“โขงบ่คือเก่า ลูกหลานบ้านเฮาสิเฮ็ดจั่งได๋” คำถามออนไลน์จากริมโขง

“โขงบ่คือเก่า ลูกหลานบ้านเฮาสิเฮ็ดจั่งได๋” คำถามออนไลน์จากริมโขง

“พวกเราคนริมโขง ถือว่าเราเป็นกระบอกเสียงเล็ก ๆ ที่ไม่รู้ว่าเสียงของเราจะดังไปถึงไหน เราเดือดร้อนและกระตือรือร้นที่จะแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่ ซึ่งเราทำได้แค่อนุรักษ์พันธ์ปลา แต่เราอยากได้น้ำที่ไหลเป็นปกติ มีภาวะมีน้ำขึ้นน้ำลง…” ชนิกานต์ พิมพ์บุตร หรือ น้องมายด์ นักเรียนโรงเรียนวังม่วงพิทยาคม อ.สังคม จ.หนองคาย หนึ่งในลูกหลานคนริมโขงที่เกิดและเติบโตในครอบครัวพรานปลา พร้อมทั้งได้เรียนรู้วิถีเหล่านี้จากคุณตาของเธอ กล่าวปิดท้ายวงเสวนา “โขงบ่คือเก่า ลูกหลานบ้านเฮาสิเฮ็ดจั่งได๋” นับเป็นอีกความเห็นที่สะท้อนถึงมุมมองของคนรุ่นใหม่ในชุมชนต่อสถานการณ์แม่น้ำโขง หลังจากก่อนหน้าที่มีการรายงานถึงภาวะความผันผวนขึ้น-ลงของระดับน้ำ และผลกระทบต่อนิเวศวัฒนธรรมและผู้คนตลอดริมฝั่งมาอย่างต่อเนื่อง

การเสวนาครั้งนี้ จัดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 มีนาคมที่ผ่านมา ริมแม่น้ำโขง บริเวณบ้านม่วง อ.สังคม จ.หนองคาย ภายใต้ความร่วมมือของเสมาคมเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน สภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง จ.นครพนม  สภาองค์กรชุมชนตำบลบ้านม่วง นักวิจัยไทบ้าน หน่วยงานท้องถิ่น ผู้นำชุมชน องค์กรแม่น้ำนานาชาติ สภาประชาชนลุ่มน้ำโขง และฝ่ายพัฒนาเครือข่ายสื่อพลเมือง สำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ ไทยพีบีเอสซึ่งผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ คุณอำนาจ ไตรจักร์ สภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง จ.นครพนม คุณอ้อมบุญ ทิพย์สุนา สมาคมเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน คุณไพรินทร์ เสาะสาย องค์กรแม่น้ำนานาชาติ

คุณชาญชัย ดาจันทร์ ทีมวิจัยไทบ้าน ต.หาดคัมภีร์ อ.ปากชม จ.เลย คุณเฉวียน กงสิมมา นายก อบต.ปากชม อ.ปากชม จ.เลย  คุณสมาน แก้วพวง ประธานสภาองค์กรชุมชน ต.บ้านม่วง อ.สังคม จ.หนองคาย คุณกาญจนา แก้วพิมพ์ กำนันตำบลสังคม อ.สังคม จ.หนองคาย คุณสมจิตร พิมพ์โพพัน ชาวบ้านน้ำไพร อ.สังคม จ.หนองคาย เยาวชนนักข่าวพลเมืองคนริมโขง จ.หนองคาย คุณชนิกานต์ พิมพ์บุตร นักเรียนโรงเรียนวังม่วงพิทยาคม และดำเนินรายการโดย คุณนาตยา สิมภา เพื่อแลกเปลี่ยนบอกเล่าถึงความประทับใจ ความผูกพันและวิถีชีวิตของผู้คนริมฝั่งโขง โดยมีนักข่าวพลเมืองเยาวชนคนริมโขงร่วมรับฟังในพื้นที่ และสื่อสารออนไลน์ผ่านแฟจเพจรายการอยู่ดีมีแฮง และ Thai PBS

