จากการคาดการณ์ปีนี้ 2564 ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับ Super Ageing Society คือ จะมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ร่วมกับฝ่ายพัฒนาเครือข่ายสื่อพลเมือง สำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ จัดเสวนาออนไลน์ สูงวัยไปด้วยกัน ในหัวข้อ “บำนาญแห่งชาติและเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โจทย์เก่าเล่าใหม่”
โดยเสวนาครั้งนี้ มีวิทยากรร่วมแลกเปลี่ยน ได้แก่
1. นางศิริลักษณ์ มีมาก ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านผู้สูงอายุ กรมกิจการผู้สูงอายุ
2. ศ.ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
3. ศ.ศศิพัฒน์ ยอดเพชร นักวิชาการด้านงานผู้สูงอายุ
4. อาจารย์สว่าง แก้วกันทา มูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุ
โดยมี คุณภัทราพร สังข์พวงทอง ชวนพูดคุยซึ่งการเสวนาครั้งนี้มีคำถามที่น่าสนใจเรื่องผู้สูงอายุที่ต้องเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 ไปพร้อม ๆ กับคนไทยทั้งประเทศ ว่าจะมีชีวิตอยู่ดูแลตัวเองอย่างไร ใน New Normal หรือ ชีวิตวิถีใหม่ในสังคมไทย จากนั้นได้พูดคุยกันเรื่องบำนาญแห่งชาติและเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นคำที่หลายคนคุ้นเคย แต่ยังมีประเด็นที่ต้องพูดคุยและหาทางออกร่วมกัน
นางศิริลักษณ์ มีมาก ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านผู้สูงอายุ กรมกิจการผู้สูงอายุ เปิดเผยว่าที่ผ่านมาเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่เริ่มมีขึ้นตั้งแต่ปี 2536 ก็ได้มีการปรับปรุงระบบการจ่ายเงิน รวมทั้งเพิ่มเบี้ยยังชีพให้โดยตลอด แต่ก็ยอมรับว่าแม้จะเปลี่ยนเป็นระบบการจ่ายเบี้ยยังชีพแบบขั้นบันไดที่ใช้ในปัจจุบันแล้ว แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุ รวมทั้งเห็นว่าประเด็นสำคัญคือต้องดูแลผู้สูงอายุกลุ่มพึ่งพิงเป็นหลัก และไล่เรียงถึงที่มาจุดเริ่มต้นของเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
“เมื่อปี พ.ศ. 2536 เป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดเบี้ยยังชีพเป็นโครงการสวัสดิการที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของ กรมประชาสงเคราะห์ ตอนนั้นเป็นโครงการสวัสดิการ ยังไม่มี พ.ร.บ. และเริ่มจ่ายเป็นเงินสดทางเดียวเลย จ่ายงวดแรกประมาณ 20,000 คน ส่วนที่เกิดขึ้นมา จริง ๆ ก็ต้องการที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุมีความยากลำบากยากจนแล้วกระบวนการในการคัดเลือกผู้สูงอายุ ศูนย์สงเคราะห์ราษฎรประจำหมู่บ้าน ก็จะมีคณะกรรมการระดับหมู่บ้าน เขาคัดเลือกเข้ามา เราเห็นความยากลำบากของผู้สูงอายุ และรัฐบาลควรจะต้องสนับสนุนช่วยเหลือตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้น
