6 หน่วยงาน ลงนามอนุรักษ์ ฟื้นฟูป่า พัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนในเขตป่า

6 หน่วยงาน ลงนามอนุรักษ์ ฟื้นฟูป่า พัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนในเขตป่า

ทำเนียบรัฐบาล / วิษณุ  เครืองาม  รองนายกฯ เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่าง 6 หน่วยงาน  คือ กรมอุทยาน ฯ กรมป่าไม้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง  กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น  พอช.  และสำนักงานคณะกรรมการกระจายอำนาจฯ  เพื่อร่วมสนับสนุนการอนุรักษ์  ฟื้นฟูป่า  ส่งเสริมอาชีพ พัฒนาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย  พัฒนาคุณภาพชีวิตชาวชุมชนที่อาศัยอยู่ในเขตอุทยานฯ  เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตป่าสงวนแห่งชาติ และป่าชายเลน  โดยมีระยะเวลาความร่วมมือ 5 ปี

วันนี้ (8 กุมภาพันธ์) เวลา 12.30 ณ ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล  นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีและเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือสนับสนุนการกระจายอำนาจด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (เอ็มโอยู) รวมทั้งหมด 3 ฉบับ ได้แก่ 1.ฉบับที่เกี่ยวข้องกับที่ดินในเขตอุทยาน เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่า ฯลฯที่กรมอุทยานรับผิดชอบดูแล 2.ฉบับที่เกี่ยวข้องที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่กรมป่าไม้รับผิดชอบดูแล และ 3. ฉบับที่เกี่ยวกับที่ดินป่าชายเลนที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งรับผิดชอบดูแล ระหว่าง 3 หน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลที่ดินในเขตป่า  คือ  กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช  กรมป่าไม้ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง  กับ 3 หน่วยงานสนับสนุน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น   กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น  และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  โดยมีผู้แทน 6 หน่วยงานร่วมลงนาม  คือ  สำนักงานคณะกรรมการกระจายอำนาจฯ โดยนายธีรภัทร  ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี  นายอดิศร  นุชดำรง  อธิบดีกรมป่าไม้  นายธัญญา เนติธรรมกุล  อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช  นายโสภณ  ทองดี  อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง   กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น  โดยนายประยูร  รัตนเสนีย์  อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) นายสมชาติ  ภาระสุวรรณ ผู้อํานวยการสถาบัน

นายวิษณุ  เครืองาม  รองนายกรัฐมนตรี  กล่าวว่า  ตั้งแต่ปี 2545  คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) ได้จัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อการถ่ายโอนภารกิจด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านงานส่งเสริมคุณภาพชีวิต และอื่นๆ รวม 245 เรื่อง แต่ภารกิจด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีเพียง 17 เรื่อง ดังนั้น เพื่อให้การขับเคลื่อนการกระจายอำนาจและการถ่ายโอนภารกิจด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีประสิทธิผล  ก.ก.ถ. จึงแต่งตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาความเป็นไปได้การถ่ายโอนภารกิจด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมี รศ. ธนพร ศรียากูล เป็นประธานอนุกรรมการ  ประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง  เพื่อแก้ไขอุปสรรค ปัญหา และข้อขัดข้องต่างๆ  จนนำมาสู่การลงนามความร่วมมือของ 6 หน่วยงานในวันนี้เพื่อให้เกิดความร่วมมือกันอย่างจริงจัง  เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการปฏิบัติงานด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้เกิดประสิทธิภาพ  ตลอดจนสามารถยกระดับขีดความสามารถขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้มีศักยภาพพร้อมสำหรับภารกิจถ่ายโอน  รวมทั้งยังสนองพระราชปณิธานของสมเด็จพระปิยมหาราชที่พระองค์ทรงริเริ่มในการกระจายอำนาจของประเทศไทย ซึ่งการลงนามในครั้งนี้จะเป็นเครื่องมือไปสู่การกระจายอำนาจในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติไปสู่เจ้าของอำนาจ คือ ประชาชนในท้องถิ่นได้อย่างแท้จริง

นายธีรภัทร  ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า  ที่ผ่านมาการจัดการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีข้อจำกัดที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังไม่สามารถดำเนินการในชุมชนที่เป็นที่ดินในเขตป่าได้ เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องกฎหมาย  แต่ขณะนี้เมื่อมีการปรับแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 7 ฉบับ อาทิ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562  พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ

พ.ศ.2562 พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ.2562 เป็นต้น และรัฐบาลได้มีนโยบายอนุญาตให้ชุมชนที่อยู่อาศัยในที่ดินเขตป่าที่มีการจัดทำข้อมูลรับรองร่วมกัน หรือผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าไปสนับสนุนการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่จำเป็น  การพัฒนาอาชีพรายได้  ที่อยู่อาศัย  ที่ดินทำกิน ซึ่งจะทำให้คุณภาพชีวิตประชาชนและชุมชนที่อยู่อาศัยทำกินในเขตป่าดีขึ้น ควบคู่กับการดูแลรักษาฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  และเพื่อให้การดําเนินกิจกรรมดังกล่าวมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลตามเจตนารมณ์ของกฏหมายที่เกี่ยวข้อง

 “เป้าหมายที่สำคัญที่จะเกิดจากเอ็มโอยูครั้งนี้ คือ เพิ่มขีดความสามารถให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ( อปท.) ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากขึ้นตามเจตนารมณ์ของกฏหมาย เช่น การบริหารจัดการควบคุมไฟป่าที่มาสำคัญของ PM2.5 ให้เกิดความชัดเจนด้านงบประมาณ แก้ไขปัญหาอุปสรรคในการทำงานของ อปท. เช่น การคุ้มครองดูแลอาสาสมัคร การบริหารจัดการคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ป่า โดยขับเคลื่อนให้แผนพัฒนาท้องถิ่นของ อปท. กับแผนบริหารจัดการพื้นที่ตาม พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติฯ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติฯ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฯ พ.ร.บ.สวนป่าฯ มีความสอดคล้องต้องกันเพื่อความคุ้มค่างบประมาณ การจัดทำข้อมูลเสริมการทำงานซึ่งกันและกันระหว่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ กับ พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติฯ ทำให้มีฐานข้อมูลเดียวกันในการขับเคลื่อนนโยบายภาพรวมและนโยบายพัฒนาท้องถิ่น” นายธีรภัทร กล่าว

นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กล่าวว่าความร่วมมือครั้งนี้ เป็นการบูรณาการการดำเนินงานร่วมกันเป็นระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ลงนาม โดยมีการลงนามความร่วมมือรวมทั้งหมด 3 ฉบับ  ประกอบด้วย 1. ฉบับที่เกี่ยวข้องกับที่ดินในเขตอุทยาน เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่า ฯลฯ ที่กรมอุทยานรับผิดชอบดูแล 2. ฉบับที่เกี่ยวข้องที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่กรมป่าไม้รับผิดชอบดูแล และ 3. ฉบับที่เกี่ยวกับที่ดินป่าชายเลนที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งรับผิดชอบดูแล โดยทั้ง 6 หน่วยงาน มีความร่วมมือ ดังนี้ 1. การส่งเสริมและสนับสนุนการปฏิบัติงาน หรือการอนุรักษ์ บำรุงรักษา และฟื้นฟูอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่า เขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และเขตพื้นที่ชายฝั่งทะเล ป่าชายเลน ที่อยู่ในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบ และ 2. การปรับปรุง การพัฒนา การส่งเสริมอาชีพหรือพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคคลและชุมชนที่อยู่อาศัยและทำกินภายในเขตพื้นที่โครงการเกี่ยวกับการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนในอุทยานแห่งชาติ  เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่า  เขตป่าสงวนแห่งชาติ เขตพื้นที่ชายฝั่งป่าชายเลน  และ พ.ร.บ. กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 กำหนดไว้

นายจุติ กล่าวต่อไปว่า สำหรับกระทรวง พม. โดย พอช. มีความร่วมมือด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงาน ดังนี้

1. ร่วมสนับสนุนการจัดทำแผนและการดำเนินการเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน 2. ร่วมสนับสนุนงบประมาณแก่องค์กรชุมชนในการพัฒนาที่อยู่อาศัย 3. ร่วมสนับสนุนการจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตและแผนพัฒนาที่อยู่อาศัย ของชุมชน

ที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง การจัดกลุ่มออมทรัพย์ พัฒนาความเข้มแข็งของกลุ่มองค์กรชุมชน  4) ร่วมสนับสนุนกระบวนการออกแบบวางผังการใช้ประโยชน์ที่ดินทำกินและที่อยู่ อาศัยโดยคำนึงถึงระบบนิเวศ การดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และ 5) สนับสนุนงบประมาณแก่องค์กรชุมชนในการพัฒนาที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน ระบบ สาธารณูปโภคที่จำเป็น คุณภาพชีวิต การสร้างกระบวนการเรียนรู้ ตลอดจนสินเชื่อที่อยู่อาศัยตามความจำเป็น

นายจุติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ 6 หน่วยงานที่ลงนามบันทึกความร่วมฉบับนี้ จะร่วมมือกันดำเนินกิจกรรมต่างๆ เช่น การรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และประชาชน ในการกำหนด ขยาย หรือเพิกถอนเขตป่าประเภทต่างๆ  แผนการบริหารจัดการพื้นที่เขตป่า และชุมชนที่อยู่อาศัยอยู่ในเขตป่าประเภทต่างๆ การกระทำการหรืองดเว้นการกระทำใดๆ ในเขตป่าประเภทต่างๆ เพื่อรักษาสภาพธรรมชาติ ระบบนิเวศ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือป้องกันภัยพิบัติอันเป็นสาธารณะ ส่งเสริมและสนับสนุนการปฏิบัติงานและงบประมาณเพื่อการอนุรักษ์ บำรุงรักษา และฟื้นฟูป่าประเภทต่างๆ ที่อยู่ในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบ

รวมถึงการสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดทำแผนการอนุรักษ์ บำรุงรักษา และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งแผนการป้องกันและควบคุมไฟป่าที่อยู่ในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบเพื่อบรรจุไว้ในแผนพัฒนาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การปรับปรุงการพัฒนา การส่งเสริมอาชีพหรือพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคคล และชุมชนที่อยู่อาศัยหรือทำกิน โครงการเกี่ยวกับการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติในเขตป่าประเภทต่างๆ ให้มีความเหมาะสมตามมาตรการอนุรักษ์ดิน และน้ำ ฯลฯ

ด้านนายกนกศักดิ์ ดวงแก้วเรือน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ทา กล่าวว่า ตำบลแม่ทา  ชาวบ้านส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ  มีปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน  ที่อยู่อาศัย  ต่อมาชาวบ้านได้รวมตัวกันแก้ไขปัญหา  เริ่มต้นจากการจัดการเรื่องป่าชุมชนก่อนปี 2535  เพื่อให้ชุมชนร่วมกันดูแลรักษาป่า  และใช้ทรัพยากรจากป่าไม้อย่างยั่งยืน  มีกฎกติกาในการรักษาป่า  และร่วมผลักดันจนเกิด พ.ร.บ.ป่าชุมชนในปี 2535

นอกจากนี้ อบต.แม่ทายังร่วมสนับสนุนการแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติ  ป่าไม้และที่ดินของชุมชน  โดยจัดทำบทบัญญัติตำบลในการจัดการที่ดิน  ป่าไม้  น้ำ  สนับสนุนการจัดทำผังชีวิตชุมชน-ตำบล  นำไปสู่การแก้ไขปัญหาต่างๆ เช่น  ด้านอาชีพ  ส่งเสริมการจัดตั้งสหกรณ์การเกษตร  การทำเกษตรอินทรีย์  การตลาด  ฯลฯ

ด้านที่ดิน ในปี 2558  กรมป่าไม้มอบที่ดินให้แก่จังหวัดเชียงใหม่ (เพื่อให้ชุมชนเช่าต่อตามนโยบายคณะกรรมการจัดการที่ดินแห่งชาติ (คทช.)  และจังหวัดเชียงใหม่อนุญาตให้ชาวบ้านเข้าทำประโยชน์จำนวน 1,374 ราย  2,693 แปลง  รวม 5,586 ไร่  และรับมอบป่าชุมชน  7 แปลง  รวม 3,599 ไร่  และพลเอกประยุทธ์  นายกฯ มอบที่ดินให้แก่ชาวบ้านเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2558

อย่างไรก็ตาม ในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือในวันนี้มีผู้แทนชุมชนท้องถิ่นเข้าร่วมงานและจัดแสดงนิทรรศการรูปธรรมการจัดการทรัพยากรที่ดินและป่าไม้  จำนวน 3 พื้นที่  คือ ตำบลแม่ทา  อ.แม่ออน  จ.เชียงใหม่  ที่มีการจัดตั้งคณะกรรมการป่าชุมชน  เพื่อดูแลและใช้ทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืน  มีการจัดการดิน  น้ำป่า  จัดทำผังชีวิตตำบล  จนนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ดิน  ฯลฯ  เทศบาลตำบลเวียงสรวย  อ.แม่สรวย  จ.เชียงราย แก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยที่ทับซ้อนกับพื้นที่สวนป่า  อุทยาน  ป่าสงวนฯ กว่า 580  ครัวเรือน  เช่น  สำรวจข้อมูลปัญหาในตำบล  จัดทำแผนที่ชุมชน  แผนที่ป่า  ฯลฯ  นำไปสู่การแก้ไขปัญหาต่างๆ และ ตำบลแม่รำพึง บ้านปากคลองหมู่ 5 อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์  ที่มีการแก้ไขปัญหาที่สัมพันธ์กับระบบภูมินิเวศน์ ความมั่นคงด้านอาหาร การรักษาทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนและคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