วันหยุดเขื่อนโลก ณ ลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง

วันหยุดเขื่อนโลก ณ ลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง

ชาวบ้านตามุย ตำบลห้วยไผ่ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม นักวิจัย นักศึกษา นักกิจกรรม เด็ก/เยาวชน และประชาชนทั่วไป จัดกิจกรรมรณรงค์ Save Mekong เนื่องด้วยวันที่ 14 มีนาคม ของทุกปี ถูกจัดให้เป็น “วันหยุดเขื่อนโลก” ซึ่งกิจกรรมเต็มไปด้วยบรรยากาศสนุกสนาน

ภาพ: มังกรกำลังควบคุมชะตากรรมของปลาน้อยใหญ่ที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำโขง

กิจกรรมเริ่มต้นในช่วงเย็นวันที่ 13 มีนาคม 2564 ชาวบ้านและเด็กๆ พากันขนข้าวของสำภาระลงไปกางเต็นท์ค้างแรมกลาง “ดอน” ซึ่งเป็นเกาะแก่งหินหลังแม่น้ำโขงที่ชาวบ้านเรียกว่า “โรงแรมดาวล้านดวง” เนื่องจากในคืนเดือนดับบนท้องฟ้าจะเต็มไปด้วยดวงดาวระยิบระยับนับล้านดวงสวยงาม นอกจากนั้น ในกิจกรรมช่วงเย็นมีการลงหาปลา เล่นน้ำ ก่อกองไฟทำกับข้าวรับประทาน ขณะที่ผู้เฒ่าที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ทำหน้าที่เป็นนักเล่านิทานตำนานเกี่ยวกับแม่น้ำโขงให้กับเด็กๆ และคนที่สนใจฟัง เช่น เรื่องเล่าพญานาค เรื่องเล่าผี สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ปลาบึกแม่น้ำโขง เป็นต้น เรื่องเล่าเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึง “โลกทัศน์” ของชาวบ้านที่มีวิถีชีวิตและความผูกพันกับสายน้ำโขงมาอย่างยาวนานนับร้อยๆ ปีตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ ก่อเกิดและผสมผสานกิจกรรมทางสังคม วัฒนธรรม ประเพณี พิธีกรรม และความเชื่อต่างๆ เกี่ยวกับแม่น้ำโขงเรื่อยมา เช่น ประเพณีไหลเรือไฟ และชมบั้งไฟพญานาค เป็นต้น

ขณะที่เด็กๆ ที่เข้าร่วมกิจกรรมพากันจับสีและพู่กันวาดภาพเกี่ยวกับแม่น้ำโขง วิถีชีวิต และความเป็นอยู่ของคนลุ่มแม่น้ำโขงกันอย่างสนุกสนาน ในบรรยากาศสายลมเย็น และเสียงกีตาร์เพราะๆ จากศิลปินที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ตลอดค่ำคืนเต็มไปด้วยบรรยากาศเป็นกันเองของคนที่เข้าร่วมกิจกรรม นอกจากนั้น รุ่งเช้าวันที่ 14 มีนาคม 2564 ทุกคนได้ลงเรือล่องไปตามลำน้ำโขงเพื่อไปที่ 9,000 โบก บริเวณเกาะแก่งหินที่มีลักษณะเป็นลุมเป็นบ่อสวยงามจากการกัดเซาะของแม่น้ำโขง มีการร่วมกันชูป้าย Save Mekong, แม่น้ำโขงไม่ได้มีไว้ขาย Mekong is not for sale, หยุดเขื่อนในประเทศไทย Stop Dams in Thailand, และหยุดเขื่อนบ้านกุ่ม พร้อมกับภาพวาดของทุกคน

ภาพ : ผู้เข้านร่วมกิจกรรมชูป้ายแสดงเชิงสัญลักษณ์

นอกจากนั้น ชาวบ้านที่เข้าร่วมกิจกรรมสะท้อนให้เห็นว่า ขณะนี้ลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างกำลังได้รับผลกระทบหลังความเปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นผลจากการพัฒนาเขื่อนขนาดใหญ่ในลุ่มแม่น้ำโขงตอนบนและลุ่มแม่น้ำสาขาสายต่างๆ ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงผันผวนไม่ปกติ น้ำใส และกระทบต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขง พันธุ์ปลาที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำโขงได้รับผลกระทบไปด้วย ขณะที่ชาวประมงพื้นบ้านที่เคยหาปลาได้จำนวนมากเริ่มหาไม่ได้เหมือนแต่ก่อน ส่งผลให้คนรุ่นหลังในชุมชนเริ่มกลายไปเป็นแรงงานอพยพในเมืองมากขึ้น รวมทั้งชาวบ้านในพื้นที่เขตบ้านตามุยและหมู่บ้านใกล้เคียงต้องหันไปพึ่งพาทรัพยากรป่าไม้มากขึ้น แต่ต้องเผชิญกับข้อจำกัดด้านกฎหมาย เนื่องจากป่าไม้บริเวณนี้ถูกประกาศให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติผาแต้ม คือ “ในแม่น้ำโขงมีเขื่อน ในป่ามีกฎหมายเขตอุทยาน” ภาพสะท้อนการปิดล้อม การกีดกัน และการพรากสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ (ดิน น้ำ ป่า) ซึ่งชาวบ้านในฐานะ “คนชายขอบ” กำลังเผชิญหนักขึ้น

