หากเราปล่อยผ่าน ตัวเลข 5,400 ไร่ ซึ่งออกจากปากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่คาดการณ์การใช้พื้นที่ของชาวบ้านบางกลอยที่อพยพกลับไปที่ถิ่นฐานเดิม “ใจแผ่นดิน” เสียแล้ว …. ความเข้าใจต่อ “วิถีไร่หมุนเวียน” ทั้งประเทศในสังคมไทย จะยิ่งถูกบิดเบือนและยิ่งตอกลิ่มมายาคติเดิม ๆ ที่ว่าชาวเขาทำลายป่า สบประโยชน์ความต้องการ “ไล่ถาวร” ของหน่วยงานผู้ถือกฏหมายผู้กอดชุดคิดด้านอนุรักษ์ด้านเดียว
แท้จริง บทพิสูจน์ทางภูมิปัญญา และงานวิจัยมากมายอธิบายมาโดยตลอดว่า ไร่หมุนเวียนคือระบบการจัดการดูแลป่าและคือจุดคานงัดรูปแบบเกษตรเชิงเดี่ยว ที่ถูกมายาคติด้านความมั่นคงและผลประโยชน์ในผืนป่าบดบังมาโดยตลอด
“ชาวบ้านที่ย้ายไปอยู่บนบางกลอยบน ยื่นข้อเรียกร้องขอใช้ที่ดิน ครอบครัวละ 15 ไร่ หมุนเวียนทุก 1 ปี เป็นระยะเวลา 10 ปี ส่วนตัวเห็นว่าเป็นการใช้พื้นที่ถึงครอบครัวละ 150 ไร่ และหากคูณจำนวนครอบครัวทั้งหมดที่ย้ายขึ้นไปตอนนี้ (39 ครอบครัว) คิดเป็นพื้นที่ถึง 5,400 ไร่”
https://news.thaipbs.or.th/content/301827
การคำนวนตัวเลขที่สะท้อนความไม่รู้จริงของนายวราวุธ ศิลปอาชา และการให้ข่าวของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในทำนองนี้ ถูกโต้แย้งจากผู้รู้หลายคนผ่านสื่อสังคมออนไลน์
คำนวณแบบผิดพลาดใหญ่หลวง !! การเมืองเรื่องตัวเลข
กฤษฎา บุญชัย จาก สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา โพสต์เฟซบุ๊ก พาดหัวว่า “การเมืองของตัวเลข ไร่หมุนเวียนใจแผ่นดิน” พร้อมแนบคลิป Live ของ The Reporter ที่เจ้าหน้าที่ถามชาวบ้านในลักษณะกึ่งถามเองตอบเองว่า
1. ชาวบ้านใช้ไร่หมุนเวียน ครอบครัวละกี่ไร่? จนท.ตอบเอาเองว่าน่าจะประมาณ 15 ไร่ (ทั้งที่ชาวบ้านพยายามตอบว่า ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของพื้นที่)
2. และถามต่อไปว่า ต้องพักไร่ซากไว้สูงสุดกี่ปี? ชาวบ้านตอบว่า 10 ปี (แต่ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ ที่สมบูรณ์ก็ พักน้อย ที่ไม่สมบูรณ์ก็พักมาก)
หลังจากนั้น จนท.ป่าไม้ คำนวณเองเลยว่า 1 ครอบครัว ใช้ 15 ไร่, ครอบครัวละ 10 แปลง (พักให้ครบ 10 ปี) ก็ครอบครัวละ 150 ไร่ แล้วมีทั้งหมด 36 ครอบครัว ก็เท่ากับ 5,400 ไร่
การสรุปแบบมั่วๆ ของ จนท.ป่าไม้ ส่งต่อไปถึง รมว.กระทรวงทรัพย์ โจมตีชาวบ้านบางกลอยใหญ่โตว่า จะขอพื้นที่ขนาดนี้ เป็นไปไม่ได้
ที่มา https://www.facebook.com/pai.deetes/videos/10224019753817582
กฤษฎาทำวิจัยไร่หมุนเวียนมานาน และสอบถามกับแกนนำชาวบ้าน ระบุว่า นี่เป็นการคำนวณแบบผิดพลาดใหญ่หลวง !!
