วิถีชีวิตชาวปกาเกอะญอบ้านห้วยริน แม่ฮ่องสอน “เงินไม่ใช่พระเจ้า ข้าวต่างหากที่เป็น”

วิถีชีวิตชาวปกาเกอะญอบ้านห้วยริน แม่ฮ่องสอน “เงินไม่ใช่พระเจ้า ข้าวต่างหากที่เป็น”

บ้านห้วยริน ตำบลแม่ลาน้อย อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน อยู่ห่างจากตัวอำเภอแม่ลาน้อยประมาณ 4 กิโลเมตร  เป็นหมู่บ้านชาวกะเหรี่ยง ‘ปกาเกอะญอ’ จำนวน 115 ครอบครัว ประชากรประมาณ 440 คน ส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์  ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ปลูกข้าวโพดและถั่วเหลืองเป็นพืชเศรษฐกิจหลัก แต่ก็ปลูกข้าวทุกครัวเรือนเพื่อเอาไว้กินตลอดทั้งปี เมื่อเหลือจึงขาย และแบ่งปันให้คนที่มีข้าวไม่พอกิน เป็นหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่ยังสืบทอดประเพณีดั้งเดิมของชาวปกาเกอะญอเอาไว้หลายอย่าง

สราวุฒิ ขจรสันติชัย อดีตพ่อหลวงหรือผู้ใหญ่บ้านบ้านห้วยริน บอกว่า ชาวบ้านที่นี่นับถือว่า ข้าว มีพระคุณเหมือนกับพ่อแม่ของเขา ดังนั้นเมื่อเก็บเกี่ยวข้าวแล้วจึงมีการทำบุญขวัญข้าวเพื่อตอบแทนคุณ และยังมีพิธีต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับข้าวตลอดทั้งปี ที่สำคัญก็คือมีพิธี กองบุญข้าว หลังฤดูเก็บเกี่ยว เพื่อให้ชาวบ้านนำข้าวเปลือกมาทำบุญแล้วนำไปเก็บในยุ้งข้าว เหมือนกับเป็นธนาคารข้าวเปลือกสำรองเอาไว้ในหมู่บ้านเพื่อให้คนที่ขาดแคลนยืมข้าวเอาไปกิน และเมื่อทำนาได้ผลแล้วจึงนำข้าวเปลือกมาคืนพร้อมกับดอกเบี้ยเล็กน้อยเพื่อให้ธนาคารข้าวเติบโตและยั่งยืน สามารถช่วยเหลือคนอื่นได้อีก

“มีนิทานของชาวปกาเกอะญอเรื่องหนึ่งเล่าต่อกันมาว่า ในสมัยก่อน มีพ่อค้าที่ร่ำรวยคนหนึ่งขี่ช้างหลงเข้าไปในหมู่บ้านชาวปกาเกอะญอแห่งหนึ่ง แล้วประกาศกับชาวบ้านว่าตนเองเป็นพ่อค้าที่ร่ำรวย มีช้างมากมาย มีเงินที่จะซื้อข้าวปลาอาหารจากชาวบ้านได้ทั้งหมู่บ้าน เมื่อพ่อค้าหิวข้าวจึงเอาถุงเงินออกมาเพื่อจะขอซื้อข้าวจากชาวบ้าน แต่ชาวบ้านก็ไม่ได้ให้ความสนใจ เพราะชาวบ้านไม่เคยใช้เงิน ไม่รู้จักเงิน สุดท้ายพ่อค้าต้องใช้ช้างที่ตนเองขี่มาแลกข้าวกับชาวบ้านได้เพียง 1 ห่อกินแก้หิว” อดีตพ่อหลวงบ้านห้วยรินยกนิทานแฝงปรัชญาขึ้นมาเล่า  

ก่อนย้ำว่า “เงินไม่ใช่พระเจ้า  ข้าวต่างหากที่เป็นพระเจ้า”

ชาวบ้านห้วยรินช่วยกันถอนกล้าข้าวก่อนนำไปปลูก (ภาพจากเพจ ห้วยริน M 14)

