ชวนมาหาคำตอบกันว่าจะจัดการศึกษาอย่างไร เมื่อเด็กกว่าร้อยละ 30 ของโรงเรียนที่อยู่บนที่สูงและห่างไกลในเชียงใหม่ #ไม่ได้มีภาษาไทยกลางเป็นภาษาแม่ #มีภาษาของชาติพันธุ์ตัวเอง หรือภาษาถิ่นที่ใช้สื่อสารในชีวิตประจำวันกับคนในครอบครัวและชุมชนของตนเองโดยมีโอกาสได้ใช้ภาษาไทย ในการพูดคุยที่น้อยมากหรือแทบจะไม่ได้ใช้เลย
วันอังคารที่ 16 มีนาคม 2564 มูลนิธิภาษาศาสตร์ประยุกต์ ร่วมกับ The North องศาเหนือ ไทยพีบีเอส จัดวงสนทนาแลกเปลี่ยนการจัดการศึกษาสำหรับเด็กกลุ่มชาติพันธุ์ และแนวทางการจัดการศึกษาทวิ/พหุภาษาฯ ทั้ง 4 รูปแบบ และข้อเสนอในการปลดล็อกพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา มีวิทยากรที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษามาสนทนาออนไลน์
- ดร. ยุพิน บัวคอม ศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่
- รศ. ดร. นงเยาว์ เนาวรัตน์ หัวหน้าศูนย์พหุวัฒนธรรมและนโยบายการศึกษา สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- ผศ. วรรณา เทียนมี ผู้เชี่ยวชาญการสอนแนวทางทวิภาษา/พหุภาษาฯ มูลนิธิภาษาศาสตร์ประยุกต์
- ผศ. ดร. สายฝน ใจพรม คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่
- นายเฉลิมชัย โรจนพงษ์ไพร ครูประจำการโรงเรียนบ้านขุนแตะ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่
- ดำเนินรายการโดย นายสินอาจ ลำพูนพงศ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ อดีตผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาเชียงใหม่ เขต 1,2,5
ประเทศไทยกับสังคมพหุวัฒนธรรม : ถ้าเอาแนวคิดพหุวัฒนธรรมลองทำความเข้าใจ เรามีความเป็นพหุวัฒนธรรมหรือไม่อย่างไร
รศ. ดร. นงเยาว์ เนาวรัตน์ หัวหน้าศูนย์พหุวัฒนธรรมและนโยบายการศึกษา สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ถ้าเรามองว่าพหุวัฒนธรรมหมายถึง เท่ากับคำที่เราคุ้นเคยกับคำว่าความหลากหลายทางวัฒนธรรม ประเทศไทยมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมไม่ว่าเรื่องประเด็นของชาติพันธุ์ที่มีอยู่มากมายทั้งในพื้นที่ภาคเหนือโดยเฉพาะเชียงใหม่ เชียงราย ภาคใต้ ทั้งในเกาะแกร่งในทะเลอันดามันด้วย เรามีกลุ่มชาติพันธุ์อยู่มากมาย ขณะนี้เรายอมรับว่ากลุ่มชาติพันธ์เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของพลเมืองในประเทศไทย
“เราเดินทางไปสู่ปลายศตวรรษที่ 21 เราจะมีภาษาแม่เหลืออยู่กี่ภาษา อาจจะเหลืออยู่ 1 ภาษาก็เป็นไปได้อาจจะเหลือภาษาไทยภาษาราชการ ภาษาอื่นๆอาจจะอยู่ในสภาพที่อ่อนแอไม่สามารถที่จะมีชีวิตอยู่ได้ในชุมชนของเขา (ภาษาแม่วิกฤต/สังคมวิกฤต)”
