“ไร่หมุนเวียน” กับการจัดการป่า : วิถีไม่ใช่มายา และคนในป่าคือของจริง

“ไร่หมุนเวียน” กับการจัดการป่า : วิถีไม่ใช่มายา และคนในป่าคือของจริง

กรณีของชาวบ้านบางกลอย ที่ยืนยันความต้องการในการใช้ชีวิตตามวิถีชาติพันธุ์ใน “ใจแผ่นดิน” บนผืนป่าแก่งกระจาน ทำให้เรื่อง “คนกับป่า” กลายเป็นข้อถกเถียงร้อนแรงในขณะนี้ และยังเกี่ยวเนื่องกับการใช้ที่ดินเพื่อการเพาะปลูก ในรูปแบบ “ไร่หมุนเวียน” ซึ่งยังคงต้องการการสร้างความเข้าใจอีกครั้ง และอีกครั้ง

– 01 –

ไร่หมุนเวียนมีหลักการสำคัญ คือ การปลูกพืชโดยวิธีการหมุนเวียนจากพื้นที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งเพื่อพื้นที่เดิมได้มีการพักฟื้น และกลับมาทำไร่หมุนเวียนยังพื้นที่เดิมอีกครั้ง เมื่อแร่ธาตุในดินคืนความอุดมสมบูรณ์

วงจรของไร่หมุนเวียนเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 7 – 12 ปี ตามความพร้อมของสภาพพื้นที่ การทำไร่หมุนเวียนนั้นจะทำหลังจากพื้นที่ที่มีการพักดิน หรือที่เรียกว่า ไร่เหล่ามีการฟื้นตัวแล้ว ซึ่งใช้เวลาประมาณ 6 ปี การพักดินเป็นไร่เหล่าจะสามารถทำให้พืชพันธุ์ต่างๆ ได้เติบโตขึ้นมาทดแทนพืชพันธุ์ที่ถูกเก็บเกี่ยวออกไป ซึ่งพืชพันธุ์ที่ขึ้นมาทดแทนนี้ยิ่งปล่อยเวลาไว้นาน ก็ยิ่งมีความหลายหลายทางพันธุ์พืชสูงขึ้น

ในประเทศไทย ยังคงมีการทำไร่หมุนเวียนในกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งคนกะเหรี่ยงและคนลัวะ ในภาคเหนือไปจนถึงภาคกลาง ทั้งนี้ จากงานวิจัย สิทธิของชุมชนชาวกะเหรี่ยง (ปกาเกอะญอ) ปี 2560 พบว่า พื้นที่ 5 จังหวัดที่มีไร่หมุนเวียนมากที่สุด คือ เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง แม่ฮ่องสอน และตาก ซึ่งล้วนอยู่ในภาคเหนือ เพราะเป็นภูมิภาคที่มีชนพื้นเมืองดั้งเดิมบนที่สูง ตั้งถิ่นฐานอยู่จำนวนมาก

สถานการณ์ภาพรวมการทำไร่หมุนเวียนของชุมชนกะเหรี่ยง  1,630  ชุมชน ใน 5 จังหวัด พบว่ามีแนวโน้มการทำไร่หมุนเวียนเป็นวิถีชีวิตหลักจะลดลงเรื่อย ๆ เนื่องจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ แรงกดดันจากภายในชุมชน แรงกดดันจากภายนอกชุมชน และแรงกดดันจากนโยบายรัฐ

– 02 –

แม้ดูเหมือนระบบการจัดการ “ไร่หมุนเวียน” จะมีข้อดีในการช่วยดูแลพื้นที่ป่า แต่ก็ยังไม่ได้รับการยอมรับ และกลายเป็นปัญหาขัดแย้งระหว่างชุมชนกับหน่วยงานรัฐที่อยู่ในพื้นที่

