เช่น ความสามารถในการรวมกลุ่มของคนชั้นล่าง และความล้มเหลวของรัฐและของคนชั้นนำในการจัดการหรือผ่องถ่ายความขัดแย้งในสังคม[iii]

เราจะเห็นได้ว่า มุมมองที่ถูกถ่ายทอดจากนักเศรษฐศาสตร์ ดังได้ถูกยกตัวอย่างไว้ข้างต้นนั้น ต่างมองปัญหาความเหลื่อมล้ำว่าเป็นสภาพที่นำไปสู่ปัญหาต่างๆ ที่ตามมา เช่น ความไม่มั่นคงของประชาธิปไตย และความขัดแย้งทางการเมือง การเชื่อมโยงความเหลื่อมล้ำเข้ากับปัญหาอื่นๆ ที่ตามมาในลักษณะนี้สะท้อนสภาพที่ไปไกลมากกว่าความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์แต่ละท่านที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น แต่ยังเชื่อมโยงไปถึงปรัชญาเบื้องหลังวิธีคิดทางเศรษฐศาสตร์

การที่คำอธิบายถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำของเศรษฐศาสตร์ ต้องพยายามเชื่อมความเหลื่อมล้ำว่าเป็นสภาพที่นำไปสู่ปัญหาอื่นๆ นั้น สะท้อนความจำกัดที่สำคัญของเศรษฐศาสตร์ ก็คือเศรษฐศาสตร์โดยเฉพาะเศรษฐศาสตร์กระแสหลักไม่ได้มีฐานทางความคิดที่มองว่าความเหลื่อมล้ำเป็นเป็นปัญหาในตัวเอง

การมองความเหลื่อมล้ำว่าเป็นเพียงสภาพที่นำมาซึ่งปัญหาอื่นๆ ตามมา ไม่ได้เป็นปัญหาในตัวเองนั้น สะท้อนการที่ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ที่แพร่หลายอยู่ในโลกปัจจุบันนั้น ตั้งอยู่บนฐานของปรัชญาวิธีคิดแบบอรรถประโยชน์นิยม (utilitarianism) ที่มองว่าเป้าหมายที่เหมาะสมในการจัดการสังคมนั้นคือการทำให้ประโยชน์สุขโดยรวมของคนในสังคมนั้นสูงสุด เมื่อมองเช่นนี้แล้ว หากสภาพความเหลื่อมล้ำไม่ได้นำไปสู่การลดลงของอรรถประโยชน์โดยรวมในสังคม สภาพดังกล่าวก็ไม่ได้เป็นปัญหาแต่อย่างใด

ด้วยฐานวิธีคิดเช่นนี้ นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากจึงต้องพยายามหาผลต่อเนื่องจากความเหลื่อมล้ำเพื่อแสดงให้เห็นว่าสภาพความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาเช่นไร นอกเหนือไปจากการเชื่อมโยงความเหลื่อมล้ำเข้ากับความขัดแย้งดังที่ได้กล่าวไว้แล้วนั้น ยังมีความพยายามเชื่อมโยงความเหลื่อมล้ำเข้ากับประสิทธิภาพของระบบเศรษฐกิจ หรือการเชื่อมโยงความเหลื่อมล้ำเข้ากับการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว  อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมานั้นแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์มักมองว่าการลดความเหลื่อมล้ำจากมาตรการของรัฐในรูปแบบต่างๆ เช่น ระบบภาษีแบบก้าวหน้าและระบบสวัสดิการ อาจไปลดประสิทธิภาพของระบบเศรษฐกิจได้ ทำให้พวกเขาอาจไม่ได้ให้ความสำคัญกับการลดความเหลื่อมล้ำเลยเสียด้วยซ้ำ