ถ้าเรามองในเชิงประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ ภาษาและความเชื่อ เราเชื่อว่าเรามีความหลากหลายอยู่แต่พหุวัฒนธรรมไม่ได้มองแค่มิติเรื่องความหลากหลาย มันตั้งคำถามว่าความหลากหลายที่มีอยู่คุณเห็นอย่างไร มองอย่างไร (ถ้ายังมองแบบกดทับ มองว่าบางภาษา บางวัฒนธรรมเหนือกว่าอีกวัฒนธรรมหนึ่ง อีกภาษาหนึ่ง ถ้ามองอย่างไม่เคารพ ความแตกต่าง ก็ยังไม่มีความเข้มแข็งในสังคมนั้นๆ) ในสังคมไทยยังมีความอ่อนแออยู่หลายมิติ ทำให้ความเป็นพหุวัฒนธรรมในสังคมเรามันมีคำถามอยู่ตลอดเวลา
- ความไม่ยอมรับมันมีอยู่สูงมาก ถ้าเรามองว่าลักษณะที่มีปฏิบัติการต่อกันแบบนี้
- ความเคารพของทางวัฒนธรรมต้องมีพื้นที่ปฏิบัติการในชีวิตจริง
ถ้าเรามองว่าพหุวัฒนธรรม คือ ความหมาย ความเชื่อและอุดมการณ์ที่จะต้องสถาปนาตนเองขึ้นมาในชุมชน สังคมและการเมือง ซึ่งทำให้สมาชิกในสังคมมีความเชื่อว่าสิทธิและความเสมอภาคบนความหลากหลายมันจะต้องเป็นจริง
หัวหน้าศูนย์พหุวัฒนธรรมและนโยบายการศึกษา อธิบายถึงแนวคิดพหุวัฒนธรรม ว่าในสังคมประชาธิปไตยที่เราดำเนินชีวิตในโลกนี้ในปัจจุบันและประเทศไทยว่าปัจเจกชนทุกคน โดยเฉพาะพลเมืองต้องมีความเสมอภาค ทั้งในเชิงสิทธิความเป็นพลเมือง ในเชิงเศรษฐกิจ สังคมและวิถีชีวิตส่วนตัว ปัจเจกทุกคนควรได้รับสิทธิเหล่านี้
ผู้เรียนกลุ่มชาติพันธุ์จำนวนหนึ่ง ซึ่งมีอยู่ประมาณ 2 ล้านคนอย่างน้อยๆ หรือจะมากกว่านี้ อย่างน้อยภาคเหนือมีอยู่ประมาณ 30 % ซึ่งภาษาแม่ไม่ใช่ภาษาไทยกลาง และไม่ได้อยู่ในสังคมที่เปิดรับให้ภาษาไทยกลางเข้าไปได้เหมือนวิถีชีวิตประจำวันแบบปกติ คนเหล่านี้จะต้องเสียโอกาสในการศึกษา
นอกจากนี้แนวคิดมันเสนอความเท่าเทียมของมนุษย์ ไม่ได้มองแค่ปัจเจกอย่างเดียวว่าเราเป็นพลเมืองประเทศไหน เราก็มีความเป็นมนุษย์ เราก็ควรจะมีสิทธิเสมอภาคกัน ในฐานะที่เราเป็นมนุษย์ของชุมชนโลก เราต้องได้รับความเคารพอย่างเท่าเทียมกัน
ในสังคมต่างๆ ประกอบไปด้วยวัฒนธรรมต่าง ๆ แม้สมาชิกในกลุ่มจะเดินทางข้ามระหว่างวัฒนธรรมกัน ซึ่งขอบเขตมันลื่นไหลตลอดเวลา แต่อย่างน้อยที่สุดเราก็มีความเชื่อมั่นว่ามันมีแกนของวัฒนธรรมที่มันทำให้คนจำนวนหนึ่งเกาะเกี่ยวอยู่และมีชีวิตอยู่กับเขา และกลุ่มวันธรรมเหล่านี้แก่นของมันในสังคมรัฐชาติหรือสังคมโลกควรจะได้รับปฏิบัติอย่างเท่าเทียมเช่นเดียวกัน เพราะมีชีวิตมีตัวตนที่ควรได้รับการปฏิบัติ การมองและมีอำนาจในการมีชีวิตอยู่เช่นเดียวกันกับวัฒนธรรมอื่นๆ
