ศาลปกครองสูงสุดยกคำฟ้อง เขื่อนปากแบง ด้านเครือข่ายลุ่มน้ำโขงเตรียมผลักดันผลกระทบข้ามพรมแดนต่อเนื่อง

ศาลปกครองสูงสุดยกคำฟ้อง เขื่อนปากแบง ด้านเครือข่ายลุ่มน้ำโขงเตรียมผลักดันผลกระทบข้ามพรมแดนต่อเนื่อง

วันที่ 24 ก.พ. 2564 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งวินิจฉัยไม่รับคำฟ้อง ฝ่ายทนายความ-เครือข่ายลุ่มน้ำโขงยอมรับคำสั่งศาล แต่ผิดหวัง ชี้ไทยยังไร้กฎหมายป้องกันเยียวยาผลกระทบข้ามพรมแดน เดินหน้าทบทวนแนวทางรณรงค์-ผลักดันตามแผนธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน

ตามที่ตัวแทนกลุ่มรักษ์เชียงของจำนวน 4 คนและตัวแทนเครือข่าย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้ยื่นฟ้องศาลปกครอง โดยขอให้ศาลปกครองพิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างเขื่อนพลังงานไฟฟ้าปากแบง และความเห็นต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินการส่งไปยังคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง เนื่องจากการจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมาไม่ครอบคลุมและละเลยดำเนินการปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการแจ้งข้อมูลและการเผยแพร่ข้อมูลอย่างเหมาะสม การรับฟังความคิดเห็นอย่างเพียงพอและจริงจัง การแปลเอกสารเป็นภาษาไทยเกี่ยวกับโครงการทั้งหมด และการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคม ทั้งในฝั่งประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากอันตรายข้ามพรมแดน ก่อนที่รัฐบาลลาวจะดำเนินการก่อสร้างเขื่อนปากแบง โดยเฉพาะประเด็นที่ชาวบ้านกังวลหนัก คือ ผลกระทบจากภาวะ “น้ำเท้อ” จากท้ายอ่างเก็บน้ำของเขื่อนปากแบง ในเขตชายแดนไทยบริเวณ อ.เวียงแก่น เชียงของ เชียงแสน ซึ่งจะกระทบต่อนิเวศของลุ่มน้ำสาขา ได้แก่ น้ำงาวและน้ำอิง 

นางสาวเฉลิมศรี ประเสริฐศรี ทนายความมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน กล่าวว่า ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาว่าไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา ซึ่งคดีก็ถือว่าสิ้นสุดลงไปเลย โดยทั้ง 3 ประเด็นที่ศาลวินิจฉัย มีสาระสำคัญดังนี้

ประเด็นแรก เกี่ยวกับเรื่อง การละเลยหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด ผู้ถูกฟ้อง ได้แก่ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำและคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ซึ่งตอนนี้ศาลเปลี่ยนเป็น เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) สทนช. แล้วก็คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ทั้ง 3 หน่วยงานต้องปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญในเรื่องการจัดการรับฟังความคิดเห็นในเรื่องการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามระเบียบการจัดการรับฟังความคิดเห็น กฎหมายสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ ยังมีการปฏิบัติตามระเบียบกระบวนการแจ้งการปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง (PNPCA) มองว่าในประเทศสมาชิกก็คือลาว เมื่อจะดำเนินการก่อสร้างเขื่อนก็ได้มีการแจ้งไปยังกลุ่มสมาชิกประเทศทั้ง 4 ประเทศแล้ว ทั้ง 4 ประเทศก็เริ่มดำเนินการปรึกษาหารือต้องทำภายในกรอบระยะเวลา 6 เดือน ก็ทำแยกกันไปในแต่ละประเทศไทยก็ได้มีการจัดการรับฟังความคิดเห็นทั้งหมด 4 ครั้ง แบ่งเป็นส่วนกลาง 1 ครั้ง ต่างจังหวัด 3 ครั้ง

ปัญหาคือ ประเทศที่ได้รับผลกระทบมีอยู่ทั้งหมด 8 จังหวัด การดำเนินการก็ดำเนินการแค่ 3 จังหวัด เราก็มองว่ามันไม่ครอบคลุม นอกจากนั้นเอกสารที่แจกส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษ ชาวบ้านก็ขอให้แปลเป็นภาษาไทย แต่ศาลมองว่าเรื่องนี้เป็นการทำตามกติการะหว่างประเทศ ระเบียบการจัดการรับฟังความคิดเห็นโครงการนี้ตั้งอยู่นอกอาณาจักรไทย ประชาชนไทยไม่ได้เป็นผู้ได้รับความเดือนร้อนเสียหาย แล้วกฎหมายไทยบังคับเฉพาะอยู่ในประเทศไทย ประเด็นนี้ศาลก็ยกไป

