ภาคีsaveบางกลอย-พีมูฟปักหลักชุมนุมที่ทำเนียบฯ จนกว่าจะมีหลักประกันแก้ไขปัญหา-หยุดรังแกปชช.

ภาคีsaveบางกลอย-พีมูฟปักหลักชุมนุมที่ทำเนียบฯ จนกว่าจะมีหลักประกันแก้ไขปัญหา-หยุดรังแกปชช.

วันนี้ 7 มี.ค.ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อช่วงบ่าย ชาวบ้านกลุ่ม ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ พีมูฟ กว่า 20 คน แถลงข่าวประกาศปักหลักชุมนุมกดดันรัฐบาล หลังการแก้ปัญหาพีมูฟไม่มีความคืบหน้า และปัญหาการละเมิดสิทธิต่อชาวกะเหรี่ยงบางกลอย

โดยนายเพียรรัตน์ บุญฤทธิ์ ตัวแทนจากสหพันธุ์เกษตรภาคใต้ อ่านแถลงการณ์ระบุถึงสาเหตุที่ต้องปักหลักชุมนุมว่า ทั้งจากปัญหาละเมิดสิทธิจากกรณีที่มีการสนธิกำลังผลักดันชาวกะเหรี่ยงบางกลอย และล่าสุดก็มีการจับกุมชาวบ้าน 22 คน ด้วยข้อหาบุกรุกแผ้วถางอุทยานแห่งชาติ ทั้งที่มีบันทึกข้อตกลงอยู่แล้ว

นอกจากนี้ ในส่วนของการแก้ปัญหาพีมูฟก็ล้มเหลว เพราะนับเป็นเวลา 19 เดือนแล้ว ที่รัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาแก้ไขปัญหาพีมูฟ มีการประชุมมามากกว่า 50 ครั้ง แต่สถานการณ์ปัญหาในหลายพื้นที่กลับยิ่งมีความรุนแรงขึ้น ไม่ต่ำกว่า 1,000 ครอบครัวในหลายชุมชนของพีมูฟที่ยังถูกจับกุมดำเนินคดี ซึ่งคืนนี้และวันพรุ่งนี้จะมีชาวบ้านจากหลายพื้นที่ทยอยมาร่วมชุมนุมเพิ่มขึ้น โดยตัวแทนพีมูฟประกาศว่า จะปักหลักชุมนุมจนกว่าจะมีหลักประกันว่า จะมีการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ พรุ่งนี้เวลา 10 นาฬิกา จะมีการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามการแก้ไขปัญหาพีมูฟที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมีร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเป็นประธานที่ประชุม ซึ่งคาดว่าเรื่องสำคัญที่จะถูกนำเข้าหารือในที่ประชุมคือปัญหาของชาวกะเหรี่ยงบางกลอย โดยจะมีตัวแทนชาวบ้านบางกลอยที่ได้รับการประกันตัวแล้วในวันนี้บางส่วนเดินทางมาร่วมประชุมด้วยตนเองในวันพรุ่งนี้ด้วย

เนื้อหาของแถลงการณ์ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมเพื่อสังคมที่เป็นธรรม และ ภาคี #SAVEบางกลอย เรื่อง กรณีบางกลอย กับความไร้น้ำยาในการแก้ไขปัญหาโดยรัฐบาล มีเนื้อหาดังนี้

