กางแผนที่ “ใจแผ่นดิน”ในความทรงจำ เปิดเหตุผลกะเหรี่ยงบางกลอย…ทำไมต้องกลับแผ่นดินแม่

กางแผนที่ “ใจแผ่นดิน”ในความทรงจำ เปิดเหตุผลกะเหรี่ยงบางกลอย…ทำไมต้องกลับแผ่นดินแม่

คงมีคำถามในใจหลายคน …… “ใจแผ่นดิน” คือแผ่นดินแบบไหนกันแน่ ? คนที่นั่นมีวิถีชีวิตอย่างไร ? ภาพที่ชินตาก่อนหน้านี้คือ ภาพกระต๊อบถูกเผาไฟ ภาพปู่คออี้และลูกหลานชาวกะเหรี่ยงในเสื้อผ้า เครื่องแต่งกายที่แสนสมถะ แต่ทำไม ที่นั่นคือดินแดนต้องห้ามที่อยู่ใจกลางความขัดแย้งระหว่างคนกับรัฐมาอย่างยาวนาน บทสนทนาชิ้นนี้มีคำตอบจากผู้ที่เข้าไปแกะรอยความทรงจำจากปากคำของชาวกะเหรี่ยงบางกลอยบนและใจแผ่นดิน เขาคิด ….ฝัน… อย่างไรในแผ่นดินแม่ ?

แกะรอยวิถีปกาเกอะญอ ณ ดินแดนต้องห้าม

“กะเหรี่ยงใจแผ่นดิน” เป็นประเด็นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 จนถึงวันนี้ พ.ศ. 2564 ก็เป็นเวลา 10 ปีแล้ว” ผศ. ดร. มาลี สิทธิเกรียงไกร นักวิจัยจากศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เล่าสู่วงสนทนาที่จังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่เกิดเหตุการณ์ชาวกะเหรี่ยงที่ อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ตัดสินใจเดินเท้ากลับเข้าไปในแผ่นดินแม่ และทางการกำลังพยายามให้กลับลงมา

“จำได้ว่าช่วงที่มีการเผาไล่รื้อชาวบ้านลงมานั้น พวกเราที่อยู่ทางภาคเหนือทุกคนมีความตกใจมากกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะภาพที่มันปรากฏออกมาคือภาพของการเผาบ้านชาวบ้าน ซึ่งอยู่บริเวณใจแผ่นดิน เราก็ไม่เข้าใจว่าในยุคที่ประเทศไทยก้าวหน้ามาระดับหนึ่งแล้วที่เราเรียกร้องประชาธิปไตย เราเรียกร้องการยุติความรุนแรงทุกรูปแบบ แต่ในปี พ.ศ.2554 กลับมีประชาชนชาวไทยกลุ่มหนึ่งที่อยู่ในป่าลึกเข้าไป ซึ่งถูกเรียกว่าเป็น “คนกะหร่าง” ถูกกระทำเช่นนั้น ตอนนั้นสังคมก็มีความตกใจว่ากะหร่างคือใคร จนตอนหลังเราก็รู้ว่ากะหร่างก็คือคำที่ใช้เรียกคนปกาเกอะญอทางผืนป่าแถบเพชรบูรณ์ ซึ่งคำนี้ปรากฏในแผนที่ของทหาร โดยใช้คำว่า “กร่าง” ซึ่งคาดว่าเพี้ยนมาจากคำว่ากะหร่างนั่นเอง”

การอพยพคนลงมาจากพื้นที่สูงหรือจากพื้นที่ “ป่าอนุรักษ์” ซึ่งคำว่า “ป่าอนุรักษ์” หรือ “ป่าอุทยาน” เป็นคำที่ราชการไทยเรียกขึ้นมา เป็นคำที่มากับกฎหมายต่าง ๆ ซึ่งมาพร้อมกับอำนาจชุดหนึ่งที่เข้ามาควบคุมพื้นที่ แต่ชาวบ้านไม่มีคำว่าป่าอุทยาน ไม่มีคำว่าป่าอนุรักษ์ คนกะเหรี่ยงมีแต่ “ป่าเดปอ” ซึ่งเป็นป่าสะดือ และมีพื้นที่ป่าที่ดูแลและเรียกชื่อตามแบบของเขา

“ดิฉันไม่แน่ใจว่าการประกาศเป็นอุทยานนั้น มันทำให้พื้นที่ที่บริสุทธิ์อยู่แล้ว บริสุทธิ์มากขึ้นหรือมีมลทินมากขึ้นกันแน่”

เคยมีการอพยพชาวบ้านจากหมู่บ้านผาช่อมาอยู่ที่จังหวัดลำปาง เราไปเยี่ยมหมู่บ้านแล้วพบว่าหมู่บ้านนั้น แม้จะถูกอพยพมาอยู่ใกล้ถนนหนทาง มีแทงค์น้ำสูงแต่ชาวบ้านบอกว่าไม่มีน้ำ เหมือนกันกับชาวบ้านโป่งลึกบางกลอยที่ถูกอพยพลงมา ราชการบอกว่าจะจัดสรรที่ดินให้ 7 ไร่ แต่ไม่ได้พูดถึงคุณภาพของที่ดิน เช่นเดียวกับบ้านผาช่อ จังหวัดลำปาง ที่คุณภาพที่ดินมันใช้การไม่ได้ ผู้หญิงส่วนหนึ่งไปทำอาชีพพิเศษ แล้วก็พบว่าคนแก่อยู่ไม่ได้ถึงขั้นฆ่าตัวตาย แต่โศกนาฏกรรมนี้ก็ไม่เคยเป็นบทเรียนสำหรับผู้ที่ควบคุมพื้นที่ หรือพรากคนให้ออกจากแผ่นดินแม่

แผ่นดินแม่ของเขามีลักษณะความเป็นอยู่อย่างไร ?

ที่ผ่านมามันเป็นการต่อสู้ การต่อสู้นี้เป็นการพยายามที่จะยืนยันสิทธิของคนที่อยู่กับป่า สิทธิของคนที่อยู่กับทรัพยากรโดยมีการรักษาทรัพยากรและใช้ทรัพยากรนั้น ที่ผ่านมามีข้อสังเกตว่าคนที่มีอำนาจนั้นมีการทำงานเป็นเครือข่ายอำนาจตรง เป็นเครือข่ายที่ผนึกกำลังกันเป็นอย่างดี ถ้าพวกเราไม่วิเคราะห์สถานการณ์อย่างถี่ถ้วน เครือข่ายอำนาจที่ว่านี้ก็จะดีใจ แล้วจะทำให้เราสูญเสียสิทธิในการดูแลทรัพยากรของเรา

ประเด็นต่อมา ดิฉันดูประเด็นเรื่องของโป่งลึกบางกลอยแล้วก็ถามตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่า มันใช่หรือเปล่าที่คนคิดแตกต่างเพียงแค่เรื่องคนอยู่กับป่าได้หรือไม่ได้? มันเป็นแค่นั้นหรือเปล่า หรือคนอยู่กับป่าไม่ได้ คนที่บอกว่าคนอยู่กับป่าไม่ได้ มีอะไรอยู่ในนิยามที่บอกว่าคนอยู่กับป่าไม่ได้ ?