ความเหลื่อมล้ำกับปัญหาการเมืองไทย

เป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจอยู่พอควรทีเดียว ที่การค้นหาถึงรากฐานของปัญหาการเมืองไทยนั้นมักได้ข้อค้นพบที่ออกมาคล้ายคลึงกับมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ ก็คือมองว่าความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยนั้นเป็นรากฐานที่นำไปสู่ผล ก็คือความขัดแย้ง จริงอยู่ที่สังคมไทยนั้นมีความเหลื่อมล้ำสูง และความเหลื่อมล้ำก็ควรถูกมองว่าเป็นปัญหา แต่ผู้เขียนมองว่าปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทยยังเกิดมาจากอีกหลายแง่มุมที่ไม่จำเป็นต้องโยงอยู่กับความเหลื่อมล้ำเป็นสำคัญ โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำในมิติทางเศรษฐกิจนั้น ผู้เขียนมองว่าอาจไม่ได้เป็นสภาพหลักที่ทำให้เกิดความขัดแย้งเกิดขึ้นเลย

สภาพที่ไปกระตุ้นให้เกิดความขัดแย้งในสังคมไทยนั้นคือสภาพทางการเมืองเป็นหลัก ทั้งในทางกฏเกณฑ์และในทางอุดมการณ์  ในด้านหนึ่งการหันเหตัวเองเข้าสู่วังวนของความขัดแย้งนั้นเกิดจากการที่สังคมไทยไม่สามารถหากฏเกณฑ์ที่จะอยู่ร่วมกันในทางการเมืองได้อีกต่อไป  กล่าวคือกฏเกณฑ์การเข้าสู่อำนาจผ่านกลไกทางประชาธิปไตยนั้นไม่ได้รับการยอมรับร่วมกันจากทุกฝ่ายในสังคม

การขาดความอดทนต่อกติกาทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย ไม่จำเป็นต้องเกิดมาจากความเหลื่อมล้ำเป็นพื้นฐาน แต่เกิดมาได้จากความไม่เชื่อมั่นในคุณค่าและสถาบันทางประชาธิปไตยว่าจะเป็นทางออกให้กับปัญหาทางการเมืองได้ รวมไปถึงการให้คุณค่ากับแนวคิดทางการเมืองที่ยังอิงแอบกับความเป็นเผด็จการอยู่ เช่น การเชื้อเชิญให้สถาบันที่อยู่นอกประชาธิปไตยเช่นกองทัพเข้ามามีบทบาทผ่านการทำรัฐประหาร การให้ความเชื่อมั่นกับการแก้ไขปัญหาการเมืองผ่านแนวทางแบบอำนาจนิยม

แม้มองได้ว่าแง่มุมสำคัญของการปฏิเสธกฏเกณฑ์ประชาธิปไตยนี้ เกิดขึ้นบนฐานของการขาดการยอมรับให้คนในสังคมบางกลุ่มมีสิทธิทางการเมืองเท่ากับคนอื่นๆ ซึ่งในแง่นี้เราอาจมองว่าการปฏิเสธกฏเกณฑ์ทางประชาธิปไตยเชื่อมโยงอยู่กับความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ในสังคมได้ จากการที่คนในสังคมบางกลุ่มนั้นมองว่าการมีส่วนร่วมทางการเมืองของกลุ่มคนที่ยากไร้ขาดซึ่งคุณภาพที่เพียงพอ

แต่ผู้เขียนมองว่าการปฏิเสธสิทธิของคนกลุ่มอื่นๆ ไม่ว่าจะด้วยความยากจนของพวกเขาหรือความแตกต่างในทางอื่น ไม่จำเป็นต้องมีความเหลื่อมล้ำก็สามารถเกิดขึ้นได้  ผู้เขียนอยากเสนอให้ลองคิดกันดูเล่นๆ ถึงความเป็นไปได้ที่ว่า แม้ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยจะถูกลดลงไปได้สำเร็จ แต่หากสังคมไทยยังเปี่ยมไปด้วยอดติและความไม่พยายามเข้าใจการเมืองของกลุ่มคนที่แตกต่างกัน การปฏิเสธประชาธิปไตยบนฐานความคิดที่มองว่าคนบางส่วนนั้นไม่พร้อมหรือไม่เหมาะสมจะมีส่วนร่วมก็ยังจะเกิดขึ้นต่อไปได้โดยไม่ยาก

