คุยกับนักกฎหมาย ฟังเรื่อง SLAPP : คุกคามด้วยการฟ้องคดี กรณีเหมืองแร่เมืองเลย

คุยกับนักกฎหมาย ฟังเรื่อง SLAPP : คุกคามด้วยการฟ้องคดี กรณีเหมืองแร่เมืองเลย

บทสัมภาษณ์ขนาดสั้น คุยเพื่อเข้าประเด็นอย่างเร็วที่สุด กับ ปาล์ม : สุทธิเกียรติ คชโส นักกฎหมายสิทธิมนุษยชน กรณีบริษัททุ่งคำฟ้องเยาวชนนักข่าวพลเมือง รายงานข่าวปัญหาในบ้านเกิดผ่านทางไทยพีบีเอส

 

Q: จากที่ดูพื้นที่ ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง มาหลายปี ชาวบ้านที่นี่มีรูปธรรมในการใช้การสื่อสารเพื่อปกป้องสิทธิของชุมชนยังไงบ้าง?

A: มีหลายรูปแบบ เช่น การใช้วิธีการรณรงค์ในหมู่บ้านเองก็ตาม ภายนอกพื้นที่เองก็ตาม ชาวบ้านช่วยกันคิด ทำสื่อเองก็มี ไอเดียของพวกเขาคือการแสดงออกให้คนอื่นรับรู้ว่าในบ้านตัวเองเขามีปัญหายังไง เช่น การไปยื่นหนังสือหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง การไปยื่นหนังสือกับผู้ว่าฯ กับนายกรัฐมนตรีในหลายๆ ยุคเอง การกระทำเหล่านั้นของเขาเพื่อที่จะทำให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง คนที่อยู่ฝ่ายบริหารระดับใหญ่โต เห็นความสำคัญของปัญหาในบ้านของพวกเขา

นอกจากนี้ก็มีคนข้างนอกเข้ามาช่วย เช่น มีนักศึกษาเข้ามา มี NGO เข้ามา มีนักวิชาการเข้ามา พยายามทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สังคมรับรู้และให้ความสนใจ เช่น การทำค่ายหนังสั้นที่มีนักศึกษาจากหลายสถาบันมาทำหนังสั้นเพื่อตีแผ่เรื่องราวชีวิตชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากกิจการการทำอุตสาหกรรม ทำเป็นหนังสั้น ว่าได้รับผลกระทบยังไง และตีแผ่ออกไปข้างนอก มันก็จะได้รับความสนใจมากขึ้น หรือแม้แต่การทำเว็บเพจ หรือเฟซบุ้ค เพราะสมัยนี้เทคโนโลยีไวแล้ว ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ไม่เหมือนสมัยก่อนที่มีการปิดกั้นเสรีภาพการแสดงออกแบบนี้อยู่

 

Q: ทำไมการมีสิทธิในการสื่อสารมันจึงสำคัญต่อการปกป้องสิทธิของชุมชน?

A: การที่เอาเรื่องของตัวเองออกไปข้างนอก จะทำให้คนอื่นสนใจ ชนชั้นกลางสนใจมีส่วนช่วยในการสนับสนุน การแก้ปัญหามันต้องอาศัยทั้งสังคมช่วยกัน และก็เป็นสิทธิที่เราสามารถทำได้เพื่อปกป้องทรัพยากรของเรา

 

Q: การสู้ของชาวบ้านนำมาสู่การฟ้องครั้งแล้วครั้วเล่า บางเรื่องก็ต้องตั้งข้อสงสัยเรื่องการฟ้องคดี ทำไมชาวบ้านจึงถูกฟ้องทั้งที่เป็นการสู้เพื่อปกป้องชุมชนตนเอง?

