กลุ่มฮักเชียงคานกังวลน้ำโขงผันผวน-ใสไร้ตะกอน กระทบ Cryptocoryne loeiensis พืชประจำถิ่นแห่งเดียวในโลก

กลุ่มฮักเชียงคานกังวลน้ำโขงผันผวน-ใสไร้ตะกอน กระทบ Cryptocoryne loeiensis พืชประจำถิ่นแห่งเดียวในโลก

21 กุมภาพันธ์ 2564 นายชาญณรงค์ วงศ์ลา กลุ่มฮักเชียงคาน จ.เลย สำรวจสถานการณ์แม่น้ำโขงที่ลดระดับอย่างต่อเนื่องที่พิพิธภัณฑ์ประมงไทบ้าน ริมแม่น้ำโขง อ.เชียงคาน จ.เลย พบว่าบริเวณดังกล่าวน้ำโขงลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา มีลักษณะสีใสจนมองเห็นท้องน้ำ พื้นทราย และมีสาหร่ายน้ำจืด หรือ ไก จำนวนมาก ซึ่งสถานการณ์นี้ส่งผลกระทบเรื่องการใช้น้ำประปาของชุมชน วิถีเกษตรริมโขง วิถีประมง และอาจส่งผลกระทบต่อ “ดอกหวีด” หรือ Cryptocoryne loeiensis ซึ่งพบได้เฉพาะริมตลิ่งเชียงคานแห่งเดียวในโลก

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา นักข่าวพลเมือง C-site ปักหมุดรายงานจากพื้นที่ริมฝั่งโขงในหลายพื้นที่ ทั้ง อ.เชียงคาน จ.เลย อ.เมือง จ.นครพนม และอ.โพธิ์ไทร จ. อุบลราชธานี เพื่อร่วมรายงานสถานการณ์น้ำโขงที่ลดระดับ มีสีใส และบางพื้นที่มีสาหร่ายน้ำจืด หรือ ไก จำนวนมาก

คุณพงษ์เทพ บุญกล้า รายงานจากบ้านสำโรง อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี บอกว่า ระดับน้ำในแม่น้ำโขงแห้งและผันผวนส่งผลกระทบวิถีชีวิตของชาวบ้านไม่สามารถหาปลา หรือทำเกษตรริมฝั่งได้อย่างเคย

ส่วนในพื้นที่ อ.เมือง จ.นครพนมคุณธีรยุทธ์ วีระคำ ปักหมุดรายงานจากบริเวณ อ.เมืองนครพนม ให้เห็นหาดทราย และน้ำโขงที่มีสีครามคล้ายน้ำทะเล

และคุณพัฒนะ พิมพ์แน่น ปักหมุดรายงานจาก อ.เชียงคาน จ.เลย  พาดหัวว่า “ชะตากรรมวิถีชีวิตคนริมโขง” กับภาพชาวประมงในพื้นที่ซึ่งกำลังเลือกไกออกจากตาข่ายดักปลา หรือ “มอง” ของชาวบ้าน

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น นายชาญณรงค์ วงศ์ลา กลุ่มฮักเชียงคาน บอกว่า ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านตลอดริมฝั่งน้ำโขงอย่างมากในหลายลักษณะ เช่น ไก ซึ่งแม้จะสามารถนำไปประกอบอาหารหรือจำหน่ายได้ แต่หากติดกับอุปกรณ์หาปลาก็จะทำให้เครื่องมือเสียหาย