นอกจากนี้ หากจะมองในแง่ร้ายซักหน่อย การมุ่งไปมองที่ความเหลื่อมล้ำว่าเป็นรากฐานของปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทย ก็อาจเป็นการเบี่ยงความสนใจออกจากแง่มุมทางการเมืองต่างๆ ข้างต้น ทั้งยังอาจเป็นการชี้ไปที่ทางออกที่ยากจะทำอะไรได้ ต้องแก้เสียแต่ด้วยการปฏิรูปขนานใหญ่ ทำให้ปัญหาการเมืองไทยนั้นแก้ไขยากเสียจนไม่สามารถทำอะไรได้เป็นชิ้นเป็นอันในระยะสั้น

ยังมีอีกข้อสังเกตหนึ่งที่ผู้เขียนยังไม่อาจอธิบายได้ชัดเจนนัก แต่เห็นว่าน่าจะมีประเด็นให้ค้นหาต่อไป ผู้เขียนมองว่าการมุ่งไปเชื่อมโยงความเหลื่อมล้ำให้เป็นรากฐานของปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทย สะท้อนสภาพที่ลึกซึ่งเกี่ยวกับกับดักทางความคิดในทางสังคมที่คงอยู่ในประเทศไทยได้ คือสภาพที่สังคมไทยยังดิ้นไม่หลุดจากการมองสังคมแบบลำดับชั้นบนฐานแบบอนุรักษ์นิยม คือยังไปได้ไม่ไกลกว่าการหมกหมุ่นอยู่กับการมองลำดับชั้นในสังคมว่าเป็นปัญหาสำคัญ และเชื่อมโยงปัญหาต่างๆ เข้ากับลำดับชั้นนั้นๆ ติดอยู่กับรูปแบบลำดับชั้นที่อิงกับจารีตประเพณีแต่เดิมมา และไม่ได้ก้าวไปยอมรับรูปแบบการจัดลำดับชั้นใหม่ที่เป็นประชาธิปไตย

ตัวอย่างเช่น เมื่อชาวชนบทถูกมองว่าอยู่ในลำดับชั้นที่ต่ำกว่าคนกรุงเทพฯ ก็มีความพยายามจะเชิดชูความเป็นชนบทให้ยกฐานะมามีคุณค่าสูงส่ง เช่นคนชนบทเองก็มีภูมิปัญญาชาวบ้านที่ควรได้รับความเคารพ ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดในกรณีข้างต้น รูปแบบการจัดลำดับชั้นถึงไม่ถูกมองว่าเป็นปัญหาเช่นกัน  แม้การเชิดชูภูมิปัญญาชาวบ้านนั้นจะพยายามย้อนลำดับฐานะของชาวชนบทเสียใหม่ แต่ก็ยังเกิดบนรูปแบบการจัดลำดับเดิมที่เป็นแบบอนุรักษ์นิยม ในขณะที่รูปแบบการจัดลำดับแบบใหม่ให้คนชนบทคนใดก็ตามควรมีสิทธิเท่าๆ กันกับทุกคนในสังคมไทย ก็ยังไม่ใช่รูปแบบที่ได้รับการยอมรับแทนที่

สภาพการดิ้นไม่หลุดจากการให้ความสำคัญกับรูปแบบสังคมแบบอนุรักษ์นิยมเช่นนี้เอง อาจช่วยอธิบายได้ว่าเหตุอันใดเหล่าผู้สนใจในปัญหาความเป็นธรรมในสังคมจำนวนมากในสังคมไทยถึงได้ลงเอยกลายเป็นพลังช่วยเสริมให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่เชิดชูจารีตประเพณี สุดท้ายได้กลายเป็นพลังต่อต้านการเปลี่ยนแปลงที่มาจากการเปลี่ยนไปของสังคมชนบทไทย

มองมุมใหม่ผ่านอีกแนวคิดของ อดัม สมิธ

ที่ผู้เขียนกล่าวมาทั้งหมดนี้ไม่ได้แปลว่าต้องการปฏิเสธถึงความสำคัญของปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ตรงข้าม ผู้เขียนเองอยากให้สังคมไทยตระหนักถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำ แต่ก็ยังอยากกระตุ้นให้มองปัญหาความเหลื่อมล้ำด้วยความระมัดระวังมากขึ้น โดยเฉพาะการดึงเอาความเหลื่อมล้ำเข้ามาเชื่อมโยงกับปัญหาทางการเมือง