ชาวบ้าน 2-3 ครอบครัว อาจร่วมกันทำไร่ 1 แปลง (ประมาณ 10-15 ไร่) แต่ในแปลงนั้น เป็นการใช้ที่ดินร่วมกัน เขาไม่ได้แบ่งเป็นแปลงใครแปลงมัน หรือสิทธิส่วนบุคคล ดังนั้นทั้งหมด 36 ครอบครัว ก็อาจใช้แค่ 12 แปลง ก็เท่ากับใช้พื้นที่ดินจริง 150-180 ไร่ เท่านั้น! และเมื่อเขาทิ้งแปลงที่ทำให้เป็นไร่ซาก พื้นที่เหล่านั้นก็คืนกลับเป็นป่าส่วนรวม ไม่มีใครจับจองเป็นเจ้าของ
ดังนั้นทั้งชุมชน (36 ครอบครัว) เมื่อปีที่ 1 ใช้ 180 ไร่ พอทิ้งไปแปลงใหม่ปีที่ 2 ก็ยังเท่ากับ 180 ไร่ ปีที่ 3 ก็ 180 ไร่….จนวนกลับที่เดิมเมื่อครบ 10 ปี ก็ใช้พื้นที่เท่าเดิม
เราไม่สามารถเอาการใช้ที่ดินแต่ละปีมาบวกรวมกันแบบที่ จนท.ป่าไม้ทำได้ เพราะเมื่อเขาทิ้งไปทำไร่ที่ใหม่ ก็คืนการใช้ที่ดินกลับสู่ป่าเป็นพื้นที่ส่วนรวม
การครอบครองและใช้ประโยชน์ร่วมกัน สิทธิสภาพชั่วคราวแค่ 1 ปี และคืนสู่ส่วนรวม เป็นสิ่งที่รัฐไม่เข้าใจ นำมาซึ่งมายาคติที่เป็นการเมืองตัวเลขไร่หมุนเวียนได้
คำอธิบายของผู้ใหญ่บ้านนิรันดร์คือ “เป็นคำชี้นำของเจ้าหน้าที่ ชาวบ้านงง นึกไม่ออก ที่ดินที่ถางกี่ไร่ เจ้าหน้าที่ก็บอกประมาณ 15 ไร่ขนาดนี้มั้ย ชาวบ้านก็ไม่รู้จะใช่หรือเปล่า แต่โดยประมาณเอาตามคำพูดของเจ้าหน้าที่ที่พยายามให้ชาวบ้านเสียมากที่สุด แต่จริงๆ การทำไร่ต่อครอบครัวไม่น่าจะเกิน 3-5 ไร่ นี่ถือว่าเยอะแล้วกับหญ้าที่จะต้องถอนทิ้ง ชาวบ้านโดนเจ้าหน้าที่พูดนำ ชาวบ้านไม่มีความรู้ประมาณไม่ถูก จึงเออ ออไปมั่วๆ นะครับ”
พื้นที่การสื่อสารไม่น่าจะเป็นพื้นที่เอาเปรียบ สนับสนุนการละเมิดสิทธิชาวบ้าน
พฤ โอ่โดเชา ปกาเกอะญอจากเชียงใหม่และเป็นนักสื่อสาร ตั้งคำถามถึงความไม่รู้ของเจ้าหน้าที่และสื่อ เขาโพสต์เฟสบุ๊คว่า เมื่อเจ้าหน้าที่อุทยานที่ร่ำเรียนมาไม่มีความสามารถแยกแยะ ดูพื้นที่ป่ากับพื้นที่พักฟื้นไร่ซากแปลงเกษตรไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยงไม่ออก ไหนเลยนักข่าวนักขีดรวมถึงคนทั่วไปในเมืองจะรู้หรือ จึงตกเป็นเครื่องมือการสร้างความเข้าใจผิดซ้ำเติมชาวบ้านเท่านั้น เรื่องคนเขียนไม่รู้เรื่อง หรือมีเจตนาตั้งใจให้สังคมเข้าใจชาวบ้านบางกลอยผิดเพี้ยน หรือรับข้อมูลมาจากไหน ก็คงห้ามเขาไม่ได้ แต่เขาน่าจะมีจรรยาบรรณพอที่จะตรวจสอบข้อมูลให้รอบด้านก่อน เพราะในตอนนี้มีความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านซึ่งไม่มีอำนาจอะไร กับรัฐซึ่งมีอำนาจ งบประมาณ กำลังพล และผู้มีอิทธิพลยิ่งใหญ่ที่กระทำการกดขี่ข่มเหงชาวบ้านอยู่ หากผู้เขียนใช้อารมณ์ฟังความด้านเดียว ข้อเขียนที่นำเสนอออกไปจะไม่สร้างความขัดแย้งมากขึ้นหรือ?