ในอดีตวิถีชีวิตริมฝั่งโขงของชาวบ้านม่วง สมาน แก้วพวง ประธานสภาองค์กรชุมชน ต.บ้านม่วง อ.สังคม จ.หนองคาย บอกว่า ทุกคนสามารถปลูกพืชผักริมโขงให้ผลผลิตได้ดี ไม่ต้องซื้อไม่ต้องหา หากมีอุปกรณ์จับปลาจะใช้เวลาเพียง 5-10 นาที ก็ได้ปลามากิน มาขาย มาทำปลาร้า ปลาแดก แต่ทุกวันนี้แม่น้ำโขงเปลี่ยนไปมาก ไม่เหมือนเดิม ซึ่งที่เห็นชัดเจนคือน้ำโขงขึ้น-ลง รายวัน ราวกับแม่น้ำเจ้าพระยา

เช่นเดียวกับ สมจิตร พิมพ์โพพัน ชาวบ้านน้ำไพร อ.สังคม จ.หนองคาย ที่บอกเล่าถึงความผู้กพันและความสำคัญในการที่ต้องช่วยกันดูแลแม่น้ำโขงที่กำลังป่วยในตอนนี้ เพราะถ้าเราไม่พากันมาปกป้องมาเรียกร้องความยุติธรรม มาบอกคนที่อยู่ไกลน้ำโขงได้รู้ เขาจะไม่รู้ว่าคนริมโขงเดือดร้อนอย่างไร เคยหาปลากิน หาปลาขายก็ทำไม่ได้ ตอนนี้น้ำใสเหมือนน้ำทะเล ปลาอยู่ไม่ได้ ปลาต้องอาศัยสารอาหารในน้ำโขงไม่งั้นอยู่ไม่ได้ ต้องอาศัยต้นไคร้เป็นบ้าน

ซึ่งเรื่องนี้ต้องให้ชาวโลกได้รู้ ว่าคนลุ่มน้ำโขง ไม่ตายก็เหมือนตาย เปรียบเป็นคนป่วยอาการ 50 : 50 ตอนนี้ปูปลาไม่มีที่อยู่อาศัย ตอนไคร้ตายหมด ก่อนที่ชาญชัย ดาจันทร์ ทีมวิจัยไทบ้าน ต.หาดคัมภีร์ อ.ปากชม จ.เลย จะสำทับถึงความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน ที่ย้ำว่า น้ำโขงเราไม่เหมือนเดิม เมื่อก่อนถึงเวลาสงกรานต์ต้องได้ลงแม่น้ำโขง เอาธงที่ตัดด้วยผ้าไปประดับตกแต่ง ลงไปก่อพระเจดีย์ทราย แต่ตอนนี้ไม่มีเลย เมื่อก่อนไปจัดงานที่ท่าน้ำโขง อาบน้ำไปด้วย แต่ตอนนี้ทำไม่ได้แม่น้ำโขงไม่เหมือนเดิม ยกตัวอย่าง ถ้าไปวางตาข่ายดักปลา เช้าวันต่อมาไปดูปรากฏว่าน้ำลดลงไป “ตาข่าย”ที่วางไว้ก็ต้อง “ค้างโคก” อยู่เหนือน้ำเพราะน้ำโขงลดกระทันหัน น้ำท่วมไม่ถึง”