ด้านหนึ่งอาจมาจากการวางรากฐานแนวคิดการจัดการป่าอนุรักษ์ของไทย

ดร.สมศักดิ์ สุขวงศ์ นักวิชาการอาวุโส ผู้ก่อตั้งศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (RECOFTC) และอดีตคณบดีคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ถึงภาพใหญ่ โดยพูดถึงแนวทางการจัดการอุทยานแห่งชาติของโลกว่า มี 2 โมเดลหลัก คือ

  • YELLOW STONE MODEL จากสหรัฐอเมริกา ที่มุ่งเน้นพื้นที่สีเขียวหรือการห้ามคนอยู่กับป่า ที่ไทยใช้อยู่ และ
  • ยูโรเปียนโมเดล EUROPEAN MODEL หรือการจัดการอุทยานแห่งชาติแบบยุโรป ที่เปิดโอกาสให้คนอยู่ร่วมกับป่า ซึ่งตอนนี้ใช้ในญี่ปุ่นและออสเตรเลีย

ดร.สมศักดิ์ กล่าวว่า มีการประเมินว่าประเทศต่าง ๆ ในโลกที่รับเอา YELLOWSTONE MODEL ไปใช้มีเกือบร้อยกว่าประเทศ แล้วปรากฏว่ามันเกิดความขัดแย้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งขัดแย้งและยากที่จะแก้ไขด้วย เป็นความขัดแย้งที่เดินไปสู่จุดอับ เหมือนกับตอนนี้ที่เรากำลังสู่ทางตัน

พร้อมชี้ให้เห็นว่า ความขัดแย้งจะรุนแรงโดยเฉพาะเรื่องพืชอาหาร อย่างคนในป่าที่ผูกพันกับวิถีการทำเกษตรแบบไร่หมุนเวียน เพราะเขาต้องการข้าว ต้องการคาร์โบไฮเดรตในการดำรงชีวิต แต่เรามีทางเลือก โดยกลับไปดูว่ายูโรเปียนโมเดลที่จัดการโดยเปิดพื้นที่ให้คนอย่างไร

ตัวอย่างของอิตาลี ใช้วิธีโซนนิ่ง โดยแบ่งเป็น 4 โซน คือ

  1. โซนเขตคุ้มครองเข้มงวด (Strict reserve zone) ใช้เพื่อวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ห้ามนักท่องเที่ยวออกนอกเส้นทางที่กำหนดและจำกัดจำนวนคน
  2. โซนป่าไม้สงวนแต่ใช้ประโยชน์ได้ เช่น การเก็บหาของป่านำมาใช้ประโยชน์ คล้าย ๆ กับป่าชุมชนในบ้านเรา
  3. โซนภูมิทัศน์ที่ได้รับการอนุรักษ์คุ้มครอง (Protected Landscape) อย่างในต่างประเทศจะกันพื้นที่เพาะปลูกมายาวนานเป็นวัฒนธรรม ถ้าในบ้านเราก็เช่นพื้นที่ไร่หมุนเวียน
  4. โซน DEVELOPMENT หรือ ECO-DEVELOPMENT พื้นที่ที่พัฒนาได้ ซึ่งก็คือเมืองหรือพื้นที่ของชุมชนที่สามารถทำการพัฒนาได้

ดร.สมศักดิ์ เสนอว่า แนวคิดการโซนนิ่ง คือ การแก้ปัญหาความขัดแย้ง และพื้นที่แก่งกระจานมีถึง 1.87 ล้านไร่ ขณะที่อุทยานแห่งชาติอาบรูซโซ (Abruzzo) อิตาลี มีพื้นที่ 7-8 แสนไร่ ใหญ่กว่ากัน 2-3 เท่า เพราะฉะนั้นการโซนนิ่งจะง่ายกว่า

“ป่ามันเยอะอยู่แล้ว 1.8 ล้านไร่ คนอยู่จะสักเท่าไหร่เชียวเมื่อเทียบกับป่า เพราะฉะนั้นการโซนนิ่ง คือ การช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้ง” ดร.สมศักดิ์กล่าวและย้ำว่า อิทธิพลของการตัดไม้ทำลายป่า ขึ้นกับการใช้ประโยชน์ที่ดินหลังจากนั้น ถ้าใช้ไม่ดีแน่นอนว่าป่าถูกทำลาย ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับวิธีการใช้ที่ดิน