สังคมไทยตั้งแต่อดีตเรามีความหลากหลายเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ไม่ว่ามองในมุมของชาติพันธุ์ ความคิด ภาษา หรือศิลปะ ศาสนาและความเชื่อ ปัจจุบันความหลากหลายเหล่านี้ยิ่งทบทวี ด้วยอิทธิพลของโลกาภิวัตน์ และโซเชียลมีเดีย อย่างไรก็ตาม มิได้หมายความว่าเรามีชีวิตอยู่สังคมพหุวัฒนธรรม ซึ่งหมายถึงสังคมที่เคารพความแตกต่างหลากหลาย และเปิดให้ความแตกต่างหลากหลายเหล่านี้มีพื้นที่และอำนาจในการสืบทอดตัวเองในชีวิตประจำวัน และพื้นที่ อื่น ๆ ได้แบบไร้การกดทับ พหุวัฒนธรรมจึงเป็นกระบวนการคิดที่เข้ามาตั้งคำถามกับความสัมพันธ์ในมิติต่าง ๆ เหล่านี้
ภาษาแม่เป็นวัฒนธรรมหนึ่ง เป็นองค์ประกอบทางวัฒนธรรมหนึ่ง ภาษาทุกภาษาน่าจะมีอำนาจและทรัพยากรในการที่จะมีชีวิตรอดได้เท่ากันทุกภาษา แต่ก็จะเห็นว่าวิวัฒนาการของการมีสังคมรัฐชาติ ภาษาแม่ส่วนใหญ่จะถูกลดทอน ภาษาบางภาษา
การที่ประเทศไทยมีความหลากหลายวัฒนธรรม หลากหลายชาติพันธุ์ หลากหลายภาษามันยังไม่ได้แปลว่าเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม ถ้าจะเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมคนในสังคมจะต้องมีความเคารพนับถืออย่างจริงใจ นับถือว่ามีสิ่งนั้นอยู่ในสังคม
รูปธรรมการจัดการศึกษาแนวทางนี้ตอบโจทย์ความต้องการชุมชนจริงหรือ อย่างไร
นายเฉลิมชัย โรจนพงษ์ไพร ครูประจำการโรงเรียนบ้านขุนแตะ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ยกตัวอย่างถึงกรณีที่เด็กกลุ่มชาติพันธุ์ถึงขี้อาย ไปเรียนแล้วทำไมถึงพูดไม่ชัด ผลการเรียนส่วนใหญ่เมื่อเทียบกับโรงเรียนในเมืองก็จะต่ำมาก เนื่องจากเกิดจากความไม่เท่าเทียมของภาษาที่เข้าสู่ระบบโรงเรียน เมื่อต้องเข้าไปเรียนในเมืองที่เป็นคนเมืองทั้งหมด เวลาแนะนำตัวเอง แนะนำตัวไม่ชัดเพื่อนก็หัวเราะกันทั้งห้องทำให้สูญเสียความมั่นใจและกลายเป็นคนที่ไม่ค่อยพูด
แล้วจะมีวิธีแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างไร มาเจอกระบวนการเรียนการสอนทวิ/พหุภาษาได้ อย่างแรกเลยที่จะทำให้เด็กพูดชัดขึ้น สามารถฝึกความคิดในทางสร้างสรรค์ได้ นอกจากนั้นการจัดการเรียนการสอนแบบนี้ทำให้มีความภาคภูมิใจในตนเองด้วย ถ้าไม่จัดการเรียนการสอนตามแนวทางนี้จะเกิดอะไรขึ้นมันก็จะเกิดปัญหาเดิมขึ้น ก็จะพูดไม่ชัดเหมือนเดิม ถ้าพูดไม่ชัดเวลาเข้าไปสู่ระบบโรงเรียนก็จะโดนล้อ พอโดนล้อก็จะสูญเสียความมั่นใจ และก็ไม่กล้าที่จะถกเถียง โต้เถียงกับเพื่อน
จากประสบการณ์ที่ทำมา 5 ปีจากการเรียนแบบทวิภาษามันทำให้เห็นว่าถ้าเราสอนอย่างถูกวิธีแท้จริงแล้วทำให้เขามีพัฒนาการที่เท่าเทียมกับเด็กในเมืองได้ เขาคิดได้คิดได้ทุกอย่างเลยแต่ที่ผ่านมาเราบังคับให้เขาพูดในภาษาที่เขาไม่ถนัด อธิบายออกมาไม่ได้