“ทุกวันนี้ริมฝั่งโขงไม่สวยงามเหมือนเมื่อก่อนแล้ว มองไปตอนนี้ถ้าเราได้ติดตามข่าว จะรู้ว่าน้ำโขงบริเวณท้ายเมืองนครพนมแห้งจนเห็นหาดทรายแล้ว ไม่น่าจะกลับมาเหมือนเดิมอีก ปัจจุบันเอาตาข่ายตาถี่ ๆ ไปหาปลาก็แทบไม่ได้กินปลา ผมเดินทางมาหลายร้อยกิโลเมตรเพื่อมาดูพื้นที่ จ.หนองคาย เพราะอยากเห็นว่าที่นี่เป็นอย่างไร”  อำนาจ ไตรจักร์ สภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง จ.นครพนม แลกเปลี่ยนสถานการณ์ในพื้นที่ซึ่งห่างออกไปกว่า 300 เมตร ว่ามีสถานการณ์ไม่ต่างกัน พร้อมอธิบายต่อว่า คนน้ำโขงผูกพันกับน้ำโขงตั้งแต่เกิดจนตาย เขาเคยไปหาบน้ำขึ้นมาใช้ และแม้ตอนนี้ก็ยังใช้น้ำประปาจากน้ำโขง แต่กว่าจะได้ใช้น้ำโขงต้องต่อท่อออกไปสูบน้ำกลางน้ำโขงหลายสิบเมตรซึ่งมีความแตกต่างกันกับอดีต แบบหน้ามือเป็นหลังมือ

น้ำโขงผันผวนกระทบท่องเที่ยว-เศรษฐกิจชุมชน

เฉวียน กงสิมมา นายก อบต.ปากชม อ.ปากชม จ.เลย ที่ทำหน้าที่ทั้งในบทบาทหน่วยงานท้องถิ่นและคนในชุมชน กล่าวว่า เท่าที่ดูแลร่วมพัฒนาท้องถิ่นมานานกว่า 20 ปี ก็เห็นความเปลี่ยนแปลงมาตลอด อย่างหาดทรายที่เราเห็น ปกติแล้วมันจะมีทรายมีหาดพัดมาเติมใหม่ทุกปี แล้วในช่วงหน้าแล้งก็จะมีวิถีชีวิตที่เราสามารถไปทำกิจกรรม มีสนามแข่งรถในพื้นที่หาดทรายในน้ำโขงได้ แต่หลังมีการสร้างเขื่อนสังเกตว่า ตอนนี้ไม่มีหาดทรายมาเติม หรือแม้แต่สัตว์บางชนิด เช่น “ไส้เดือนแม่น้ำโขง” ที่มีขนาดใหญ่ก็หายไป เพราะดินตะกอน หรือ ที่ชาวบ้านเรียก “ดินขี้หม่อน” ซึ่งเป็นดินที่มีคุณภาพมีแร่ธาตุก็หายไป นอกจากนี้ยังมีเรื่องของสถานที่ท่องเที่ยว อย่างเช่น “หาดจอมมณี” “แก่งคุดคู้” หรือนิเวศหน้าแล้ง บุ่ง ทาม ที่ปลาวางไข่ก็หายไป พอธรรมชาติเปลี่ยนไป ถึงฤดูแห้งไม่แห้ง ถึงฤดูท่วมไม่ท่วม ซึ่งไม่รู้ว่าจะเป็นแบบนี้ไปอีกนานแค่ไหน

“เริ่มแรกสิ่งที่เปลี่ยนแปลงคือเรื่องเศรษฐกิจชุมชน อย่างแรก คือ ช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน ปกติจะมีหาดและคนบ้านเรา พ่อค้าแม่ค้าก็จะไปตั้งแผงขายของไปเที่ยวกัน แต่ตอนนี้ย้อนหลังไป 4-5 ปี ไม่มีแล้ว” กาญจนา แก้วพิมพ์ กำนันตำบลสังคม อ.สังคม จ.หนองคาย กล่าวย้ำสนับสนุนถึงผลกระทบเรื่องเศรษฐกิจของชุมชน

“อีกเรื่องคือเกษตรริมโขงเพราะพื้นที่ อ.สังคม จ.หนองคาย จะมีการทำเกษตรริมโขงเยอะมาก พี่น้องเราจะปลูกผักในหน้าหนาว แล้วถามว่าทำไมต้องปลูกผักทำเกษตรริมโขง นั่นเพราะดินน้ำโขงมีธาตุอาหารมาก เกษตรกรไม่ต้องใส่ปุ๋ยก็ลดรายจ่าย แต่ก่อนหน้านี้เคยมีเหตุการณ์ที่ปลูกผักไว้แล้วน้ำโขงก็มาท่วมเสียหาย แล้วต่อไปอาชีพเกษตรริมโขงเราอาจจะไม่ได้เห็นอีกแล้ว เพราะต้นทุนสูง ทุกคนก็ท้อใจ”