ประเด็นที่ 2 เป็นเรื่องการขอให้หน่วยงานออกกฎระเบียบคุ้มครองแม่น้ำโขงแล้วก็ดำเนินการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน ทั้งเรื่องสุขภาพ สังคม ศาลมองว่า พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ในส่วนนี้ ส่วนมาตรา 97 ก็ไม่ได้ระบุถึงอำนาจที่จะให้เจ้าหน้าที่ทำได้ในเรื่องการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน ก็ไม่สามารถบังคับให้หน่วยงานออกกฎระเบียบได้

ในประเด็นที่ 3 เป็นเรื่องของการขอให้หน่วยงานทั้ง 3 หน่วยงาน ดำเนินการทักท้วงคัดค้านการก่อสร้างทั้งเขื่อนปากแบงรวมถึงเขื่อนอื่นในลำน้ำโขง ศาลก็มองว่าอำนาจในการทักท้วงมันเป็นอำนาจของฝ่ายบริหารศาลไม่อาจก้าวล่วงพิจารณาส่วนนี้ได้ ส่วนการที่จะให้หน่วยงานทั้ง 3 หน่วยงานไปทักท้วงกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ผู้ไปลงนามในสัญญาซื้อขายทางไฟฟ้า ก็เป็นอำนาจทางฝ่ายบริหารเช่นเดียวกัน ซึ่งถ้าไปลงนามซื้อขายสัญญาซื้อขายไฟฟ้ามันก็จะเป็นสัญญาทางปกครอง กรณีนี้ยังไม่เกิดสัญญาทางปกครองก็ยังฟ้องไม่ได้ สรุปว่าศาลให้เหตุผล 3 ข้ออย่างนี้ก็ยกคำฟ้อง

ไทยยังไม่มีกลไกปกป้อง ปปช.จากผลกระทบข้ามพรมแดน แผนปฏิบัติการธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนยังไร้ผลทางปฏิบัติ

ด้านนางสาว ส. รัตนมณี พลกล้า ทนายความและผู้ประสานงานมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน กล่าวว่า สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) ในฐานะที่เป็นกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติ มีหน้าที่ทำรายงานเสนอ ข้อทักท้วง ต่อเขื่อนแม่น้ำโขง กรณีนี้ศาลมองว่าเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร ที่รัฐบาลเป็นภาคีในข้อตกลงแม่น้ำโขง ศาลจึงไม่สามารถวินิจฉัยพิจารณาอำนาจการใช้อำนาจตรงนี้ได้ ซึ่งประเด็นนี้ก็ทำให้เกิดปัญหาต่อไปว่า ถ้าประเทศไทย ประชาชนคนไทยที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน ใครจะเป็นผู้เข้ามาปกป้องคุ้มครองเขา ถ้ารัฐบาลไม่ได้ทำหน้าที่ กลายเป็นว่าเราไม่สามารถฟ้องร้องรัฐบาลได้ เพราะถือว่าเป็นอำนาจการบริหาร

ปัจจุบันประเทศไทยได้ออกแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (National Action Plan on Business and. Human Rights: NAP) ซึ่งในแผนระบุถึงผลกระทบข้ามพรมแดนในหลักการที่ 4 แต่จากคำพิพากษาวันนี้ทำให้เห็นว่า หนึ่ง ประเทศไทยไม่มีข้อกฎหมายที่จะคุ้มครองประชาชนในประเทศ สำหรับกรณีที่รัฐบาลไปดำเนินการนอกประเทศและเกิดผลกระทบกลับมาในไทย เพราะถูกมองว่าเป็นอำนาจบริหาร สอง หน่วยงานอื่นใดที่ไม่อยู่ฝ่ายบริหาร แต่ไปดำเนินการที่เกี่ยวข้องหรือสนับสนุนการดำเนินงานนอกประเทศก็มีสถานะเป็นหน่วยงานบริหารไปโดยปริยาย

“เท่ากับว่าแผนปฏิบัติการฯ ที่จะมีอายุครบ 4 ปี ในปี 2565 เป็นแผนปฏิบัติการที่ไม่มีอะไรเกิดขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการคุ้มครองและการเยียวยาผลกระทบข้ามพรมแดนได้ในอนาคต ตามหลักการคุ้มครองของศาลปกครอง เพราะถูกปัดตกไปด้วยว่าเป็นเรื่องที่ไม่มีกฎหมายอีไอเอข้ามพรมแดน เป็นเรื่องระหว่างประเทศ เป็นเรื่องของฝ่ายบริหาร” ทนาย ส. กล่าว