แท้จริงแล้วปัญหาในการเรียนรู้ของเด็กกลุ่มชาติพันธุ์คือภาษาที่ยังไม่พร้อม การจัดการเรียนการสอนทวิ เราต้องสร้างความพร้อมให้กับเด็กก่อนในเรื่องของภาษาไทย ในขณะที่เราสร้างความพร้อมให้เด็ก เรื่องของภาษาไทยเราต้องฝึกทักษะความคิดที่มันมีความจำเป็นสำหรับเด็กกลุ่มชาติพันธุ์ที่ต้องฝึกตั้งแต่ตอนเป็นเด็ก เพราะฉะนั้นที่ผ่านมาถึงแม่เราจะฝึกความคิดสร้างสรรค์ให้กับเด็กมันไม่มีผลโต้ตอบกับเรา เพราะว่าเขาไม่เข้าใจภาษาไทย
ภาษาแม่ก็เป็นภาษาที่สำคัญต่อการเรียนรู้ แต่ปัจจุบันก็มีคนที่เข้าใจในเรื่องนี้น้อยแม้กระทั้งผู้ปกครองบางคน ก็ไม่เข้าใจภาษาถิ่นจะเป็นวิถีการสื่อสารกับเด็กได้
ผลการเรียนที่เห็นได้ชัดมากที่สุด คือการวัดการอ่าน RT อยู่ในระดับ 70% แต่สำหรับผู้ปกครองไม่ได้ต้องการแค่ผลทางวิชาการอย่างเดียว แต่อยากให้ลูกๆ สามารถใช้ชีวิตอยู่ในเมืองได้ ในขณะเดียวกันก็ภาคภูมิใจในตัวเองด้วย สิ่งที่เห็นได้ชัดผู้ปกครองจะมาเล่าให้ฟังลูกกลับบ้านมาแล้วพูดชัดมาก และความก้าวร้าวของเด็กลดลงเวลาเราใช้ภาษาถิ่น เมื่อก่อนเราบังคับใช้แต่ภาษาไทยเท่านั้น เวลามีปัญหาไม่สามารถที่จะอธิบายออกมาได้ เด็กอ่อนโยนลง
พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาบนฐานชุมชน และวัฒนธรรมอย่างไร
ผศ. วรรณา เทียนมี ผู้เชี่ยวชาญการสอนแนวทางทวิภาษา/พหุภาษาฯ มูลนิธิภาษาศาสตร์ประยุกต์ อธิบายว่า พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเป็นกฎหมายที่ตราขึ้น เพื่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพการศึกษา และลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยส่งเสริมสนับสนุนให้โรงเรียนใช้นวัตกรรมที่มีสัมฤทธิผลเหมาะสมกับสภาพผู้เรียน และบริบทแวดล้อมในการจัดการศึกษาให้เกิดผลสำเร็จ
ดังนั้นพ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจึงเป็นพ.ร.บ.บนฐานของโรงเรียน ชุมชน และวัฒนธรรม เพราะได้ยึดเอานวัตกรรมของโรงเรียนที่เหมาะสมกับผู้เรียน ชุมชน และวัฒนธรรมเป็นตัวตั้ง ตามหลักการของ การจัดการศึกษาที่ยึดผู้เรียน (และสภาพวิถีความเป็นอยู่ของผู้เรียน) เป็นสำคัญ
นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ตามแนวทางทวิ/พหุภาษา (โดยใช้ภาษาแม่เป็นฐาน) เป็นนวัตกรรมของการจัดการเรียนรู้ที่ยึดเอาผู้เรียน ชุมชน และวัฒนธรรมของผู้เรียนเป็นฐาน หรือเป็นสำคัญในการจัดการเรียนรู้ ดังนั้นพ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จึงเป็นความหวังของโรงเรียนที่ใช้นวัตกรรมดังกล่าว ที่จะได้รับการส่งเสริม สนับสนุนให้โรงเรียนสามารถจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพได้