เสียน้ำตาให้แม่น้ำโขง

ความรู้สึกผูกพัน และความทรงจำที่ไล่เรียงต่อเนื่องในวงเสวนายังดึงเอาประสบการณ์ร่วมของ อ้อมบุญ ทิพย์สุนา สมาคมเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน ได้บอกเล่าถึงเรื่องราวแม่น้ำโขงบริเวณ อ.เมือง จ.หนองคาย ซึ่งที่นั่นเคยมีหาดจอมมณี แหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม ว่า ถ้าพูดถึงความผูกพันกับน้ำโขงทีไร น้ำตารื้น น้ำตาจะไหลทุกที เพราะว่าวิถีชีวิตที่เติบโตขึ้นมาก็ผูกพันกับวิถีแม่น้ำโขง ไม่ได้ไปเที่ยวห้างแบบทุกวันนี้ แต่ได้ไปเที่ยวกันที่ “หาดจอมมณี” ริมสะพานมิตรภาพไทย-ลาว จึงมีความผูกพัน

คนจากที่อื่นที่ไม่ได้อยู่ติดน้ำโขงก็คงมาเที่ยว และยังมีเรื่องของวิถีวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งนอกจากชาวบ้านแล้ว คิดว่าธุรกิจก่อสร้างในภาคอีสานก็ได้ใช้ประโยชน์จากทรายแม่น้ำโขง ใช้ทรายจากน้ำมูล น้ำชี คำถามคือตอนนี้ที่มีการสร้างเขื่อนแบบแน่นขนัดขึ้นมาในแม่น้ำโขง  แล้วทำให้หาดทรายหายไป วิถีวัฒนธรรมเปลี่ยนไป ตัวเลขเศรษฐกิจของพ่อค้าแม่ขายที่เคยขายปิ้งปลา ส้มตำ หรือผลกระทบต่อเนื่องให้ชาวบ้านต้องซื้ออาหารในราคาที่แพงขึ้น มันเป็นเพราะอะไร ซึ่งเป็นผลกระทบต่อเนื่องที่ไม่มีการเก็บข้อมูล

อย่างเช่นที่แก่งคุดคู้ จ.เลย ซึ่งเคยมีการเก็บข้อมูลเมื่อหลายปีก่อน รายได้จากที่พักโฮมสเตย์ของชาวบ้านในบางปีนั้น แค่เฉพาะช่วงสงกรานต์ผู้ใหญ่บ้านเคยบอกว่า มีรายได้สูงถึง 14 ล้านบาท ยังไม่รวมเรื่องอาหารอื่น ๆ กุ้งเต้น กุ้งเผา นี่คือตัวเลขที่หายไป จะคิดถึงเพียงตัวเลขของ GDP การขายไฟฟ้าของประเทศเท่านั้นหรือ ยังมีเรื่องของธุรกิจชุมชนอีกที่หายไป ความสุขของคนริมโขงที่หายไปก็ส่งผลต่อวิถีชีวิตของชาวบ้าน

เสียงจากลูกหลานน้ำโขง เราจะอนุรักษ์พันธุ์ปลาไปถึงไหน

นอกจากคนรุ่นพ่อแม่ที่บอกเล่าความผูกพันกับสายน้ำแห่งชีวิตนี้แล้ว ชนิกานต์ พิมพ์บุตร นักเรียนโรงเรียนวังม่วงพิทยาคม ยังได้บอกเล่าความรู้สึก และตั้งคำถามถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น บอกว่า จากที่เธอได้ฟังและร่วมเสวนากับพ่อ ๆ แม่ ๆ ก็รู้ว่าแม่น้ำโขงเปลี่ยนไปมากจริง ๆ เพราะทำที่จำความได้ เคยเห็นคุณตาไปวางตุ้มใส่ปลาตอนเช้าตอนเย็นก็จะได้ปลาคราวละ 10-12 กิโลกรัม ตอนนั้นปลากิโลกรัมละ 50 บาทก็ว่าแพงแล้ว แต่ตอนนี้ปลาขาวน้อย ก็ราคากิโลกรัมละ 200 บาทแล้ว

