ปลดล็อกกัญชา โอกาสของประชาชน?

ปลดล็อกกัญชา โอกาสของประชาชน?

นโยบาย “กัญชาเสรีทางการแพทย์” ที่ทั้งฝ่ายการเมือง หน่วยงานรัฐ และองค์กรที่เกี่ยวข้อง ต่างขานรับเพื่อเปลี่ยนพืชเสพติดให้เป็นพืชเศรษฐกิจ จนล่าสุดมีการปลดล็อก “ใบ ต้น ราก” ให้ใช้ประโยชน์ได้ยกเว้นช่อดอกและเมล็ด ท่ามกลางโอกาส แต่เส้นทางที่ประชาชนทั่วไปจะสามารถเข้าถึง ปลูก และใช้ประโยชน์ได้จริง นั้นอาจไม่ใช่เรื่องง่าย

1.

กัญชาเสรี? คนป่วยไม่ได้ปลูก คนปลูกยังไม่เกิดรายได้

หนึ่งในตัวอย่างความหวังของประชาชนที่จะได้ปลูกกัญชาเสรีเพื่อใช้ในการรักษาตัวให้มีชีวิตอยู่ได้ตามปกติ และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนใน จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ยังคงรอคอยความชัดเจนของนโยบาย ทั้งเรื่องใครปลูกได้ปลูกไม่ได้ หรือใครขายได้ ขายให้ใคร แล้วจะขายอย่างไร ขายในราคาเท่าไหร่ ฯลฯ

00000

2.

กัญชากับโอกาสสู่วิสาหกิจชุมชน

ปัจจุบันการปลูกกัญชาของคนทั่วไปยังไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย ทางเดียวที่คนธรรมดาจะเข้าถึงได้คือรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน ผ่านการรับรองและทำงานร่วมกับหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัย เพื่อเอาองค์ความรู้เรื่องการปลูกมาหนุนเสริม อย่างที่ จ.ขอนแก่น สถาบันวิจัยแคนนาบิสครบศาสตร์และคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นกำลังศึกษาทดลอง เก็บข้อมูลเรื่องการปลูก ก่อนที่จะส่งต่อความรู้ไปยังวิสาหกิจชุมชนที่มีแผนดำเนินการร่วมกัน

00000

3.

เมนูยิ้มหวาน โอกาสที่ท้าทาย

นอกจากโอกาสในทางการแพทย์และการศึกษาวิจัย การนำส่วนประกอบของกัญชาที่ไม่ใช่ยาเสพติดมาใช้ประโยชน์ในการทำอาหาร ก็เป็นโอกาสในการสร้างธุรกิจจากกัญชา ที่ผู้ประกอบการร้านอาหารให้ความสนใจ โดยเฉพาะในยุควิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ที่เราต่างต้องดิ้นรนหาทางรอด แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย

00000

4.

2 ปี จากนโยบายเสรี สู่การปลดล็อกกัญชา (บางส่วน)

หลัง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 ก.พ. 2562 นับเป็นจุดเริ่มต้นเปิดเสรีการใช้กัญชา แม้จะอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ได้เฉพาะในทางการแพทย์และการวิจัย และใน 5 ปี ผู้ที่ได้รับอนุญาตมีเพียงหน่วยงานภาครัฐ

ล่าสุด ข้อมูลจากกองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข แบ่งการให้อนุญาตออกเป็น 7 ประเภทคำขอ มีจำนวนใบอนุญาตทั้งหมด 1,407 รายการ

00000

5

แล้วจะทำอย่างไรให้นโยบายนี้กระจายโอกาสและผลประโยชน์สู่ประชาชนได้อย่างแท้จริง? นี่คือคำถามตั้งต้นของการสนทนาในรายการ “นักข่าวพลเมือง C-site” ตอน “กัญชา” ที่ประชาชนเข้าถึงได้ เมื่อวันจันทร์ที่ 15 มี.ค. 2564 ที่ชวนไขข้อข้องใจ กับ

  • อรพินทร์ พญาพิทักษ์สกุล ประธานที่ปรึกษาวิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกและแปรรูปบุกเกษตรอินทรีย์บ้านทุ่งแพม จ.แม่ฮ่องสอน
  • ดร.ภก. อนันท์ชัย อัศวเมฆิน คณะที่ปรึกษา รมว.กระทรวงสาธารณสุข ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์ และที่ปรึกษาสถาบันกัญชาทางการแพทย์

Q: ขอเริ่มที่วิสาหกิจชุมชนฯ มาไกลจากแม่ฮ่องสอน ผลผลิตที่เราเห็นด้านหน้าตรงนี้ มีทั้งกัญชง กัญชา?