ภาพ : เด็กๆ เล่นน้ำ หาปลา และหอย

เด็กชายคิดดีทำดี จันทร์สุข หรือ “น้องน้ำเค็ม” อายุ 10 ขวบ กล่าวว่า “รู้สึกสนุกที่ได้มาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ เพราะเป็นการเรียนรู้และการเล่นที่ไม่เหมือนในโรงเรียน” อีกทั้งเล่าสะท้อนประสบการณ์ของตนเองที่เริ่มต้นจากการเป็น “เด็กท้ายเรือ” ออกไปหาปลากับพ่อตั้งแต่อายุ 7 ขวบ และเริ่มออกเรือไปคนเดียวประมาณอายุ 8 ขวบ ขณะที่น้ำเค็มกล่าวอีกว่า “ไม่รู้ว่าในแม่น้ำโขงมีการสร้างเขื่อนอะไรอยู่ที่ไหนบ้าง แต่ไม่อยากให้มีเขื่อน เพราะถ้ามีเขื่อนแม่น้ำโขงก็จะไม่เหมือนเดิม”

นอกจากนั้น การสนทนากลุ่มย่อยอย่างไม่เป็นทางการกับชาวบ้านตามุย พบว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่รับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการสร้างเขื่อนต่างๆ ชาวบ้านทราบว่ามีการดำเนินการสำรวจการสร้างเขื่อนบ้านกุ่มอีกครั้ง หลังจาก 10 ปีที่ผ่านมาเคยมีการสำรวจและชะลอการสร้างออกไป ขณะที่ชาวบ้านสะท้อนเกี่ยวกับมิติ “ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ” ระหว่างชาวบ้านกับรัฐและกระบวนการทำงานเกี่ยวกับเขื่อน กล่าวคือ ขณะที่ชาวบ้านมองว่าตนเองไม่มีอำนาจในการตัดสินใจเกี่ยวกับการสร้างเขื่อนที่เกิดขึ้นในแม่น้ำโขง เนื่องจากการพูดเรื่องเขื่อนในแม่น้ำโขงเป็นเรื่องระหว่างประเทศ ทำให้ชาวบ้านเข้าถึงกระบวนการเหล่านั้นได้ยาก แต่ในลุ่มแม่น้ำโขงยังมีความพยายามของชาวบ้านในนามเครือข่าย “นักวิจัยไทบ้านลุ่มแม่น้ำโขง 7 จังหวัด” ทำงานกันอย่างหนักท่ามกลางข้อจำกัดดังกล่าว ขณะที่หน่วยงานภาครัฐในท้องถิ่นเองก็ไม่รับรู้ข้อมูลข่าวสารและไม่มีบทบาทในการทำงานเรื่องนี้มากนัก ชาวบ้านมองว่าอำนาจการตัดสินใจส่วนใหญ่อยู่ที่หน่วยงานระดับประเทศและระหว่างประเทศ ขณะที่ชาวบ้านกล่าวทำนองว่า “เขื่อนที่สร้างมาแล้วขอให้พอแค่นี้ และไม่ควรสร้างเขื่อนแห่งใหม่เพิ่มอีก อนาคตชาวบ้านคงต้องปรับตัวเพื่อให้อยู่กับความยากจนให้ได้”

ภาพ: ธงภาพวาด Save Mekong

ปัจจุบัน ชาวบ้านตามุย ร่วมกับภาคีเครือข่าย นักวิจัย นักวิชาการจากสถาบันการศึกษาในพื้นที่ (มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี) กำลังอยู่ระหว่างการออกแบบการเรียนรู้หลักสูตร “โฮงเฮียนแม่น้ำของ” (โรงเรียนแม่น้ำโขง) เพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งในการสร้างกระบวนการเรียนรู้โดยใช้องค์ความรู้และภูมิปัญญาพื้นถิ่นในการเรียนการสอนให้กับคนที่สนใจต่อไป

เรียบเรียงและภาพถ่าย : คำปิ่น อักษร และ พงษ์เทพ บุญกล้า

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