มีอะไรอยู่ภายใต้คำว่าคนอยู่กับป่าไม่ได้? เพราะว่าดิฉันเห็นเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในระดับพื้นที่หลายคน เจ้าหน้าที่อุทยาน เจ้าหน้าที่ป่าไม้ เจ้าหน้าที่หน่วยรักษาพันธุ์ ถ้าได้เข้ามาทำงานกับชาวบ้านในระดับพื้นที่ ได้เข้ามาดูการจัดการทรัพยากรของชาวบ้านจริง ๆ ได้มาฟังเสียงของชาวบ้านอธิบาย ดิฉันเชื่อว่าแนวคิดที่เขาถูกปลูกฝังมาจากการเรียนหนังสือว่าคนอยู่กับป่าไม่ได้นั้น น่าจะเปลี่ยนได้

ดิฉันคิดว่าความรู้ที่ว่า “คนอยู่กับป่าไม่ได้” ที่เขาเรียนมาอาจจะอยู่ในห้องเรียน อยู่ในหนังสือ อยู่ในตำรา แต่เมื่อมาลงในภาคสนามปฏิบัติการ ดิฉันเห็นหลายคนที่เปลี่ยนทัศนะตรงนี้ แต่เมื่อคนเหล่านี้ขึ้นไปอยู่ในพื้นที่ที่มันมีอำนาจ กลายเป็นว่าคนอยู่กับป่าก็อยู่ไม่ได้ทั้งที่แต่เดิมคนอยู่กับป่าได้ เพราะฉะนั้นเลยไม่แน่ใจว่า ความคิดเรื่องคนอยู่กับป่าไม่ได้นี้เป็นความคิดสองขั้วกัน นำมาสู่การอพยพคน ไล่รื้อ เผาคนลงมา หรือเปล่า ?

“ประเด็นของบ้านโป่งลึก-บางกลอย ตอนช่วงแรกมีการออกข่าวบอกว่าเป็นกะหร่าง เป็นพื้นที่ซ่องสุม เป็นหน่วยที่ส่งเสบียงให้กับทหารพม่าหรือกะเหรี่ยงที่พม่า แล้วก็มีขวดยา มีด้ามพร้า มีด ปืน แต่ตอนหลังมาพบว่ามันคือปืนแก๊บแต่จับชาวบ้านไปเสียแล้ว แต่การสร้างอคติ การสร้างวาทกรรมเหล่านี้มันทำไม่ได้ในยุคสมัยนี้ เพราะฉะนั้นมันเลยยืดเยื้อมาจนถึง ณ ตอนนี้”

การไปพื้นที่โป่งลึกบางกลอยให้ความรู้สึกว่ามันเป็นพื้นที่ที่เหมือนกับว่ามีอำนาจอะไรบางอย่าง ไม่ใช่คอยคุ้มกันเรานะ แต่ทำให้เรารู้สึกว่าเราต้องระวังตัว มันมีอันตรายอยู่ตลอดเวลา ทั้งที่ก่อนที่เราจะเข้าไปสู่พื้นที่ที่เรียกว่าเขตอุทยานนี้ มันก็จะมีประตูอุทยานแห่งชาติ มีการที่เราลงชื่อให้เรียบร้อยว่าเรามาเมื่อไหร่ ออกเมื่อไหร่

ดิฉันในฐานะคนที่เคยเข้าไปดูในพื้นที่ ในฐานะของพยานวิชาการ เราเคยเข้าไปกับทางคุณหมอนิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชน เราก็พบว่าพื้นที่ตรงนั้นมีอำนาจอะไรบางอย่าง ขนาดเราที่เป็นคนนอกเข้าไป เรายังรู้สึกว่ามันมีอำนาจอะไรบางอย่าง เพราะฉะนั้นอยากจะชวนคิดว่าชาวบ้านที่อยู่ใจแผ่นดินซึ่งไม่ค่อยได้ติดต่อโลกภายนอกมากนัก และไม่รู้ว่าอำนาจรัฐเป็นอย่างไร แต่วันหนึ่งอำนาจรัฐมาถึงก็จับพวกเขาขังคุก ดิฉันคิดว่าท่าทีแบบนี้มันยิ่งทำให้ชาวบ้านที่อยู่ที่นั่นไม่ไว้วางใจคนภายนอก เพราะฉะนั้นเมื่อล่าสุดได้ยินว่า หัวหน้าอุทยานหรือหรือทางป่าไม้จะเรียกชาวบ้านลงมาแล้วเพื่อมาคุยกันว่าคุณอยากจะไปอยู่ที่ไหน ดิฉันคิดว่ามันไม่ง่าย ที่ชาวบ้านจะบอกว่าชาวบ้านอยากจะไปอยู่ที่ไหนนะคะ

ณ เวลาก่อนปี พ.ศ. 2557 เรามีคนที่คอยเชื่อมเราระหว่างโลกภายนอกกับโลกของชาวบ้านคือ บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ แต่บิลลี่ก็หายไป ทำให้เรื่องราวการเรียกร้องสิทธิชุมชน สิทธิของคนกะเหรี่ยงใจแผ่นดินหายไปด้วย

บิลลี่ระหว่างคุยกับปู่โคอี้ มิมิ ที่มา : หนังสือเรียนรู้จากการซ่อมสร้างชุมชนบ้านบางกลอย

ใจแผ่นดิน …ในความทรงจำ

“กลับมาที่คำว่า ใจแผ่นดิน… หลังจากที่บิลลี่ได้หายไป ดิฉันมีความสนใจมากว่า คนกะเหรี่ยงที่ใจแผ่นดินเขามีวิถีชีวิตอย่างไร ? เขาตัดไม้ทำลายป่าจริงหรือเปล่า ? เขาอยู่อย่างไรในผืนป่าที่อยู่ลึกเข้าไปขนาดนั้น ? เราได้ให้เยาวชนที่นั้นช่วยกันบันทึกความทรงจำว่าเขาอยู่ที่ไหนอย่างไร ?แล้วเขาใช้ที่ดินอย่างไร ? เท่าที่เราไปคุยกับชาวบ้านมา ใจแผ่นดินของชาวบ้านมีอยู่ประมาณ 3-4 ที่ ไม่ได้มีอยู่แค่ที่เดียว แต่ว่ามีที่หนึ่งที่มีความสำคัญมาก พื้นที่นี้ดิฉันคิดว่าเป็นพื้นที่ที่พิเศษมาก ที่ชาวบ้านมีวิธีการจัดการตนเอง ดูแลตนเอง ไม่เป็นปัญหากับรัฐ แล้วก็ไม่พึ่งพิงรัฐมากนัก แต่ทำไมรัฐถึงมองคนเหล่านี้เป็นภัยคุกคามและบุกรุกพื้นที่ป่า”