พฤ อธิบายว่า พื้นที่หมุนเวียน จะดูจากปริมาณข้าวและผลผลิตที่ได้ตามแต่ละพื้นที่ว่า จะได้ผลผลิตข้าวเท่าไหร่ ตามปกติแล้ว 1 ครอบครัวจะได้ข้าว 250 ถึง 300 ถังต่อปีข้าวเปลือก ถ้าพื้นที่นั้นผลิตข้าวได้เยอะ ดินดีชาวบ้านก็จะทำแปลงปลูกแคบ ไม่กว้าง เช่น 4 ไร่ 5 ไร่ แต่หากในพื้นที่นั้น ดินไม่ดีปลูกข้าวได้ปีละ 18-20 กว่าถัง เหมือนกับที่บางกลอยล่าง ชาวบ้านคงจะต้องมีที่ทำกินกันเกิน 7 ไร่ ฉะนั้น พื้นที่กว้างหรือแคบขึ้นอยู่กับจำนวนผลผลิตที่คาดว่าจะได้รับ ภูมิศาสตร์ที่ดิน แร่ธาตุในบริเวณแปลง สภาพดิน ฝนฟ้าอากาศ ศัตรูพืช วัชพืช แรงงานของคน ความเจ็บป่วย จำนวนคนในครอบครัวคนมากขึ้น หรือแต่งงานออกไปคนก็น้อยลง
“พื้นที่กว้างหรือแคบกี่ไร่ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ใช่ต้องการผลิตมากมายเกินความจำเป็น ที่อยากมีมากเพื่อเอาไปขาย จะมาแบกข้าวขายไม่มี นอกจากจะแบ่งปันเพื่อนบ้านที่เขาขาดแคลนอดอยาก คนที่เพาะปลูกแล้วเกิดปัญหาจึงต้องไปขอข้าวกินจากเพื่อนบ้าน เพราะถ้ามีข้าวมากเกินก็ไม่ดี ข้าวที่เก็บไว้นานเกินไป พอถึงปีที่ 3 ข้าวเปลือกจะเริ่มเสีย กินไม่อร่อย มีกลิ่น เด็กและผู้หญิงท้องกินไม่ได้ การเก็บข้าวเปลือก จะเก็บอยู่ที่ 2 ปี ผลิตมากกว่านั้นเก็บไว้นานกว่านั้นข้าวก็จะเสียครับ โปรดเข้าใจด้วย”
พฤบอกด้วยว่า ในแต่ละพื้นที่ที่ถูกปล่อยให้ฟื้นคืนสภาพ ก็จะกลายเป็นป่าสีเขียว เหมือนกับที่อุทยานใช้ภาพถ่ายทางอากาศ เวลามองไปในตอนนี้แล้วก็คิดว่าเป็นป่า และส่งสารสร้างความเข้าใจว่าชาวบ้านไปบุกรุกพื้นที่ป่าใหม่ดังเช่นตอนนี้ แต่หากดูลึก ๆ ดูเป็น หรือมีนักชำนาญการแปลภาพถ่ายทางอากาศที่ดูแผนที่เป็น เขาก็จะรู้ว่าที่ไหนเป็นป่าที่ฟื้นตัวใหม่และที่ไหนเป็นป่าเก่า และรู้ได้ด้วยว่าที่ไหนเป็นที่ทำกินของชาวบ้านมาก่อน แต่สายตาคนในเมืองทั่วไปก็จะมองไม่รู้
“ทำไมจึงต้องหาข้อมูลที่แท้จริงว่าเป็นอย่างไร เพราะหากฟังความข้างเดียว หาข้อมูลลวกๆ เขียนออกมาหยาบๆ รายงานสังคมไปเช่นนี้ แทนที่จะสร้างความเข้าใจก็กลายเป็นซ้ำเติมความเข้าใจผิด ยิ่งจะก่อปัญหาขึ้นนะครับ พื้นที่การสื่อสารไม่น่าจะเป็นพื้นที่เอาเปรียบสนับสนุนการละเมิดสิทธิชาวบ้านอย่างนี้ครับ” พฤตั้งคำถามถึงคนสื่ออย่างแหลมคม
ไร่หมุนเวียน : จุดคานงัดเกษตรเชิงเดี่ยวและรักษาป่า
