“พิธีเรียกขวัญข้าว” เป็นประเพณีดั้งเดิมที่สืบทอดกันมานานตั้งแต่ยังอยู่ในหมู่บ้านบางกลอย-ใจแผ่นดิน ปกติจะมีการทำพิธีเรียกขวัญข้าวหลังเก็บเกี่ยว ในช่วงเดือนพ.ย. – ธ.ค. แต่ในปีนี้ชาวบ้านกะเหรี่ยงบางกลอยทำพิธีกันในวันที่ 6 ก.พ. นับตั้งแต่ชุมชนปกาเกอะญอบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน ถูกอพยพโยกย้ายลงมาอยู่พื้นที่ด้านล่างซึ่งกรมอุทยานฯ จัดสรรให้
ข้าวเปลือกสีเหลืองจากยุ้งฉาง ถูกลำเลียงมารวมกันกับข้าวที่มีผู้คนร่วมบริจาค ผู้เฒ่าผู้แก่ทำพิธีทำขวัญข้าวนับ 2 ตันที่กองสูงบนลาน ก่อนจะนำกลับไปเก็บยังยุ้งฉางดังเดิม
คนกะเหรี่ยงเชื่อว่าข้าวมีจิตวิญญาณ หล่อเลี้ยงผู้คนให้ดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข ตราบใดถ้ามีข้าวอยู่คนก็จะมีชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข ข้าวเปรียบเสมือนน้ำนมพระแม่โพสพ พิธีเรียกขวัญข้าวเป็นพิธีสำคัญอีกพิธีหนึ่ง ที่เกี่ยวกับข้าวโดยตรง
เจ้าของไร่ต้องทำพิธีนำข้าวขึ้นกะล่อม (ยุ้งข้าว) เพื่อให้ข้าวทุกเม็ดกลับมาอยู่รวมกัน และเก็บไว้ในที่ปลอดภัย มิให้ถูกแดด ถูกฝน ให้ข้าวอาศัยอยู่อย่างมีความสุข
ชาวบ้านบางกลอยประสบปัญหาที่ดินทำกินไม่เพียงพอมาหลายปี นับจากถูกบังคับให้อพยพมาจากบริเวณใจแผ่นดินที่เป็นชุมชนดั้งเดิม รวมทั้งผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด ทำให้ปีนี้ประสบปัญหาขาดแคลนข้าวสารและอาหารอย่างหนัก โดยเครือข่ายกะเหรี่ยง ศิลปิน และผู้มีน้ำใจ ได้ร่วมกันระดมข้าวสารและข้าวเปลือกกว่า 2 ตัน ขนส่งขึ้นไปมอบให้แก่ชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย และมีการนำข้าวเปลือกมาประกอบพิธีในครั้งนี้ ไร่หมุนเวียนในพื้นที่ดั้งเดิมของชุมชน
พชร คำชำนาญ เยาวชนจากในเมืองคนหนึ่งซึ่งได้ร่วมพิธีเรียกขวัญข้าว ได้บันทึกและส่งต่อเสียงชาวปกาเกอะญอ ที่มีวิถีการผลิตสัมพันธ์กับการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนในพื้นที่สูงอย่าง มาลินี วอมอ ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยผู้ประกอบพิธีกรรม กล่าวว่า ตนรู้สึกดีใจที่มีคนนำข้าวมาบริจาคให้ และได้ทำพิธีกรรมนี้เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 20 ปี ซึ่งตนมีความคาดหวังว่าปีหน้าจะสามารถปลูกข้าวหรือพืชผลอื่นๆ ที่ได้ผลผลิตดีกว่านี้ ตามความเชื่อของปกาเกอะญอ
“ตอนอยู่ที่ใจแผ่นดินก็ได้ทำพิธีแบบนี้ แต่เป็นการทำไร่หมุนเวียน ไม่ใช่ทำที่เดิมๆ ทำแต่ละปีได้ข้าวพอกินทุกปี ไม่ต้องมีคนเอาข้าวมาให้ ไม่ต้องเป็นห่วง ลงมาอยู่ที่นี่ต้องทำที่เดิมๆ ซ้ำๆ กัน ดินก็ไม่ค่อยดี ปลูกข้าวไม่ค่อยได้เลย ถึงปลูกข้าวได้ก็ข้าวไม่ดี ข้าวเป็นโรค ดินมันแข็ง ดินไม่มีปุ๋ย วันนี้มีคนเอาข้าวมาให้ ก็คิดว่า ปีหน้าจะได้ข้าวดีขึ้น แต่ก็ไม่รู้ว่ามันจะดีได้ยังไง เพราะมันอยู่ในเดิม”