อย่างไรก็ตามนั่นอาจไม่ใช่แนวคิดของนักวิชาการป่าไม้ทั้งหมด และการดูแลป่าไม้ของไทยยังต้องอาศัยกฎหมายและการทำงานของหน่วยงานรัฐร่วมด้วย

– 03 –

ไร่หมุนเวียนกับการจัดการป่า ในมุมมองคนป่าไม้

รายการนักข่าวพลเมือง C-site ตอน ไร่หมุนเวียนกับการจัดการป่า วันจันทร์ที่ 8 มีนาคม 63 จึงเชิญ คุณชลธิศ สุรัสวดี อดีตอธิบดีกรมป่าไม้ มาร่วมสนทนาว่าด้วยเรื่อง “ไร่หมุนเวียนจัดการป่าได้หรือไม่” ในมุมมองของอดีตคนป่าไม้ เมื่อการมีคนอยู่ในป่า คือ ความเป็นจริงของสถานการณ์ป่าไม้ไทย

Q: ถ้าเรามองภาพกว้าง การจัดการพื้นที่อุทยานแห่งชาติมี 2 แบบ ทีนี้อาจารย์สมศักดิ์ (ดร.สมศักดิ์ สุขวงศ์ ผู้ก่อตั้งศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า) กำลังพูดว่าสนใจ European model และสนใจเรื่องการจัดโซนนิ่ง ตรงนี้มองอย่างไร?

ชลธิศ สุรัสวดี : จริง ๆ แล้วการจัดการพื้นที่ป่าไม้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีการพัฒนามาเรื่อย ๆ ในอดีตที่ผ่านมาก็มีหลากหลายโครงการ แต่ที่ทางอาจารย์สมศักดิ์ พูดถึงอาจเป็นรูปแบบดั้งเดิม ซึ่งถ้าเกิดเป็นรูปแบบตั่งเดิมที่มีการหมุนเวียนอย่างถูกต้อง ในพื้นที่ที่เหมาะสม ก็มีความเป็นไปได้ที่จะทำไร่หมุนเวียนแบบนี้

แต่จากสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะตัวเลขชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยง ในช่วงปี พ.ศ. 2540 จนปัจจุบัน มีอัตราการเพิ่มตัวขนาดไหน อัตราการเพิ่มตัวของชุมชน เขามีการเพิ่มตัว อย่างน้อยที่สุดจาก 3-4 แสนคน เป็น 6 แสนกว่าคน แน่นอนว่าเมื่อประชากรเพิ่มขึ้น ความต้องการในเรื่องของพื้นที่ก็ต้องเปลี่ยนไป ประกอบกับบริบทของประเทศก็เปลี่ยน ปัญหาเรื่องของสภาวะการเผาป่าก็เป็นเรื่องของ Climate Change (การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) เกิดอิทธิพลโดยตรงกับทุกคนที่อยู่ในประเทศ

นี่เป็นจุดที่ทำให้รัฐบาลหรือภาคราชการเอง จะต้องกลับมาคิดอีกทีว่าแล้วจะจัดการอย่างไรกันต่อไป

Q: ก่อนไปสู่การจัดการ กลับไปที่คอนเซปต์ไร่หมุนเวียน มองตรงนี้อย่างไร?

ชลธิศ สุรัสวดี : เรื่องของการจัดการแบบไร่หมุนเวียน ถ้ามีการหมุนเวียนกันภายใต้ขอบเขตอันนี้ก็มีความเป็นไปได้สูง แต่อย่างที่ทราบว่าปัจจุบันมันเหลือน้อยลงเรื่อย ๆ ทีนี้การเหลือน้อยลงเรื่อย ๆ นั้นแหละคือปัญหา ทำให้มีคำถามว่าจะแยกกันอย่างไร แต่อยากเล่าให้ฟังต่อว่า ภายใต้เงื่อนไขของนโยบาย โดยเฉพาะในช่วงปี พ.ศ. 2557 ถือว่าเป็นปีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ตอนนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกคำสั่งที่ 66/2557 จะเห็นได้ชัดเจนเลยว่าท่านให้ความสำคัญเรื่องของคนอยู่กับป่า