“ชิ สุวิชาน” ศิลปินชาวปกาเกอะญอ หรือในโลกวิชาการคือ ผศ.ดร.สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ แห่งวิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผลิตงานเขียนและงานวิชาการชาติพันธุ์มากมาย อธิบายกรณีนี้ผ่านงานศึกษาวิถีทางวัฒนธรรมของระบบการเกษตร “ไร่หมุนเวียน” ในวงสนทนาออนไลน์ “สิ้นสิทธิ์ในไร่หมุนเวียน ฤาจะสิ้นวิถีกะเหรี่ยง” ที่ The Citizen เป็นภาคีหนึ่งในการจัดเผยแพร่ความเข้าใจต่อเรื่องนี้ เปิดโลกใหม่ของทัศนคติต่อสิทธิ์ในไร่หมุนเวียนกับวิถีวัฒนธรรมชาวกะเหรี่ยง
ชิ สุวิชาน เริ่มต้นนำเสนอด้วยผ่านรูปภาพและงานศึกษารูปธรรมจริงของระบบเกษตรที่เป็นคานงัดระบบเกษตรเชิงเดี่ยว หรือดอยหัวโล้นถาวร และสารเคมี กรณีตัวอย่าง ต.แม่วะหลวง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ซึ่งทุกชุมชนกะเหรี่ยงทำไร่หมุนเวียน 100% ซึ่งส่งผลโดยตรงว่าไม่มีพืชเชิงเดียว ไม่มีดอยไม่โล้นถาวร แต่คนเมืองผ่านไปพบก็อาจจะตกใจ
ภาพนี้เป็น ต.ขะเนจื้อ อ.แม่ระมาด ไม่ไกลจากแม่วะหลวง พื้นที่นี้ 80% เป็นไร่ข้าวโพด ปลูกพืชเชิงเดี่ยว มีดอยหัวโล้นถาวร
ไร่หมุนเวียน : ใช้สั้น พักยาว
“โลกทัศน์ของปกาเกอะญอ คือ ใช้สั้น พักยาว ไม่ว่าจะเป็นคน ป่า ดิน ล้วนเป็นสิ่งมีชีวิต การใช้งานต้องมีการหยุด จะใช้งาน 24 ชั่วโมง”
การหมุนเวียนเป็นวิธีของคนปกาเกอะญอ จากภาพด้านซ้ายและด้านขวาถ่ายห่างกันไม่ถึง 1 ปี ภาพด้านซ้ายมือเขาหยุดการใช้งานหลังจากเก็บเกี่ยวเสร็จในเดือนธันวาคม ภาพด้านขวาถ่ายในเดือนพฤษภาคมปีต่อมา จะเห็นได้ว่าต้นไม้ไม่ตาย
ส่วนแผนที่นี้ แผนที่นี้ถ่ายเมื่อปี 2548 ภาพซ้ายมือจะเห็นพื้นที่ถูกใช้ประโยชน์ ภาพตรงกลางถ่ายเมื่อปี 2552 จะเห็นว่าเขียวกลับไปเป็นป่า ส่วนภาพขวามือถ่ายเมื่อปี 2561
นี่เป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ทางวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปอย่างไร ไร่หมุนเวียนก็จะอยู่แบบนี้ โลกทัศน์ที่ใช้สั้นและพักยาวก็จะทำให้ชีวิตของสรรพสิ่งยืนยาวด้วยเช่นกัน
ปัจจุบันมีคนคิดค้นระบบเกษตรแบบใหม่อย่าง smart farming แต่จากการที่ไปอยู่กับชาวบ้านและติดตามการทำไร่หมุนเวียนตลอดทั้งปี พบขอเรียกไร่หมุนเวียนว่า smile farming คือ เป็นระบบการเกษตรที่สุนทรียะ ต้นไม้ คนก็ได้พัก ดินถูกใช้งานแค่ 1 ปีและได้พักยาว ดังนั้นทุกขั้นตอนของไร่หมุนเวียนจะมีพิธีกรรมที่มีเรื่องของการกินการดื่มระหว่างคนกับคน คนกับสรรพสิ่ง
“smile farming เพราะเขามองว่า คน ต้นไม้ สิ่งเหนือธรรมชาติ supernatural มันมีชีวิต ใช้ต่อเนื่อง ใช้ถาวรไม่ได้”