อรพินทร์ พญาพิทักษ์สกุล: กัญชงมาจากเชียงใหม่ เพราะเรามีแปลงปลูกอยู่ที่เชียงใหม่ แต่กัญชาปลูกอยู่ที่ทุ่งแพม อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน

Q: พอเป็นวิสาหกิจชุมชนแล้วสามารถแปรรูปได้เองเลยใช่ไหม?

ดร. ภก. อนันต์ชัย อัศวเมฆิน: ขึ้นอยู่กับว่าได้รับใบอนุญาตอะไร มีทั้งหมด 7 แบบ ถ้ามีใบอนุญาตก็สามารถที่จะทำได้

Q: วิสาหกิจชุมชนจะได้ใบอนุญาตปลูก มันยาก มันง่ายอย่างไรบ้าง?

อรพินทร์ พญาพิทักษ์สกุล: จริง ๆ การขออนุญาตในการปลูกไม่ยาก ขอให้เรารวมตัวกันให้เป็นวิสาหกิจให้ได้ 7 คน แล้วก็ไปยื่นที่สำนักงานเกษตรอำเภอ แต่งตั้งเราเป็นวิสาหกิจชุมชน ไปหาจับคู่ว่า สถาบันอุดมศึกษาที่ใดบ้าง ที่จะมาเป็นพี่เลี้ยงเราได้ ปลายน้ำที่เราจะนำไปให้เขา คือ ใคร ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ถ้าครบแล้ว ไปยื่นขออนุญาตปลูกได้เลย

Q: ต้นทุนน้อยที่สุด ถ้าจะทำต้องมีเท่าไหร่?

อรพินทร์ พญาพิทักษ์สกุล: หลักแสนก็ทำได้ค่ะ

ดร. ภก. อนันต์ชัย อัศวเมฆิน: จริง ๆ มีอีกหนึ่งโมเดล เรื่องของ 6 ต้น ที่มีการหาเสียงกัน ตอนนี้ เป็นจริงแล้วเรียบร้อย อันนั้นต้นทุนอาจจะไม่สูงขนาดนี้ ในเรื่องของมาตรฐาน อย่างที่บอกว่าตัวกฎหมายนี้เราทำเพื่อประชาชนทุกคน เราต้องสามารถที่จะรวมกลุ่มกันเป็นวิสาหกิจชุมชน สามารถปลูกได้แต่ใช้มาตรฐานคนละมาตรฐานกัน อย่างที่บอกว่ามันเป็นของประชาชน เศรษฐกิจชุมชนก็ต้องได้ด้วย เศรษฐกิจอุตสาหกรรมก็ต้องได้ด้วย

Q: จะรวมกลุ่มแบบวิสาหกิจชุมชน หรือจะรวมแบบ 6 ต้นก็ได้ แต่ขอถามแทนประชาชน ถ้าเป็นวิสาหกิจชุมชน ฉันต้องมี 6 ต้น เธอมี 6 ต้น มีโมเดลเดียวแค่นี้หรือเปล่า?

ดร. ภก. อนันต์ชัย อัศวเมฆิน: 6 ต้น เป็นโยบายตอนหาเสียง และมีคนฝากถามเยอะเลยว่า เมื่อไหร่จะเป็นจริง และตอนนี้ก็เป็นจริงแล้วที่โนนมาลัย จ.บุรีรัมย์ เรากำลังขายผลในหลาย ๆ จังหวัดที่ไม่จำเป็นต้องปลูก 6 ต้นก็ได้ ถ้าขออนุญาตถูกต้อง จะปลูกกี่ต้นก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าสิ่งที่จะเอาไปใช้ประโยชน์ในตอนปลายน้ำจะเป็นอย่างไร

วันนี้เรามองตลาด มันได้รับความนิยมมากเลย แทบไม่ต้องโฆษณา ทำเงินและรายได้ให้กับประชาชน ผมว่าในอนาคตอันใกล้นี้ อาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนการขออนุญาตกันอีกนิดหนึ่งว่า ให้ปลูกแล้วสุดท้ายไปไหน ตอนแรกที่คิดว่าจะต้องมีปลายน้ำที่ชัดเจนแล้วต้นน้ำถึงจะปลูกได้ตามโควต้าที่ควรจะเป็น ผมคิดว่าอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ทำให้ห่วงโซ่อุปทานตรงนี้มันยั่งยืน ก็คงต้องมีตลาดกลางในการรองรับ ซึ่งเราก็ขอความร่วมมือกับกรมวิชาการเกษตร รวมถึงกระทรวงเกษตรเรียบร้อย