ประเทศไทยมีความหลากหลายที่เป็นขุมทรัพย์อย่างมหาศาลและอยู่ในแต่ละพื้นที่ ดังนั้นการส่งเสริมสนับสนุนให้ใช้พื้นที่ ชุมชน และวัฒนธรรม เป็นฐานในการจัดการศึกษาหรือการพัฒนา จึงนับเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของการใช้ข้อดีของสรรพกำลังที่มีอยู่ในการสร้างศักยภาพของประเทศ
การจัดการเรียนการสอนที่ใช้ภาษาแม่เป็นฐาน เด็กกลุ่มชาติพันธุ์จะใช้ภาษาแม่ตัวเองในการเรียนเพราะเป็นภาษาแรกที่เด็กใช้ในการสื่อสารชีวิตประจำวัน จึงทำให้เด็กเรียนรู้ผ่านภาษาของตนเองก่อน โดยยึดตามหลักพระราชดำรัส ของในหลวงรัชกาลที่ 9 “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” เพื่อเป็นฐานจากความรู้เดิมที่เด็กมีอยู่แล้วต่อยอดไปสู่ความรู้ใหม่ของเด็ก เพราะถ้าเด็กใช้ภาษาที่ไม่ถนัดเด็กจะไม่เกิดการเรียนรู้และจะคิดสร้างสรรค์ไม่เป็น
การจัดการเรียนการสอนไม่เพียงแต่คิดทฤษฏีแต่ต้องคำนึงถึงผู้เรียนด้วย โดยการเน้นเด็กเป็นศูนย์กลางในการจัดการเรียนการสอน
ผศ. ดร. สายฝน ใจพรม คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ กล่าวว่า อาจารย์ในมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่มีความเข้าใจในเรื่องทวิภาษาระดับหนึ่ง เพราะปัจจุบันเด็กที่เข้ามาเรียนซึ่งมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมสูงมาก เรื่องความเสมอภาคในการแสดงออกและในการยอมรับคณะครูและเพื่อนก็มีความเสมอภาคอยู่แล้ว เริ่มต้นในส่วนการสนับสนุนเรื่องทวิภาษายังไม่ได้สนับสนุนอย่างไม่ได้เต็มร้อย แต่ก็มีการวางแผนและผลักดันเกี่ยวกับพหุวัฒนธรรม
ในปี 2563 คณะครุศาสตร์ได้ร่วมลงนามข้อตกลง เพื่อพัฒนาหลักสูตรดิจิทัลการฝึกอบรมครูเพื่อการจัดการศึกษาตามแนวทางทวิ/พหุภาษา โดยใช้ภาษาแม่เป็นฐาน กับมูลนิธิภาษาศาสตร์ประยุกต์ และมูลนิธิบ้านเด็กเพซตาล๊อตซี่ และมูลนิธิเกื้อฝันเด็ก เป็นผู้สนับสนุนร่วม มีความคาดหวังว่าหลักสูตรนี้จะเป็นที่สนใจสำหรับผู้อำนวยการโรงเรียน ครูประจำการ และนักศึกษาครุศาศตร์ หรือผู้ที่สนใจจะได้เข้าไปศึกษาหลักสูตรนี้ อีกทั้งยังจะทำให้เกิดความยั่งยืนในการจัดการเรียนการสอนแบบทวิ/พหุภาษา ทั้งเรื่องการย้ายของบุคลากรครูผู้สอน เพื่อจะช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครูในถิ่นทุรกันดาร
“ราชภัฎเชียงใหม่เป็นสถาบันผลิตครูมีความพร้อมและยินดี จะสนับสนุนในแนวคิดเหล่านี้ไปถึงเป้าหมาย ตามที่บุคลากรทางมหาวิทยาลัยมีศักยภาพที่จะพัฒนานักศึกษาครูให้เข้าใจบริบทของชุมชนหรือท้องถิ่นตัวเอง เพื่อเป็นครูที่ดีและมีคุณภาพ แต่ก็ยังมีอุปสรรคที่จะต้องช่วยกันขับเคลื่อนเกี่ยวกับระบบโครงสร้าง กฎหมาย หลักสูตของคณะครุศาสตร์เอง เพื่อให้เชื่อมโยงกับหลักสูตรทวิภาษาให้มากขึ้น ก็ต้องอาศัยหน่วยงานศึกษาธิการจังหวัดมาร่วมจัดการและผลัดดันการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ให้บรรลุเป้าหมายตามที่พื้นที่นวัตกรรมเชียงใหม่ตั้งไว้”