“นี่คือแผนที่ที่เราได้ ตรงที่เป็นสีแดงคือตรงที่ชาวบ้านเรียกว่า “ใจแผ่นดิน” อย่างที่บอกไปว่าใจแผ่นดินนั้น ถ้าถามเขา เขาอาจจะบอกว่าไม่รู้ แต่เขาเรียกว่า “กะจื้อหล่อกอคุ” หรือ “แก๊ะก่อซะ”

เราเข้าไปในพื้นที่หลายครั้ง เรานำนักศึกษาที่เป็นปกาเกอะญอเข้าไป แล้วก็รวมทั้งหลายคนที่มีจิตใจอาสาเข้าไปช่วยเราคุยกับชาวบ้าน สัมภาษณ์ชาวบ้าน อย่างเป็นพี่เป็นน้อง อย่างเป็นเพื่อน ไม่ใช่อย่างเจ้านายหรืออย่างคนที่ถูกไต่สวน ชาวบ้านก็เล่าให้เราฟังว่ามันมีพื้นที่ที่เขาก็บอกว่ามันคือ “แก๊ะก่อซะ” ซึ่ง แก๊ะ ก็คือคำว่า เป็น ก่อ คือ จักรวาล ซะ แปลว่า หัวใจ มันคือ “หัวใจจักรวาล”

“ใจแผ่นดิน” มีอยู่ 4 แห่ง ทางกายภาพชาวบ้านจะบอกว่ามันเป็นพื้นที่ที่มีรูกว้างมาก แล้วก็มีลมหมุนวน สังเกตได้ว่าเป็นบริเวณที่ไม่พบใบไม้เลย และยังมีความเชื่อว่าถ้ามีน้ำท่วม พื้นที่บริเวณนี้จะไม่ถูกน้ำท่วม โดย “พลีพฤปลี” เป็นผู้ที่คนในหมู่บ้านบอกว่าเป็นคนที่มาอยู่บริเวณใจแผ่นดินคนแรก ๆ ถือศีล และมีอิทธิฤทธิ์ สามารถหายตัวได้และลอยตัวได้

แผนที่แสดงตำแหน่งพื้นที่ดั้งเดิม : ใจแผ่นดินและบางกลอยบน ที่มา : มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนภาคเหนือ

นอกจากเป็นพื้นที่ทางกายภาพที่มีลักษณะพิเศษแล้ว พื้นที่แห่งนี้น่าจะเป็นพื้นที่ทางจิตวิญญาณอีกด้วย เพราะเป็นพื้นที่สำหรับการถือศีลหรือพื้นที่สำหรับการปฏิบัติธรรม หรือปฏิบัติการต่าง ๆ ซึ่งตรงนี้ดิฉันก็ยังเข้าไปไม่ถึง แต่อย่างหนึ่งที่เวลาเราพูดถึงเราถามชาวบ้านใจแผ่นดินว่าเป็นอย่างไร ชาวบ้านจะพูดคำเดียวว่ามีทุเรียนที่อร่อยมาก

“นี่คือแผนที่ทั้งหมดที่เยาวชนช่วยวาดมาให้ จริง ๆ แล้วชาวบ้านอาศัยอยู่บนพื้นที่สูง แต่ไม่เลยไปชายแดนพม่าเด็ดขาด เรามีภาพอีกภาพหนึ่งที่แสดงถึงเขตสีเขียว ซึ่งก็คือ “ไร่ซาก” เราก็ถามเขาว่า เวลาที่จะเลือกพื้นที่ทำไร่นั้น เขาเลือกอย่างไร เขาก็เลือกโดยมีวิธีการเสี่ยงทายเหมือนคนปกาเกอะญอ และที่สำคัญคือมีสวนหมากและทุเรียนจำนวนมาก รวมถึงมีต้นสะดือด้วย” (ป่าสะดือตามความเชื่อของคนปกาเกอะญอ ที่เมื่อแรกเกิดจะนำสายสะดือไปผูกติดกับต้นไม้)

สามเหลี่ยมหัวคว่ำสีน้ำเงินคือ “ต้นสะดือ” เราจะเห็นว่ามีต้นสะดือจำนวนมาก แล้วก็มีพื้นที่ที่เรียกว่า “ป่าพิธีกรรม” สีน้ำเงินที่จาง ๆ คือพื้นที่ “ป่าพิธีกรรม” สีน้ำเงินสีเข้ม ๆ คือสวนหมากและทุเรียน สีแดงคือพื้นที่ที่ชาวบ้านอาศัยอยู่ เพราะฉะนั้นชาวบ้านจะอาศัยอยู่ เหมือนชาวกะเหรี่ยงของเราที่นี่ ที่ในอดีตยังไม่ถูกราชการทำให้อยู่อย่างถาวร หมายความว่าฟิกซ์ให้อยู่กับที่

คนที่นี่มีลักษณะของการย้ายไปตามพื้นที่ที่ทำไร่หมุนเวียน หรือถ้าพื้นที่นั้นมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น เป็นพื้นที่ที่มีโรคระบาดหรือมีการตายอย่างผิดปกติชาวบ้านก็จะย้าย แต่สิ่งสำคัญคือเขาอยู่กันเป็นกลุ่ม กลุ่มนี้อยู่แค่สองครอบครัว กลุ่มตรงนี้ก็จะมีอยู่สามสี่ครอบครัว เขาไม่ได้อยู่ใกล้ๆ กัน บ้านหลังหนึ่งห่างกันประมาณเสียงคนพอที่จะตะโกนคุยกันได้อยู่ หรือหย่อมบ้าน หย่อมหนึ่งห่างกันไปพอที่จะตะโกนสื่อสารกันได้อยู่

“เราให้ชาวบ้านช่วยทำแผนที่ว่า ปู่คออี้เคยอยู่ตรงบริเวณไหนบ้าง ปู่คออี้อยู่บริเวณนี้ 25 ปี แล้วก็ย้ายไปอยู่อีกจุดหนึ่งที่ใกล้กัน ทุกคนในพื้นที่นี่จะรู้ว่า จะมีการหมุนพื้นที่ เป็นวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบเคลื่อนย้าย แต่ขณะเดียวกันเขาก็เคลื่อนย้ายภายใต้สิ่งที่เรียกว่า “ความรู้และภูมิปัญญา” เขารู้ว่าตรงไหนเป็นป่าที่ไม่ควรจะตัด ตรงไหนคือพื้นที่ไร่ซากสำหรับหมุนกลับมาทำไร่หมุนเวียน”