“บือฉ่อบุ” กองบุญข้าว

ในอดีตชาวปกาเกอะญอและกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในภาคเหนือจะมีความเชื่อและพิธีกรรมต่าง ๆ เป็นของตนเอง แต่เมื่อราว 100 ปีก่อน คริสต์ศาสนาได้เดินทางมาถึงพร้อมกับผู้เผยแผ่ที่ดั้นด้นบุกป่าฝ่าดงดอยเข้าไปถึงหมู่บ้าน กลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ จึงเริ่มหันมานับถือศาสนาคริสต์ (ส่วนใหญ่เป็นนิกายโรมันคาทอลิก) เช่นเดียวกับชาวปกาเกอะญอบ้านห้วยริน แต่ก็ยังสืบทอดประเพณีและความเชื่อของบรรพบุรุษเอาไว้หลายอย่างจนถึงปัจจุบัน  รวมทั้งยังหลอมรวมความเชื่อดั้งเดิมเข้ากับงานพัฒนาหมู่บ้านได้อย่างกลมกลืน

เช่น  ประเพณี บือฉ่อบุหรือกองบุญข้าว โดยจะทำหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวในราวเดือน 12 (ประมาณเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม) เพื่อนำข้าวเปลือกที่เก็บเกี่ยวมาทำบุญ แบ่งปันให้คนยากไร้ หรือครอบครัวที่มีข้าวไม่พอกิน

ภัยจากธรรมชาติทำให้ไร่นาเสียหาย  หลายครอบครัวปลูกข้าวไม่พอกิน (ภาพจากเพจ ห้วยริน M 14)

โดยชาวปกาเกอะญอมีความเชื่อที่สืบต่อกันมาว่า “ข้าวมีอยู่ 9 เมล็ด เมล็ดที่ 1เอาไว้สำหรับตัวเองเพื่อบริโภค เมล็ดที่ 2 สำหรับครอบครัว เมล็ดที่ 3 สำหรับญาติพี่น้องและเพื่อนฝูง เมล็ดที่ 4 เพื่อคนยากจนที่มาขอในยามยาก เมล็ดที่ 5 เอาไว้บวชลูก เมล็ดที่ 6 เอาไว้ค้ำจุนสังคมยุคพระศรีอาริย์ เป็นการเอื้อเฟื้อเกื้อกูลซึ่งกันและกันเพื่อช่วยกันสร้างสังคมใหม่ เมล็ดที่ 7 มีไว้เพื่อแลกกับแก้วแหวนเงินทอง เมล็ดที่ 8 เอาไว้เพื่อสร้างชุมชนเพื่อทำให้เกิดอารยธรรม และเมล็ดที่ 9 เอาไว้เพื่อตัวข้าเมื่อข้าตายไปแล้ว” (ข้อมูลจากhttp://www.jpthai.org)

นั่นคือความเชื่อที่นำมาสู่การแบ่งปัน เกื้อกูลกันของชาวปกาเกอะญอ ขณะเดียวกัน ‘ศูนย์สังคมพัฒนา สังฆมณฑลเชียงใหม่’ (องค์กรพัฒนาเอกชนที่เป็นองค์กรศาสนาภายใต้สภาคาทอลิกแห่งประเทศไทยเพื่อการพัฒนา) ได้นำแนวคิดการจัดตั้งธนาคารข้าวมาต่อยอดพิธีกองบุญข้าวของชาวปกาเกอะญอในหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่ จ.เชียงใหม่ ในช่วงปี 2530 หลังจากนั้นพิธีกองบุญข้าวจึงแพร่หลายไปทั่วภาคเหนือในหมู่บ้านที่นับถือศาสนาคริสต์  รวมทั้งที่บ้านห้วยริน อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอนด้วย

สากล บรรพขจรเวช อายุ 36  ปี พ่อหลวงบ้านห้วยริน (คนปัจจุบัน) บอกว่า พื้นที่ส่วนใหญ่ของหมู่บ้านห้วยรินตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่ยวมฝั่งซ้าย ชาวบ้านจึงมีพื้นที่ทำกินไม่มากนัก  ครอบครัวหนึ่งประมาณ  3-4 ไร่  ส่วนใหญ่ปลูกข้าวโพด(เลี้ยงสัตว์) และถั่วเหลืองเอาไว้ขาย แต่ได้ราคาไม่ดีนัก โดยเฉพาะข้าวโพดราคาประมาณกิโลกรัมละ  4-5 บาท แต่ก็จำเป็นต้องปลูกพืชเศรษฐกิจเพื่อเอาเงินมาใช้จ่ายในครอบครัว และปลูกข้าวเจ้าเอาไว้กิน ที่เหลือก็ขาย  เป็นข้าวพันธุ์ กข.21 มีจุดเด่น คือทนต่อโรคและแมลง ให้ผลผลิตสูง (ประมาณ 700 กิโลกรัม/ไร่)