ความคิดเห็นทางออนไลน์
1.แนวทางนี้ไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นแนวทางที่ใช้ได้ผลจริง “ต้องเรียนรู้ ต้องทำจริง สร้างเครือข่าย”
2. แก่นแท้วัฒนธรรมที่ล้ำค่าคือการสืบทอดวัฒนธรรมภาษาแม่ให้คงอยู่กับสังคมไทยตราบนานเท่านานค่ะ
3. เห็นความมุ่งมั่น และตั้งใจ ในการเข้ามามีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย ภายใต้บริบทของตนเอง ในอันที่จะช่วยกันพัฒนากลุ่มชาติพันธ์ ในประเทศของเราให้เป็นผู้มีคุณภาพ ไปด้วยกัน ขอบคุณที่ไม่ทิ้งกันนะคะ
4.ทั้งนี้ทั้งนั้นจิตวิญญาณความเป็นครูก็สำคัญนาเจ้า…บ่าว่าจะเป็นไผมาสอน
5. เห็นด้วยกับท่านรองฯ ค่ะ ประเด็นเรื่องของการผลิตครูผู้ช่วย หรือการพัฒนาครู ฯ เพื่อรองรับการจัดการเรียนการสอนเป็นเรื่องสำคัญมากค่ะ
6.การจัดการศึกษาต้องช่วยกันชุมชนผู้ปกครองครู หนูอยากให้ทางพหุภาษาได้แบ่งสื่อไปตามโรงเรียนต่างๆด้วยค่ะ
7. ถ้าทุก รร. ที่มีนักเรียนกลุ่มชาติพันธุ์ ได้ใช้วิธีการสอนแนวทางนี้ จะสามารถช่วยให้นักเรียนที่ไม่ได้เข้าใจภาษาไทย ได้เข้าใจมากยิ่งขึ้น
8. อยากให้ทุกภาคส่วน ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนนวัตกรรม
9. ดีใจมาก ที่หน่วยผลิตครู ได้เข้ามามีส่วนร่วมด้วยค่ะ
10. เห็นด้วยกับ ท่าน ผอ.สินอาจ ถ้าการที่เราสามารถจัดการเรียนการสอนท่ามกลางความแตกต่างทางชาติพันธุ์นั้น ความพร้อมของเด็กในด้านภาษาน่าจะต้องตีคู่ไปกับความพร้อมของครูด้วยเช่นกัน เป็นเรื่องที่ดีมากที่ ทางสถาบันผลิตครูฯ ได้มีโครงการที่จะเป็นประโยชน์และเข้ามาสอดประสานเรื่องนี้
11. เป็นครูอนุบาลสอนอยู่อำเภอเมืองเชียงใหม่ค่ะเด็กที่สอนส่วนใหญ่เป็นไทใหญ่(พ่อแม่เป็นแรงงานประเทศเพื่อนบ้าน)เวลาสอนเด็กเด็กไม่เข้าใจภาษาไทยครูต้องอธิบายหลายๆรอบเวลาสั่งอะไรไปเด็กจะแปลเป็นอีกอย่างผู้ปกครองก็เข้าใจยากเพราะไม่รู้ภาษาไทยเลยมีความคิดว่าน่าจะจัดการเรียนการสอนแบบพหุภาษา(ทวิภาษาของตัวอำเภอเมืองบ้างน่าจะดีนะคะ(โรงเรียนรัฐขนาดเล็ก กลาง ส่วนใหญ่เป็นเด็กนาๆชาติพันธ์)
12. รอดูนวัตกรรม และพลังของจังหวัดเชียงใหม่นะคะ
13. ผมเห็นด้วยครับเพราะขณะนี้ จากการที่ผมลงตรวจเยี่ยมโรงเรียนในสังกัดที่อยู่พื้นที่ห่างไกลและเป็นพี่น้องชาวเขาเผ่าต่างๆ เริ่มมีครูในพื้นที่ที่ได้รับการบรรจุในพื้นที่มากขึ้น.ซึ่งครูกลุ่มนี้ถ้าได้รับการพัฒนาอย่างตรงจุดในเรื่องการสอนแบบทวิภาษาหรือพหุภาษาจะช่วยเหลือได้มากเลยครับ.