ต้องอย่าลืมนะครับว่ากระทรวงสาธารณสุขซึ่งเป็นเจ้าของ พ.ร.บ.นี้ ปลูกพืชไม่เป็น ต้องบอกอย่างนั้น แต่ตัวของกัญชาหรือกัญชงมันเป็นพืช เป็นสมุนไพร ที่จะต้องมีคุณภาพ แปลว่าคนปลูกก็ต้องมีความรู้ เราเลยขอรบกวนกระทรวงเกษตรฯ ให้มาช่วยในเรื่องของความรู้ เมล็ดพันธุ์ ต้นกล้า รวมถึงการขออนุญาตด้วย เพราะว่าการลงแปลงไม่ว่าจะกัญชา หรือกัญชงก็ตาม ก็ต้องไปตรวจดูก่อน ในตอนแรกที่ต้องขออนุญาตอยู่ดี

Q: โมเดลทางการตลาดนี้ อีกสักกี่ปีจะได้เห็นแบบครบวงจร?

ดร. ภก. อนันต์ชัย อัศวเมฆิน: ไม่เกิน 3-6 เดือน ต้องเห็นแล้ว เพราะตอนนี้สิ่งที่เราเจอก็คือพอประกาศนโยบายเรื่องของ “พืชเศรษฐกิจ” ตรงนี้ขึ้นมา อย่าลืมนะครับ ปีแรกเราเน้นเรื่องของพืชยา ใช้ในทางการแพทย์ มาถึงปีที่ 2 พอปลดล็อกได้ 3 เดือน ราคาใบสด ใบแห้ง ช่อดอก ราคาขึ้นไปเยอะมาก ซึ่งลองจินตนาการนะครับว่าเยอะขนาดนี้ คนจะลงมาปลูกขนาดไหน และถ้าเราไม่เตรียมนิเวศเกี่ยวกับเรื่องของการปลูกตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ จะเกิดความโกลาหลขนาดไหน อันนี้ต้องมีการวางแผนกันให้เกิดระบบที่เป็นวงจรให้ครบถ้วน

Q: ถามสั้น ๆ ที่ปลูก ๆ กันอยู่วันนี้มันเพียงพอหรือยัง?

ดร. ภก. อนันต์ชัย อัศวเมฆิน : บอกได้เลยว่ายังไม่พอครับ ตอนนี้ใบขาดแคลนทั่วประเทศ มีการใช้คำว่า FAKE Demand (ความต้องการเทียม) คือเป็นความต้องการปลอมหรือหลวงขึ้นมา เพราะว่าตอนนี้มันเป็นที่นิยมมาก ทุกคนก็อยากเข้าถึง ทุกคนก็อยากลอง จนคิดว่าตอนนี้ต้องขออนุญาตกันมากขึ้น ต้องให้ใบอนุญาตปลูกกันมากขึ้น

Q: กลับมาที่วิสาหกิจชุมชน จริงไหมที่ว่ามันไม่พอ แล้วสภาพการปลูกและการแปรรูปตอนนี้ที่แม่ฮ่องสอนเป็นอย่างไรบ้าง?

อรพินทร์ พญาพิทักษ์สกุล : จริงค่ะ ของที่ทุ่งแพม จ.แม่ฮ่องสอน ครอปที่เราปลูกกันอยู่ตอนนี้ต้องส่งให้กับทางแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกทั้งหมดเพื่อนำไปทำยา ซึ่งถ้าไปเอาใบออกมาขายทั้งหมด ดอกก็จะไม่เจริญเติบโต มันไม่ได้เป็นช่วงที่เราจะตัดใบออกมาจำหน่ายได้มากมายนัก เราก็จะให้แต่พาร์ทเนอร์ที่มาขอเราไปได้บ้างนิดหน่อย ครึ่งกิโลกรัม – 1 กิโลกรัม เพื่อที่จะเอาไปต่อยอด อย่างเช่น เขียวไข่กา แบล็คแคนยอน ขนมสยาม เราให้ได้ และมีร้านกาแฟของลูกชายที่เชียงใหม่ นิด ๆ หน่อย ๆ เท่านั้น แต่ถามว่าอนาคตข้างหน้าจะขาดแคลนไหม ขาดแคลนแน่นอน ขนาดแค่ของเราปลูกเอง เรารู้เลยว่าผลิตออกมาแล้ว 2,000 ต้น ได้ใบแค่นิดเดียวเอง

Q: ตอนนี้ใบได้รับความนิยมกันมาก ใช้ในชา ในอาหาร ตอนนี้คือรองรับไม่พอ?