เตือนใจ ดีเทศน์ ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการสมานฉันท์ และอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เล่าว่า ตนเห็นความเบิกบานในใจของชาวบ้านที่มาร่วมงานพิธีกรรมตามวัฒนธรรมแสดงถึงชีวิตของคนและชุมชน ซึ่งมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 สิงหาคม 2553 ว่าด้วยแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตกะเหรี่ยง ก็พูดถึงเรื่องการสืบสานอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมว่าเป็นสิ่งที่ดีงาม
หลายคนที่นี่บอกว่าไม่ได้ปลูกข้าวมาหลายปีแล้ว ภูมิปัญญาในเรื่องการปลูกข้าว การทำไร่หมุนเวียน ซึ่งเป็นวิถีของชาวกะเหรี่ยงได้สูญหายไปตั้งแต่อพยพเขามาในปี 2539 แล้ว เกือบจะ 25 ปีแล้ว ซึ่งตนคิดว่ากระทรวงทรัพยากรฯ ควรจะมองทั้งภูมินิเวศและภูมิวัฒนธรรม
“การทำไร่ข้าวหมุนเวียนเป็นภูมิปัญญาที่เขาคุ้นเคยมานาน เขาจะรู้สึกมีความสุข และไม่รู้สึกว่าเครียดอะไร มีเวลาไปทำเรื่องอื่นๆ ที่มันสร้างสรรค์ แต่พอเขาต้องมาปรับตัว ปลูกมะนาว ไม้ผลอื่นๆ ก็ต้องมีการใช้ปุ๋ย ยา ซึ่งต้องมีทั้งเรื่องทุนและความรู้ใหม่ที่เขาจ้องต้องปรับตัวเรียนรู้ และใช้เวลากับมันมากขึ้น เขาจึงอยากรักษาสืบทอดเรื่องการทำไร่หมุนเวียนเอาไว้”
อดีตกรรมการสิทธิฯ ทิ้งท้ายว่า หากไม่สนับสนุนให้ชุมชนสามารถกลับไปทำไร่หมุนเวียนได้ หรือปิดกั้นเส้นทางลำเลียงข้าวมาบริจาค และทำให้วัฒนธรรมประเพณีนี้หายไป ชีวิตของพี่น้องที่นี่ก็จะเหี่ยวเฉาไปเรื่อยๆ แล้วภูมิปัญญาที่เป็นอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมก็จะสูญหายไปในที่สุด
สำหรับข้าวเปลือกที่ผ่านการทำพิธีเรียกขวัญข้าวในปีนี้ จะจัดเก็บไว้ในพื้นที่แห้ง ไม่ชื้น เพื่อป้องกันข้าวเสีย สำรองไว้สำหรับลำเลียงขึ้นไปให้กลุ่มชาวบ้านที่อพยพกลับไปบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน ที่ขณะนี้มีประมาณ 70 ชีวิต โดยชาวบ้านข้างล่างจะตำข้าวเปลือกให้เป็นข้าวสารก่อนแล้วจึงลำเลียงขึ้นไป นอกจากนั้นหากชาวบ้านชุมชนบ้านบางกลอยล่างครัวเรือนใดมีข้าวไม่พอกิน ก็สามารถขอรับบริจาคได้เช่นกัน
ข้อมูลและภาพ
– zongtiny หมุด C-Site กะเหรี่ยงบางกลอย “เรียกขวัญข้าว”
– Golfphatchara หมุด C-Site กะเหรี่ยงบางกลอย “ทำขวัญข้าว” ครั้งแรกตั้งแต่ถูกอพยพ อดีต กมส. แนะ ทส. ให้ความสำคัญภูมินิเวศและภูมิวัฒนธรรม
เรียบเรียง : thecitizen