ภาคประชาชนลุ่มน้ำโขงเตรียมทบทวน รณรงค์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน

นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ กล่าวว่า หลังการจากสร้างเขื่อนไซยะบุรีก็ปรากฏผลกระทบข้ามพรมแดมเกิดขึ้นแล้วอย่างชัดเจน คือ ระดับน้ำโขงลดลง สภาพแม่น้ำเปลี่ยนไปอย่างมหาศาล ในอนาคตยังจะมีการสร้างเขื่อนปากแบง และเขื่อนหลวงพระบาง แม้ตัวเขื่อนจะอยู่ในประเทศลาว แต่ท้ายน้ำอยู่ในประเทศไทยจะเกิดผลกระทบอย่างไรบ้าง แม้กฎหมาย พ.ร.บ.ส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม 2535 จะไม่ได้กำหนดเรื่องผลกระทบข้ามพรมแดน แต่ก็มีความพยายามร่างข้อตกลงร่วมกันในกลุ่มประเทศไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม ว่าควรมีการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดน แต่ก็มีบางประเทศไม่ยอมรับข้อตกลงนี้

“ทุกวันนี้เป็นการศึกษาผลกระทบเฉพาะบริเวณจุดที่ตั้งเขื่อน ไม่ใช่การศึกษาผลกระทบตลอดสายน้ำ”

ส่วนการเคลื่อนไหวต่อไปหลังจากศาลปกครองมีคำสั่งนั้น นายหาญณรงค์ กล่าวว่า เมื่อศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งออกมาเช่นนี้ ภาคประชาชนก็ต้องยอมรับคำตัดสินของศาล เพียงแต่ว่าหลายเขื่อนที่สร้างเสร็จแล้วและกำลังจะก่อสร้างในอนาคตจะส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ทำอย่างไรที่ฝ่ายบริหารและฝ่ายปฏิบัติจะมีการพัฒนาและปรับปรุงการดำเนินงานศึกษาผลกระทบ และรับฟังความคิดเห็นให้ครบถ้วน ครอบคลุมทุกพื้นที่มากกว่าที่เป็นอยู่นี้ ไม่ใช่รอให้ภาคประชาชนร้องต่อศาล

“ภาคประชาชนอยากให้สนทช.มารับบทบาทกรรมาธิการแม่น้าโขงของไทย มีการดำเนินการที่ฟังเสียงประชาชนที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการต่าง ๆ ในแม่น้ำโขง หรือนิ่งเฉยต่อสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในประเทศไทย ส่วนภาคประชาชนเองก็จะมีการทบทวนให้มากขึ้นกว่าเดิม ว่าเรายังทำอะไรได้บ้าง”

นางสาวไพรินทร์ เสาะสาย ผู้ประสานงานองค์กรแม่น้ำนานาชาติประเทศไทย กล่าวว่า ภาคประชาชน กลุ่มรักษ์เชียงของ พยายามรณรงค์อย่างต่อเนื่อง รวมถึงสภาประชาชนลุ่มน้ำโขง 8 จังหวัดในปัจจุบัน เพราะประเด็นผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมพัฒนาไปไกลมาก รณรงค์จนกระทั่งบริษัทไชน่า ต้าถัง โอเวอร์ซี อินเวสเมนต์ จำกัด (China Datang Oversea Investment Co.,Ltd (CDTO) รวมถึงรัฐมนตรีของประเทศลาว ลงมาประชุมร่วมกับชาวบ้านและเครือข่าย รวมถึงมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไปแล้วถึง 2 ครั้ง ซึ่งข้อเสนอขอเราก็คือการเสนอให้มีการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดน แต่คำตัดสินของศาลในวันนี้อาจจะดูสวนทางสถานการณ์และกระแสโลก “หน่วยงานและรัฐไทยควรจะตระหนักเรื่องนี้ให้มากกว่าเดิม และมีการแก้ไขปรับปรุงข้อกฎหมาย ข้อตกลงที่เกี่ยวกับผลกระทบข้ามผลแดน การละเมิดสิทธิและติดตามเรื่องการลงทุนของบริษัทไทยและต่างประเทศที่มาลงทุน บริษัทเหล่านี้ต้องปฏิบัติตามหลักการการดำเนินธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชน และกรอบของสหประชาชาติ” ผู้ประสานงานองค์กรแม่น้ำนานาชาติประเทศไทย กล่าวทิ้งท้าย

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