สืบเนื่องจากกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐ นำโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่กระทำต่อชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี หลังชาวบ้านบางกลอยล่าง 36 ครัวเรือน ประมาณ 70 คน ได้อพยพกลับแผ่นดินเกิด ณ บ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา หลังจากนั้นปรากฏภาพการพยายามข่มขู่ คุกคามชาวบ้านอย่างหนัก ทั้งความพยายามที่จะผลักดันชาวบ้านกลับลงมาอีกครั้งผ่าน “ยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร” และล่าสุดคือการปฏิบัติการอันป่าเถื่อนเมื่อวันที่ 5 มีนาคม ที่มีการปฏิบัติการสนธิกำลังกันเข้าจับกุมชาวบ้านตามหมายจับ 30 ราย ในข้อหา “บุกรุก ก่นสร้าง แผ้วถาง ยึดถือครองครอง กระทำการใดๆ ให้เสื่อมสภาพหรือเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ไปจากเดิมแก่ป่าในเขตอุทยานแห่งชาติ โดยไม่ได้รับอนุญาต” ตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 19 (1) ซึ่งจับกุมได้ 22 ราย ทั้งหมดถูกฝากขังที่เรือนจำชั่วคราวเขากลิ้ง จังหวัดเพชรบุรีทันที นอกจากนั้นยังนำชาวบ้านกลับลงมาจากบางกลอยบน-ใจแผ่นดินทั้งหมด รวม 87 ราย

​การปฏิบัติทั้งหมด เกิดขึ้นภายใต้สถานการณ์ที่มีบันทึกข้อตกลงเพื่อแก้ไขปัญหากรณีบางกลอย-ใจแผ่นดิน ลงนามโดยฝ่ายการเมืองและข้าราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งผู้แทนจากขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ภาคี #SAVEบางกลอย และผู้แทนชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย รวมทั้งมีการแต่งตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาของชาวกะเหรี่ยงบางกลอย จ.เพชรบุรี ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความล้มเหลว ไร้ประสิทธิภาพ และการตระบัดสัตย์ของรัฐบาลที่ไม่อาจทำให้ประชาชนสามารถเชื่อมั่นในนโยบายในการแก้ไขปัญหาใดได้อีก

​นอกจากนั้น นับตั้งแต่ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) ได้เจรจาแก้ปัญหากับรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2562 ซึ่งเป็นเวลากว่า 19 เดือนแห่งความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาภายใต้คณะกรรมการที่รัฐบาลแต่งตั้ง ซึ่งมีถึง 1 คณะกรรมการ 9 อนุกรรมการ 35 คณะทำงาน มีการประชุมทั้งหมดมากกว่า 50 ครั้ง อย่างไรก็ตามกลับพบว่าสถานการณ์ในหลายพื้นที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นยิ่งกว่ารัฐบาลไหน หลายชุมชนต้องเผชิญกับการถูกคุกคาม จับกุม ดำเนินคดี ไม่ต่ำกว่า 1,000 ครอบครัว นี่แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวและไร้ประสิทธิภาพในการบริหารงานบ้านเมืองให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีในฐานะ “มนุษย์”

​อีกทั้งประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมติดตามความคืบหน้ามาอย่างต่อเนื่องนั้น กลับพบว่า มีความพยายามจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายรัฐบาล รวมทั้งสมาชิกวุฒิสภาในการคว่ำกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ โดยการโยนให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ซึ่งขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจ ปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชนนับแสนรายชื่อ ซึ่ง ขปส. เองก็ได้รวบรวมรายชื่อจำนวนมากเพื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่กลับถูกตีตกโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายรัฐบาล

​จนถึงวันนี้ หมดเวลาในการประวิงเวลาและหลอกลวงประชาชน พวกเราขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม และภาคี #SAVEบางกลอย ขอประกาศว่า พวกเราจะไม่ทนต่อการบริหารงานของรัฐบาลที่ไม่เห็นหัวประชาชนอีกต่อไป และจะปักหลักชุมนุม ณ ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพมหานคร จนกว่าจะมีหลักประกันว่าคนจนจะต้องไม่ถูกรังแก รัฐบาลจะแก้ทุกปัญหา ออกจากระบบประชาธิปไตยจอมปลอม

สามัคคีประชาชน สร้างสังคมที่เป็นธรรม ประชาชนคือผู้กำหนดอนาคตตนเอง

ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรรม (P-Move) และภาคี #SAVEบางกลอย

