เราต่างกัน เราขัดแย้งกันได้ และอาจมีเหตุการณ์ที่เราไม่เข้าใจกัน แต่เรายังอยู่ร่วมกันได้…
นั่นคือเนื้อหาโดยรวมที่สะท้อนผ่านเรื่องราวของ 10 หนังสั้น ในกิจกรรมประกวดหนังสั้น ภายใต้หัวข้อ “ขัดกันฉันมิตร” ที่มีการฉายหนังของกลุ่มเยาวชนที่อาศัยใน 4 จังหวัดภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา) ไปเมื่อช่วงต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา
กิจกรรมดังกล่าวจัดโดยโครงการทักษะวัฒนธรรม ศูนย์ข่าวสารสันติภาพ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) และสหภาพยุโรป (European Union) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้เยาวชนในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องทักษะวัฒนธรรมและการอยู่กับความขัดแย้งในพื้นที่ชายแดนใต้
รวมทั้ง ถ่ายทอดมุมมองของ “คนใน” ที่อยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง และความแตกต่างทางวัฒนธรรมของพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ผ่านรูปแบบหนังสั้น
นอกจากภาพความรุนแรงที่เราเคยรับรู้จากห้วงเวลา 13 ปี ของความขัดแย้งในชายแดนใต้ ในหนังสั้นเรายังได้เห็นภาพความสัมพันธ์ของคนที่งดงาม และคำถามสำคัญที่ว่า “ทักษะวัฒนธรรม” คืออะไร และ “ขัดกันฉันมิตร” เกิดขึ้นได้อย่างไร ซึ่ง ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ผู้อำนวยการศูนย์ข่าวสารสันติภาพ ได้ขยายความเข้าใจให้กับเรา
000
ทักษะวัฒนธรรมคืออะไร?
ศ.ดร.ชัยวัฒน์ : ทักษะวัฒนธรรม ถามว่ามันคืออะไร มันก็เหมือนกระจกซึ่งส่องให้เห็นเราแต่ละคน ไม่ว่าจะอยูในสามจังหวัดชายแดนใต้ อยู่ในภาคอีสาน อยู่ในประเทศใด เวลาเรามองโลก มองคนอื่น ข้างในมันจะมีอคติของเราเองซึ่งมันเคลือบอยู่ เวลาเราได้ยินคนอื่นพูด เรามองว่าคนอื่นทำอะไรเนี่ย บางทีมันมองผ่านอคติเหล่านี้
คราวนี้ทักษะวัฒนธรรมก็คือความพยายามที่จะนำเอาอคติที่เรามีอยู่ซ่อนอยู่ไม่รู้ตัวเนี่ยออกมาวางให้เห็น แล้วเราจะได้ว่าเวลาเราสัมพันธ์กับผู้อื่น เราควรจะจัดการอคติของเราเองต่อเขาอย่างไร อันนี้เลยเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นที่อยู่ในโลกของความขัดแย้ง เพื่อป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งนำไปสู่ความเกลียดชังและความรุนแรง
ทักษะวัฒนธรรม กับ ขัดกันฉันมิตร?
ศ.ดร.ชัยวัฒน์ : เมื่อกี้เราพูดว่าความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมชาติ มนุษย์เกิดมาก็มีความขัดแย้งเพราะว่าเราต่างกัน คำถามก็คือถ้าเราเป็นแบบนี้จริงแล้วเราควรอยู่กันอย่างไร? เราก็ตอบว่า บางคนบอกว่าความขัดแย้งไม่มีอยู่จริง ความขัดแย้งเป็นเรื่องที่ไม่ดีก็เป็นอย่างหนึ่ง แต่ถ้าเราเสนอว่าความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมชาติ คำถามก็คือแล้วเราจะอยู่กับความขัดแย้งอย่างไร เราก็บอกว่าจะมองความขัดแย้งเป็นศัตรูหรือ คนที่เราขัดกันเป็นศัตรูหรือ อยู่ไม่ได้หรอก
เช่น สมมุติว่าบ้านเราอยู่ใกล้กัน เสร็จแล้วเป็นเพื่อนบ้านกัน เพื่อนบ้านเราติดกันเนี่ยมีปัญหา บ้านเขาชอบเอาขยะมาทิ้งหน้าบ้านเรา เอาขยะมาวางใกล้รั้วเรา เราก็ไม่ชอบมันเหม็น เอารถมาจอดขวางหน้าบ้านเราอะไรทำนองนี้ เราจะจัดการกับเรื่องนี้ ถ้าสมมติว่าความขัดแย้งเกิดขึ้นแล้ว ถ้าเราอยู่กันในฐานะที่ศัตรู เราก็จะมีแต่ความทุกข์เราก็ต้องไปแจ้งตำรวจ เราต้องไปนู่นไปนี่ใช่มั้ย เราต้องไปหาวิธีจัดการกับสายสัมพันธ์นี้ เพราะว่าเราไม่จำเป็นต้องชอบเขาแต่เราจะขัดกันอย่างมิตรอย่างไร อันนี้ก็คือโจทย์
กับปัญหาชายแดนใต้?
ศ.ดร.ชัยวัฒน์ : ความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติความขัดแย้งในเรื่องของคนพุทธกับมุสลิมอาจจะไม่เหมือนกัน อย่างที่เราดูในหนังก็จะมีคำถามของนักเรียน ของคนชาวพุทธว่าทำไมโรงเรียนไม่อนุญาตให้ขายหมู ในสายตาของคนมุสลิม หมูสกปรก เราจะอยู่กับความแตกต่างเหล่านี้ได้อย่างไร ถ้าเราไม่มีทักษะทางวัฒนธรรมที่จะเรียนรู้ว่า เราสัมพันธ์กับเขาอย่างไร อย่างมิตร ก็โครงการนี้ทำไปเพื่อแก้ปัญหาจากมุมที่มีความลึกอย่างนี้
000
ท่ามกลางสังคมที่ประกอบไปด้วยคนที่มีความแตกต่างหลากหลาย แต่ต้องอยู่ร่วมกันภายใต้ความคิด ความเชื่อ ความทรงจำที่แตกต่างกัน การเผชิญหน้าและปะทะสังสรรค์ในทางความความคิดนั่นคือ “ความขัดแย้ง” ของ “การอยู่ร่วม” ที่จะขับเคลื่อนสังคมไปข้างหน้า โดยไม่จำเป็นต้องอยู่กับความเงียบสงบ หรือสยบยอม และไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรง นั่นคือ “ทักษะวัฒนธรรม” ที่เราทุกคนจะต้องเรียนรู้
ติดตาม : นักข่าวพลเมือง ตอน ‘ขัดกัน ฉันมิตร’ อยู่ร่วมภายใต้ความแตกต่าง วันเสาร์ที่ 15 เม.ย. 2560 เวลา 12.00 น. ในจับตาสถานการณ์ ทางไทยพีบีเอส
วงสนทนา 10 ผู้กำกับหนังสั้นผลงานเยาวชน ‘ขัดกัน ฉันมิตร’
วงเสวนา ‘ขัดกัน ฉันมิตร’