ในช่วงแรก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513-2520 นั้น มีหลักฐานชัดเจนว่ามีนายอำเภอเข้าไปทำมวลชนสัมพันธ์ คือยังไม่ได้เข้าไปจับ ไม่ได้เข้าไปไล่ นายอำเภอก็ให้การยืนยันชัดเจนว่ามีคนอยู่ที่นี่ ตอนที่เขาขึ้นไปชาวบ้านก็อยู่ที่นี่ มีการแจกเหรียญชาวเขา มีตำรวจตระเวนชายแดนขึ้นไปแจกยา ตอนนั้นรัฐอาจจะเข้าไปแค่ดูแลคน แต่ในช่วงต่อมาตั้งแต่ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ก็เริ่มมีโครงการเข้าไปควบคุมพื้นที่

ปีพ.ศ. 2539 นั้น จริง ๆ แล้วชาวบ้านลงไปเพราะว่ามีคนขึ้นไปบอกชาวบ้านว่า ถ้าอยู่ที่นั่นก็อันตราย พม่าจะทำร้ายก็ให้อพยพลงมา แล้วก็บอกกับชาวบ้านว่าจะให้ความช่วยเหลือเรื่องอาหาร ให้นู่นให้นี่ แต่ความเป็นจริงแล้ว เมื่ออพยพลงมากลับไม่ได้จัดที่ดินทำกินให้กับชาวบ้านตามที่ได้ให้สัญญาเอาไว้ อันนี้ก็อาจจะเหมือนกับชาวม้ง ซึ่งมีแต่สัญญาที่ลมปากแต่ไม่มีสัญญาที่เป็นลายลักษณ์อักษร

ส่วนอันนี้เป็นแผนที่การปฏิบัติการที่เจ้าหน้าที่อุทยานทำเมื่อครั้งเดือนมีนาคมและเดือนเมษายนในปี พ.ศ.2554 ซึ่งมีจุดสีเหลืองซึ่งเข้าใจว่ามีประมาณ 14 จุดที่เข้าไปจัดการชาวบ้าน ในยุคต่อมาหลังปี พ.ศ.2554 ตรงนี้ก็จะทำมีการทำนาขั้นบันได เพราะหัวหน้าอุทยานก็บอกว่า ที่นี่ยังมีความน่าสนใจ น่าจะทำเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอะไรประมาณนี้ และสัปดาห์ที่แล้วยังได้ยินความคิดแบบนี้อยู่ ก็คือพยายามที่จะเปลี่ยนพื้นที่นี้ให้เป็นนาขั้นบันได ด้านหนึ่งก็อาจจะทำให้ชาวบ้านมีข้าวกิน ด้านหนึ่งก็อาจจะเป็นที่ที่ให้สำหรับนักท่องเที่ยว

ขณะเดียวกันในการอพยพคนลงมา สิ่งที่สร้างความระส่ำระส่ายในพื้นที่ก็คือ ชาวบ้านที่ไม่มีทางเลือก ส่วนหนึ่งไปเป็นลูกจ้างในโครงการพัฒนาต่าง ๆ ส่วนศูนย์ศิลปาชีพซึ่งถ้าไปคุยกับคนที่ทำงานกับศิลปาชีพจริง ๆ เราจะพบข้อมูลบางอย่างที่เราจะรู้ว่านี่คืออาชีพทางเลือกหรืออาชีพอะไรกันแน่ หรือสวนผักซึ่งก็มีเฉพาะช่วงที่มีน้ำ ถ้าฤดูแล้งไม่มีน้ำชาวบ้านก็ไม่มีผักกิน เราพบว่าในหนึ่งครอบครัวจะมีอยู่หนึ่งคนที่มาช่วยทำงานข้อมูลให้กับเรา มีอยู่คนหนึ่งไปทำงานให้กับโครงการพัฒนาหนึ่งโครงการ อีกคนหนึ่งก็ไปทำงานให้กับโครงการพัฒนาอีกหนึ่งโครงการ ในบ้านหลังเดียวกัน มีแต่ความไม่ไว้วางใจกัน

“การไล่รื้อลงมา มันไม่ใช่แค่ทำให้คนหมดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์แต่ว่าทำให้ความเป็นชุมชน ความเป็นครอบครัว ความไว้วางใจหายไปด้วย เพราะว่าเป้าหมายหนึ่งของอุทยานแห่งชาติก็คือการให้เข้าไปดูสิ่งที่สวยงาม สิ่งที่มีความเป็นธรรมชาติ เขาก็คงคิดว่าบ้านแบบเป็นสิ่งที่เป็นธรรมชาติ ชาวบ้านเคยขออนุญาตหรือแม้แต่กลุ่มกะเหรี่ยงภาคเหนือหรือพื้นที่อื่น ๆ หรือ NGO พยายามบอกว่าเราจะไปขอปรับปรุงที่อยู่อาศัยก็ไม่ได้ เพราะว่าอยากให้ชาวบ้านอยู่แบบธรรมชาติ”

มีเรื่องเล่าของชาวบ้านที่เผชิญกับความยากลำบากที่มันทับซ้อนลงมา คือทำนาขั้นบันได ปีที่สองก็ทำไม่ได้แล้ว เราก็เข้าไปดู จริงๆ ปีที่สองชาวบ้านเริ่มเอาข้าวโพดมาปลูกแซมด้วยนะคะ แล้วก็โครงการส่งเสริมต่าง ๆ น้ำก็ไม่เพียงพอ ชาวบ้านก็บ่นมาบอกว่าแม้ว่าจะมีหน่วยงานเข้าไป แต่ก็ไม่ได้เข้าไปรับทราบปัญหา แล้วชาวบ้านก็ไม่รู้จะสื่อสารอย่างไร ทำไมถึงไม่ได้รับไปรับทราบปัญหา เพราะว่าคนที่เข้าไปถึงก็ไปบอกว่าก็มาอยู่ที่นี่ เราจัดที่ดินให้แบบนี้ ใครจะกล้าไปบอกว่าไม่เอา

“จากปี 2554 เราพบว่า ชาวบ้านพยายามปรับตัวตามการพัฒนาจากรัฐนะคะ คนในหนึ่งครอบครัวที่มีบัตรประชาชน เขาจะลงไปทำงานข้างล่างที่เขื่อนแก่งกระจาน เพราะฉะนั้นจึงเป็นคำตอบว่าทำไมช่วงที่มีโควิดระบาด หมู่บ้านนี้ถึงเผชิญกับปัญหามาก เพราะว่าคนที่ลงไปทำงานที่ข้างล่างถูกเลิกจ้างงาน ไม่มีนักท่องเที่ยว ก็ต้องกลับมาที่บ้าน พอกลับมาที่บ้านก็ไม่มีที่ดินทำกิน แล้วจะทำอย่างไร ?