ผู้เขียนอยากเสนอกรอบการมองปัญหาการเมืองไทยเสียใหม่ผ่านการตีความแนวคิดของนักคิดที่เป็นบิดาเป็นของวิชาเศรษฐศาสตร์ อดัม สมิธ  ในชีวิตของสมิธนั้น มีงานวิชาการของเขา 2 ชิ้นที่สำคัญที่สุด

งานชิ้นแรกเป็นที่รู้จักมากกว่า และกลายมาเป็นรากฐานของวิชาเศรษฐศาสตร์ในปัจจุบัน งานดังกล่าวเป็นที่รู้จักกันในชื่อย่อว่า The Wealth of Nations โดยงานชิ้นนี้ได้นำเสนอคุณค่าของระบบตลาดและการแบ่งงานกันทำ ว่าจะสามารถสร้างประโยชน์สูงสุขให้แก่คนในสังคมได้ การปล่อยให้ระบบตลาดทำงานในการจัดการความต้องการของมนุษย์นั้นมีประสิทธิภาพมากกว่าระบบการจัดการทางเศรษฐกิจแบบอื่นๆ

งานที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่งของสมิธ แต่กลับเป็นที่รู้จักน้อยกว่ามีชื่อว่า The Theory of Moral Sentiments งานชิ้นนี้พยายามอธิบายรากฐานของศีลธรรมมนุษย์ โดยสมิธมองว่ารากฐานสำคัญที่ทำให้มนุษย์มีศีลธรรมก็คือ ‘ความเห็นอกเห็นใจในผู้อืน’ กล่าวคือ เมื่อผู้ใดผู้หนึ่งได้ลองสมมติเอาตัวเองไปอยู่ในสภาพอันยากลำบากที่คนอื่นได้ประสบอยู่ เขาย่อมมีความเห็นอกเห็นใจว่าคนผู้นั้นต้องประสบเคราะห์กรรมอย่างไร และต้องทุกข์ทรมาณเพียงใด

หากให้ความสำคัญกับผลงานสำคัญของสมิธเพียงชิ้นเดียว ก็จะได้แง่คิดจากเขาที่ไม่ครบถ้วน ดังที่หลายๆ คนเข้าใจแนวคิดเรื่องระบบตลาดของสมิธว่าให้คุณค่ากับความโลภของมนุษย์ และละเลยความสำคัญของศีลธรรม

แท้จริงแล้วสมิธเองไม้ได้ละเลยในการหาคำตอบทางศีลธรรมให้แก่สังคม หากมองผ่านงานของเขาทั้ง 2 ชิ้นไปพร้อมกัน ใน The Wealth of Nations สมิธเองให้คุณค่ากับระบบตลาดและการแบ่งงานกันทำ ในบริบทที่เขาเองพยายามปฏิเสธระบบเศรษฐกิจแบบพาณิชย์นิยม (mercantilism) ที่จัดการเศรษฐกิจเพื่อเป้าหมายในการสร้างความร่ำรวยให้แก่ประเทศชาติเป็นหลัก และยังแทรกแซงการค้าขายเพื่อเป้าหมายเชิงชาตินิยมนี้  นอกจากนี้ การที่สมิธให้ความสำคัญกับการแบ่งงานกันทำ ก็สะท้อนการที่ตัวเขาเองเชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์ที่จะเรียนรู้ในการทำงานจนสร้างความเชี่ยวชาญได้ เขาเสนอแนวคิดนี้ในบริบทที่เขาพยายามปฏิเสธความเชื่อที่มีอิทธิพลมาก่อนหน้าว่าชาติกำเนิดเป็นตัวกำหนดความสามารถในการทำงานของมนุษย์