A: เขาเรียกว่ากลไก SLAPP ย่อมาจาก Strategic Lawsuit Against Public Participation (หมายถึง การใช้คดีความเป็นกลยุทธ์สำคัญในการคุกคาม หรือปิดปาก การมีส่วนร่วมสาธารณะ) เป็นกลไกที่บริษัท นายทุน ชอบที่จะใช้ เพราะตัวเองมีเงินทุนเยอะ สามารถฟ้องใครก็ได้ ไปฟ้องชาวบ้านที่ไกลๆ จากหมู่บ้าน ทำให้การเดินทางไปขึ้นศาลยากลำบากมากขึ้น ส่งผลให้ชาวบ้านอ่อนแอและหยุดต่อสู้

จริงๆ หลายๆ พื้นที่ในประเทศไทยก็มีการฟ้องคดีแบบนี้อยู่เยอะมาก แต่ในต่างประเทศบางประเทศก็มีการออกกฎหมาย Anti-SLAPP ศาลจะพิจารณาก่อนว่าเรื่องราวแบบนี้เป็นการฟ้องกลั่นแกล้งจำเลยรึเปล่า ถ้ามีการฟ้องกลั่นแกล้งจำเลยจริงๆ ตัวโจทก์ก็ต้องจ่ายค่าเสียหายให้กับตัวจำเลยด้วย แต่ในเมืองไทยยังไม่มี เคยนักวิชาการบางท่านหยิบยกมาพูดเหมือนกัน แต่ยังไม่มีแนวนโยบายที่ทำให้เกิดขึ้นจริงจัง ผมคิดว่าในอนาคตก็จะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ไปเรื่อยๆ เพราะประชาชนธรรมดาก็ย่อมกลัวศาลอยู่แล้ว เวลาไปขึ้นศาลก็กลัว เพราะว่า หนึ่ง ไม่มีความรู้เรื่องกฎหมาย โทษก็คือจำคุก ใครเขาจะอยากติดคุกใช่มั้ยครับ มันก็เริ่มอ่อนแอและถอยร่น นายทุนบางส่วนจึงใช้วิธีนี้

 

Q: ชาวบ้านเป็นอย่างไรเมื่อถูกฟ้อง?

ตอนแรกที่มีการฟ้องคดีเนื่องจากการกระทำการที่เป็นการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิทธิชุมชน ชาวบ้านก็มีความกลัวบ้างเพราะหนึ่งการฟ้องแพ่งละเมิดเรียกค่าเสียหาย 50 ล้าน 70 ล้าน 100 ล้าน รวมกันแล้ว 200-300 ล้าน ชาวบ้านก็มีความกลัว อีกอย่างคือการฟ้องอาญา โทษ โทษคือ จำคุกทำให้ชาวบ้านกลัวมากขึ้นไปอีก แต่หลังๆ มาพอเรามีการอธิบายในเรื่องกฎหมายว่าเราไม่ได้มีเจตนาที่จะไปทำอย่างอื่น เรามีเจตนาที่จะปกป้องทรัพยากรของตัวเอง ทำให้ชาวบ้านรู้ว่าการกระทำของเราเป็นการกระทำที่ถูกต้องตามสิทธิที่เรามี และการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติของพวกเรามันไม่ใช่การทำร้ายผู้อื่น แต่มันเป็นการปกป้องที่จะทำให้เรามีชีวิตอยู่ต่อไป มันเป็นความมั่นคงทางอาหาร ชาวบ้านอยู่กับภูเขา เขามีวิถีชีวิตแบบนั้น เขาก็ต้องการปกป้องภูเขาของเขา เพราะว่ามันเหมือนกับเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง ภูเขาเป็นทุกอย่างของเขาเป็นแหล่งอาหาร เป็นแหล่งวัฒนธรรม เป็นวิถีชีวิตของเขา เพราะเขาอยู่ตั้งแต่เด็กถึงตาย การที่มีนายทุนเข้ามาแบบนี้ แม้จะทำให้นายทุนโมโหหน่อยแต่เขาก็ต้องทำเพื่อปกป้องบ้านของตัวเอง

หลังจากฟ้องคดีเยอะๆ มันทำให้ชาวบ้านคิดว่า เราไม่สนใจแล้วคดี เพราะเราคิดว่าเราปกป้อง เราทำถูกต้องแล้ว ถ้าเราไม่ทำเขาก็คงมาเอาภูเขาของเราไป เรื่องจิตใจตอนนี้บางคนที่โดนฟ้องเยอะๆ ก็จะบอกว่า มาเลยมาอีกร้อยคดีก็ได้ เพราะตอนนี้เขาไม่กลัวแล้ว เขาคิดว่าเขาทำในสิ่งที่ถูก

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