หลังจากนั้นมามีพัฒนาการ ปี พ.ศ. 2543- 2544 มีวิกฤตเศรษฐกิจถดถอย รัฐบาลก็ได้ปรับจำนวนเงิน จาก 200 บาท เพิ่มขึ้นอีก 100 บาท ก็เป็นค่าครองชีพ เพื่อช่วยในการดำรงชีวิต ในช่วงที่เศรษฐกิจถดดอย รวมเป็น 300 บาท นอกจากนั้นก็ยังมีการปรับเรื่องของวิธีการรับเงิน รับเงินสดอย่างเดียวนั้นยังมีทางธนานัติเพิ่มขึ้นมาอีกทาง เพราะบางท่านก็ไม่สะดวกรับเป็นเงินสด
จากนั้นไปในช่วงของปี พ.ศ. 2544 ก็เริ่มมีนโยบาย ที่จะกระจายภารกิจให้กับท้องถิ่น และมีการปรับวิธีการ กระบวนการคัดเลือก ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยกลั่นกรองและเลือกผู้สูงอายุเข้ามา นั่นก็เป็นกระบวนการที่ทำให้กรมประชาสงเคราะห์ มีการถ่ายโอนภารกิจไปให้กระทรวงมหาดไทย และ อปท.เป็นคนจ่ายเงินเป็นรูปแบบที่มีพัฒนาการมา
ส่วนในช่วงปี พ.ศ. 2548 ได้ริเริ่มและกระทรวงมหาดไทย เขามองในเรื่องของทางเศรษฐกิจเอง เริ่มมีค่าครองชีพที่สูงขึ้นจึงเสนอคณะรัฐมนตรีซึ่งก็เห็นชอบให้ 500 บาท จาก 200 – 300 บาท ก็พัฒนามาเป็น 500 บาท ในช่วงปี พ.ศ. 2549
และมีพัฒนาการในช่วง ปี 2552 ก็เป็นนโยบายรัฐบาล ตอนนั้นก็มีการปรับให้ผู้สูงอายุเป็นการจ่ายที่ขยายวงมากขึ้น ก็ปรับในส่วนของที่เป็นกฎหมายในส่วนของการจ่ายเงินเป็นเบี้ยยังชีพเป็นรายเดือน เพราะช่วงนั้นมีประเด็นว่าในแต่ละท้องถิ่นจ่ายแตกต่างกัน บางท่านอาจจะ 2-3 เดือน เขาก็พยามยามอยากให้ผู้สูงอายุได้ตลอดทุกเดือน จ่ายมากขึ้นและเป็นรายเดือน
ปลายปี 2555 รัฐบาลตอนนั้นให้ปรับเป็นตามช่วงขั้นบันได 60 – 69 ปี ได้รับ 600 บาท 70-79 ปี ได้รับ 700 บาท และ 80-89 ปี ได้ 800 บาท 90 ปีขึ้นไป 1,000 บาท ระเบียบตัวขั้นบันได ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555”
โดย ศ.ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นว่าหากต้องการให้การดูแลผู้สูงอายุครอบคลุมมากขึ้นนั้นก็ต้องพิจารณาในภาพรวมทั้งหมดจะพิจารณาเฉพาะเบี้ยยังชีพอย่างเดียวไม่ได้เพราะเป็นประเด็นที่คาบเกี่ยวกับหลายหน่วยงาน ส่วนการมองเรื่องความเท่าเทียมนั้น ไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้เพราะกติกาของผู้สูงอายุแต่ละกลุ่มแตกต่างกัน การจะเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุก็ต้องพิจารณาวงเงินที่ต้องใช้ด้วย หรือหากจะไม่เพิ่มก็ต้องพิจารณาว่าจะเพียงพอให้ผู้สูงอายุดำรงชีพหรือไม่ สำหรับการจะทำให้เกิดความเท่าเทียมหรือถ้วนหน้านั้น จะพิจารณาจากเบี้ยยังชีพอย่างเดียวไม่ได้เพราะเบี้ยยังชีพเป็นเพียงฐานรายได้เล็กน้อยให้กับผู้สูงวัยเท่านั้น ทั้งนี้ยอมรับว่าการดูแลผู้สูงอายุอาจไม่เท่าเทียมแต่สามารถลดความแตกต่างลงและสอดคล้องกับสถานการณ์การเงินการคลังในปัจจุบัน