กล่าวได้ว่า แนวคิดทางเศรษฐกิจของสมิธนั้นเชื่อมโยงอยู่กับการปฏิเสธระบบศีลธรรมที่อิงกับชาตินิยมและความเชื่อทางศาสนา เขาต้องการให้คนในสังคมก้าวข้ามแนวคิดเหล่านี้เพื่อให้ได้ระบบสังคมที่มีประสิทธิภาพ และที่สำคัญ นอกจากเขาจะปฏิเสธชาตินิยมและความสำคัญของชาติกำเนิดแล้ว เขาเองยังต้องการให้คนในสังคมก้าวไปสู่มุมมองทางศีลธรรมอีกรูปแบบหนึ่งที่เขาเสนอไว้ใน The Theory of Moral Sentiments ก็คือการให้ความสำคัญกับการเห็นอกเห็นใจมนุษย์ด้วยกันเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

ผู้เขียนอยากหยิบยืมเอาแนวคิดของอดัม สมิธ ที่ถูกเสนอไว้ในงานสำคัญทั้ง 2 ชิ้นของเขาประกอบเข้าด้วยกัน เพื่อมาเป็นแนวทางการมองปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทยเสียใหม่ อาจเรียกได้ว่าเป็นการมองความขัดแย้งในสังคมไทยผ่านแนวคิดของ ‘บิดา’ วิชาเศรษฐศาสตร์

หากมองผ่านแนวคิดของสมิธแบบครบถ้วนแล้ว การแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทย ต้องตั้งคำถามสำคัญอยู่ที่ว่าเหตุอันใดแนวคิดที่คงอยู่ในสังคมไทยถึงยังไม่สามารถก้าวข้ามการติดอยู่กับกระแสชาตินิยม รวมไปถึงการให้ความสำคัญกับชาติกำเนิดที่แตกต่างได้ และเหตุใดสังคมไทยถึงยังไม่สามารถก้าวไปให้คุณค่าความเป็นมนุษย์และเห็นถึงศักยภาพของสมาชิกในสังคมได้มากกว่าที่เป็นอยู่ เราคงยังติดอยู่ในวังวนของการมองว่าบางส่วนในสังคมเช่นคนจนและคนชนบท ไม่มีคุณภาพและยังไม่มีศักยภาพในการมีสิทธิทางการเมือง ทั้งที่การมองเช่นนี้นำไปสู่ความละเลยที่จะติดตามและเข้าใจความเป็นจริงของพวกเขา

ท้ายสุดแล้ว ผู้เขียนมองว่าตราบใดที่สังคมไทยยังไม่หันไปหากรอบการมองที่ให้คุณค่ากับความเป็น ‘คนเหมือนกัน’ และพยายามเข้าอกเข้าใจคนอื่นด้วยความเห็นใจ ตราบใดที่คนในสังคมไทยไม่พยายามเข้าใจถึงความเป็นคนเหมือนกันที่ต่างก็มีความปรารถนาจะมีบทบาทในทางการเมือง และต่างก็ไม่ต้องการถูกลิดรอนสิทธิในทางการเมืองให้ด้อยไปกว่าใคร  ไม่เข้าใจถึงความเป็นคนเหมือนกันที่ต่างต้องเผชิญกับข้อจำกัดต่างๆ ภายใต้สภาพความเป็นจริง โดยเฉพาะความเป็นจริงในทางการมีส่วนร่วมทางการเมือง สังคมไทยเองก็คงยากที่จะก้าวเดินออกจากวังวนของปัญหาทางการเมืองครั้งนี้ไปได้โดยง่าย

*******************

[i] ผู้เขียนได้แนวคิดในการเขียนบทความนี้จากการไปมีส่วนร่วมในการแสดงความเห็นในงานเสวนาทบทวนการศึกษาความเป็นธรรมที่จัดโดยเครือข่ายวิชาการเพื่อสังคมเป็นธรรม (JuSNet) จึงขอขอบคุณผู้จัดงานดังกล่าวและผู้เสนอบทความในงานนั้นๆ คือ คุณอนรรฆ พิทักษ์ธานิน มา ณ ที่นี้

[ii] สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์. 2553. ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจกับประชาธิปไตย”, ปาฐกถา 14 ตุลา ประจำปี 2553

[iii] สมชัย จิตสุชน และ วิโรจน์ ณ ระนอง. 2553. “ทัศนคติประชาชนต่อการเมืองและสวัสดิการสังคมเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสังคม”, รายงานวิจัยเพื่อนำเสนอต่อสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