14. ฟัง อ.วรรณา แล้วเข้าใจเลยว่า ครูที่จะขับเคลื่อนทวิภาษา นั้นต้องมืออาชีพจริงๆ สามารถเก็บสิ่งใกล้ตัวมาเป็นนวัตกรรมนำเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ได้หลากหลาย ครูที่จะขับเคลื่อนไปกับเด็กได้จะต้องใฝ่รู้ เรียนรู้ภาษาชาติพันธ์ไปกับเด็กเอามาควบคู่การใช้ภาษา ครูจะต้องใจเย็นประณีตในการนำภาษามาผสานกัน จากประสบการณ์อย่างน้อยครูจะต้องใช้ภาษาชาติพันธ์ไปกับเด็กกับครึ่งค่อนปี ด้วยเทคนิคที่หลากหลายซึ่งสถาบันที่ผลิตครูคงผลิตมาแล้ว แล้วด้วยใจรัก “ใจ” มีให้เด็ก ครูก็สนุก นร.ก็สนุก มันเป็นความอิ่มเอมที่เห็นเด็กเรียนรู้จากภาษาแม่มาสู่ภาษาไทย มันคือความงดงาม ที่คนเป็นครูได้ประสบมาแล้ว ขอสนับสนุนและส่งใจให้ครูพื้นที่สูงและผอ.สินอาจนะ ทำด้วยใจจะไม่วันแก่แน่นอน
15. อาจารย์แนะนำกระบวนการจัดการเรียนการสอนมีประโยชน์มากเลยค่ะ
16. โรงเรียนมีนักเรียนหลายชนเผ่า แล้วจะใช้ภาษาแม่ของชนเผ่าไหนดีเจ้า
17. แต่ทั้งนี้ ครูผู้สอนจะต้องเข้าใจภาษาของเด็กกลุ่มชาติพันธุ์ด้วย
18. ใช่ครับ ครูต้องเข้าใจและต้องสามารถใช้ภาษาของเด็กได้ด้วย
19. ทีมทวิภาษา จ.สุรินทร์เตรียมพร้อมติดตามรับฟังด้วยความภาคภูมิใจยิ่งนะคะ
20. ชื่นชม รร.บ้านขุนแตะ
21.ขอบคุณผู้ใหญ่ใจดีช่วยผลักดันนโยบายนวัตกรรมใหม่ๆให้เด็กๆได้มีความสุขในการเรียนรู้
22. อยากให้ผู้ใหญ่ในระดับนโยบายของศธ.ได้เข้ามาเรียนรู้ในพื้นที่บ้างจะได้เข้าใจและช่วยมีส่วนช่วยในการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาให้ถูกกับปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะการจัดการศึกษาเป็นหน้าที่ของทุกคนไม่ใช่เป็นของเฉพาะหน่วยงาน/คนใดคนหนึ่ง
ร่วมรับฟัง ทำความรู้จักการจัดการศึกษาทวิ/พหุภาษา สำหรับเด็กกลุ่มชาติพันธุ์และพื้นที่ที่มีภาษาถิ่นอันหลากหลาย ย้อนหลังได้ที่เพจ TheNorth องศาเหนือ