“ในแง่ของเจตนารมณ์ของการที่ตั้งเกณฑ์คุณสมบัติ คือ เบี้ยยังชีพ อาจจะยังไปไม่ถึงทุกคน แต่หลักประกันการมีรายได้ในยามชราภาพ จริง ๆ มันไปคุมถึงทุกคนแล้ว เพราะฉะนั้นในความหมายนั้น มันคือ สากล คือ พูดถึงทุกคนแต่ว่าในผู้สูงอายุที่มีสิทธิ์ก็อาจจะมีบางคนก็แสดงเจตนารมณ์ ว่าไม่จำเป็นก็ไม่ได้ไปลงทะเบียนรับ และบทบาทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ให้ความสำคัญ ฉะนั้นการทำให้ทั่วถึง ผมคิดว่าไม่ใช่ประเด็นใหญ่นัก ประเด็นใหญ่อาจจะอยู่ตรงที่ว่า ในเรื่องของถ้วนหน้า จะให้ผู้สูงอายุทุกคน ได้รับเบี้ยยังชีพรึเปล่า พอบอกว่าทุกคนมันก็จะไปรวมกับที่เคยได้สิทธิประโยชน์อื่น ๆ คนที่กำลังรับเงินบำนาญรายเดือนอยู่ คนที่ทำงานอาจจะต่ออายุเกษียณ ไม่ได้เกษียณจริง ๆ และผู้สูงอายุในสถานสงเคราะห์ต่าง ๆ เราบอกว่าเบี้ยยังชีพ 1 เดือน มันอาจจะยังไม่เยอะมาก 600-1,000 บาท อาจจะจำเป็นต้องเพิ่ม จริง ๆ มันก็มีความเห็นคิดว่า เบี้ยยังชีพไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพนะ อาจจะจำเป็นต้องเพิ่ม หรือว่ามันยังไม่ถ้วนหน้าจริง ๆ ต้องขยายพอพูดถึงประเด็นนี้มา มันเกี่ยวข้องกับหลาย ๆ ระบบมาก ๆ ที่มีอยู่เดิม
ผมคิดว่าความเท่าเทียม เรามองเทียบกับอะไร ผมต้องบอกว่า หนึ่งเราบอกว่าคนรับเบี้ยยังชีพกับบำนาญข้าราชการ มันก็ต่างกันด้วยกติกาที่ตั้งไว้เติมอยู่แล้ว ประกันสังคมคนที่รับประกันสังคม มีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพ มันจะมาดูเรื่องความเท่าเทียมตรงนี้ไม่ได้ เบี้ยยังชีพพื้นฐานเขาให้ทุกคนอยู่แล้ว ยกเว้นคนที่เป็นข้าราชการบำนาญและกลุ่มอื่น ๆ ที่กล่าวมาแล้ว ระดับก็มีความต่างกันอยู่แน่นอน
ปัจจุบันประเทศไทยเรายังไม่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องนี้อย่างเดียว แล้วมองภาพใหญ่ จริง ๆ ยังไม่มีทุกระบบอยู่กันอย่างเป็นเอกเทศ อยากทำอะไรก็ทำมันเลยหาทิศทางไม่ได้ ฉะนั้นผมคิดว่าจุดอ่อน ของประเทศเราตอนนี้ มันสามารถทำให้ลดความแตกต่างลงแล้วเรียกว่า สร้างความควบคุม แล้วตัวระบบจะมีเสถียรภาพมากขึ้น บนสถานการณ์ทางการเงินการคลังที่เริ่มมีความลำบากด้วยสถานการณ์โควิด-19 และเศรษฐกิจจะยังเคลื่อนไหวได้ยังไม่รู้เมื่อไหร่ ผมคิดว่าการมองภาพใหญ่ ณ เวลานี้ เป็นเรื่องสำคัญ”