ก่อนปี พ.ศ.2557 ดิฉันเข้าไปกับอาจารย์เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ เราเข้าไปเพราะว่าได้ยินมาว่าอุทยานฯ จะจัดการที่ดินทำกินหรือจัดอะไรให้ชาวบ้านสักอย่าง คณะกรรมการสิทธิ์ก็เข้าไปกับอาจารย์เพิ่มศักดิ์ แล้วเราก็เข้าไปสอบถามชาวบ้าน ชาวบ้านก็เสนอมาว่า ซึงก็ไม่ใช่ทั้งหมดที่อยากจะกลับไปบางกลอยบน เพราะว่าคนที่เป็นวัยรุ่น เขาก็อยากจะอยู่ใกล้กับข้างล่าง มีบางกลอยบน 17 ราย ห้วยโป่งลึก 20 ราย วังคา 13 ราย แปลงทดลองทั้งหมด 13 ราย วัยรุ่นบางส่วน ออกไปทำงานที่โรงงานสับปะรด ที่บรรจุกระป๋อง ที่ประจวบคีรีขันต์ เราพบว่ามีวัยรุ่นคนหนึ่งใฝ่ฝันมากว่าอยากจะเป็นทหาร แล้วเขาก็อุทิศตนเพื่อที่จะเป็นทหารจริง ๆ แต่บางคนก็รอวันที่จะกลับไปใจแผ่นดินจริงๆ นี่คือข้อมูล ณ ปีก่อนปี 2557 “

“แต่ปีนี้ 2564 ชาวบ้านขึ้นไปที่ใจแผ่นดินเนี่ย ประมาณ เจ็ดสิบกว่าคน เพราะว่าเมื่ออยู่ไปนาน ๆ แล้วก็ไม่มีข้าวกินจะทำอย่างไร ก็ต้องขึ้นไปหาพื้นที่ คนไม่นอนรอความตาย ดิฉันเชื่อว่าคนไม่นอนรอความตาย คนต้องช่วยเหลือตนเอง แม้ว่าจะอยู่ในภาวะที่ตกยากลำบากแค่ไหน ชาวบ้านสะท้อนมาบอกว่าอยากให้มีกระบวนการมีส่วนร่วม เขาบอกว่าเขาอยากไปที่แปลงทดลอง แต่ก็เกรงว่ารัฐจะไม่อนุญาตเพราะเป็นป่าสมบูรณ์ไม่มีไร่ซาก อันนี้เราบอกให้ชาวบ้านจินตนาการนะคะว่า คิดว่าพื้นที่ไหนที่เขาอยากจะไปมากที่สุด เขาก็บอกมาสี่พื้นที่ประมาณนี้ค่ะ”

ณ ตอนนี้ ถ้าสมมุติว่ามีทางเลือกอื่นเราก็น่าจะทำหลาย ๆ ทางเลือก ทางเลือกที่พอจะเห็นได้ก็มีอยู่แล้ว มติ ครม. 3 สิงหาคม 2553 ซึ่งเป็นอะไรที่มากกว่าพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษ ที่พูดเอาไว้ว่าให้ยุติการจับกุม ก็ได้เสนอไปแล้ว หรือถ้าตอนนี้มีความคิดว่าจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาอะไรก็ได้ ที่มันเร็วที่สุด แล้วมันสามารถที่จะแก้ไขปัญหาชาวบ้านอย่างมีประสิทธิภาพยั่งยืน

เปิดเหตุผลสำคัญ…ทำไมต้องกลับสู่ใจแผ่นดิน

พชร คำชำนาญ เยาวชนจากกรุงเทพมหานคร ซึ่งเข้ามาทำงานร่วมกับมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือและสัมผัสชีวิตชาวปกาเกอะญอหลายพื้นที่ ล่าสุดได้เข้าไปยังพื้นที่บางกลอยล่าง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรีในวันที่เกิดข่าวชาวบ้านเดินกลับไปที่ใจแผ่นดิน เล่าว่า เรารู้ข่าวว่ามีพี่น้องที่บางกลอยล่างอพยพขึ้นไปที่ใจแผ่นดินครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2564 จากสำนักข่าวแห่งหนึ่งที่มีความใกล้ชิดกับชุมชน ข้อเท็จจริงคือชาวบ้านขึ้นไปก่อน 4-5 วันก่อนที่จะมีข่าวออกมาครั้งแรก

หลังจากนั้นความกังวลก็เกิดขึ้นคือเจ้าหน้าที่อุทยานได้ให้ข่าวว่าได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไป 4 ชุดเพื่อเข้าไปตามชาวบ้านแต่ยังไม่พบ ทางขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมร่วมกับเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมเขตงานตะนาวศรีได้ยื่นหนังสือถึงรองปลัดกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมเมื่อวันที่ 21 มกราคมที่ผ่านมา เพื่อให้มีการเปิดพื้นที่อุทยานแก่งจานเพราะเป็นพื้นที่ปิดมาก ๆ แล้วก็มีความเสี่ยงที่จะลงไปทำงานในพื้นที่ ได้เปิดพื้นที่ให้พวกเราขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมร่วมกับเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมเขตงานตะนาวศรี และคณะกรรมการยุทธศาสตร์กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมนำโดยกรมอุทยานฯ ลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูล

พวกเราลงพื้นที่วันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา ตอนที่ลงไปเราไปที่สำนักงานอุทยานแห่งชาติก่อนเพื่อไปพบหัวหน้ามานะ เพิ่มพูน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานคนปัจจุบัน ซึ่งเราได้รับข้อมูลอีกชุดหนึ่งที่มาจากฝั่งของอุทยานฯ เป็นข้อมูลที่ถ้าถูกปล่อยออกมาจะผลิตซ้ำภาพจำ มายาคติเดิม ๆ ที่เกิดขึ้นกับชาติพันธุ์ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการล่าสัตว์ การแผ้วถางพื้นที่ป่า โดยที่ทางชุมชนได้ยืนยันว่าพื้นที่ป่าตรงนั้นเป็นไร่หมุนเวียน เป็นไร่ซาก เป็นไร่หมุนเวียนที่ชาวบ้านทิ้งไว้ก่อนที่จะมีการอพยพและถูกไร่รื้อลงมาในปี 2554 ซึ่งเป็นแปลงที่ถูกเจ้าหน้าที่ตัดฟันพืชผล ซึ่งก็คือไร่เป็นไร่ข้าวที่รับผลกระทบจากยุทธการตะนาวศรี

เราขึ้นไปที่ชุมชนเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริง ร่วมกับข้อเสนอแนะ จากที่ไปอยู่มา 3 วัน ส่วนกระทรวงฯ ก็มีความเคลื่อนไหว โดยวันที่ 26 มกราคม ตอนเช้าก่อนที่อุทยานฯ จะมาคุยกับพวกเรา ก็ได้เอาเฮลิคอปเตอร์บินขึ้นไปโป่งลึกแล้วคุยกับชาวบ้านก่อน สิ่งที่คุยกับชาวบ้านคือให้ญาติพี่น้องไปเกลี้ยกล่อมให้ชาวบ้านลงมาก่อน ให้มาคุยกันหาทางออก แต่วันนั้นหัวหน้ามานะบอกว่าจำเป็นต้องมีการดำเนินคดี คือล็อกเวลาไว้ 7 วันที่จะต้องขึ้นไปจับกุม ณ วันที่ 26 เหลือเวลาอีก 4 วันก่อนที่เขาจะดำเนินการสนธิกำลังจับกุม

