นิวัฒน์ ร้อยแก้ว
เมื่อโครงการระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขงเพื่อการเดินเรือพาณิชย์ เฟส 2 จะเริ่มเดินหน้า ภาพของเรือสินค้าของพี่น้องลาวที่เดินทางขึ้นล่องเพื่อขนส่งสินค้าไปตามชุมชนและเมืองต่างๆตามลำน้ำโขง ภาพเรือท่องเที่ยวของพี่น้องลาวไทย เรือหาปลาขนาดเล็กของคนสองฝั่งโขงเป็นวิถีที่เห็นมาอย่างยาวนานจะเป็นเพียงแค่ภาพในอดีต
โครงการระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขงนั้น จุดประสงค์เพื่อการเดินเรือพาณิชย์ขนาดใหญ่ถึง 500 ตัน ใช้ในการขนส่งสินค้าจากจีนตอนใต้ล่องลงมาตามลำน้ำโขง ประเทศจีนคือผู้ผลักดันโครงการนี้เต็มที่ งบประมาณในการดำเนินโครงการจีนเป็นผู้ลงทุน(เพราะผู้ได้รับผลประโยชน์คือจีน)
ที่ผ่านมาตั้งแต่ปลายปี พ ศ 2544 ได้มีการระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขง(เฟส1)ในส่วนของจีน และพม่า ลาวบางส่วนแต่ในเขตพื้นที่จากสามเหลี่ยมทองคำระหว่างชายแดนลาวไทยลงมายังไม่มีการดำเนินการ เพราะยังมีปัญาหาเรื่องเขตแดนและประเด็นที่สำคัญคือ พี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่ตามแม่น้ำโขงคัดค้านไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ ได้มีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนหลายครั้ง และจากงานวิจัยหลายชิ้น ได้แสดงให้เห็นถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นและเกิดขึ้นแล้ว ในหลายเรื่อง เช่นผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ ความมั่นคงทางด้านอาหาร การสูญเสียพื้นที่การเกษตร ที่อยู่อาศัย การขาดโอกาสที่จะต่อยอดการพัฒนาอาชีพจากการท่องเที่ยวทางธรรมชาติคือแม่น้ำโขง
ปัจจุบันนี้ในแม่น้ำโขงมีโครงการขนาดใหญ่คือเขื่อนในแม่น้ำโขงสายประธานเกิดขึ้นแล้ว ทั้งตอนบนในประเทศจีนและตอนล่างในประเทศลาว ผลกระทบยิ่งจะซ้ำเติมคนลุ่มน้ำโขงให้ประสบวิกฤตในการดำรงชีวิตมากยิ่งขึ้น
เศรษฐกิจกับการค้าขายเป็นเรื่องธรรมดาของวิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์ แต่เศรษฐกิจการค้าที่เอาแต่ได้โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับมนุษย์และธรรมชาติ เป็นสิ่งที่อันตราย เลวร้ายต่อโลกใบนี้
ปัจจุบันเส้นทางการค้าจากจีนมายังประเทศในลุ่มน้ำโขงก็มีเส้นทางคมนาคมทางบกเกิดขึ้นแล้ว สะพานเชื่อมระหว่างประเทศก็เกิดขึ้นแล้ว
แม่นำ้โขงเป็นทรัพยากรที่สำคัญมากของผู้คนในอุษาคเนย์ การระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขงเพื่อการเดินทางของเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่นั้นมันไม่คุ้มค่าแน่นอนกับสิ่งที่เสียไปและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับคน 60 ถึง 70 ล้านคนในลุ่มน้ำโขง
หากรัฐบาลของแต่ละประเทศในลุ่มน้ำโขงได้เข้าใจถึงความสมดุลในด้านต่างๆระหว่างคนกับธรรมชาติ คนกับคนแล้วต้องหยุดโครงการขนาดใหญ่ในแม่น้ำโขงเพื่อให้คนเล็กคนน้อยแต่มีอยู่มากมายในลุ่มน้ำโขงสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ โดยใช้ทรัพยากรที่ธรรมชาติให้มา มิใช้เป็นขี้ข้าของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือประเทศใดประเทศหนึ่งในอนาคต