ในอดีตที่ผ่านมา ในเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เกือบจะไม่มีอะไรที่มาเป็นที่ว่างที่จะเข้าไปจัดการเลย แต่จากคำสั่ง 66/2557 ก็เกิดการขยายตัว จนกระทั่งมีการแก้ไขกฎหมายอุทยานแห่งชาติ เป็นมาตรา 64 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ มาตรา 121 พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ซึ่งใน 2 กฎหมายนี้จะเห็นได้ชัดเลยว่า บริบทของการเปลี่ยนแปลงของการดูแลของคนที่อยู่ในป่ามันเปลี่ยนไปเยอะ

Q: ในตัวกฎหมายดูเหมือนว่าจะมีเจตนาดี แต่มันยังมีข้อจำกัดไหม เพราะมีเสียงสะท้อนว่าพอไปทำในพื้นที่จริง ๆ คนที่อยู่กับป่ายังถูกลิดรอนสิทธิอยู่เหมือนเดิม?

ชลธิศ สุรัสวดี : ภายใต้เงื่อนไขของกฎหมายอุทยานฯ ผมพูดถึงกฎหมายในมิติของกรมอุทยานก่อน คือเรามีระยะเวลา 240 วัน ในการเข้าไปสำรวจ ซึ่งตอนนี้เท่าที่เราได้ตัวเลขอยู่ มีไม่ต่ำกว่า 4,000 ชุมชน และมีพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 4.2 ล้านไร่ ก็เป็นบริบทที่ต้องคุยกันต่อไปว่าจะดำเนินการอย่างไร ใน 4 ล้านกว่าไร่นั้นไม่ได้แยกว่าจะเป็นไร่หมุนเวียนหรือไม่ เราให้ความเป็นธรรมกับทุกคนที่อยู่ในพื้นที่ป่าไม้ อันนี้เฉพาะในเขตป่าอนุรักษ์ตามกฎหมาย ซึ่งผมพูดถึงอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าต่าง ๆ ประมาณ 4 ล้านกว่าไร่

อีกมิติหนึ่งก็ยังมีมิติ ครม.อีกเมื่อปี พ.ศ. 2561 ยังมีพื้นที่ป่าไม้ที่ยังอยู่ในลุ่มน้ำ 1 2 3 4 5 ซึ่งตรงนั้นเองก็เปิดโอกาสให้ราษฎรเข้าไปอยู่ในเขตป่า และใช้ประโยชน์จากป่าอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

Q: ปัญหาเรื่องคนอยู่กับป่า วันนี้ประเทศไทยหลายองค์กรมองว่าไม่เอา ทำลายแน่ ๆ มองเรื่องนี้อย่างไร?

 ชลธิศ สุรัสวดี : เราปฏิเสธไม่ได้ว่าคนเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของคนไทยที่อยู่ในประเทศ หน้าที่ของเราในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ เราก็ต้องดูแล ทีนี้การแก้ไขปัญหาหรือการดูแลก็ต้องอยู่ในภายใต้กรอบ

ยกตัวอย่าง กรณีของการบริหารจัดการที่เวลาเราเข้าไปจัดการ โดยเฉพาะพื้นที่ป่าสงวน ในพื้นที่ 100 เปอร์เซ็นต์ เราก็จะมีการพูดคุยกันว่าไม่ใช่ทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ ที่คุณจะใช้ประโยชน์ได้ ต้องมีการวางแผน มีการจัดการ ตัวอย่างที่ อ.กัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่ เราได้มีการเข้าไปพูดคุยกับชุมชนที่นั้น ตอนนี้ชุมชนที่นั่นมีมากกว่า 10 ครอบครัว มีการเปลี่ยนรูปแบบจากไร่หมุนเวียนมาทำเกษตร โดยเกษตรของเขาสามารถที่จะเลี้ยงชีพได้ด้วย

Q: คีย์ของกัลยาฯที่ทำและทำได้ หัวใจหลักสำคัญ คืออะไร?