ในที่ 28 มกราคม ผู้ตรวจราชการของกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมนายจงคล้าย วรพงศธร ขึ้นไปพร้อมกับรองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี  ไปเกลี้ยกล่อมให้พี่น้องลงมาแล้วบอกว่าจะจัดสรรที่ดินทำกินให้  “แต่ในระหว่างที่จะจัดสรรที่ดินทำกินให้อาจจะไม่ได้ทันใจนะ” เขาใช้คำนี้ ระหว่างนี้ก็จะหางานให้ทำเช่น จ้างมาเป็นลูกจ้างอุทยานฯ หรือว่าทำงานกับมูลนิธิปิดทองหลังพระ หรือว่าทำงานกับศูนย์ศิลปาชีพในพื้นที่

Movement ต่อมาก็คือ 2 กุมภาพันธ์ 64 รองอธิบดีกรมอุทยานลงไปในพื้นที่ และพูดชัดเจนว่าจำเป็นจะต้องมีการดำเนินคดีและอ้างมาตรา 157 คือเราน่าจะพอได้ยินว่าโควิดเข้ามาชุมชนไม่มีข้าวกินเพราะว่าพื้นที่ดินไม่เพียงพอ หนึ่งคือมันไม่เพียงพอ สองคือถึงแม้ว่าจะได้รับการจัดสรรแต่ไม่สามารถทำกินได้จริง ๆ มันเป็นหินมันเป็นร่อง เป็นหุบเขา มันเป็นลักษณะที่ไม่ว่าจะเพาะปลูกอะไรก็ไม่มีทางขึ้นและไม่เหมาะกับการหมุนเวียน  สุดท้ายก็เป็นการทำซ้ำ ๆ และใช้สารเคมี หนี้สินครัวเรือนก็เยอะมากประมาณ 2-3 หมื่นต่อครัวเรือนที่แปะโป้งไว้ที่ร้านค้า ซื้อน้ำปลา ซื้อพริก ซื้อข้าว ซึ่งมันไม่สามารถปลูกได้ในพื้นที่ตรงนี้

ชุมชนก็ไม่ได้กินกล้วยแทนข้าวไงครับ เขาต้องมีการปลูกข้าว แต่มูลนิธิปิดทองหลังพระไปสนับสนุนให้เขาปลูกกล้วยเพื่อเอาลงไปขาย  เดิมเรารู้แค่นั้นว่าชุมชนขึ้นไปเพราะสถานการณ์โควิด ขึ้นไปเพราะไม่มีที่ดินทำกิน แต่จากการที่พูดคุยกับชุมชนเขามีเหตุผลมากกว่านั้น ซึ่งหนึ่งเหตุผลที่หน่วยงานรัฐไม่เข้าใจเลย แล้วก็คิดว่าชุมชนกะเหรี่ยงที่นี่เหลี่ยมจัดอยากจะขึ้นไปใจแผ่นดิน ก็เลยอ้างเหตุผลนี้ขึ้นมา ซึ่งก็คือเหตุผลในเชิงวัฒนธรรม

“เรามีโอกาสได้ไปคุยกับพาตี่หน่อแอ มีมิ ซึ่งเป็นบุตรชายของปู่คออี้ที่เสียชีวิตเมื่อ 3 ปีที่แล้ว โดยมีการทำพิธีส่งดวงวิญญาณปู่คออี้ที่บ้านบางกลอยล่าง จากการพูดคุยพาตี่หน่อแอ บอกว่า อีกหนึ่งเหตุผลที่ขึ้นไป ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกหลานและเป็นญาติของปู่คออี้ เขาต้องการขึ้นไปถางพื้นที่ไร่หมุนเวียนแปลงที่ปู่คออี้เคยเลี้ยงลูกหลานจนเติบใหญ่ เพื่อเอาข้าวประมาณ 5-6 กระสอบ ที่ได้จากแปลงไร่หมุนเวียนนั้นมาส่งดวงวิญญาณปู่คออี้ให้สมบูรณ์ เพราะว่าที่ผ่านมาไม่ได้ทำในแผ่นดินแม่หรือแผ่นดินที่เขาเกิด และไม่ได้ใช้ไร่หมุนเวียนที่ปู่คออี้เคยทำกิน ฉะนั้นตอนนี้เขาได้แผ้วถางไร่แล้วในพื้นที่ไร่ซาก ในช่วงปลายกุมภานี้ก็จะมีการเผาไร่เป็นช่วงสถานการณ์ที่เราจะต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด ถ้าเป็นไปตามไทม์ไลน์ไร่หมุนเวียนพิธีกรรมส่งดวงวิญญาณปู่คออี้น่าจะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนปีนี้” 

พะตีนอแอะ มิมี

พาตี่หน่อแอพูดกับเราว่าถ้าลูกหลานถูกจับกุมหรือแกไม่สามารถหวนคืนไปที่ใจแผ่นดินได้  สิ่งที่แกจะทำคือให้ลูกหลานอุ้มแกขึ้นไปครับเพราะพาตี่หน่อแอเดินไม่ได้ แกเป็นคนเดียวที่ถูกจับกุมจากยุทธการตะนาวศรี ติดคุก 4 วันหลังจากออกจากคุกมาแกเป็นอัมพฤกษ์และไม่สามารถเดินได้  แกบอกว่าจะให้ลูกหลานอุ้มขึ้นไปที่ใจแผ่นดินแล้วผูกคอตาย

นี่คือสิ่งที่แกพูดกับเรา คือหมายถึงว่าสถานการณ์การละเมิด คือชุมชนบางส่วนเขาไม่ได้ต้องการที่ดินนะครับ คือขึ้นไปไม่ใช่ว่ายุทธการคุณต้องจัดที่ดินให้ตรงนี้ แต่ว่ามันมีคนกลุ่มหนึ่งที่ต้องการจะกลับไปตรงนั้นจริง ๆ โดยไม่เอาที่ใหม่ไม่ว่าจะเป็นที่ดินตรงไหนก็ตาม  เรื่องการขู่จะฆ่าตัวตายมันไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ ของพี่น้องกะเหรี่ยง เพราะว่าเขาถูกกดขี่และโดนละเมิด คือเขาไม่เหลือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

“ข้อเสนอหนึ่งคือการคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้เขาแต่อุทยานก็ไม่เข้าใจศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพราะมันมีความเป็นนามธรรม ผมเลยคิดว่าการคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มันเป็นรูปธรรมขึ้นมา เช่น หนึ่งคือหามาตรการที่ให้เขากลับไปใจแผ่นดินให้ได้แล้วก็อยู่ที่ใจแผ่นดินพร้อมส่งดวงวิญญาณปู่คออี้ให้ได้ อันนี้ก็จะเป็นสิ่งหนึ่งที่ไม่ค่อยได้รับการพูดถึงเท่าไหร่ ถ้าเราไม่ลงพื้นที่เราก็จะไม่รู้ว่ามีเหตุผลนี้อยู่ด้วย”