คำถามที่ติดใจคือ ทำไมเราที่อยู่ติดแม่น้ำโขงจึงได้กินปลาที่แพงกว่าที่อื่น ๆ ทั้งที่ปลามันก็อยู่ในน้ำโขง แต่พอได้ฟังพ่อ ๆ แม่ ๆ คุยก็บอกว่าเราต้องอนุรักษ์พันธ์ปลา แต่หนูสงสัยว่า เราจะอนุรักษ์ทำไม เราจะอนุรักษ์ตลอดไปไหม ต่อไปเราต้องอนุรักษ์ปลาซิวปลาสร้อยด้วยไหม แล้วปัญหาที่มีก็จะบอกว่าต้องช่วยกันปลูกฝังเยาวชนแล้วผู้ใหญ่ล่ะ

ซึ่ง อ้อมบุญ ทิพย์สุนา ได้ตอบคำถามที่ว่าอยู่น้ำโขงทำไมต้องกินปลาแพงกว่าคนอื่น ๆ เป็นเรื่องหลักการตลาด คือ อะไรที่มีปริมาณมากก็ราคาถูก อะไรที่มีน้อยก็ต้องราคาแพง แต่ที่น่าสนใจและอยากให้ทุกคนช่วยสื่อสาร คือ ทำไมที่มองเห็นน้ำโขงใส ๆ แบบนี้จึงไม่มีปลา เราต้องช่วยกันตอบคำถาม คือ น้ำโขงใส ๆ ที่ไม่มีปลา เพราะไม่มีอาหารของปลา ปลาไม่มีบ้านอยู่ในน้ำโขงไม่มีต้นไคร้ เหมือนคนไม่มีบ้าน ปลาก็ไม่รู้จะไปอยู่ไหน

การสื่อสารจากพื้นที่ เสียงจากคนริมโขงสำคัญมาก

นอกจากบอกเล่าประสบการณ์ความผูกพันของคนกับแม่น้ำโขงผ่านการสวนาออนไลน์แล้ว เมื่อวันที่ 6-7 มีนาคม 2564 ยังมีกิจกรรมอบรมพัฒนาศักยภาพการสื่อสารของนักข่าวพลเมืองเยาวชนคนริมโขง ที่โรงเรียนวังม่วงพิทยาคม โดยมีเยาวชนสนใจเข้าร่วมกิจกรรม ร่วม 40 คน เพื่อเรียนรู้ทักษะการถ่ายภาพนิ่ง ถ่ายคลิปวิดีโอ และเรียบเรียงเรื่องเล่าสื่อสารผ่าน Application C-site และช่องทางของไทยพีบีเอส

ซึ่งผู้ร่วมเสวนาได้ย้ำถึงความสำคัญของการสื่อสารจากพื้นที่เพื่อบอกเล่าสถานการณ์แม่น้ำโขงอย่างรวดเร็วและ ต่อเนื่อง ซึ่ง อ้อมบุญ ทิพย์สุนา กล่าวว่า ในเวลา 1-2 วันของกิจกรรมที่มีคนรุ่นลูก ๆ หลาน ๆ มาค้นหาเรื่องเล่าจากน้ำโขงก็ทำให้เราเห็นความสัมพันธ์กับน้ำโขง และแม้แม่น้ำโขงจะไม่เหมือนเดิมแต่ก็ไม่อยากให้แม่น้ำโขงเปลี่ยนไปมากกว่านี้ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้คนรุ่นพ่อแม่อาจจะใช้มือถือใช้เทคโนโลยีไม่ถนัดต้องอาศัยลูก ๆ บอกเล่าสื่อสารออกไปและยังมีเรื่องเหล่าอีกหลายประเด็น