7 มีนาคม 2564 ประตู 3 ทำเนียบรัฐบาล

ขณะที่วานนี้ 6 มี.ค. 2564 มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม – EnLAW ร่วมกับเครือข่ายองค์กรสิทธิมนุษยชน  7 องค์กร ออกแถลงการณ์ “ขอให้เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยุติยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชรและเคารพสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในพื้นที่บางกลอย-ใจแผ่นดิน”

เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งระจานประกาศใช้ “ยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร” ทหารหน่วยเฉพาะกิจทัพพระยาเสือ หน่วยเฉพาะกิจพญาเสือ กรมอุทยานแห่งชาติ สำนักงานสนับสนุนการป้องการและปราบปราม (สปป.1) กรมอุทยานแห่งชาติ และตำรวจตระเวนชายแดน สนธิกำลังขึ้นไปยังพื้นที่บางกลอย-ใจแผ่นดิน และควบคุมตัวชาวบ้านบางกลอยลงมาจำนวน 13 คน โดยมีเด็กเล็กรวมอยู่ด้วย อีกทั้งยังมีการกระทำที่มีลักษณะคุกคามชาวบ้านบางกลอยอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งในช่วงเช้าวันที่ 5 มีนาคม 2564 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เข้าสนธิกำลังขึ้นไปยังหมู่บ้านบางกลอย-ใจแผ่นดิน พร้อมควบคุมตัวนายหน่อแอะ มีมิ บุตรชายของนายโคอิ มีมิ และชาวบ้านบางกลอย-ใจแผ่นดินรวมกว่า 80 ชีวิต โดยอ้างว่ากระทำความผิดตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 40 และพาขึ้นเฮลิคอปเตอร์ลงมาพร้อมกับเจ้าหน้าที่อุทยานฯ โดยเบื้องต้นเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวชาวบ้านทั้งหมดไว้ และไม่ให้ครอบครัว หรือทนายความจากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และมูลนิธิผสานวัฒนธรรมเข้าพบในชั้นสอบสวน ซึ่งต่อมาเจ้าหน้าที่ได้นำตัวนายหน่อแอะ มีมิ กับชาวบ้านรวม 22 คน ที่ถูกควบคุมตัวไปที่เรือนจำตามหมายขังศาลจังหวัดเพชรบุรีหลังเวลาทำการของศาล

เครือข่ายองค์กรสิทธิมนุษยชน เห็นว่าชาวกะเหรี่ยงบางกลอย-ใจแผ่นดิน เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แก่งกระจานมาเป็นระยะเวลานานตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ มีหลักฐานบ่งชี้เป็นจำนวนมาก รวมถึงคำพิพากษาปกครองสูงสุด ในคดีหมายเลขดำที่ อส.77/2559 หมายเลขแดงที่ อส.4/2561 ซึ่งนายโคอิ หรือคออี้ มีมิ กับพวกรวม 6 คน ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายต่อกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กับพวกรวม 2 คน จากกรณีรื้อถอนเผาทำลายสิ่งปลูกสร้าง และทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 ที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ศาลปกครองมีคำสั่งให้จำเลยมีความผิด เนื่องจากใช้อำนาจเกินความจําเป็นไม่สมควรแก่เหตุ ให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ชาวบ้านทั้ง 6 คน รวมถึงพิพากษายืนยันว่า ชาวกะเหรี่ยงบางกลอย-ใจแผ่นดิน คือกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในเขตป่าแก่งกระจานมาเป็นระยะเวลากว่าร้อยปี ก่อนที่ผืนป่าจะถูกประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ

อีกทั้ง เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 คณะรัฐมนตรีมีมติเรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง โดยมีเนื้อหาโดยสรุปคือ 1. ให้ยุติการจับกุมและให้การคุ้มครองกับชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่อยู่ในพื้นที่ข้อพิพาทเรื่องที่ทำกินดั้งเดิม 2. จัดตั้งคณะกรรมการ หรือกลไกการทำงานเพื่อกำหนดเขตพื้นที่ในการทำกิน ที่อยู่อาศัยและการดำเนินวิถีชีวิตตามวัฒนธรรม (Demarcation Committee/Mechanism) เพื่อจัดการข้อพิพาทการใช้ประโยชน์ หรือการถือครองพื้นที่ของชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงกับหน่วยงานรัฐ 3. ส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพในชุมชนบนพื้นที่สูง เช่น การรักษาความหลากหลายของการสร้างพันธุ์พืช การสร้างความมั่นคงทางอาหาร การสร้างความสมดุลของนิเวศผ่านกระบวนการระบบไร่หมุนเวียน

และตามพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติฯ มาตรา 65 วรรค 4 ได้ระบุว่า “การเก็บหาหรือการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถเกิดใหม่ทดแทนได้ตามฤดูกาลของบุคคลที่ได้รับอนุญาตในเขตพื้นที่โครงการตามประกาศกระทรวงที่ออกตามมาตรานี้ หากเป็นการเก็บหาหรือการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติตามประเภท ชนิด และจำนวนตามที่ได้รับอนุญาต และเป็นไปเพื่อการดำรงชีพอย่างเป็นปกติธุระ และได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการแล้ว ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ” การดำเนินวิถีชีวิตของชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในการทำไร่หมุนเวียน เป็นการทำเกษตรที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นการเกษตรที่ยั่งยืนและไม่ทำลายป่า ถือได้ว่าเป็นการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถเกิดใหม่ทดแทนได้ตามฤดูกาล ชาวกะเหรี่ยงที่ดำเนินชีวิตตามวิถีไร่หมุนเวียนดั้งเดิม จึงไม่ควรต้องรับโทษแต่อย่างใด

การกระทำของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ในปฏิบัติการ “ยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร” รังแต่จะทำให้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนกับชาวบ้านกะเหรี่ยงบางกลอย-ใจแผ่นดิน หาทางแก้ไขได้ยาก ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อทุกฝ่าย เครือข่ายองค์กรสิทธิมนุษยชนตามรายชื่อที่แนบข้างท้ายนี้ ขอเรียกร้องให้ภาครัฐ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ดังต่อไปนี้

  1. ขอให้มีคำสั่งให้ยุติปฏิบัติการ “ยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร” และยุติการจับกุม ควบคุมตัว และดำเนินคดีกับชาวบ้านกะเหรี่ยงบางกลอย-ใจแผ่นดินทุกคนโดยทันที
  2. ขอให้คุ้มครองและฟื้นฟูเยียวยาชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน ด้วยการคืนสิทธิชุมชน ให้พวกเขาสามารถกลับเข้าไปอยู่อาศัยในพื้นที่บ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน เพื่อใช้ชีวิตตามวิถีของชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมได้ดังเดิมต่อไป โดยปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 เรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงฯ โดยเคร่งครัด
  3. ขอให้เปิดพื้นที่เจรจาระหว่างภาครัฐและกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงดั้งเดิมอย่างจริงใจ และร่วมกันศึกษาข้อมูล ข้อเท็จจริง เพื่อสร้างฉันทามติในการดำรงวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ในลักษณะที่ส่งเสริม ดูแลทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืน
  4. ขอให้ภาครัฐยกเลิกกฎ ระเบียบ มาตรการ และการกระทำอันเป็นการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติต่อชาวกะเหรี่ยงบางกลอย-ใจแผ่นดิน และกลุ่มชาติพันธุ์ชนเผ่าพื้นเมืองอื่นๆ ที่ไม่สอดคล้องกับพันธกรณีที่ประเทศไทยมีอยู่ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกประติบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ และหลักการสิทธิมนุษยชนโดยเคร่งครัด

ด้วยความเคารพต่อสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

รายนามองค์กร

  • มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
  • มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ (มพน.)
  • มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.)
  • มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
  • มูลนิธิมานุษยะ
  • สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
  • สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