“แม้ว่าชาวบ้านห้วยรินจะมีรายได้จากการปลูกข้าวโพดและถั่วเหลืองไม่มากนัก แต่เราก็ใช้ชีวิตแบบพอเพียง ไม่ฟุ่มเฟือย และยังปลูกข้าวเอาไว้กิน มีพิธีกองบุญข้าวทุกปี เอาข้าวเปลือกมาสำรองไว้ช่วยเหลือคนที่เดือดร้อน ตอนนี้มีข้าวเปลือกเหลืออยู่ประมาณ 5 ตัน”  พ่อหลวงบ้านห้วยรินบอก

พิธีบือฉ่อบุหรือกองบุญข้าวที่บ้านห้วยริน เริ่มขึ้นอย่างจริงจังและต่อเนื่องมาตั้งแต่ราวปี 2535 โดยจะมีพิธีภายหลังการเกี่ยวข้าวแล้ว หรือในช่วงเดือน 12 (ประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนธันวาคม) หลังเกี่ยวข้าวชาวบ้านจะมีการทำบุญขวัญข้าว   โดยนำเอาข้าวปลาอาหารมาเซ่นไหว้ เพื่อตอบแทนพระคุณของข้าวที่ออกช่อชูรวงมาให้กิน

จากนั้นแต่ละครอบครัวก็จะแบ่งข้าวเปลือกเอามากองร่วมกัน ใครมีน้อยก็ให้น้อย มีมากก็ให้มาก จึงเรียกพิธีนี้ว่า กองบุญข้าวเป็นการทำบุญช่วยเหลือคนที่ยากจนกว่า หรือครอบครัวที่มีข้าวไม่พอกินในหมู่บ้าน หากมีข้าวเหลือก็จะนำไปเก็บไว้ในยุ้งข้าว ใครเดือดร้อนก็มาเอาไปกิน หรือหมู่บ้านอื่น ๆ ที่ขาดแคลนก็เอาข้าวไปกินได้ รวมทั้งยังนำข้าวไปช่วยเหลือหมู่บ้านที่ประสบภัยพิบัติ ไม่มีข้าวกิน

สากล บรรพขจรเวช พ่อหลวงบ้านห้วยรินกับธนาคารข้าว

บือพอธนาคารข้าว   

ไม่เพียงแต่จะมีพิธีทำขวัญข้าวและกองบุญข้าวเท่านั้น ชาวปกาเกอะญอบ้านห้วยรินยังมีพิธีกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับข้าวตลอดทั้งปี รวมแล้วเกือบ 10 พิธี ตั้งแต่พิธีการถางไร่ การหว่านข้าว การเลี้ยงผีไร่ พิธีไล่ความชั่วร้ายในไร่ ฯลฯ เพื่อปกป้องไร่นา  และขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ดลบันดาลให้ได้ข้าวอุดมสมบูรณ์ ถือเป็นการแสดงความอ่อนน้อม คารวะต่อบุญคุณของแผ่นดิน

พ่อหลวงสากล บอกว่า ชาวบ้านห้วยรินใช้วิธีการทำนาแบบดำนา เนื่องจากพื้นที่ทำนาเป็นที่ราบเชิงหุบเขา ไม่ใช่การเพาะปลูกแบบข้าวไร่บนดอย อาศัยน้ำจากห้วยรินและน้ำฝนในการทำนา โดยการเพาะต้นกล้าก่อน เมื่อเพาะต้นกล้าจนโตแล้วจึงถอนต้นกล้าเอามาปักดำในนา ซึ่งในช่วงการดำนานี้เอง ชาวบ้านห้วยรินจะใช้วิธี เอามือ หรือลงแรงช่วยกันดำนา  โดยจะบอกกล่าวไหว้วานให้เพื่อนบ้านหรือญาติพี่น้องมาช่วยกันถอนต้นกล้าเพื่อนำไปดำ แปลงละ 10-20 คน ใช้เวลา 1-2 วันก็แล้วสร็จ เพราะส่วนใหญ่มีที่นาไม่มาก แล้วหมุนเวียนไปช่วยเอามือในแปลงอื่น ๆ ทำให้ประหยัดเวลา ประหยัดค่าแรง รวมทั้งยังทำให้เกิดความรัก ความสามัคคีในหมู่บ้านด้วย

การ ‘เอามื้อ’ ช่วยกันถอนกล้าข้าวเพื่อเอามาปลูก (ภาพจากเพจ ห้วยริน M 14)