อำนาจ ไตรจักร์ อีกหนึ่งผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่เดินทางมาจาก อ.ธาตุพนม จ.นครพนม วันนี้ที่เรามาร่วมเรียนรู้เรื่องการสื่อสาร มาช่วยกันบอกเล่าให้ลูกหลานฟัง เพื่อที่เราจะช่วยกันดูแลช่วยกันอนุรักษ์ บางพื้นที่ปลาน้ำโขงไม่มีแล้ว เราก็ต้องหาพื้นที่อนุรักษ์เพิ่มซึ่งตอนนี้ที่บ้านของตนใช้พื้นที่ในวัด ต้องพยายามทำไม่ได้นิ่งเฉย

คนแม่น้ำโขงลุกขึ้นสู้

“ความกังวลยังไม่จบเพียงเท่านี้ ทราบว่าตอนนี้มีโครงการจะสร้างเขื่อนเพิ่ม คือ เขื่อนสานะคามมันจะวิกฤตหนัก แล้วผู้หลักผู้ใหญ่ที่วางแผนจะทำโครงการ โขง เลย ชี มูล มันจะไม่มีความหมายในการสูบน้ำไปที่จะกระจายน้ำไปทั่วภาคอีสาน มันจะวิกฤตหนักเลย ถ้ามันเกิดตรงนั้นจริง ๆ” เฉวียน กงสิมมา นายก อบต.ปากชม อ.ปากชม จ.เลย ยังมีความกังวลกับแผนโครงการสร้างเขื่อน และอยากให้ผู้มีอำนาจทบทวนเรื่องการซื้อกระสแสไฟฟ้า ถ้าเขาสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟมาขายให้ไทยเรา ถ้ารัฐบาลไทยไม่ซื้อไฟฟ้าจากเขื่อน อย่างน้อยเขาน่าจะทบทวน และอยากให้มีการเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับคนริมฝั่งโขงที่เป็นอยู่

“อยากให้ลูกหลานที่มาอบรม ไม่เพียงมาเรียนรู้แล้วจบไป อยากให้พวกเราจดจำความรู้สึกที่มีต่อน้ำโขง” สมาน แก้วพวง ประธานสภาองค์กรชุมชน ต.บ้านม่วง อ.สังคม จ.หนองคาย บอกเล่าความรู้สึกมีความหวังว่าลูกหลานที่มาในวันนี้จะมีพลังและเป็นแกนนำ เป็นแรงผลักดันให้พ่อ ๆ แม่ ๆ ที่อยู่ตรงนี้มีพลังมากขึ้นในการต่อสู้และดูแลแม่น้ำโขง

“พูดถึงการต่อสู้ ลูกหลานอย่าบอกว่าพ่อแม่ไม่ต่อสู้ พ่อแม่สู้อยู่แล้ว แต่ว่าต้องอาศัยลูกหลานเป็นกำลังใจให้ เพราะว่าถ้าเราเปรียบเทียบมดแดงกัดช้าง มดแกงกัดตัวเดียวไม่อยู่ ลูกหลานต้องช่วยพ่อแม่กัดช้างจึงจะตาย” ชาญชัย ดาจันทร์ ทีมวิจัยไทบ้าน ต.หาดคัมภีร์ อ.ปากชม จ.เลย เปรียบเปรยการต่อสู้ปกป้องแม่น้ำโขงได้อย่างเห็นภาพ พร้อมเสียงพูดที่จุกด้วยก้อนน้ำตาที่สั่นเครือในลำคอ ซึ่งแสดงถึงความรักความผูกพันที่ยากอธิบาย พร้อมการต่อสู้อย่างสุดกำลัง