ข้อเท็จจริงที่เราพบอีกอย่างคือ การพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจ  ตามที่อุทยานอ้างว่าได้พัฒนาคุณภาพชีวิตของเขาแล้ว รายได้เพิ่มขึ้นปีหนึ่งครัวเรือนละเป็นแสน  ซึ่งจากที่ได้ไปพูดคุยกับชาวบ้านพบว่าจากการสัมภาษณ์ชาวบ้าน 30 ครอบครัวที่เป็นญาติพี่น้องของคนที่ขึ้นไปหรือคนที่ขึ้นไปแล้วกลับลงมาด้วย เขาบอกว่าเขามีรายได้แค่ปีละไม่เกิน 3 หมื่นต่อครัวเรือน  จากการที่ลงไปรับจ้างในเมือง และการเป็นลูกจ้างในศูนย์ศิลปาชีพ

วิธีการเอาตัวรอดของชุมชนนี้คือการไปแปะเซ็นเอาข้าวกับร้านค้าในชุมชนแต่ว่าไม่มีเงินไปจ่าย แต่ละครอบครัวติดหนี้กันหลักหมื่น นี่แค่ในชุมชน แล้วบางครอบครัวเขาอยู่กัน 9 คนในบ้านหลังเดียวอยู่รวมกันในบ้านหลังเดียวในที่แออัด

เราก็พบว่าปี 2539 ที่อุทยานอ้างว่าจัดที่ให้แล้ว บางคนย้ายมาในบัญชีแรกปี 2539 นั้น แม้กระทั่งที่ดินจะให้ชาวบ้านสร้างบ้านยังไม่มีให้เลย ฉะนั้นที่ทำกินไม่ต้องพูดถึง  พอไม่มีที่ทำกินเขาเลยไม่สามารถเข้าสู่โครงการปิดทองหลังพระได้อันนี้เป็นสิ่งที่กดดันให้เขาจะต้องขึ้นไป

ข้อเสนอแนะ พีมูฟออกแถลงการณ์เรื่องข้อค้นพบและข้อเสนอแนะออกไปเกี่ยวกับชุมชนกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยผู้ที่ได้รับผลกระทบ เพราะว่าบางคนเขาก็ไม่อยากขึ้นไปเขาปรับตัวได้แล้วอันนี้กลุ่มแรก สองก็คือขึ้นไปเพื่อให้รัฐจัดสรรที่ดินตรงนี้ให้ และสามคือกลุ่มที่น่าเป็นห่วงที่สุด เป็นกลุ่มคนที่ยืนยันว่าจะอยู่ใจแผ่นดินซึ่งคือกลุ่มลูกหลานของปู่คออี้ ซึ่งเราไม่รู้ว่าเขาจะถูกกฎหมายจัดการอย่างไร การที่เขาจะถูกย่ำยีอีกครั้งจะนำมาซึ่งเกิดโศกนาฏกรรมอีกหรือไม่ พาตี่หน่อแอก็ออกตัวแล้วว่าจะฆ่าตัวตายแล้วในตอนนี้

เปิด 4 ข้อเสนอ เยียวยาและคืนสิทธิ์ให้ชาวบ้าน

ข้อแรก รัฐบาลจะต้องหามาตรการเยียวยาและคืนสิทธิ์ให้แก่ชาวบ้านที่ต้องการกลับไปอาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมซึ่งก็คือกลุ่มลูกหลานปู่คออี้ ให้สามารถดำรงวิถีชีวิตดั้งเดิมของกะเหรี่ยงบางกลอยบนใจแผ่นดินได้อย่างถาวร โดยรัฐจะต้องไม่ดำเนินการใด ๆ ที่ก่อให้เกิดผลกระทบกับชาวบ้านกลุ่มดังกล่าว

ข้อสองเร่งรัดจัดหาที่ดินเพื่อนำมาจัดสรรให้กับชาวบ้านที่เดือดร้อนจากการไม่มีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยสำหรับชาวบ้านที่ประสงค์จะดำรงอยู่ในชุมชนบางกลอยล่าง โดยเร่งด่วนที่สุดและมีเป้าหมายระยะเวลาที่ชัดเจนแน่นอน

ข้อสามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินงานลงรายการสัญชาติไทยให้แก่ราษฎรในหมู่บ้านบางกลอย  เป็นอีกเรื่องที่ค้นพบ คืออุทยานฯอ้างว่าที่ไม่จัดที่ดินทำกินให้เพราะ 1.ครอบครัวขยายออกมาจากบัญชีปี 2539 และ 2.คือไม่มีสัญชาติ แต่เราก็ค้นพบว่าบางคนที่ได้รับจัดสรรทำกินก็มาได้รับสัญชาติทีหลังที่ดินอีก เพราะการขึ้นทะเบียนสัญชาติมันก็ขึ้นได้เรื่อย ๆ ก็เลยมีข้อเสนอนี้ที่ต้องเร่งรัดให้สัญชาติชาวบ้านชุมชนบ้านบางกลอยซึ่งมีเยอะมากทำให้ไม่สามารถเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานได้เลย การสำรวจตาม พ.ร.บ.อุทยานฯ มาตรา 64 คนที่ไม่มีสัญชาติก็จะไม่ได้รับที่ดิน อันนี้คือผลกระทบจากการที่เขาไม่มีสัญชาติไม่มีบัตรประชาชน

ข้อที่สี่ จัดตั้งกลไกเพื่อรวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริงจากชาวบ้านผู้เดือดร้อน ผู้ไม่มีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยโดยให้มีส่วนร่วมจากฝ่ายต่าง ๆ ได้แก่ กรมอุทยานฯ สถาบันวิชาการ เสนอให้เป็นศูนย์มานุษยวิทยา องค์กรมหาชน แล้วก็สถาบันวิจัยสังคมจุฬา กับชาวบ้านบางกลอยผู้เดือดร้อน ซึ่งมีการตั้งคณะทำงานชุดนี้ โดยสัดส่วนทางพีมูฟ 2 คน เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม 2 คน และตัวแทนชาวบ้านผู้เดือดร้อน 1 คน ร่วมกับศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร และสถาบันวิจัยจุฬาฯ ทำงานร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชด้วยก็จะเปิดพื้นที่ให้พวกเราสามารถเข้าไปเก็บข้อมูลได้ และก็รับประกันความเสี่ยงในชีวิตของคนทำแสวงหาข้อเท็จจริง