ข้าวพันธุ์ กข. 21 จะใช้ระยะเวลาตั้งแต่เพาะต้นกล้าประมาณ 30 วัน และเติบโตพร้อมเกี่ยวข้าวอีก 120-130 วัน หากเริ่มปลูกในช่วงต้นฤดูฝน ประมาณเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนก็เก็บเกี่ยวข้าวได้ หลังจากนั้นจึงมีพิธีกองบุญข้าว แล้วเอาข้าวเปลือกไปใส่ไว้ในยุ้งข้าวหรือ บือพอ หรือธนาคารข้าวในหมู่บ้าน ครอบครัวไหนที่มีที่นาน้อย หรือปลูกข้าวไม่พอกินก็จะเอาข้าวเปลือกไปกินก่อน

“เมื่อเกี่ยวข้าวแล้ว ชาวบ้านจะเอาข้าวเปลือกขึ้นยุ้งเพื่อเก็บไว้กินให้พอตลอดทั้งปี คนที่มีข้าวเหลือกินแล้วก็จะนำข้าวเปลือกมาร่วมพิธีกองบุญ ครอบครัวละ 1 หลัง หรือ 112 กิโลฯ หากครอบครัวไหนมีข้าวไม่พอกินก็จะมาเอาที่ธนาคารข้าว ถ้าเอาข้าวไป 1 หลัง (112 กิโลฯ) เวลาเอาข้าวมาคืนก็จะคืน 1 หลังกับ 1 ควาย (14 กิโลฯ)  หรือเสียดอกเบี้ย 14 กิโลฯ เพื่อให้ธนาคารมีข้าวสำรองเอาไว้ตลอดทั้งปี” พ่อหลวงสากลอธิบาย และบอกถึงวิธีการนับปริมาณข้าวของชาวบ้านห้วยริน

ช่วยกันเอาข้าวเปลือกขึ้นยุ้งข้าว หรือ ‘บือพอ’ (ภาพจากเพจ ห้วยริน M 14)

ปัจจุบัน (มีนาคม 2564)  ธนาคารข้าวบ้านห้วยรินมีข้าวเปลือกสำรองประมาณ 5 ตัน  หรือประมาณ 5,000 กิโลกรัม  โดยมีชาวบ้านที่ปลูกข้าวพอกินประมาณ 50 ครอบครัว (จากทั้งหมด 115 ครอบครัว) ที่นำข้าวมาร่วมพิธีกองบุญข้าว  ครอบครัวละ 1 หลังหรือ 112 กิโลฯ  ข้าวที่เหลือสำรองในธนาคารข้าวส่วนหนึ่งจะขายให้พ่อค้าเพื่อนำเงินมาพัฒนาหมู่บ้าน  รวมทั้งถวายวัดและโบสถ์ด้วย

สราวุฒิ ขจรสันติชัย อดีตพ่อหลวงบ้านห้วยรินกล่าวเสริมว่า เมื่อก่อนชาวบ้านที่นี่อดอยาก ต้องเอาของไปแลกข้าวจากที่อื่นมากิน แต่ตอนนี้คนจากหมู่บ้านอื่นต้องมาแลกข้าวที่นี่ และยังช่วยเหลือคนที่เดือดร้อนได้ เมื่อครั้งที่อำเภอปายดินถล่ม  (ประมาณปี 2548) พวกเราก็เอาข้าวจากที่นี่ไปช่วยเหลือพี่น้องทางโน้นด้วย”  อดีตพ่อหลวงบอกด้วยความภูมิใจ

ร้านค้าชุมชนบ้านห้วยริน นำผลกำไรคืนสู่ชุมชน

นอกจากพิธีกองบุญข้าวและธนาคารข้าวซึ่งถือว่าเป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลกันของชาวปกาเกอะญอบ้านห้วยรินแล้ว ที่หมู่บ้านแห่งนี้มีการจัดตั้งร้านค้าชุมชนขึ้นมาตั้งแต่ปี 2546 หลังจากที่ผู้นำในหมู่บ้านได้ไปศึกษาดูงานร้านค้าชุมชนมาจากจังหวัดลำพูน เปิดขาย 2 ช่วงทุกวัน คือ ช่วงเช้าตั้งแต่ตี 5 จนถึง 8 โมงเช้า และช่วงเย็น เวลา 4 โมงเย็นถึง 2 ทุ่ม มีคนขายและทำบัญชี 1 คน 

ขายสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่น สบู่ ยาสีฟัน ผงซักฟอก น้ำมันพืช ขนม ของขบเคี้ยว บะหมี่สำเร็จรูป นม และเครื่องดื่มต่าง ๆ รวมทั้งยังมีปั้มน้ำมันหยอดเงินบริการด้วย  ถือเป็นร้านสะดวกซื้อของชาวบ้าน  ไม่มีแอร์ แต่มีเงินปันผล และยังนำผลกำไรส่วนหนึ่งมาพัฒนาหมู่บ้าน