ชิ สุวิชาน อธิบายว่า ที่ผ่านมาชุมชนปรับตัวเอง ถอยตัวเองหลายก้าว ตัวอย่างชุมชนบ้านขุนแม่เหว่ย ต.ท่าสองยาง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ก่อนหน้านี้ชุมชนนี้เขาหมุนการใช้ประโยชน์ในที่ดินประมาณ 10 ปี แต่พอมีการประกาศเป็นป่าสงวน ชาวบ้านก็ลดการหมุนเหลือ 7 ปี และในช่วงของคทช. (คณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินจังหวัด) มีนโยบายทวงคืนผืนป่า ตัวชุมชนก็ปรับตัว โดยการคืนพื้นที่ไร่หมุนเวียนให้เป็นป่าชุมชน ประมาณจำนวน 500 กว่าไร่และยังมีแปลงปลูกป่า “สร้างป่าสร้างรายได้” จำนวน 300 กว่าไร่ ป่าต้นน้ำ 100 กว่าไร่ จากการหมุนเวียน 7 ปีก็ลดเหลือเพียง 5 ปี และทุกพื้นที่ชุมชนจะมีชื่อกำกับเป็นภาษาปกาเกอะญอ
“จังหวะของถอยของชุมชนจากที่พัก 10 ปีเหลือ 7 และจาก 7 เหลือ 5 ปีถ้าให้ถอยอีก จาก 5 เหลือ 3 ปี ชาวบ้านตอบว่าต้องใช้ยาฆ่าหญ้าแล้ว เพราะหญ้าจะรก ข้าวจะไม่งาม การหมุนภายใน 5 ปี เป็นการถอยแบบหลังชนฝาแล้ว นี่คือข้อพิสูจน์ว่าถ้าลดจำนวนการหมุนเวียนน้อยเท่าไหร่ สารเคมีและพืชเชิงเดี่ยวจะเข้ามา”
จากข้อมูลที่เก็บมา แผนผังแสดงพื้นที่บ้านแม่ปอดี พื้นที่รวม 8,386 ไร่ พื้นที่ทำกิน 4,208.59 ไร่ คิดเป็น 50.2% นั่นหมายความว่าภายหนึ่งปี ชาวบ้านใช้พื้นที่ไม่ถึง 1,000 ไร่ ขณะที่พื้นที่ป่าทั้งป่าต้นน้ำ ป่าพิธีกรรม ป่าจิตวิญญาณตามความเชื่อ เช่น ป่าช้า ป่าเดปอ รวมทั้งหมด 4,177.41 ไร่ คิดเป็น 49.8%
“ถ้าทุกชุมชนในประเทศไทยทำแบบนี้ก็จะมีพื้นที่ป่ามากกว่า 40% แน่นอน”
โอกาสทางเศรษฐกิจบนพืชพรรณนับร้อยในไร่หมุนเวียน
“ผมอยากจะชี้ให้เห็นการใช้ประโยชน์จากไร่หมุนเวียน จากข้อมูลหมู่บ้านเดียวกันมี 40 หลังคาเรือนใช้พื้นที่ทำกินต่อปีไม่ถึง 1,000 ไร่ บางปีก็ใช้เพียง 600 ไร่ แต่ชาวบ้านก็เก็บเกี่ยวผลผลิตความหลากหลายของพืชพรรณในไร่หมุนเวียน 93 ชนิด จำแนกเป็นพืชพรรณเพื่อการบริโภคภายในครัวเรือนที่ปลูกในปลายเดือนเมษายน และออกในเดือนมิถุนายน ชาวบ้านก็เก็บกินไปจนถึงเดือนธันวาคม จำนวน 61 ชนิด เช่น ฟักทอง ฟัก ถั่ว มีพืชที่แบ่งปันหรือแลกเปลี่ยนกับหมู่บ้านใกล้เคียงจำนวน 25 ชนิด ช่วงการระบาดของโควิดระลอกแรกมีการแบ่งปันข้ามเผ่าพันธุ์ก็มี และในระยะหลังปรากฏการปลูกพืชพันธุ์เพื่อจำหน่ายอีก 7 ชนิด
“ผมอยากชี้ให้เห็นว่า ถ้าไม่สิ้นสิทธิไร่หมุนเวียนจะอยู่อย่างไร แต่ถ้าสิ้นไร่หมุนเวียน วิถีวัฒนธรรมก็จะหายไปด้วย”
จากข้อมูลเราพบว่าพืชพันธุ์ที่ขายได้ 7 ชนิด ได้แก่ พริกกะเหรี่ยง แตงปกาเกอะญอ ผักกาดพื้นบ้าน ผักอิหลึง ผักชี หอมซู และฟักทอง นี่เป็นโอกาสเหมือนกันที่จะสร้างพืชเศรษฐกิจในไร่หมุนเวียน