ศาสตรจารย์ศศิพัฒน์ ยอดเพชร นักวิชาการด้านงานผู้สูงอายุ ระบุว่าในจำนวนผู้สูงอายุทั้งหมดมีร้อยละ 97 ที่รับรู้เรื่องสิทธิที่พึงได้รับ แต่มีเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นที่รู้รายละเอียดชัดเจน จึงจำเป็นต้องมีการกระจายความรู้สู่ชุมชน ทั้งนี้เห็นด้วยกับข้อเสนอให้มีการเก็บออมตั้งแต่ในวัยทำงานโดยเป็นการเก็บออมภาคบังคับเพื่อในอนาคตจะได้เป็นผู้สูงวัยอย่างมั่นคง รวมทั้งอยากให้มีตัวชี้วัดความยากลำบากของผู้สูงอายุด้วยเพราะบางรายได้รับสวัสดิการจากรัฐแต่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ หากสามารถจัดกลุ่มได้อย่างชัดเจนก็เชื่อว่าจะมีกลุ่มผู้สูงอายุที่ต้องได้รับการดูแลอย่างแท้จริง
“ผู้สูงอายุต้องปรับตัวค่อนข้างเยอะ ยิ่งสังคมปัจจุบัน เป็นยุคดิจิทอล ผู้สูงอายุมีปัญหาในเรื่องเหล่านี้ แต่ก็จะมีกลุ่มหนึ่งที่จะสามารถปรับตัวเองเข้ากับตรงนี้ได้ อย่างช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมาจะมีบางแห่ง อย่างกระทรวง พม. ก็มีการสอนโรงเรียนผู้สูงอายุออนไลน์ ผู้สูงอายุก็เรียนได้ ทางเชียงใหม่ก็มีการประชุม กรรมการสมาคม กรรมการชมรมออนไลน์ คือ ผู้สูงอายุกลุ่มหนึ่งก็ปรับตัวได้ อีกกลุ่มก็อาจจะปรับตัวไม่ได้ แต่ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ในสังคมบ้านเราจะเห็นว่ามีแรงงานคืนถิ่นจำนวนมากเลยกลับบ้านไปตั้งหลักก่อน
ผู้สูงอายุก็จะมีกลุ่มหนึ่งที่ไม่ลำบากในเรื่องการดำเนินชีวิต แต่กลุ่มนี้จะมีจิตใจเป็นสาธารณะ ก็คือช่วยเหลือผู้อื่น ไปช่วยกันเย็บหน้ากากอนามัยแก่สมาชิกอื่น ๆ ทำกิจการแต่เขาไม่ออกบ้าน กลุ่มที่ยากลำบาก จะมีปัญหามากในเรื่องอาหาร แต่ในชนบทไทยก็จะมีระบบเกื้อกูลกันพอสมควร มีคนที่จะออกไปรับอาหารและนำไปแจกผู้สูงอายุ ฉะนั้นก็จะมีระบบเกื้อกูลกันในชุมชน
เราแบ่งผู้สูงคร่าวๆ 3 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 คือ สุขภาพยังดี ยังดูแลช่วยเหลือตัวเองได้ และพร้อมที่จะช่วยคนอื่นด้วย ส่วนใหญ่กลุ่มคนเหล่านี้ เขาจะไปเข้าชมรมรวมกลุ่มทำกิจกรรมร่วมกัน กลุ่มที่ 2 จะเป็นกลุ่มที่ชอบอยู่บ้าน กล้า ๆ กลัวๆ ที่จะออกยังไม่กล้าออกบ้าน กลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มที่ต้องพึ่งพิงจริง ๆ มีทั้งอยู่ในสถานสงเคราะห์ ที่อยู่ในชุมชนที่เป็นกลุ่มตกหล่นบ้าง”
ขณะที่ อาจารย์สว่าง แก้วกันทา มูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุ เสนอให้ผู้ที่ยังอยู่ในวัยทำงานเร่งออมเงินควบคู่ไปด้วยอย่างน้อยเดือนละ 10% ของรายได้ที่ได้รับต่อเดือนเพื่อนำมาใช้ในช่วงที่ไม่สามารถทำงานได้ โดยเชื่อว่าการจ่ายเบี้ยยังชีพแบบขั้นบันไดทำให้ผู้สูงอายุเกิดความมั่นใจในการดำรงชีวิตมากขึ้นเพราะมีเงินเป็นของตัวเอง