ชลธิศ สุรัสวดี : การบริหารจัดการแบบยั่งยืนนั่นคือหัวใจแห่งความสำเร็จ เวลาเรามองถึงความสำเร็จของป่าไม้ เราไม่ได้มองว่าเราต้องได้ป่า เราต้องบริหารจัดการแล้วมีป่ากลับมา ตั้งหน้าตั้งตาจะเอาป่ากลับมา แจ่จริง ๆ แล้วการบริหารจัดการอย่างยั่งยืนเราต้องมองมิติของเศรษฐกิจและสังคม นั่นหมายถึงว่า ป่าก็ได้ คนก็ได้

Q: ไปให้เขาทำเหมือนกับจัดโซนให้ปลูก ตรงนี้ถูกต้องไหมคะ?

ชลธิศ สุรัสวดี : เป็นการพูดคุยกันครับ เราจะไม่เป็นการบังคับ หลักการของการทำงานก็คือเราคุยกัน รู้สึกโอเคไหม รู้สึกยินดีไหม แต่สิ่งที่ต้องตามมาคือการทำเรื่องห่วงโซ่อุปทาน เรื่องของการจัดการ เรื่องของตลาด เรื่องของโลจิสติกส์ เป็นสิ่งที่ต้องพูดคุยกัน

Q: แล้วอย่างวิถีข้าวไร่หรือวิถีเดิมเป็นการปลูกตามภูมิปัญญาดั้งเดิม มันจะหายไปไหม ถ้าเป็นรูปแบบนี้?

ชลธิศ สุรัสวดี : จริง ๆ แล้ว ข้อจำกัดอย่างที่เล่าให้ฟัง พื้นที่อุทยานฯ 4 ล้านกว่าไร่ เราก็ไม่ได้ห้ามว่าคุณจะเป็นไร่หมุนเวียน ไม่หมุนเวียน หรือจะทำพืชอะไร แต่สิ่งที่นำเสนอคือ สิ่งที่คุณได้คือวิถีชีวิตที่ดีขึ้น ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รายได้ที่ดีขึ้น และแน่นอนที่สุดคือความยั่งยืน

ก่อนปี พ.ศ. 2557 เราอาจจะพูดได้เลยว่าไม่ค่อยมีใครกล้าปลูกกาแฟ โกโก้ อโวคาโด ในพื้นที่ป่าไม้ เพราะว่าเกรงว่าถ้าปลูกไม้ประเภทนี้ก็จะถูกจับ แต่ถึงเวลานี้มันไม่ใช่แล้ว บริบทมันเปลี่ยนไป ทุกคนยอมรับ นอกจากนั้นยังมี พ.ร.บ.อื่น ๆ อีก มาสนับสนุน เช่น พ.ร.บ.ป่าชุมชน ซึ่งประกาศใช้เมื่อปี พ.ศ. 2562

นอกจากนั้นเอง ความสำคัญที่สุด คือการบริหารจัดการแบบองค์รวม มีคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในคณะกรรมการดังกล่าว มีกระทรวงมหาดไทย มีกระทรวงเกษตร มีกระทรวงต่าง ๆ ที่มีความเกี่ยวข้อง และพร้อมจะให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชน

Q: เรื่องไร่หมุนเวียนยังคงมีความเห็นที่ไม่ตรงกันอยู่ มีโอกาสไหมที่เราจะจัดการหลังจากนี้ คุยกันอีกสักรอบ?