“ที่เห็นเขียว ๆ นี่คือ ไก ก่อนหน้านี้เขาจะนำไปประกอบอาหาร ซึ่งน้ำโขงตรงหน้านี้จะสูงประมาณ 30 เซนติเมตร  น้ำโขงใสแบบผิดปกติมันไม่มีตะกอนเลย ปกติถ้าก่อนหน้านี้มันจะมีตะกอน มีพวกโคลนติดอยู่  แต่ถ้าเรามองจากสภาพที่เราเห็น คือ มันแทบจะไม่มีตะกอน แล้วสาหร่ายพวกนี้มันเติบโตได้ดีในสภาพที่น้ำใสมากแดดส่องถึงพื้นที่ดิน ทำให้ไกพวกนี้มันเยอะ แล้วไปเกาะเครื่องมือหาปลาของชาวประมง มันจะต้องใช้เวลาในการเก็บไกออกจากเครื่องมือหาปลา คือ ต้องใช้เวลา 3-4 เท่าจากปกติ แล้วอีกอย่างคือเรื่องปลาเราไม่แน่ใจว่ามันจะมีผลกระทบอะไรบ้าง สิ่งที่เราเห็นคือปลานิล ซึ่งไม่ใช่ปลาพื้นที่ถิ่นมีเข้ามาเยอะมากเลย ในอนาคตกลัวว่าปลาท้องถิ่นมันจะสูญหายไป  ส่วนการปลูกผักริมโขงปกติจะใช้ความชื้นจากแม่น้ำโขงเพื่อไม่ต้องรดน้ำผักพวกนี้ แต่พอน้ำโขงแห้งลดลงมาขนาดนี้เขาก็ต้องมีค่าใช้จ่าย ต้องเอาเครื่องสูบน้ำมาฉีดน้ำ ฉีดผักริมโขง มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น”

นอกจากวิถีชาวบ้านริมฝั่งโขง ด้านความหลากหลายทางชีวภาพของสิ่งแวดล้อมเป็นอีกประเด็นสำคัญที่นายชาญณรงค์ วงศ์ลา และชาวบ้านกังวลโดยเฉพาะในพื้นที่ อ.เชียงคาน จ.เลย ซึ่งมีการค้นพบ “ดอกหวีด” หรือ Cryptocoryne loeiensis ซึ่งพบได้เฉพาะริมตลิ่งเชียงคานแห่งเดียวในโลก

Cryptocoryne loeiensis : บันทึกโดย ดารารัตน์ วีระพงษ์

“นักวิทยาศาสตร์ บอกว่า ที่เชียงคานมีพืชซึ่งเป็นพืชสปีชีส์ใหม่ ชื่อว่า Cryptocoryne loeiensis หรือ ชาวบ้านจะเรียกว่า หญ้าหวีด คือ จะมีดอก ลักษณะจะเป็นเกลียวสีขาว คือ ปกติที่ผ่านมาช่วงที่น้ำโขงปกติ มันจะกอใหญ่ ดอกจะสูงใหญ่ อันนี้คือดอกจะประมาณ 5 เซนติเมตร เต็มที่ 10 เซนติเมตร คาดว่าอันนี้คือผลจากการขึ้นลงของน้ำโขงที่ผ่านมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ทำให้ความสมบูรณ์ลดลงไปเยอะมาก พืชพวกนี้ก็เลยมีโอกาสที่จะสูญพันธุ์จากที่นี่ด้วยเพราะมันมีที่เดียวในโลก ก็ไม่รู้จะทำยังไงที่จะรักษาสภาพนิเวศในแม่น้ำโขงได้ในสภาวะปกตินี้

ถ้าถามว่าได้รับผลกระทบไหม ก็รับแบบเต็ม ๆ ครับ เพราะชาวบ้านใช้ชีวิตอยู่กับแม่น้ำโขง มีความผูกพันธ์ แต่สิ่งที่จะต้องปรับตัว คือ หลังจากหาปลาไม่ได้เขาอาจจะต้องปรับวิถีชีวิตใหม่ อาจจะมาดูเรื่องท่องเที่ยวด้วย และเรื่องท่องเที่ยวอาจจะให้ความรู้กับนักท่องเที่ยวว่าแม่น้ำโขงเปลี่ยนไปแล้ว มีผลกระทบต่ออะไรบ้าง”

นอกจากความผันผวนของระดับน้ำโขงในแต่ละฤดูกาลแล้ว อีกปรากฏการณ์ความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงที่ชัดเจนที่สุด คือ สภาวะน้ำโขงแห้งในรอบ 50 ปี เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคม ปี 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นอีกประเด็นสำคัญที่ภาคประชาชน นักวิชาการ และชาวบ้านในพื้นที่ยังติดตามต่อเนื่อง โดยมีความร่วมมือกันในจัดตั้ง สภาประชาชนลุ่มน้ำโขง เมื่อเดือนธันวาคม 2563

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