“ตั้งแต่เปลี่ยนเป็นระบบให้ทุกคน ที่อายุ 60 ปี ขึ้นไปและไม่ได้รับสิทธิจากที่อื่น ผมคิดว่าการทำแบบนี้มันทำให้ความครอบคลุมมันทำได้ดีมากขึ้น เพราะว่ากระบวนการการคัดกรองคนเข้าสู่ระบบโดยผ่าน อบต. หรือ เทศบาล หรือที่เราเรียกว่าท้องถิ่น มันทำได้ค่อนข้างดี มีคุณภาพ ยกเว้นว่าตกหล่นจริง ๆ ก็มีการสืบค้นคืนมา
ผมคิดว่าระบบเบี้ยยังชีพถ้าพูดถึงทั่วถึงก็ทั่วถึงอยู่ แต่เท่าเทียมนี้เราจะเทียบอะไร ตอนนี้เราแบ่งกันไปตามอายุ เพราะฉะนั้นอายุเท่าไรก็ได้ตามขั้นบันไดที่รัฐกำหนดมา ฉะนั้นความยากจน ฐานะทางเศรษฐกิจครัวเรือน ของแต่ละคนมันต่างกันอยู่แล้ว แต่ได้รับเบี้ยยังชีพเท่ากันถ้าจะให้มันเท่าเทียม ถ้วนหน้าจริง ๆ มันควรจะเป็นในระบบของแบบบำนาญถ้วนหน้า
ถ้าอยากได้มากกว่านี้ก็ต้องระหว่างที่คุณทำงานคุณก็ต้องออม เราไม่พูดถึงผู้สูงอายุปัจจุบัน เพราะว่าต้องเป็นเรื่องของผู้สูงอายุในอนาคต ไม่ว่าจะใกล้หรือไกล หากว่าผู้สูงอายุในอนาคตเยอะมีแรงยังทำงานหารายได้อยู่ เส้นความยากจนหรือว่าเบี้ยยังชีพหรือบำนาญแห่งชาติ หรือบำนาญถ้วนหน้าให้ได้ระดับหนึ่ง ทางภาคประชาสังคมและนักวิชาการก็รณรงค์และทำกองทุนการออมแห่งชาติขึ้นแล้ว(กอช.) จะทำยังอย่างไรให้มีการปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม
คุณค่า หรือมูลค่า ผมว่ามีความหมายสำหรับผู้สูงอายุเยอะมาก เพราะว่าตัวหนึ่งที่เห็นชัดเจน คือ เรื่องผู้สูงอายุมีความมั่นใจ มั่นคง มีความมั่นใจในการดำรงชีวิตประจำวัน มั่นใจว่าพอสิ้นเดือนหรือต้นเดือนหน้าเบี้ยยังชีพก็ออกแล้ว ออก 700 – 800 บาท ก็ตาม มันมีความหมายครับ เพราะว่าเชามั่นใจว่าเขาได้รับแน่นอน มีความมั่นใจว่ามีนม อาหารให้หลาน มีความหมายนะครับเป็นที่พึ่งทางใจให้กับผู้สูงอายุ”
โจทย์สังคมสูงวัยในอนาคต นอกจากเบี้ยยังชีพแล้ว วงเสวนายังมองเห็นความสำคัญในการดูแลและบูรณาการในภาพรวมเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้สูงอายุ ทั้ง การออมเงิน การเติมศักยภาพผ่านการเรียนรู้ต่าง ๆ โดยจำเป็นต้องร่วมมือกันทั้งในระดับครัวเรือน ท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะความสัมพันธ์ในชุมชนเป็นอีกจุดแข็งของประเทศไทย