อรพินทร์ พญาพิทักษ์สกุล : ตอนนี้ที่เราไม่เน้นจำหน่ายออกไปมาก เพราะเราต้องการนำมาทำผลิตภัณฑ์ของเราเองด้วย เพื่อที่จะสร้างมูลค่าให้กับทางกลุ่มวิสาหกิจของเราให้อยู่ได้ เนื่องจากที่ผ่านมา ปลูกไว้ก็ต้องส่งเขาทั้งหมด ตั้งแต่กิ่ง ก้าน ราก ใบ ดอก แต่ตอนนี้เรามีสิทธิ์ที่จะขายได้ ในสิ่งที่เขาปลดล็อกให้เราขาย เราก็ยังมีรายได้ตรงนี้เข้ามาในวิสาหกิจฯ ด้วย

Q: ตอบคำถามท่านผู้ชมทางบ้านไปด้วย สิ่งที่ปลดล็อกแล้วขายได้ ยกเว้นเมล็ดและช่อดอกยังขายไม่ได้ แล้วเสรีกัญชา มีคำถามว่าวันนี้เสรีจริงอย่างที่โฆษณาไหม อันนี้ประเด็นแรก แล้วประเด็นที่สองมีความคาดหวังว่าคนที่เจ็บป่วยจะปลูกได้ แล้วนำมาใช้ทางยาได้ แบบยาสามัญประจำบ้าน มีโอกาสเป็นไปได้ไหม?

ดร. ภก. อนันต์ชัย อัศวเมฆิน : เรื่องของเสรี คำว่าเสรีทางการแพทย์ คือใช้ได้ในข้อบ่งใช้ที่ใช้กัญชาได้ อันนี้คือคำว่าเสรี แต่ทุกคนไปตีความคำว่า เสรี คือ ไร้ระเบียบ ไม่ต้องขออนุญาตเลย ไปปลูกที่บ้านได้โดยไม่จำเป็นต้องมาขอรัฐ คงต้องเคลียร์ประเด็นนี้ให้ได้ก่อนว่า “มันยังเป็นยาเสพติด” คำว่าเสรีแปลว่า จะเข้าถึงสิ่งที่เป็นสิ่งเสพติดถึงอย่างไรก็ยังต้องขออนุญาตอยู่ การขออนุญาตเป็นสิ่งที่ง่ายที่สุดแล้ว ในการที่จะเข้าระบบ อย่างที่บอกมาขอก็เข้าได้

ส่วนผู้ป่วย ปีแรกที่เราดำเนินนโยบายนี้มา เราเปิดคลินิกในโรงพยาบาลรัฐ รวมถึงโรงพยาบาลเอกชน คลินิกเอกชนกว่า 500 แห่ง ทั่วประเทศ เมื่อก่อนเปิดสัปดาห์ละ 1 ครั้ง แต่ตอนนี้เปิดมากขึ้น 3 ครั้งต่อสัปดาห์ การเข้าถึงก็น่าจะมากขึ้น เหมือนมีการเรียกร้องว่าคลินิกไม่เพียงพอ ไม่ใกล้บ้าน คุณสามารถเข้ามาในเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ดูได้ว่าตอนนี้มีคลินิกที่ไหนเปิดแล้วใกล้บ้านท่านบ้าง ก็จะสามารถเอาคนไข้มาหาคุณหมอ เพื่อจะได้สั่งจ่ายยา ซึ่งยาตอนนี้เรามี 30 กว่าตำรับ ถือเป็นการพัฒนาที่เร็วที่สุดในโลก เนื่องจากเรามีการใช้ช่องทางพิเศษในการเข้าถึงยาที่เราเรียกว่า Special access ซึ่งประเทศอื่นใช้กระบวนการนี้เหมือนกัน แต่ในประเทศไทยไม่เคยมีเลย เพิ่งจะมีในปีที่แล้ว

และการเข้าถึงกระบวนการตรงนี้ สามารถเบิกจ่ายได้ด้วย แปลว่าฟรี ตอนนี้เราก็นำเอาตัวตำรับยา เข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งสปสช.หรือบัตรทองก็สามารถที่จะเบิกจ่ายได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

Q: เข้าถึงยาในแบบที่ผ่านคลินิกที่ได้รับอนุญาตของรัฐ ตอนนี้มี 500 กว่าแห่ง ได้แน่นอน แต่ถ้าจะปลูกใช้เองเป็นได้ไหม?