ร้านค้าชุมชนบ้านห้วยริน

พันธ์ วิริยศิลา ประธานกรรมการร้านค้าชุมชน บอกว่า ช่วงแรกร้านค้าชุมชนกำหนดกฎระเบียบออกมาให้สมาชิกถือหุ้นๆ ละ 5 บาท เพื่อเป็นเงินลงทุนและซื้อสินค้าเข้ามาจำหน่าย สิ้นปีก็จะมีเงินปันผลและมีสวัสดิการช่วยเหลือสมาชิก แต่ด้วยการขาดประสบการณ์ ในช่วงแรกจึงไม่ได้จำกัดการถือหุ้น คนที่มีเงินมากก็ซื้อหุ้นคนละ 1,000-2,000 บาท  หวังว่าจะได้เงินปันผลมาก ๆ  ต่อมาจึงปรับให้ถือหุ้นได้ไม่เกินคนละ 100 บาทเพื่อความเท่าเทียมกัน เริ่มแรกมีเงินลงทุนประมาณ 10,000 บาท

ตอนที่เปิดร้านค้าชุมชนใหม่ ๆ คนที่เปิดร้านขายของชำในหมู่บ้านอยู่แล้วก็ไม่พอใจ เพราะคิดว่าเราจะมาแย่งลูกค้า ทำให้เขาขาดรายได้ แต่พอนานไป เขาก็เข้าใจ เพราะรู้ว่าร้านค้าชุมชนเป็นของส่วนรวม เป็นของหมู่บ้าน ผลกำไรก็นำมาแบ่งปันกัน ตอนหลังร้านชำเหล่านี้ก็มาสมัครเป็นสมาชิกของเราด้วย” ประธานฯ ร้านค้าชุมชนบอกเล่าการดำเนินการในช่วงแรก

กรรมการร้านค้าชุมชน

ปัจจุบันร้านค้าชุมชนบ้านห้วยรินมีสมาชิกทั้งหมด 75 ราย ปี 2563 ที่ผ่านมา มียอดขายรวมประมาณ 170,000 บาท  มีผลกำไรประมาณ 30,000 บาท ปันผลให้สมาชิกหุ้นละ 5 บาท และแบ่งกำไรให้สมาชิกตามยอดซื้อตลอดทั้งปี เฉลี่ยคนละ 5 % ของยอดซื้อ (บางคนได้เงินปันผลกำไร 2,400 บาท) มีเงินทุนหมุนเวียนประมาณ 60,000 บาท

นอกจากนี้ร้านค้าชุมชนจะจัดสรรผลกำไรดังนี้ 20% เป็นทุนหมุนเวียนให้ร้านค้า 40% นำมาเป็นเงินพัฒนาหมู่บ้าน เช่น ซ่อมถนน ซ่อมท่อประปา ทำฝายชะลอน้ำ และ 40% นำมาจัดสวัสดิการให้สมาชิก เช่น คลอดบุตรช่วยเหลือ 500 บาท เจ็บป่วยเข้าโรงพยาบาลช่วยเหลือ 300-500 บาท (ตามระยะทาง) เสียชีวิตช่วยเหลือ 1,000 บาท 

ผลกำไรจากร้านค้านำไปพัฒนาชุมชน เช่น ทำฝายชะลอน้ำ (ภาพจากเพจ ห้วยริน M 14)

รวมทั้งยังช่วยเหลือคนที่พิการ คนด้อยโอกาส และบริจาคข้าวเข้ากองบุญข้าวด้วย ส่วนจะช่วยมากน้อยเพียงใดก็จะดูจากผลกำไรในแต่ละปี โดยคณะกรรมการร้านค้าฯ จะเป็นผู้พิจารณา ปัจจุบันมีเงินกองทุนสวัสดิการร้านค้าประมาณ 10,000 บาท

ถือเป็นหมู่บ้านที่มีความเกื้อกูล แบ่งปัน ช่วยเหลือดูแลกันและกัน เหมือนกับความเชื่อเรื่องข้าวของชาวปกาเกอะญอที่ว่า “ข้าวมีอยู่ 9 เมล็ด เมล็ดที่ 1 เอาไว้สำหรับตัวเองเพื่อบริโภค เมล็ดที่ 2 สำหรับครอบครัว  เมล็ดที่ 3 สำหรับญาติพี่น้องและเพื่อนฝูง เมล็ดที่ 4 เพื่อคนยากจนที่มาขอในยามยาก…”  

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