เมื่อมีการตั้งคณะกรรมการอย่างเป็นทางการ คือกรรมการชุดแรกไปเก็บหาข้อมูล ต่อมาเราก็จะเสนอให้มีกรรมการอีกชุดเพื่อติดตาม กำกับ เร่งรัดการดำเนินการตามข้อที่กล่าวมา องค์ประกอบก็จะให้ปลัดหรือรองปลัดกระทรวงเป็นประธาน อันนี้คือความคืบหน้าที่เกิดขึ้น แต่สิ่งที่อยากจะฝากคือเรื่องมิติทางวัฒนธรรมที่พาตี่หน่อแอพูด อยากให้หยิบยกมาพูดกัน คือไม่ใช่แค่เรื่องเขาไม่มีที่ดิน ที่ไหนมันก็ไม่เหมือนที่นี่ พ่อเราตายเราก็อยากไปทำบุญให้ ความเชื่อ มิติทางวัฒนธรรมควรได้รับการคุ้มครองหรือเปล่า

ข้อเสนอที่ชุมชนต้องการคือคืนสิทธิและเยียวยาศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่สูญเสียไปอันนี้คือสิ่งที่ผมอยากฝากไว้

“ช่วงนี้ชาวบ้านจะทยอยขึ้นไปวันละคนสองคนเท่าที่พร้อม ตอนนี้ตัวเลขน่าจะ 70-80 คน แต่อุทยานยืนยันว่ามีแค่ 30-40 คน ซึ่งตัวเลขที่หายไปเราก็ไม่รู้ว่าทำไมถึงหายไป วันนั้นตัวเลขที่ผมขึ้นไปเรามี 62 รายชื่อในมือ คือชาวบ้านที่ขึ้นไป 20 คนในนั้นคือเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 10 ปี แล้ว 15 คนเป็นผู้หญิง หนึ่งในนั้นคือผู้หญิงท้องแก่ 8 เดือน อันนี้น่าห่วงว่าจะเกิดปฏิบัติการที่ส่งผลกระทบกับคนกลุ่มนี้หรือไม่ ข้อน่ากังวลก็คือพ.ร.บ. อุทยานฯ ปี 2562 มาตรา 41 ระวางโทษขั้นต่ำ 4 ปี มันสูงมาก ถ้าชาวบ้านถูกจับในข้อหาแผ้วถางคือ 4 หรือ 20 ปี แล้วยิ่งเรื่องเกิดในต้นน้ำเพชรโทษจะเพิ่มขึ้นกึ่งหนึ่ง อันนี้คือสิ่งที่น่าเป็นห่วง”

ศิวกร โอ่โดเชา ปกาเกอะญอบ้านหนองเต่า อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ ย้ำว่า นโยบายของภาครัฐที่ผ่านมา ในตลอด 30 –40 ปีที่ผ่านมา กำลังเดินตามรอยหลาย ๆ ประเทศที่เคยทำมาก่อน ในแง่ของการบอกว่าความมั่นคงของป่าหรือการรักษาป่าได้นั้น ต้องไม่มีคนอยู่! แยกสิทธิของป่า กับสิทธิของคนออกจากกัน เป็นคนละเรื่อง แต่เวลานี้หลายประเทศไปอีกขั้นหนึ่ง คือเมื่อพูดถึงสิทธิและการอนุรักษ์ป่าที่สมบูรณ์นั้นจะละเลยสิทธิความเป็นมนุษย์ไม่ได้

“คนขาดจากธรรมชาติไม่ได้ ธรรมชาติก็ต้องอาศัยคน ความมั่นคงในสิทธิและชีวิตของคนมันถึงจะรักษาป่าได้เช่นกัน เพราะถ้าไม่สามารถรักษาสิทธิของคนได้ การจัดการและการอนุรักษ์มันก็ล้มเหลว ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สะท้อนระยะเวลา 30 – 40 ปีที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี”

ต่อไปข้างหน้าถือว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือที่ใดก็ตาม เมื่อพูดถึงการอนุรักษ์ที่ดี มันก็ต้องพูดถึงการดูแลมนุษย์ที่ดี ให้มีสิทธิ มีสวัสดิการ มีที่ดิน มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน ด้วยเช่นกัน

นี่มันถึงเวลาแล้ว กรณีที่เกิดขึ้นที่บางกลอย ป่าแกงกระจาน มันสะท้อนออกมาได้ชัดว่า เราจะละเลยความเป็นมนุษย์ เราจะละเลยสิทธิความเป็นมนุษย์ไม่ได้ มันจะต้องดูแลให้อยู่ควบคู่กันไปมันถึงจะเรียกว่า การอนุรักษ์ที่ยั่งยืน

ชัยธวัช จอมติ ปกาเกอะญอรุ่นใหม่จากชุมชนบ้านห้วยหินลาดใน อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย กล่าวว่า กรณีที่แกงกระจานทำให้เราได้เห็นความเคลื่อนไหวของอุทยาน ที่ส่งผลกระทบให้กับคนที่อยู่ในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นชุมชนดั่งเดิม หรือชุมชนใหม่ที่อยู่ติดกับป่า ซึ่งกฎหมายตัวนี้มันเหมือนกับว่าเข้าไปคุกคามชุมชนคนที่อยู่พื้นที่ป่าอย่างชอบธรรมได้ อย่างกรณีแก่งกระจาน ที่บ้านใจแผ่นดิน ถูกคุกคามอย่างหนัก

ในทางตรงกันข้างก็คือว่าศาลตัดสินว่าชุมชนดั่งเดิมท้องถิ่นปรากฏในแผ่นที่ในปี 2455 ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ศาลตัดสินว่าอุทยานทำเกินอำนาจและไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ทำไมถึงตอนนี้ ยังแก้ไขปัญหาไม่ได้ เพราะฉะนั้นชุมชนอื่นๆ ที่อยู่ในเขตป่าทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นป่าในภาคเหนือ ป่าในภาคใต้ หรือป่าในภาคตะวันตกก็ดี ที่อยู่การเตรียมการประกาศเป็นอุทยานต่างๆ เรากำลังลุกขึ้นมาสู้ ต้องติดตามกันต่อ

“มันเป็นโจทย์ใหญ่ของพวกเราว่า ถ้าเขาทำที่บางกลอย โป่งลึก หรือบ้านใจแผ่นดินสำเร็จ ที่อื่นก็ต้องเกิดเหมือนกัน”

ในกรณีบ้านพี่น้องที่ใจแผ่นดิน ที่อยู่อย่างอดอยากและถูกปิดกั้นข่าวตลอดเวลา ที่มีการจัดสรรที่อยู่ที่ดินที่อาศัยให้ แต่ความเป็นจริงแล้วคนแทบจะไม่มีที่อยู่ที่อาศัย ทุกวันนี้อยู่กันอย่างยากลำบาก และยังติดหนี้เพิ่มขึ้น เราจึงต้องออกมาเคลื่อนไหว เบื้องต้นผมคิดว่าเริ่มต้นในระดับแต่ละจังหวัด ชุมชนที่ได้รับผลกระทบ หรืออยู่ในเขตของอุทยาน หรือป่าสงวนต่างๆ มันต้องมีการพูดคุยกันถึงโจทย์ใหญ่ว่าเราจะมีการแก้ไขปัญหาในระดับนโยบายได้อย่างไร

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