จังหวะก้าวใหม่ เพื่อการอยู่รอด อยู่ร่วม บนศักดิ์ศรีวิถีชาติพันธุ์
ชิ สุวิชาน กล่าวว่า ไร่หมุนเวียนจะอยู่รอดได้ ต้องมีองค์ประกอบอย่างน้อย 3 ด้าน ได้แก่ ทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ
“คนปกาเกอะญอบอกว่าจะตั้งหม้อได้นั้น ต้องมีหินอย่างน้อย 3 ก้อน หรือ 3 เส้า สองก้อนมันตั้งไม่ได้หม้อจะล้ม มีก้อนเดียวยิ่งไปใหญ่”
ก้อนแรก คือ ทรัพยากรธรรมชาติ ต้องมีสิทธิในการเข้าถึงฐานการผลิต
ก้อนที่สอง คือ วิถีวัฒนธรรม หรือจิตวิญญาณที่อยู่บนระบบการผลิต ยกตัวอย่างภาษาอังกฤษมีคำว่า agriculture
“คำในภาษาไทยเวลาเราพูดถึงระบบกสิกรรม หรือเกษตรกรรม มันไม่มีคำว่าวัฒนธรรมอยู่ในนั้น มันเหลือแต่เกษตรที่เป็น agri แต่ไม่มีวัฒนธรรม culture”
ก้อนที่สาม คือ เรื่องปากท้อง หรือสิทธิในการจัดการเรื่องเศรษฐกิจ ชุมชนปกาเกอะญอหลายแห่งผลิตพืชในไร่หมุนเวียนได้แต่ไม่สามารถเอาออกไปขายได้ เพราะมองว่าผลิตในพื้นที่ป่า ก็กลายเป็นของป่า
“ความท้าทายจึงอยู่ตรงที่ถึงแม้จะทำไร่หมุนเวียนได้ แต่ถ้าไม่มีสิทธิครบทั้งสามด้าน ชุมชนปกาเกอะญอจะอยู่ต่อไปอย่างไร”
ชิ สุวิชาน เล่าว่า ไร่หมุนเวียนจึงต้องเป็นพื้นที่ที่หมุนเวียนได้ บางคนเข้าใจว่าการหมุนเวียนเป็นการหมุนเวียนชนิดพืชในพื้นที่เดิม ในอดีตการเพาะปลูกพืชเพื่อการดำรงชีวิตและพืชพิธีกรรมอาจมีสัดส่วนถึงเกือบ 70% แต่ก้าวอาจจะเหลือ 50% โดยเพิ่มพืชแลกเปลี่ยนและพืชจำหน่ายมากขึ้น เพื่อทำให้หิน 3 เส้ามีความสมดุลมากขึ้น และทำให้ชีวิตในไร่หมุนเวียนมันไปต่อ รวมถึงชีวิตของวัฒนธรรมกะเหรี่ยงได้ไปต่อเหมือนกัน
“ไร่หมุนเวียนจะไม่สิ้น ถ้าไม่ถูกกฎหมายและนโยบายไล่หมุนเวียน และไล่ถาวร”ชิ สุวิชาน กล่าวทิ้งท้าย
ประเด็นของพี่น้องกะเหรี่ยงโป่งลึกบางกลอยเกิดขึ้น เพราะถูกกฎหมายไปไล่ ไร่หมุนเวียน และการไล่แบบถาวร ไม่ให้เขากลับไป หรือแม้จะแค่ไล่หมุนเวียน ก็จะทำให้ชีวิตของคนกะเหรี่ยงไม่สามารถกลับมามีชีวิตทางวัฒนธรรมที่หมุนเวียนได้ จากวิถีของคนปกาเกอะญอที่ทำแล้วพัก กินเท่าที่เรามี แต่ถ้าไม่มีไร่หมุนเวียนเขาก็ต้องทำมากกว่าที่เขากิน หรือด้วยตัวระบบบริโภคนิยมที่ทำให้เราต้องกินมากกว่าที่ต้องการจริง ๆ
“ไร่หมุนเวียน คือ วัฏจักร คือ ส่วนหนึ่งของชีวิตที่ต้องหมุนเวียน ตัวอย่างที่ผมนำเสนอมาทั้งหมดก็จะยังเป็นแบบนี้ ตราบเท่าที่ได้รับการยอมรับ ได้รับการรับรอง แต่ถ้าเริ่มไล่หมุนเวียนและไล่ถาวรเมื่อไหร่ มันก็คือการจบวิถีไร่หมุนเวียนและวิถีของคนปกาเกอะญอเช่นกัน”