ชลธิศ สุรัสวดี : เรื่องการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ คิดว่ามันต้องเป็นเรื่องของพื้นที่คุยกัน การที่จะมาตกลงกันว่าพื้นที่หนึ่งแปลงหนึ่งคุณมีอยู่ 10-20 ไร่ คุณมี 7 ไร่ หมุนเวียน ถ้าคุณจะเหลือแค่ 2 ไร่หมุนเวียน คุณจะวางแผนอย่างไรในการจัดการ เรื่องแหล่งน้ำก็เป็นปัจจัยหลัก เรื่องเส้นทางคมนาคมก็เป็นปัจจัยหลัก

แต่โดยภาพรวมแล้ว ถ้าเป็นไร่หมุนเวียนแบบดั้งเดิม ผมคิดว่ามันสามารถที่จะบริหารจัดการต่อไปได้ แต่ก็ยังมีเงื่อนไขเรื่องไฟป่า ซึ่งนั่นอาจเป็นปัจจัยทำให้การจัดการไร่หมุนเวียนจะต้องเปลี่ยนวิธีหรือเปล่า เรื่องนี้ต้องคุยกันยาว

Q: แต่ถ้ามีอีกมุมหนึ่งว่า ถ้าเขาจัดการได้ ชุมชนอยู่ใกล้ป่าและดูแลได้ ยังคุยกันได้ไหม?

ชลธิศ สุรัสวดี : คุยได้ เพราะว่าจริง ๆ แล้วเรื่องของการจัดการไฟ ไม่ได้หมายความว่าไม่ให้มีไฟ การจัดการไฟหมายถึงว่าเกิดระยะเวลาการเผาในเวลาที่เหมาะสม เพราะฉะนั้นการเผาในเวลาที่เหมาะสมก็ไม่กระทบต่อระบบนิเวศ ถึงบอกว่าการจัดการอย่างนี้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 เรามีการจัดการอย่างนี้กับชุมชนจำนวนมาก เพราะฉะนั้นอย่าเพิ่งหันหลังให้กัน การหันหน้าเข้าหากันของชุมชนในวันนี้ถือเป็นเรื่องที่ดีที่สุดในการจัดการต่อไป

Q: ชุมชนที่ยืนยันว่าเขาทำไร่หมุนเวียนนี้เป็นวิถีดั้งเดิม และอยากจะทำแบบนั้นอยู่ ไม่อยากให้รัฐเข้าไปเปลี่ยนวิถี เขาเองก็มองว่าช่วยในการหนุนเสริมอุดมสมบูรณ์ แนวทางจัดการคนกลุ่มนี้จะทำอย่างไร?

ชลธิศ สุรัสวดี : ถ้าเป็นเขตป่าอนุรักษ์ตามกฎหมาย พื้นที่ป่าอนุรักษ์ตามกฎหมาย มีมากกว่า 68 ล้านไร่ ในเขตลุ่มน้ำชั้น 1, 2 ประมาณ 80 กว่าล้านไร่ ตรงนี้ถามว่ามันต้องมีแผนการจัดการกันเชิงพื้นที่ ก็คุยกับครับ เขาจะอยู่ในเงื่อนไขของการตรวจสอบพื้นที่ 240 วัน นับตั้งแต่กฎหมายบังคับใช้ กลุ่มนี้คือกลุ่มที่ได้โอกาสในการเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้แน่นอน

Q: กฎหมายที่มีอยู่ตอนนี้ มันพอที่จะทำแบบนั้นได้ไหม?

ชลธิศ สุรัสวดี : มันเป็นรายละเอียดที่ต้องคุย จริง ๆ แล้วการจัดการใด ๆ ต้องผ่านกระบวนการ คุยกัน จะทำอะไร ทำอย่างไร ทำที่ไหน ตกลงเอาอย่างไร และสำคัญคือต้องตอบได้ว่า ตัวชี้วัดว่า เศรษฐกิจ สังคม ระบบนิเวศ ไปด้วยกันไหม

ถ้าทำแล้วรายได้ไม่มากขึ้น ทำแล้วระบบนิเวศไม่ดีขึ้น ทำแล้วสังคม พี่น้องคุณไม่กลับมาบ้าน ไม่เรียกว่าการจัดการอย่างยั่งยืน การจัดการอย่างยั่งยืนต้องครบทั้ง 3 เรื่อง ไปพร้อม ๆ กัน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