ประชาชนเป็นเจ้าของและมีพลังปกป้องแม่น้ำโขง

ตลอดการเสวนาออนไลน์ นอกจากชาวบ้านในพื้นที่แล้ว ไพรินทร์ เสาะสาย องค์กรแม่น้ำนานาชาติ คือ อีกบุคคลที่ร่วมขับเคลื่อนเคียงบ่าเคียงไหล่กับชาวบ้านร่วมกับหลายองค์กร ได้แลกเปลี่ยนและมองว่า ในฐานะที่ทำงานร่วมกับชาวบ้านมาพอสมควรหลายสิบปี ตั้งแต่เขื่อนไซยะบุรียังไม่สร้างจนแล้วเสร็จ มองว่าเป็นเรื่องสำคัญที่คนน้ำโขงได้แสดงพลัง ได้แสดงคามเป็นเจ้าของ ด้วยการออกมาปกป้องแม่น้ำสายนี้ ได้แสดงให้เห็นว่าแม่น้ำสายนี้เป็นหน้าที่ของเราในการปกป้อง ก่อนที่รัฐจะแก้ไขปัญหา อันนี้เป็นเรื่องสำคัญที่เราไม่ต้องรอใคร เพราะถ้ามีเรื่องไหนที่เรามองว่ามันเป็นปัญหาเราสามารถที่เราจะบอกคนอื่นได้เลย ว่ามันเกิดอะไรขึ้น แล้วการที่ได้มาทำงานร่วมกับเยาวชนได้มาเห็นคนรุ่นนี้ก็รู้สึกหัวใจชุ่มชื่น รู้ว่าเขาไม่ได้ไม่สนใจสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว แต่เขาอาจจะไม่รู้จะสื่อสารหรือบอกเล่าสิ่งที่รู้สึกออกไปแบบไหน

การตั้งคำถามของน้องมายด์ “เราต้องอนุรักษ์พันธุ์ปลาไปถึงเมื่อไร”  จึงไม่ใช่จะบอกว่าพ่อแม่ไม่ทำอะไร แต่เธอน่าจะกำลังหมายถึงว่าเดี๋ยวก็มีคนนั้นมา คนนี้มาแต่ปัญหาน้ำโขงมันไม่ถูกแก้ไข นี่คือเป็นคำถามจากคนรุ่นนี้ และมันอาจจจะเริ่มต้นการสื่อสารจากการฝึกฝนเมื่อวาน ซึ่งผู้ใหญ่หลายคนก็กำลังอึ้งว่าน้อง ๆ ทำได้ดี แต่จะทำอย่างไรให้มีการทำงานต่อเนื่อง น้อง ๆ บอกว่า คิดว่าตอนนี้สังคมไทยเข้าใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่น้อง ๆ ทำได้ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวจากในพื้นที่

และก่อนจะปิดวงเสวนา ชนิกานต์ พิมพ์บุตร หรือ น้องมายด์ นักเรียนโรงเรียนวังม่วงพิทยาคม ได้กล่าวย้ำถึงผลกระทบ ความเดือดร้อนของชาวบ้านในพื้นที่ และความพยายามในการแก้ปัญหาตามสรรพกำลัง ว่า พวกเราคนริมโขง ถือว่าเราเป็นกระบอกเสียงเล็ก ๆ ที่ไม่รู้ว่าเสียงของเราจะดังไปถึงไหน เราเป็นคนริมโขงที่เดือดร้อนและกระตือรือร้นที่จะแก้ไขปัญหาอยากเต็มที่ ซึ่งเราทำได้แค่อนุรักษ์พันธ์ปลา แต่เราอยากได้น้ำที่ไหลเป็นปกติ มีภาวะมีน้ำขึ้นน้ำลง เพราะบางประเพณีของเราบางอันก็หายไปจริง ๆ ในส่วนนี้เราคิดว่าเราก็ทำอย่างเต็มที่แล้ว

พร้อมกันยังได้ส่งกำลังใจให้ตัวแทนที่จะเดินทางในวันที่ 11 มีนาคมนี้ เพื่อยื่นข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาแม่น้ำโขงที่ทำเนียบรัฐบาล และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง ระบบการแจ้งเตือนระดับน้ำและเตือนภัย รวมถึงมาตรการเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้น และร่วมแสดงสัญลักษณ์บอกฮักแม่น้ำโขง ในเวลา 12.30 น. โดยกลุ่มชาวบ้านเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