ดร. ภก. อนันต์ชัย อัศวเมฆิน : เรื่องของการปลูกใช้เอง ในอนาคตอันใกล้ ซึ่งใน พ.ร.บ.ฉบับ 8 ตอนนี้เราใช้ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 อยู่ อนุญาตให้กับวิสาหกิจชุมชน 7 คน ส่วนฉบับ 8 จะอนุญาตให้หน่วยย่อยที่สุด จะเป็นคนไข้ที่ขออนุญาตคุณหมอไม่ว่าหมอพื้นบ้านหรือหมอแผนปัจจุบันให้ไปปลูกเองที่บ้าน แต่อย่างไรก็ตามก็ยังมีการกำกับดูแลอยู่ดี ไม่ได้เหมือนกับการปลูกกะเพราหรือปลูกพริกที่บ้านแล้วเด็ดกินได้

Q: กลับมาที่วิสาหกิจชุมชน คาดหวังอะไรในมุมของวิสาหกิจชุมชน และอาจจะมองในระดับปัจเจกบุคคลที่เป็นพลเมืองไทย ที่จะได้ประโยชน์จากกัญชาทั้งมุมทางการแพทย์และเศรษฐกิจ?

อรพินทร์ พญาพิทักษ์สกุล : ในมุมมองของเรา ทางเราเกิดจากวิสาหกิจชุมชน พอตั้งวิสาหกิจชุมชนปลูกไปได้ ความหวังของเรา คือ หนึ่งต่อยอดจากการที่เราไม่ค่อยมีรายได้อยู่แล้ว ก่อนหน้านี้วิสาหกิจชุมชนของเราทำบุก ซึ่งบุกทำได้ 4 เดือนต่อปี หลังจากนั้นก็ไม่ได้ทำอะไร เราก็มุ่งมาทำเรื่องกัญชา

พอทำเรื่องกัญชา ความมุ่งหวังของเราคือปลูกแล้วผู้ป่วยได้ใช้จริง เราทำได้ แค่นี้เราก็ภูมิใจไปในระดับหนึ่งแล้ว ส่วนตัววัตถุดิบที่เหลือใช้ ที่ปลดล็อกให้เราได้ใช้ อันนี้ก็มาต่อยอดในเชิงธุรกิจของเราได้มากมาย

ถามว่าตอนนี้ตอบโจทย์ไหม ตอบโจทย์มากที่สุด เพราะมันจะเป็นการสร้างรายได้ให้กับวิสาหกิจชุมชนอย่างมหาศาล แต่เราต้องเรียนรู้ให้ได้ว่า กัญชา-กัญชง ตัวกิ่ง ก้าน ใบ และเมล็ดกัญชง นำมาทำอะไรได้บ้าง เมื่อรู้แล้ว ทำได้แล้ว ก็ลุยทำเลย ของที่อยู่ข้างหน้านี้ก็เป็นนวัตกรรมที่คิดขึ้นมาเป็นต้นแบบ ตอนนี้รออย่างเดียว คือรอสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อนุญาต ให้เราไปยื่นขออนุญาตให้ถูกต้องตามกฎหมาย และจะออกสู่ตลาด

Q: ความกังวลของประชาชนเรื่องการผูกขาดตลาดกัญชา?

ดร. ภก. อนันต์ชัย อัศวเมฆิน : อย่างที่บอก นโยบายนี้เพื่อประชาชนทุกคน เราให้โอกาสให้ทุก ๆ ท่านที่มาขออนุญาต ซึ่งท่านก็จะต้องใช้โอกาสนี้ให้ดีที่สุด ว่าเขามาขออนุญาตกันได้ คนอื่นขอได้ประชาชนก็ขอได้ ตรงนี้สามารถทำได้ทุกคนจริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกัญชาหรือกัญชงก็ตาม แต่กัญชงอาจจะมีความง่ายกว่ากัญชา เพราะเนื่องจากมันมีสารเสพติดน้อยกว่ากัญชา

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