“อนาคต อีก 12 ปี ประเทศไทยสังคมสูงอายุจะเยอะมาก คนสูงอายุถ้ามีการเตรียมตัวมีระบบต่าง ๆ รองรับและเข้าใจ อาจจะต้องมีการออมภาคบังคับ ทำให้เขาเข้าสู่วัยสูงอายุแบบไม่ยากลำบากนัก แต่ถ้ากลุ่มผู้สูงอายุที่ยากจนที่ได้รับสวัสดิการแห่งรัฐ 4 ล้านกว่าคน เราอาจจะต้องมาจัดระบบให้เขาใหม่ ปัญหาของเราที่ยังจัดไม่ได้เพราะฐานข้อมูลไม่ชัดเจน ใช้เงินอย่างเดียวเป็นตัวชี้วัด แต่จริงแล้วผู้สูงอายุบางคนภาวะยากลำบาก เช่น อยู่คนเดียวนอนติดเตียง ต้องสร้างตัวชี้วัดใหม่ ไม่อยากให้ใช้เงินอย่างเดียว ให้เรียกว่าสภาวะการยากลำบากของผู้สูงอายุ ถ้าเรามาจัดระดับใหม่ น่าจะทำได้เพราะบ้านเรามีข้อมูล Big data เยอะมาก แต่เรายังไม่ได้มีการจัดการ” ศาสตราจารย์ศศิพัฒน์ ยอดเพชร เน้นความสำคัญเรื่องการเตรียมรับมือในอนาคต เช่นเดียวกับที่อาจารย์สว่าง แก้วกันทา มองว่าการดูแลผู้สูงอายุในชนบทค่อนข้างทำได้ดีแต่จำเป็นต้องมีการออม
“ผมก็ยังเน้นอยู่ว่าในเรื่องของผู้สูงอายุในอนาคต ในขณะที่ตัวเองยังไม่เป็นผู้สูงอายุและมีรายได้ ควรจะมีการออมเพื่ออนาคต ผมคิดว่าออมไปถึงอายุเท่าไร ถึงจะนำมาใช้ได้ มันคงไม่ใช่เงินแบบประกันชีวิต ไม่ใช่เงินหลังตาย มันควรเป็นเงินก่อนตาย ถ้าช่วยตัวเองไม่ได้แล้วก็สามารถที่จะนำเงินออมมาดูแลตัวเอง”
“ในส่วนของกรมกิจการผู้สูงอายุ คิดว่าต้องมีเรื่องของการพัฒนา อาจจะรวมไปถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง นอกจากเรื่องของเบี้ยยังชีพแล้ว ศูนย์พัฒนาอาชีพผู้สูงอายุก็สำคัญ ที่กรมฯ ได้ทำงานร่วมกับทางท้องถิ่น กับทาง พมจ. ส่วนนี้เขาจะเป็นศูนย์กลางทุกเรื่องของผู้สูงอายุ เป็นอีก 1 ช่องทางที่จะทำให้ผู้สูงอายุเข้าถึงข้อมูล ทุกกิจกรรม สุขภาพ เศรษฐกิจ ทำให้คนมีปฏิสัมพันธ์กัน แลกเปลี่ยนข่าวสารที่เป็นประโยชน์ สิ่งสำคัญ คือ ยังธำรงไว้ซึ่งความสัมพันธ์อันดีของคนในชุมชน ซึ่งเป็นจุดแข็งของประเทศไทย” นางศิริลักษณ์ มีมาก ชี้ถึงการดูแลและพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุที่ต้องทำงานร่วมกับส่วนท้องถิ่น
“คำสำคัญของ สำหรับสังคมสูงวัย สูงอายุ คือคำว่าบูรณาการ การบูรณาการระหว่างรัฐบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและก็ชุมชนเพื่อสนับสนุนผู้สูงอายุให้ท่านได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ส่วนในฝั่งหลักประกันทางการเงิน คำว่าบูรณาการก็เป็นคำสำคัญเหมือนกัน ประเทศไทยเรามีระบบบำนาญเพื่อผู้สูงอายุ และคนหลาย ๆ สถานะ ซึ่งถ้าขมวดมารวมทั้งหมดเรียกว่าระบบบำนาญแบบหลายชั้น แต่ปัญหาในปัจจุบันมันไม่มีคนดูภาพรวมตรงนี้ในแต่ละระบบมี พ.ร.บ.เป็นของตัวเอง และมีคณะกรรมการที่มีอำนาจในการตัดสินใจตามแต่กฎหมายแต่ละฉบับ” ศาสตราจารย์ ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา อธิบายภาพการทำงานแบบบูรณาที่ยังเป็นโจทย์เพื่อเตรียมรับมือสังคมสูงวัยในอนาคต